5 ก.พ. 2023 เวลา 11:00

4 คำถามสัมภาษณ์งานสุดหิน ที่ควรถามในการสัมภาษณ์งาน แต่คนส่วนใหญ่ไม่กล้าถาม

หัวใจสำคัญในการสัมภาษณ์งานให้ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม ไม่ใช่เพียงแค่การตอบคำถามสัมภาษณ์งานที่น่าประทับใจ แต่คุณจะต้องถามคำถามที่น่าประทับใจด้วย
Atta Tarkiผู้ก่อตั้งและผู้บริหารจาก ECA Partners บริษัทจัดหางาน ผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการสมัครงานและสัมภาษณ์งานอย่างยาวนาน กล่าวว่า หลังจากดำเนินธุรกิจในวงการจัดหางานมานานนับ 10 ปี พบว่า ผู้สมัครงานส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะถาม คำถามที่ตรงไปตรงมา ในระหว่างการสัมภาษณ์งาน เนื่องจากพวกเขากลัวว่า พวกเขาจะดูไม่รู้เรื่องรู้ราว หรือขาดความมั่นใจในสายตาของผู้สัมภาษณ์
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้สัมภาษณ์งาน การไม่ถามคำถามเหล่านั้น กลับทำให้ผู้สมัครงานดูไม่ใส่ใจในงานที่ตนสมัครเสียมากกว่า แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะสามารถถามคำถามอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ มีเพียงไม่กี่คำถามเท่านั้น ที่อาจจะดูตรงไปตรงมา แต่กลับสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์งานเป็นอย่างยิ่ง
และนี่คือ 4 คำถามสุดหิน ที่คาดหวังว่า ผู้สมัครงานควรที่จะถามในระหว่างการสัมภาษณ์
🟥 1. “เคยมีใครที่เข้ามาทำงานตำแหน่งนี้ แล้วภายหลังพบว่าเขาไม่เหมาะสมกับงานที่ได้รับไหม เพราะอะไร?”
หากผู้สัมภาษณ์อธิบายถึงบุคคลดังกล่าว แล้วเขาผู้นั้นมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับคุณ นั่นก็เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า คุณควรพิจารณาตัวเองอีกครั้งว่า คุณเหมาะสมกับงานในตำแหน่งที่คุณสมัครจริงหรือไม่
ยิ่งกว่านั้น โปรดระวังผู้สัมภาษณ์งานที่ไล่พนักงานคนเก่าออก โดยที่ไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจนและสมเหตุสมผล เช่น “พวกเขาดูขี้เกียจเกินไป” หรือ “ฉันก็แค่ไม่รู้ว่า พวกเขาเอาเวลาไปทำอะไรนักหนา” นั่นก็อาจจะเป็นสัญญาณเตือนเช่นกันว่า เจ้านายที่คุณอาจจะได้ร่วมงานด้วยในอนาคต ขาดคุณสมบัติที่ดีในเรื่องการบริหารจัดการและภาวะความเป็นผู้นำ
ถ้าหากสัญญาณเหล่านี้เกิดขึ้นในระหว่างการสัมภาษณ์งาน พยายามตอบกลับด้วยคำถามที่ว่า “มีใครที่คุณนับถือและพอใจเป็นการส่วนตัว แต่เขาไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้หรือไม่?”
🟥 2. “โดยทั่วไปแล้ว คุณคาดหวังให้พนักงานในตำแหน่งนี้ทำงานกี่ชม.ต่อสัปดาห์?”
แม้ว่า คำถามนี้อาจจะเป็นคำถามที่ยากไปซะหน่อยสำหรับใครหลายคน ที่จะหยิบยกขึ้นมาถามในระหว่างการสัมภาษณ์งาน เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องการได้รับการจดจำในฐานะ พนักงานที่เกียจคร้านและไม่พร้อมที่จะทุ่มเทกับงานที่อาจล่วงเวลากว่าเวลาทำงานทั่วไป
อย่างไรก็ตาม หากบริษัทคาดหวังว่า คุณจะต้องทำงานมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มันคงจะเป็นเรื่องยากเกินไป ที่จะปรับชีวิตการทำงานของคุณให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ที่คุณมี เช่น หากคุณเป็นพ่อแม่ที่ต้องการใช้เวลาร่วมกับครอบครัวบ้างหลังเลิกงาน การทำงาน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ในการใช้ชีวิตของคุณในแต่ละวัน
ดังนั้น เมื่อคุณเจอสถานการณ์เช่นนี้ในระหว่างการสัมภาษณ์งาน คุณควรตอบกลับว่า “ผมรู้ว่า ผมจะไปได้ดีกับงานในตำแหน่งนี้ แต่การที่ผมจะได้ใช้เวลาหลังเลิกงานในการไปรับลูกหลังเลิกเรียน ก็เป็นเรื่องที่สำคัญในชีวิตผมมากเช่นกัน เป็นไปได้ไหมที่คุณจะยอมรับในเงื่อนไขเหล่านี้?”
คำถามลักษณะนี้จะทำให้ผู้สัมภาษณ์งานรู้สึกประทับใจต่อความตรงไปตรงมาที่คุณมี อีกทั้งยังช่วยให้ผู้สัมภาษณ์งานและผู้สมัครงานเข้าใจตรงกันตั้งแต่แรกเริ่ม จะได้ไม่เป็นการเสียเวลาของทั้งสองฝ่าย
🟥 3. “บริษัทมีการปรับเงินเดือนให้กับพนักงานมากน้อยแค่ไหน?”
การเจรจาต่อรองในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “เงิน” มักจะเริ่มต้นด้วยความกำกวมไม่แน่นอน ผู้สมัครงานส่วนใหญ่พยายามหลีกเลี่ยงที่จะการกล่าวถึงเรื่องเงินในระหว่างขั้นตอนการสัมภาษณ์งาน แต่กลับกล่าวถึงประเด็นนี้อีกครั้ง หลังจากที่พวกเขาได้รับข้อเสนอเข้าทำงานเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น การที่ผู้สมัครงานตัดสินใจกล่าวถึงเรื่องเงินเดือนอย่างจริงใจ และตกลงกับผู้สัมภาษณ์งานให้ชัดเจนตั้งแต่ขั้นตอนแรก ย่อมทำให้ผู้สัมภาษณ์งานรู้สึกประทับใจ
Atta Tarki กล่าวว่า “ครั้งหนึ่ง ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์กับผู้สมัครงานท่านนึง เขาพูดกับผมอย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่แรกว่า เขากำลังมองหางานที่สามารถให้เสถียรภาพทางการเงินกับเขาได้ จึงอยากทราบว่า บริษัทนี้มีการพิจารณาปรับเงินเดือนให้กับพนักงานมากน้อยแค่ไหน และอะไรที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการปรับขึ้นเงินเดือนเหล่านั้น? นั่นทำให้ผมรู้สึกประทับใจในตัวเขาเป็นอย่างมาก”
หากผู้สัมภาษณ์งาน ต้องการให้คุณเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทีมด้วยกันจริง เขาก็พร้อมที่จะเสนอเงินเดือนในราคาที่คุณพึงพอใจ หรือแม้กระทั่งเสนอโบนัสสุดพิเศษ ด้วยเงื่อนไขต่างๆ เช่น หากคุณสามารถบรรลุเป้าหมาย X Y Z ของบริษัทได้ภายในปีแรกที่คุณเริ่มทำงาน คุณจะได้รับการปรับเงินเดือน X% จากเงินเดือนของคุณในปัจจุบัน
🟥 4. “ทางบริษัท มีสวัสดิการด้านการจัดอบรมเพื่อพัฒนาทักษะทางสายอาชีพ หรือไม่และอย่างไร?”
Atta Tarki กล่าวว่า “การที่ผู้สมัครงานท่านใดก็ตาม ถามผมด้วยคำถามเกี่ยวกับโอกาสในการพัฒนาทักษะอาชีพในตำแหน่งที่ตนสมัคร นั่นนับเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ผู้สมัครท่านนั้นต้องการก้าวข้ามเป้าหมายของตนเองที่ตั้งไว้ ไปสู่เป้าหมายใหม่ที่ดียิ่งขึ้น ดังนั้นอย่ากลัวที่จะถามเกี่ยวกับ สวัสดิการด้านการจัดอบรมทักษะอาชีพที่ทางบริษัทควรมี เนื่องจากโดยส่วนใหญ่ นายจ้างมักจะเสนอสวัสดิการทางการเงิน ไม่ว่าจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายบางส่วนหรือทั้งหมด สำหรับการเข้ารับการอบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการทำงานอยู่แล้ว
ผมรู้สึกประทับใจทุกครั้งกับผู้สมัครงานที่คิดอยู่เสมอว่า จะพัฒนาทักษะและความสามารถของตนเองอย่างไรให้ดียิ่งขึ้น เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทในอนาคต เชื่อหรือไม่ นายจ้างไม่ได้ต้องการให้คุณจมปลักอยู่ในตำแหน่งเดิมตลอดไปหรอก พวกเขาต่างก็ต้องการเห็นคุณเติบโตยิ่งขึ้นในสายงานของคุณในบริษัทของพวกเขา และจะทำงานร่วมกับพวกเขาไปอีกนาน
อ่านบทความได้ที่ : https://bit.ly/3DDqD7C
มาร่วม CONNEXT THE DOT ก้าวสู่โลกการทำงานอย่างมั่นใจไปด้วยกัน
——————————————————

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา