3 ก.พ. 2023 เวลา 02:00 • หนังสือ

Man’s search for meaning ชีวิตไม่ไร้ความหมาย

งานเขียนของ วิคเตอร์ อี. แฟรงเคิล บันทึกประสบการณ์การถูกจับเข้าไปอยู่ในค่ายกักกันเอาช์วิตซ์และค่ายอื่น ๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเขียนอิงแนวคิดสำคัญเรื่องความหมายของชีวิตและทฤษฎีโลโกเทอราปีที่ผู้เขียนได้คิดค้นขึ้น
การประสบโชคชะตาอันเลวร้ายของการเป็นเชลยศึกสงคราม เปรียบได้กับ การเผชิญหน้ากับบททบสอบสำคัญของชีวิต ที่ต้องไปอยู่ในจุดที่เรียกได้ว่า “ต่ำที่สุด” ของชีวิตที่คน ๆ หนึ่งจะเผชิญได้ กล่าวคือ เชลยศึกถูกลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ ผ่านการจำกัดสิ่งจำเป็นพื้นฐานตามแนวคิดของมาสโลว์ ตั้งแต่ระดับล่างสุด (ปัจจัย 4) ไปจนถึงระดับบนสุด (ความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง) จนแทบมองไม่เห็นความหมายของการมีชีวิต
เมื่อมองไม่เห็นคุณค่าและความหมายในชีวิต เชลยศึกบางคนตัดสินใจปลิดชีพตัวเองหรือดำรงตนแบบซังกะตาย เรียกว่า ตายทั้งเป็นก็ยังได้ แต่มีบางคนกลับมองเห็นความหมายอะไรบางอย่าง ที่แม้สิ่งแวดล้อมภายนอกที่เผชิญจะน่าหดหู่ เลวร้าย และถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพมากแค่ไหน ก็ไม่อาจทำลายสิ่งที่คน ๆ นั้นมีได้ สิ่งนั้นคือ อิสระที่จะคิด หรือทัศนคติต่อการมีอยู่ของตนเองนั่นเอง
เรื่องราวที่เกิดขึ้นถือเป็นตัวอย่างชั้นดี ของคนที่เรียกได้ว่า แทบจะไร้ค่า แต่กลับมีทัศนคติต่อตนเอง สามารถมองเห็นความหมายของการมีชีวิตอยู่ต่อได้ เป็นภาพที่ทำให้ผู้อ่าน แม้จะไม่ได้ไปเผชิญสถานการณ์ดังกล่าวเอง หรือาจเผชิญในสถานการณ์ที่ต่างกันออกไป (เช่น มรสุมรุมเร้าด้านความสัมพันธ์ เศรษฐกิจ สังคม) ได้คิด ไตร่ตรอง และทบทวนถึงความหมายของชีวิตอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากแนวคิดเรื่องความหมายของชีวิตแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังให้ข้อคิดสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ความสุขและความทุกข์เป็นสิ่ง”สัมพัทธ์” ท่ามกลางความทุกข์ เราอาจมีความสุขได้ ในทางตรงข้าม ในความสุข เราก็อาจมีทุกข์ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อเราประกอบธุรกิจ ได้กำไรมาตลอด แต่ปรากฏว่า เดือนที่ผ่านมายังพอทำกำไรได้ แต่ลดน้อยลงไป เท่านี้เราก็ทุกข์ได้แล้ว
หรือ ในกรณีของผู้เขียนท่ามกลางการกดขี่ข่มเหงจากผู้คุม และถูกจำกัดปริมาณอาหาร การได้ซุปก้นหม้อ (ที่มีเนื้ออยู่บ้างเล็กน้อย) ก็ทำให้มีความสุขขึ้นมาบ้างจากเดิมที่ได้แต่ซุปใส ๆ และที่สำคัญของความสุขและทุกข์นั้น คือ สองสิ่งนี้เป็นสิ่งชั่วคราว มีพลวัตตลอดเวลา และไม่ยั่งยืนเท่าการมีความหมายในชีวิต
เรื่องราวในส่วนแรกของหนังสือ คือ ประสบการณ์ในค่ายกักกันของผู้เขียน มิใช่เรื่องราวที่ทำให้เราเร้าหรือสะเทือนอารมณ์มากนัก ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความโหดเหี้ยมของนาซีในทางที่สุดโต่ง เข้าใจว่า สิ่งดังกล่าวมิใช่ประเด็นสำคัญของหนังสือเล่มนี้ หากเป็นเรื่องมุมมองการมองเห็นความหมายท่ามกลางความทุกข์ระทมเสียมากกว่า เรื่องเลยไม่ได้ปะติดปะต่อ ไม่ได้พาเราดำดิ่งไปกับเรื่องราวที่น่าจะทนทุกข์และรันทดเท่าใดนัก
นอกจากนี้ในส่วนที่สองจะเป็นเรื่องราวการบำบัดด้วยแนวทางโลโกเทอราปี ซึ่งเชื่อมโยงกับส่วนแรกบางส่วน และออกจะเป็นแนวการรักษาโรคทางการแพทย์เสียมากกว่า เมื่ออ่านเลยรู้สึกสะดุดและขัด ๆ แต่ยังดีที่หนังสือปิดด้วย คำลงท้าย โดย วิลเลียม เจ. วินสเลด ซึ่งขมวดเรื่องราวสรุปได้เห็นภาพชัดขึ้น
เล่มนี้ ถือเป็น หนังสือเกี่ยวกับความหมายของชีวิต ขั้นปฐมภูมิ ที่สำคัญ เป็นเรื่องราวที่หนังสือหลาย ๆ เล่มอ้างอิงถึง และถ้าได้อ่านกับเล่ม The Power of Meaning จะทำให้เข้าใจ ความหมายของชีวิตที่กว้างขวางขึ้น และสามารถเชื่อมโยงกับ Man’s search for meaning ได้อย่างไร้รอยต่อ ใครที่กำลังเผชิญวิกฤตของความหมายของชีวิต หนังสือเล่มนี้อาจมีคำตอบให้ครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา