Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
- Fern - is a Counselor
•
ติดตาม
3 ก.พ. 2023 เวลา 02:52 • ความคิดเห็น
Psychological Trauma
"จำเรื่องราวไม่ได้แล้ว แต่ไม่รู้ว่าทำไมมันถึงยังเจ็บอยู่ในใจตลอดเลย"
.
Psychological Trauma หรือที่คนชอบเรียกกันสั้นๆ ว่า trauma มีคนแปลเป็นไทยไว้ว่า บาดแผลทางใจ หรือบาดแผลในใจ
.
ถ้าหากใครเคยไปโรงพยาบาลก็จะเห็นแผนกที่มีคำว่า trauma อยู่ เช่น Trauma Center ซึ่ง trauma ก็คืออาการบาดเจ็บที่รุนแรงโดยเกิดจากการถูกทำร้ายหรือเกิดอุบัติเหตุ
.
อาการบาดเจ็บทางร่างกายมักมีร่องรอยที่มองเห็นได้หรือสังเกตความผิดปกติได้ด้วยการมองจากภายนอก ยิ่งอาการบาดเจ็บหนัก ๆ ยิ่งมองเห็นได้ง่าย เช่น กระดูกทิ่มออกมานอกผิวหนัง
แต่อาการบาดเจ็บทางจิตใจนั้นไม่อาจมองเห็นได้จากตาเปล่า
คนส่วนมากไม่รู้เลยว่าใครมีบาดแผลทางใจ แม้แต่คนทำงานฝั่งสุขภาพใจเองก็ไม่สามารถบอกได้ว่าใครมีบาดแผลทางใจจากการแค่มองเห็นกันผิดเผิน จะต้องมีเครื่องมือในการประเมินเข้ามาช่วยว่ามีบาดแผลทางใจไหม และอะไรน่าจะเป็นสาเหตุ
.
นอกจากนั้น อาการบาดเจ็บทางกายยังบอกสาเหตุได้ง่ายกว่า เช่น เมื่อวานโดนคนเอาท่อเหล็กตีหัว หรือรถคว่ำเมื่ออาทิตย์ก่อน
แต่บาดแผลทางใจนั้นบางทีก็บอกสาเหตุไม่ได้ ได้แค่สันนิษฐานเป็นภาพใหญ่ เช่น ปัญหาครอบครัว แต่ก็ระบุแบบเจาะจงไม่ได้ว่าเหตุการณ์ไหนที่เป็นตัวการให้เกิดบาดแผลทางใจ หรือบางทีก็เป็นเหตุการณ์เล็กๆ แต่เกิดขึ้นถี่ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดบาดแผลทางใจได้เหมือนกัน
บาดแผลทางใจจึงมักเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Posttraumatic stress)
.
ผลกระทบของบาดแผลทางใจ มีหลายรูปแบบและหลายระดับ ได้แก่
- มีความผิดปกติของอารมณ์
- มีการตอบสนองทางร่างกายที่ผิดปกติไป เช่น มีปัญหาการนอน ปัญหาระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ ระบบผิวหนัง ฯลฯ มีหลายคนจากการวิจัยที่พบว่าป่วยเป็นโรคภูมิแพ้และมีประวัติเคยต้องเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนใจในวัยเด็ก
- มีวิธีคิดที่ต่างไป เช่น มองโลกอย่างระแวง คิดว่าตัวเองเป็นคนผิดและรู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา
- มีความรู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่น รู้สึกแปลกแยก
- ถูกกระตุ้นได้ง่ายจากสิ่งเร้าเดิมที่เคยเจอเมื่อครั้งที่ต้องเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ เช่น พ่อชอบใส่น้ำหอมกลิ่นนี้เวลาที่เฆี่ยนตีลูก เมื่อลูกโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ แม้พ่อจะตายไปแล้ว แต่ทุกครั้งที่ได้กลิ่นน้ำหอมกลิ่นนั้นก็จะรู้สึกผวาหวาดกลัวขึ้นมา
- มีความผิดปกติด้านพฤติกรรม เช่น กินมากเกินไปจนน้ำหนักตัวสูงมาก ทำอะไรวู่วาม หรือมีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง
.
รายละเอียดเกี่ยวกับบาดแผลทางใจยังมีมากมายกว่านี้ โดยสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น
- หนังสือ บาดแผลทางใจและเวชปฏิบัติทางจิตเวชศาสตร์ เขียนโดย อาจารย์นวนันท์ ปิยะวัฒน์กูล มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- หนังสือ เกินกว่าเจ็บปวด โดย Donna Jackson Nakazawa
ฯลฯ
.
.
โพสต์นี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการพูดคุยกับหลายๆ กรณี ซึ่งกรณีที่มีอาการรบกวนมากจนกระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น มีความคิดอยากตายอยู่เกือบตลอดเวลาอย่างควบคุมไม่ได้ มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศที่ตอนทำนั้นห้ามตัวเองไม่ได้แต่หลังจากทำไปแล้วก็รู้สึกเกลียดตัวเองเป็นอย่างมาก ฯลฯ ซึ่งในทุกกรณีที่เป็นเช่นนี้จะพบว่าเคยมีประวัติได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่ดีนัก
หลายกรณีก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดคือครอบครัวก็ใช้ความรุนแรง มาเรียนหนังสือก็เจอคุณครูที่ไม่เข้าใจและถูกเพื่อนๆ กลั่นแกล้ง พอโตขึ้นไปมีความสัมพันธ์ก็โดนคนรักทำร้ายร่างกาย ซึ่งทุกๆ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงของชีวิตนั้นมีความผูกโยงกัน อดีตส่งผลกับปัจจุบัน และปัจจุบันก็กำลังจะส่งผลต่ออนาคต หากไม่เร่งทำการเยียวยาก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปเผชิญกับอะไรอีก
จึงอยากเชิญชวนและขอร้องจากใจเลยค่ะ
คุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่กำลังมีลูกเล็กๆ หากท่านมีความรู้สึกเครียดจากเหตุการณ์ในชีวิต มีปัญหาส่วนตัว มีปัญหาด้านอารมณ์ หรือแม้กระทั่งตนเองก็มีบาดแผลทางใจอยู่เหมือนกัน อยากให้ลองไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการช่วยเหลือเยียวยานะคะ
เพราะทุกๆ พฤติกรรมที่คุณใช้กับลูกมีผลอย่างมากกับจิตใจของลูก และบางพฤติกรรมที่คุณอาจเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย คิดว่าเดี๋ยวเด็กก็ลืม ไม่เป็นอะไรหรอก จากประสบการณ์พบว่ามีหลายกรณีที่ไม่ลืมแถมยังฝังใจด้วยค่ะ กรณีที่พบบ่อยๆ ก็คือ พ่อแม่ลืมไปรับลูกวัยอนุบาลที่โรงเรียนจนเพื่อนๆ กลับบ้านไปกันหมดแล้ว เหลือแต่ตัวเองที่ไม่มีใครมารับ หลายคนที่มีประสบการณ์แบบนี้มักจะฝังใจแม้ว่าจะเป็นแค่ครั้งเดียวก็ตาม
ซึ่งในปัจจุบัน คนที่มีประกันสังคม/บัตรทอง สามารถใช้สิทธิดังกล่าวมาเข้ารับบริการของแผนกจิตเวชได้นะคะ
และเห็นว่ามีหลายๆ องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่เปิดให้บริการการปรึกษาแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายด้วยค่ะ
....
หมายเหตุ: เพจนี้ยังไม่มีบริการให้คำปรึกษานะคะ ต้องอภัยมากๆ สำหรับคนที่สนใจและติดต่อมาทางหลังไมค์ ขออนุญาตแนะนำสายด่วน 1323 หรือสมาคมสะมาริตันส์ 053-225977 ถึง 8 แทนนะคะ
1 บันทึก
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย