6 ก.พ. 2023 เวลา 13:01 • สิ่งแวดล้อม

ตุ๊กตาจากการรีไซเคิลก้นบุหรี่ ไอเดียสุดสร้างสรรค์ในการจัดการขยะที่ประเทศอินเดีย

ก้นบุหรี่เป็นขยะที่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน เนื่องจากมีการคาดการณ์กันว่าในแต่ละปีจะมีก้นบุหรี่ถูกทิ้งตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลกมากถึง 4.5 ล้านล้านชิ้น โดยเฉพาะในประเทศอินเดียที่มีผู้สูบบุหรี่เกือบ 267 ล้านคน ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO)
ซึ่งสิงห์อมควันในแดนภารตะส่วนใหญ่ก็มักจะทิ้งก้นบุหรี่ตามถนนหนทางจนก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา เนื่องจากในก้นบุหรี่จะมีทั้งพลาสติกที่ย่อยสลายยากและยังมีสารที่เป็นพิษอีกด้วย
Naman Gupta เจ้าของบริษัท Code Effort ซึ่งตัังอยู่ชานเมืองนิวเดลีเล็งเห็นถึงปัญหาในเรื่องนี้ และพยายามหาทางนำก้นบุหรี่เหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ โดยจะแยกวัสดุต่าง ๆ ออกจากก้นบุหรี่ ก่อนจะนำมันไปทำเป็นตุ๊กตา หมอน ยากันยุง รวมทั้งปุ๋ยหมัก
ก้นบุหรี่ที่ถูกโยนทิ้งจะมีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ เยื่อกระดาษหุ้มก้นกรอง ขี้เถ้าบุหรี่ และก้นกรองเส้นใย cellulose acetate ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่ง
โดยเยื่อกระดาษหุ้มก้นกรองจะถูกนำไปละลายน้ำแล้วผสมกับสารอินทรีย์ ก่อนจะตากแดดเพื่อให้มันกลายเป็นกระดาษที่สามารถจุดไฟไล่ยุงได้
ส่วนขี้เถ้าบุหรี่จะถูกหมักให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยที่มีธาตุโพแทสเซียมสูง
สำหรับก้นกรองที่เป็นพลาสติกจะถูกคัดแยกออกมา แล้วทำความสะอาดด้วยสารอินทรีย์ จนสุดท้ายได้เป็นเส้นใยคล้ายนุ่นสำหรับยัดไส้ในตุ๊กตาและหมอน
บริษัท Code Effort เริ่มต้นทำธุรกิจด้วยการรีไซเคิลก้นบุหรี่เพียงแค่วันละ 10 กรัม แต่ในปัจจุบันสามารถรีไซเคิลได้ไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 กิโลกรัม นั่นเท่ากับว่าในแต่ละปีบริษัทแห่งนี้จะช่วยลดปริมาณขยะจากก้นบุหรี่ได้นับล้านชิ้น
แม้ว่าการรีไซเคิลก้นบุหรี่อาจจะไม่ใช่ทางออกของปัญหาแบบยั่งยืน แต่ในโลกยุคปัจจุบันที่ผู้คนยังคงสูบบุหรี่และทิ้งก้นบุหรี่แบบไม่เป็นที่เป็นทางโดยไม่มีที่ท่าว่าจะลดลง การรีไซเคิลก้นบุหรี่ให้กลายเป็นสิ่งของที่มีประโชน์ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีเหมือนกัน
โฆษณา