3 ก.พ. 2023 เวลา 07:55 • สิ่งแวดล้อม

ปลาปักเป้าในก้นอ่าวไทย

อ่าวไทยตอนในมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นระบบนิเวศเอสทูรี (ปากแม่น้ำ) ที่มีคุณภาพและมีความสำคัญของน่านน้ำไทย ด้วยมีลักษณะอ่าวกึ่งปิด เป็นจุดที่แม่น้ำที่สำคัญหลายสายของประเทศ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง ไหลมาบรรจบกัน จึงเป็นแหล่งรวมและสะสมธาตุอาหาร ก่อเกิดความอุดมสมบูรณ์ ของทรัพยากรทางทะเล สัตว์น้ำในบริเวณนี้มีความหลากหลาย สร้างประโยชน์ทั้งในแง่ความมั่นคงทางอาหาร การศึกษา การท่องเที่ยว วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของท้องถิ่น
ผมลงพื้นที่สำรวจความหลากหลายของปลาในอ่าวไทยตอนในมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จนถึงปัจจุบัน พบปลาในก้นอ่าวไทยเกือบ 400 ชนิด ซึ่งมีทั้งปลาเอสทูรี ปลาทะเลชายฝั่งที่เข้ามาอาศัย แถมยังมีปลาต่างถิ่น (alien species) เข้ามาอาศัยอยู่อีกด้วย มีปลาหลายชนิดที่ถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์ มีหลายชนิดเป็นปลาน่าหม่ำ และอีกหลายชนิดก็หม่ำไม่ได้ หรือไม่ควรเสี่ยงหม่ำ ซึ่งเมื่อพูดถึงปลาที่ไม่ควรเสี่ยงหม่ำ ชื่อของปลาชนิดหนึ่งจะลอยขึ้นมา นั่นคือ ปลาปักเป้า
ปลาในวงศ์ปลาปักเป้า (Family Tetraodontidae) มีลักษณะรูปร่างรูปไข่ ลำตัวกลม หัวโต คอดหางสั้นเรียว ฟันเป็นซี่ใหญ่แบบจะงอยปากนกแก้ว ใช้สำหรับขบกัดสัตว์น้ำมีเปลือกต่าง ๆ ได้ เมื่อตกใจสามารถสูบน้ำหรือลมเข้าช่องท้องให้ตัวพองออกได้คล้ายลูกโป่ง แม้บางชนิดจะกินได้ แต่หลายชนิดพบความเป็นพิษ ไม่ควรบริโภค
ปลาปักเป้าในประเทศไทยมีหลายชนิด แต่เฉพาะในบริเวณก้นอ่าวไทยพบ 10 ชนิด ได้แก่
#ปักเป้าทอง Auriglobus modestus
ลำตัวแบนข้าง ฐานครีบหลังและครีบก้นยาว ตัวมีสีเขียวอมทอง ขนาดโตสุดมีความยาว 9 เซนติเมตร
#ปักเป้าตาแดง Carinotetraodon lorteti
ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ตาแดง ครีบมีสีแดงเรื่อ ขนาดโตสุดมีความยาว 4 เซนติเมตร นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
#ปักเป้าจุดดำ Chelonodon nigroviridis
ตัวมีดวงสีดำบนพื้นเขียว ขนาดโตสุดมีความยาว 10 เซนติเมตร นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
#ปักเป้าลายหินอ่อน Chelonodontops patoca
มีจุดและดวงสีจางกระจายบนตัวส่วนบน ขนาดโตสุดมีความยาว 12 เซนติเมตร
#ปักเป้าเลขแปด Dichotomyctere ocellatus
บนหลังมีลายเป็นดวงดำขอบเหลือง ขนาดโตสุดมีความยาว 7 เซนติเมตร นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
#ปักเป้าหลังเรียบ Lagocephalus inermis
ด้านหลังเรียบ ไม่มีเกล็ดหนามเล็ก ขนาดโตสุดมีความยาว 20 เซนติเมตร
#ปักเป้าหางวงเดือน Lagocephalus lunaris
ด้านหลังมีเกล็ดหนามเล็กถึงครีบหลัง ครีบหางเว้ารูปวงเดือน ขนาดโตสุดมีความยาว 40 เซนติเมตร
#ปักเป้าหลังครึ่ง Lagocephalus spadiceus
ด้านหลังมีเกล็ดหนามเล็กถึงกึ่งกลางระหว่างครีบหลัง ขนาดโตสุดมีความยาว 20 เซนติเมตร
#ปักเป้าหน้ายาว Pao cambodgensis
จะงอยปากยื่นยาว ใต้ครีบหลังมีดวงดำ ขนาดโตสุดมีความยาว 12 เซนติเมตร
#ปักเป้าจุดแดง Pao fangi
ใต้ครีบหลังมีดวงแดงขอบดำ ขนาดโตสุดมีความยาว 7 เซนติเมตร
โฆษณา