4 ก.พ. 2023 เวลา 00:30 • สิ่งแวดล้อม

บทเรียนประวัติศาสตร์ "Great Smog of London" ถึง "PM2.5 in Bangkok"

มีเรื่องเล่า จากบทความของ เอริน เบลคมอร์ (Erin Blakemore) ใน NATIONAL GEOGRAPHIC
เหตุการณ์ในกรุงลอนดอนครั้งนั้นเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 5-9 ธันวาคม 2495 ถือเป็นภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมที่คร่าชีวิตชาวลอนดอนจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อสุขภาพชาวอังกฤษ รวมไปถึงสภาพภูมิอากาศ ในระยะเวลาต่อมา
ในช่วงศตวรรษที่ 19 ลอนดอนในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม มีปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศจากการปล่อยก๊าซและควันพิษจากโรงงานต่าง ๆ และจากการหุงหาอาหารของชาวเมือง รวมทั้งกลิ่นเหม็นรุนแรงที่ลอยมากับน้ำเน่าเสียในแม่น้ำเทมส์ ในปี 2448 นายแพทย์ Harold Antoine des Voeux ได้บัญญัติศัพท์คำว่า Smog (หมอกควัน) ซึ่งเป็นคำที่มาจาก Smoke และ Fog เพื่ออธิบายลักษณะอากาศของลอนดอนในช่วงนั้น
ห้วงเวลานั้น สหราชอาณาจักรเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ อุตสาหกรรมถ่านหินเจริญเติบโตถึงขีดสุดในปี 2456 เป็นช่วงที่มีการผลิตถ่านหินได้มากถึง 1 ใน 4 ของปริมาณถ่านหินที่ผลิตได้ทั่วโลก ซึ่งในขณะนั้นมีจำนวนถึง 292 ล้านตัน
ชาวอังกฤษนิยมใช้ถ่านหินเพื่อให้ความร้อนและหุงหาอาหารภายในครัวเรือน โดยในขณะนั้นการใช้ถ่านหินภายในบ้านยังไม่ได้มีการกำกับดูแลแต่อย่างใด การใช้ถ่านหินจึงเพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ในปี 2485 ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ถ่านหินอยู่ในภาวะขาดแคลน แต่ชาวลอนดอนกว่าร้อยละ 78 ก็ยังใช้ถ่านหินในบ้าน
ในช่วงเย็นของวันที่ 5 ธันวาคม 2495 อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 32 องศาเซลเซียส ความร้อนและควันจากถ่านหินลอยขึ้นไปบนอากาศอย่างที่เคยเป็น แต่แทนที่ควันเหล่านั้นจะลอยสูงไปในชั้นบรรยากาศแล้วถูกพัดหายไปอย่างที่เคยเป็น กลับเกิดปรากฏการณ์ "หมอกควันครั้งใหญ่" (The Great Smog) เนื่องจากเกิดภาวะความกดอากาศสูงที่เรียกว่า แอนติไซโคลน (anticyclone) ทำให้อากาศที่อุ่นและชื้นที่แผ่กระจายไปทั่วลอนดอน ดันเอาอากาศใต้พื้นดินซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่า ควบแน่นกับไอน้ำในอากาศกลายเป็นหมอก
เกิดปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (Temperature Inversion) ทำให้ควันและก๊าซที่ปล่อยออกมาถูกกักไว้ในเมือง เกิดหมอกหนามากกว่า 200 เมตร ซึ่งในช่วงเวลานั้น กิจกรรมในกรุงลอนดอนได้ปล่อยควันออกมาหลายพันตัน เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 2,000 ตันต่อวัน และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินก็ลอยติดอยู่ในชั้นบรรยากาศ เมื่อผสมกับอนุภาคน้ำของหมอกได้กลายเป็นกรดกำมะถัน ในที่สุดกรุงลอนดอนก็ถูกปกคลุมด้วยหมอกควันที่ประกอบขึ้นจากฝนกรด
สถานการณ์ในขณะนั้นเลวร้าย ผู้คนใช้ชีวิตยากลำบาก รถยนต์ไม่สามารถสัญจรได้ แม้แต่การเดินเท้ายังแทบมองไม่เห็นเท้าของตัวเอง เกิดอาชญากรรมบนท้องถนนเพิ่มขึ้น ชาวเมืองลอนดอนต้องหาทางไปโรงพยาบาลท่ามกลางหมอกควัน อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคปอดบวม และโรคหลอดลมอักเสบ เพิ่มสูงขึ้น และเป็นสาเหตุการเสียชีวิต
วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างเชื่องช้า มีผู้เสียชีวิตมากมายจากเหตุการณ์ครั้งนั้นโดยประกาศรัฐบาล 3,000 ราย ต่อมาในปี 2555 นักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งประวัติศาสตร์ พบว่าในเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตมากถึงประมาณ 12,000 ราย และยังพบว่า เด็กที่สัมผัสหมอกควันนั้น เกือบร้อยละ 20 มีแนวโน้มเป็นโรคหอบหืดในวัยเด็ก และร้อยละ 9.5 มีแนวโน้มเป็นโรคหอบเมื่อเป็นผู้ใหญ่ อีกทั้งยังมีผลต่อหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งการรับสารในมดลูกทำให้เกิดโรคหอบหืดในเด็กเกิดใหม่เพิ่มขึ้นเกือบ 8 %
ปัจจุบัน วิกฤตพลังงานจากการคว่ำบาตรรัสเซีย เนื่องจากสถานการณ์สงครามในยูเครน ทำให้หลายประเทศในยุโรปหันกลับมาพึ่งพาถ่านหินอีกครั้ง เช่น เยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีเป้าหมายในการลดคาร์บอนในประเทศ โดยจะยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2581 แต่เมื่อไม่ต้องการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากรัสเซีย ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 รัฐสภาเยอรมนีจึงได้อนุมัติการเปิดใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศอีกครั้ง ทำให้การเข้าสู่ข้อตกลงต่าง ๆ ของสหประชาชาติ เกี่ยวกับ Climate Change เป็นไปได้ยากขึ้น
สำหรับประเทศไทย สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 กลายเป็นสถานการณ์ประจำที่เกิดขึ้นทุกปี และมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจนติดอันดับโลก โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่
PM2.5 คืออะไร :
อนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่าง ๆ เมื่อแผ่รวมตัวกันแล้วจะมีพื้นผิวรวมกันมากมหาศาล ทำให้มันสามารถนำพาสารต่าง ๆ ล่องลอยในบรรยากาศรอบตัวเราได้ในปริมาณสูง และเกิดเป็นหมอกควันโดยตัวของมันเอง ซึ่งสารหลายชนิดที่อยู่บนผิวของมัน ถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์
PM2.5 มาจากไหน :
แหล่งสำคัญของ PM2.5 ในบรรยากาศ คือ การเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์ และฝุ่นจากการก่อสร้าง เช่น เชียงใหม่ในช่วงต้นปีของทุกปีที่มีการเผาพื้นที่เกษตรกรรม ไฟป่าทั้งจากในและนอกประเทศ ทำให้ตัวเมืองเชียงใหม่ที่มีภูเขาล้อมรอบกลายเป็นแอ่งกระทะที่ขัง PM2.5 ไว้แพร่กระจายอยู่ในเมือง
ส่วนในกรุงเทพมหานคร มีการผลิต PM2.5 จากยานพาหนะในท้องถนนทุกวัน และยังรวมถึงฝุ่นจากการก่อสร้างต่าง ๆ ในช่วงปลายปีถึงต้นปีจะเกิดสภาวะ "การตกตะกอน" เมื่ออุณหภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเร็วร่วมกับความชื้นสูงและลมอับ อีกทั้งการมีตึกสูงจำนวนมากทำให้ตัวเมืองเหมือนเป็นแอ่งกระทะกักเก็บอนุภาค PM2.5 ให้วนเวียนอยู่จำนวนมากในช่วงกลางคืน และจะจางหายไปเมื่อพระอาทิตย์ทำงานเต็มที่
เกิดอะไรขึ้นกับอนุภาค PM2.5 ในอากาศ จึงหนาแน่นจนเห็นเป็นหมอกควัน?
ในแต่ละวันช่วงกลางวันและกลางคืน ชั้นความสูงของบรรยากาศที่เรียกว่า Mixed Layer จะมีความแตกต่างกัน เวลาพระอาทิตย์ตก พื้นดินจะเย็นกว่าอากาศที่อยู่เหนือพื้นดิน ทำให้เกิดอุณหภูมิผกผัน (Inversion) ตั้งแต่ 18.00 น. จนถึง 7.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ทำให้ชั้น Mixed Layer มีความสูงน้อยลงเนื่องจากอากาศจากด้านล่างไม่สามารถเคลื่อนที่ในแนวดิ่งขึ้นไปได้ จนเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ชั้นของ Inversion จะค่อย ๆ ถูกทำลาย ชั้น Mixed Layer ก็จะสูงขึ้นถึงมากกว่า 1 กม. และในเวลา 17.00 น. จะค่อย ๆ ต่ำลง เป็นวงจรอย่างนี้ตลอดไป
จากวงจรดังกล่าว มลพิษจะถูกพาไปในอากาศและกระจายในชั้นบรรยากาศ แต่หากอยู่ในภาวะที่ลมสงบ เช่นขณะนี้ มลพิษจะไม่สามารถเคลื่อนที่ไปตามแนวราบได้ เพราะไม่มีลม และเคลื่อนไปในแนวดิ่งก็ไม่ได้ เนื่องจากมี Inversion ทำหน้าที่เสมือนเป็นฝาชีครอบไว้ ทำให้ชั้น Mixed Layer สูงเพียง 0.5 กม. จึงมีผลต่อความเข้มข้นของมลพิษ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์
หากหายใจนำอนุภาค PM2.5 เข้าสู่ปอดและเล็ดรอดเข้าสู่กระแสโลหิตได้ จะกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกาย ทำให้ระบบแอนตี้ออกซิแดนท์ลดลง รบกวนดุลแคลเซียมจนทำให้เกิดการอักเสบ และกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารอักเสบซึ่งเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อของตัวเรา จนอาจส่งผลให้เกิดอาการกำเริบของโรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจ และโรคหลอดเลือดเรื้อรัง นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการทำงานของปอด และอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งปอดได้
2
ที่มา :
[1] บทความ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล และ นพ.ชลทิศ อุไรฤกษ์กุล
โฆษณา