6 ก.พ. 2023 เวลา 14:05 • กีฬา

ฌอน ไดซ์ กุนซือที่ทำให้โลกลูกหนังร่วมสมัยรู้ว่า ระบบ 4-4-2 บอลโยนไม่เคยสูญพันธุ์

เอฟเวอร์ตัน บรรลุข้อตกลงในการเซ็นสัญญากับ ฌอน ไดซ์ ให้มาคุมทีม ด้วยสัญญา 2 ปีครึ่งถึงสิ้นฤดูกาล 2024-25 ซึ่งเขาไม่ใช่คนอื่นไกลจากพรีเมียร์ลีก เพราะเป็นอดีตกุนซือระดับปู่โสมเฝ้าทรัพย์ของ เบิร์นลีย์ ที่ใช้ระยะเวลา 10 ปีในการคุมทัพ ก่อนแยกย้ายกันไปแบบมืออาชีพ หลังจาก เดอะ คลาเรตส์ ตกชั้นเมื่อฤดูกาล 2021-22
1
นอกจากความจงรักภักดีในการคุมทีมแล้ว แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่แฟนบอลไม่อาจลืมเลือนได้นั่นคือ การใช้แผนการเล่น "ระบบ 4-4-2" กับรูปแบบ "บอลโยน" ซึ่งถือว่าเป็นของหลงยุคสำหรับฟุตบอลสมัยปัจจุบันที่เน้นต่อบอลเท้าสู่เท้า ไม่ก็ใช้การเพรสซิ่ง
แต่การเล่นเช่นนี้กลับทำให้เบิร์นลีย์อยู่รอดในลีกสูงสุดได้ถึง 6 ฤดูกาล แน่นอนว่าบรรดาทีมยักษ์ต่างโดนพิษสงนี้มาถ้วนหน้าแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นเขายังเคยพาเบิร์นลีย์บินสูงในฤดูกาล 2017-18 โดยสามารถจบอันดับที่ 7 คว้าโควตาลงแข่ง ยูโรปา ลีก รอบคัดเลือกได้เลยทีเดียว
ที่สำคัญคือ เพียงแค่เกมแรกของการคุมทีมเอฟเวอร์ตัน เขาก็พาทีมพลิกล็อกชนะ อาร์เซนอล จ่าฝูงของพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2022-23 (ณ วันที่แข่ง 4 กุมภาพันธ์ 2023) แล้ว
เขาทำได้อย่างไร ? อะไรคือเคล็ดลับในการทำทีมของกุนซือจากอีสต์มิดแลนด์คนนี้ ? ร่วมติดตามไปพร้อมกับเรา
4-4-2 จงเจริญ !
แน่ละว่านอกจากชื่อนิตยสารแล้ว ศัพท์ 4-4-2 แทบจะสูญพันธุ์ไปจากฟุตบอลระดับสูงแบบไม่ได้ผุดได้เกิดอีกเลย ภายหลังจากการก้าวลงจากตำแหน่งกุนซือของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ซึ่งแท้จริงแล้ว ในบั้นปลายอาชีพยังมีช่วงที่เขาแอบหันมาใช้ระบบ 4-3-3 ยอดนิยมเสียด้วยซ้ำ (สามประสาน โรนัลโด้-รูนีย์-เตเบซ)
1
กระนั้น เมื่อเบิร์นลีย์ของกุนซือสุดโนเนม ณ ขณะนั้นที่มีชื่อว่า ฌอน ไดซ์ ก้าวขึ้นมาเล่นในพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2016-17 เบิร์นลีย์กลับโชว์ศักยภาพการเล่นด้วยระบบ 4-4-2 โดยใช้บอลโยนเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับทีมน้องใหม่ที่มาจากลีกล่าง การเล่นแบบนี้ไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่แปลกตา เพราะพบเห็นได้ทั่วไปในฟุตบอลถ้วย เวลาทีมเหล่านี้ปะทะกับทีมใหญ่ ๆ แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ การเล่นแบบนี้กลับมาทรงประสิทธิภาพในลีกระดับสูงสุดได้
2
เพราะการยืนแบบมีกองกลางเพียง 2 ตำแหน่งและใส่ศูนย์หน้าลงไป 2 คน นับว่าเสียเปรียบเชิงพื้นที่อย่างมากในยุคที่เน้นต่อบอล ครอบครองบอลในแดนกลาง และให้ความสำคัญกับตำแหน่งกลางรับที่คอยตัดเกมและโฮลด์บอลอย่างชัดเจน การเล่นของไดซ์จึงนับว่าแปลกตาอย่างมาก
แต่เมื่อลองพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่า ระบบการเล่น 4-4-2 นั้นมีความได้เปรียบและเป็นคุณแก่บรรดาทีมระดับดังกล่าวเหลือคณานับ นั่นเพราะโดยทฤษฎีแล้วระบบดังกล่าวถือได้ว่า "ไม่ต้องใช้สมองเยอะก็เข้าใจ" หรือก็คือ ในการเล่นฟุตบอล 4-4-2 ถือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุด อนุบาลที่สุด เข้าใจง่ายที่สุด ติดตั้งได้ง่ายที่สุด และทำการฝึกได้ง่ายที่สุดกว่าระบบใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฟุตบอลอังกฤษที่เล่นระบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร
โดย Keyword สำคัญสำหรับการนี้คือการ "สร้างสามเหลี่ยมได้ง่ายที่สุด" โดยการสร้างสามเหลี่ยมนั้น ให้คิดตามว่า เหมือนการสร้างพื้นที่ด้วยนักเตะ 3 คนเพื่อเปิดองศาและวิสัยทัศน์ในการจ่ายบอล โดยไปกันแบบหมู่คณะ หากคู่ต่อสู้เข้ามาแย่งบอลตัวเลือกในการกระจายความเสี่ยงจึงมีรออยู่ถึง 2 คนที่จะทำชิ่งไปมารอให้ช่องเปิดได้ง่ายกว่าการเล่นประเภทข้ามาคนเดียวหรือสองสหายไปไหนไปกัน ที่มีโอกาสในการโดนแย่งหรือเสียบอลได้ง่าย
1
หากนึกไม่ออกให้นึกถึงเวลาเล่น "ลิงชิงบอล" กับมิตรสหาย ไม่ว่าคนเป็นลิงจะมีทักษะระดับพระเจ้ายังซูฮกขนาดไหน แต่ถ้าเราสามารถสร้างสามเหลี่ยมได้อย่างคงที่ มั่นคง และรู้ใจ ต่อให้เข้ามาแย่งให้ตายอย่างไรก็ไม่มีทางเสียบอลเป็นแน่แท้
ซึ่งแตกต่างกับระบบ 4-3-3 ตลอดจน 4-2-3-1 ที่ฟุตบอลสมัยนิยมใช้ เพราะระบบนี้จะเน้นแดนกลางเป็นสำคัญ ซึ่งหายห่วงเพราะเป็นสามเหลี่ยมได้ง่าย หากแต่ในตำแหน่งริมเส้นระยะห่างของพื้นที่ระหว่างแบ็กซ้าย-ขวา กับปีกซ้าย-ขวา จะห่างกันอย่างมาก และที่สำคัญคือในส่วนริมเส้นก็มีเพียง 2 ตำแหน่ง และหากจะเรียกอีกตำแหน่งมาสร้างสามเหลี่ยม ไม่ว่าจะเป็นกลางรับหรือกลางอื่น ๆ ย่อมต้องใช้เวลาในการวิ่งมาพอสมควร ซึ่งถือได้ว่าสร้างงานสร้างภาระให้ตำแหน่งการเล่นแนวลึกอย่างมาก
2
อย่าได้แปลกใจหากราคาของตำแหน่งเกมรุกริมเส้นจะกระโดดเฟ้อไปไกลหลายเท่าตัว และที่สำคัญมีความไม่แน่นอน ยักย้ายเปลี่ยนถ่ายได้สูง นั่นเพราะหากริมเส้นไม่เทพจริงก็เล่น 4-3-3 ลำบากแน่นอน คือวัดกันได้ในไม่กี่อึดใจเลยทีเดียว
1
ดังนั้นการเล่นแบบ 4-4-2 จึงหมายความว่า ไม่ว่านักฟุตบอลทั้ง 10 คนที่เป็น Outfield จะมีความสามารถน้อยกว่าคู่ต่อสู้หลายช่วงตัว แต่การใช้ระบบยืนตำแหน่งแบบ 4-4-2 ที่สามารถสร้างสามเหลี่ยมฟุตบอลได้ง่ายกว่าแผนอื่น ๆ ย่อมสามารถชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปในเรื่องศักยภาพได้พอสมควร
1
ให้คิดตามว่าหากคู่ต่อสู้มีพ่อค้าแข้งระดับเวิลด์คลาส 11 คนในแต่ละตำแหน่ง โดยจัดเกมรุกเต็มอัตรา โดยใช้ศักยภาพเกมรุกจากทางด้านข้างเป็นหลักและใช้กองกลางตัดเกมตำแหน่งเดียว โดยอาจใช้กองหน้าแบบ False 9 หรือ Striker ด้วยระบบ 4-3-3 หรือ 4-2-3-1 ที่นิยม ซึ่งแน่นอนว่าแบบนี้ใครเห็นก็ว่า 4-4-2 ตายหยังเขียดแน่ ๆ
1
แต่กระนั้นต้องไม่ลืมว่า การจัดให้บุกทางด้านกว้างและมีกลางรับเพียงคนเดียวนั้น สิ่งที่ขาดหายไปย่อมหมายถึงการสร้างสามเหลี่ยมบริเวณด้านข้างในการทำเกมรุก เพราะระยะทางในการยืนตำแหน่งถือว่าไกลกันกับตรงกลางพอสมควร มิหนำซ้ำหากหุบเข้ามาช่วยหรือเรียกให้กลางรับวิ่งเข้าหา พื้นที่ขนาดใหญ่ย่อมเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น และอาจจะทำให้ถึงขั้นเสียประตูได้
ดังนั้นการเล่นในระบบดังกล่าวจึงมีความจำเป็นอย่างมากในการเรียกหาปีกระดับปรากฏการณ์ที่ไม่ได้มีดีแค่เร็วหรือครอสบอลแม่นยำ แต่ต้อง ชงเอง กินเอง เอาตัวรอดได้ดี รวมถึงต้องยิงคมกริบระดับยิลเล็ตยังอาย
กระนั้น 4-4-2 ของไดซ์ก็ใช่ว่าจะยืนแบบแข็งทื่อตายตัวเหมือนยุค 1980s-1990s หรือแบบที่อังกฤษโบราณใช้กัน เพราะตัวเขาออกมายอมรับว่า หากทำเช่นนี้ในฟุตบอลร่วมสมัยก็เตรียมปิดประตูแพ้ตั้งแต่ไก่โห่ได้เลย
"คุณสามารถยืนตำแหน่งแบบ 4-4-2 ได้จนครบ 90 นาทีในฟุตบอลสมัยนี้ได้ไหมล่ะครับ ? … ผมไม่ปฏิเสธว่าเราใช้แผนนี้แล้วยืนระยะได้หลายฤดูกาล แต่หน้างานคุณจะขาดอิสระในการเล่นโดยเฉพาะในเกมรุกไปไม่ได้ … อย่างไรคุณต้องมีการปรับแปรตามสถานการณ์ไปแบบเลี่ยงไม่ได้ คู่ต่อสู่ที่เล่นฟุตบอลร่วมสมัย (หมายถึงการเพรสซิ่ง) ต้องบีบให้คุณทำแน่นอน ทีนี้อยู่ที่ศักยภาพของเด็ก ๆ แล้วว่าจะสามารถคงรูปแบบที่เรายึดถือมาได้มากน้อยขนาดไหน" ไดซ์กล่าวไว้กับ Burnley Express สื่อท้องถิ่นประจำเมืองเบิร์นลีย์
1
เมื่อถอดความอย่างถี่ถ้วนจะพบว่า ไดซ์พยายามกล่าวให้เห็นถึง "ความยืดหยุ่น (Flexibility)" ในการเล่นแบบ 4-4-2 แน่นอนว่าระบบนี้ควรคงไว้เป็นเอกลักษณ์ของทีม แต่เมื่อลงสนามก็ควรปรับเปลี่ยนไปตามหน้างานให้ได้ อย่าไปยึดติดแบบตามตำราเป๊ะ ๆ
1
"คุณไปลองสังเกตดูนะครับ ในช่วงที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยิ่งใหญ่ พวกเขาเล่นแผน 4-4-2 ทุกสัปดาห์ แต่เมื่อคุณรับชมจริง ๆ กลับไม่ได้ยืนแบบนั้นเป๊ะ ๆ … เพราะหน้างานจริง ๆ อเล็กซ์ (เฟอร์กูสัน) ได้ปรับเปลี่ยนไปมาตลอด บางทีก็ 4-4-1-1 บางทีก็ 2-4-4 เวลาเล่นเกมรุก … แต่พื้นฐานมาจาก 4-4-2 อย่างเห็นได้ชัด"
1
ตรงนี้ไดซ์พยายามชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่ากุนซือจะวางแผนให้นักเตะยืนตำแหน่งแบบใดก็ตาม ทั้ง 4-4-1-1, 4-2-2-2, 4-2-3-1 หรือ 4-3-3 ซึ่งเป็นแผนการเล่นยอดนิยม สิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุด (Fundamental) ของฟุตบอลยังคงเป็นระบบ 4-4-2 อยู่วันยังค่ำไม่มีเปลี่ยนแปลง แต่ในรายละเอียดของวิธีการเล่นอยู่ที่การประยุกต์ตามวิถีของกุนซือแต่ละคนที่จะต่างกันออกไป
1
ตรงนี้คือประเด็นสำคัญ เพราะนอกจากเรื่องของแผนการเล่นแล้ว เรื่องของวิธีการเล่นในรายละเอียดไดซ์ก็ถือว่าแตกต่างไปจากกุนซือในยุคนี้คนอื่น ๆ มากพอสมควร จากการที่เขาถูกขนานนามว่า "เจ้าพ่อบอลโยน" ซึ่งถือเป็นการครหาว่าตกยุคอย่างมาก
บอลโยนที่หมายถึงจ่ายยาว
แม้จะถูกค่อนขอดว่าเป็นพวกหลงยุคกับการทู่ซี้ใช้บอลโยนเป็นที่ตั้ง เอะอะ ๆ ก็โยนขึ้นแดนหน้าตลอด หรือไม่บางทีก็โยนออกข้างให้ปีกสอดขึ้นมาครอสเข้ากลาง โหม่งประตู ไม่มีการมาต่อบอลทำเกมแบบสวยงาม หรือวิ่งเพรสเป็นระบบใด ๆ ทั้งสิ้น
กระนั้น เขาก็ได้ออกมาแก้ต่างว่า รายละเอียดการเล่นดังกล่าวนี้ไม่ใช่บอลโยน (Long-ball) แต่อย่างใด หากแต่เป็น "จ่ายยาว (Long-pass)" ต่างหากอย่าเข้าใจผิด สองศัพท์ทางฟุตบอลนี้มีความหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
นั่นเพราะการบอกว่าเล่นแบบโยนบอลมีนัยของการสาดไปข้างหน้าล้วน ๆ ไม่มีทิศมีทาง หรือไม่ก็มุ่งแต่จะให้กองหน้ากระโดดเก็บบอลหรือโหม่งกลับมาให้กองกลางกระจายบอลอีกทอดหนึ่ง แต่ไม่ใช่กับการจ่ายยาว เพราะการจ่ายยาว หมายถึงการคิดไปเรียบร้อยแล้วว่าเราจะขึ้นเกมโดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด
ดังนั้นการยืนตำแหน่งจึงมีการวางหลักมาให้รับบอลยาวโดยเฉพาะผ่านการโยกย้ายถ่ายแทแดนไปซ้ายขวาพร้อมกันทั้งทีม เพื่อให้ง่ายต่อการขึ้นเกมแบบจ่ายยาว คือมีเป้าหมายแค่ทิศทางเดียวที่จ่ายไปจะมีคนไปรอรับแน่นอน และที่สำคัญ การโยกไปซ้ายทีขวาทีเช่นนี้ยังเป็นการล่อให้คู่ต่อสู้ที่ส่วนมากจะเน้นครอบครองบอลกลับมาให้เร็วที่สุดหรือไล่เพรสซิ่ง เปิดพื้นที่อีกฝั่ง และใช้เป็นโอกาสในการจ่ายยาวข้ามแดนได้โดยง่าย
อีกอย่างที่สำคัญคือ การเล่นแบบนี้เป็นการบอกว่าเราจะไม่มีการมาต่อบอลให้เสียเวลา ซึ่งตรงกับคำกล่าวของไดซ์กับ talkSPORT ความว่า "ผมบอกเลยนะ ผมไม่อยากให้เรา (เบิร์นลีย์) เล่นฟุตบอลแบบที่เป็นบาร์เซโลน่ามากจนเกินไป"
1
โดยเขาต้องการที่จะสื่อว่า ปณิธานที่หาญมุ่งในการเล่นฟุตบอลสวยงามแบบค่อย ๆ ชม้อยชม้ายลำเลียงบอลเคาะไปมาเพื่อเปิดพื้นที่คู่ต่อสู้ โดยฝั่งตนต้องมีการขยับตำแหน่งตลอดและมีการแทนตำแหน่งกันได้ทั้งสนามใช้ได้ผลดีกับบาร์เซโลน่าเท่านั้น การที่จะคว้าชัยเหนือพวกเขาแต่ไปเล่นเลียนแบบพวกเขาถือเป็นเรื่องที่บ้าบอคอแตกอย่างมาก
เพราะแน่นอนไม่ว่าจะเกิดมาเรียนรู้ได้เทพขนาดไหน เลียนแบบได้เทพขนาดไหน หรือประยุกต์ได้เทพขนาดไหน ย่อมไม่มีทางที่จะทำได้ดีเหมือนต้นฉบับเป๊ะ ๆ ดังนั้นการมีวิถีของตนเองที่หาให้เจอว่าระบบใดเหมาะสมกับตนมากที่สุด และทำให้เพอร์เฟ็กต์ เช่นนี้จึงจะมีโอกาสในการต่อกรกับบาร์เซโลน่าได้ หรือว่าง่าย ๆ ในสำนวนไทย "เห็นช้างขี้ อย่าขี้ตามช้าง" ดังที่ไดซ์เคยกล่าวไว้ว่า
"พึงระลึกไว้เลยว่าเราไม่สามารถที่จะเล่นได้แบบบาร์เซโลน่าทุกกระเบียดนิ้วแบบที่ใคร ๆ ต่างอยากเป็น จะดีกว่าไหมถ้าให้พวกเขาเป็นรอยทางให้เราหาแผนการเล่นใหม่ ๆ มาไล่ถลุงพวกเขาแทน"
กระนั้นก็ใช่ว่ากลยุทธ์จ่ายยาวของเบิร์นลีย์จะเป็นเพียงแค่การนั่งเคลื่อนหมากในกระดานของกุนซือเฉย ๆ เพราะฟุตบอลไม่ได้เป็นเรื่องของแทคติกเพียว ๆ แต่เป็นเรื่องของ "มนุษย์"
คนที่พร้อมดีสำคัญกว่าคนที่ดีพร้อม
จากที่กล่าวในข้างต้นเป็นการลงลึกไปพิจารณาถึงเชิงแทคติกฟุตบอล แต่สิ่งดังกล่าวอาจเหลือเพียงคำครหาว่าเป็น "เสือกระดาษ" หากไม่ได้พิจารณา "นักฟุตบอล" มาเป็นส่วนประกอบด้วย เพราะในท้ายที่สุดไม่ว่าจะคิดค้นทฤษฎีสุดแปลกแหวกแนวหรือหาวิธีแก้ลำได้ระดับเทพเจ้าขนาดไหน ในท้ายที่สุด 11 คนในสนามคือภาคปฏิบัติที่เห็นผลได้อย่างชัดเจน
1
เป็นที่ทราบดีว่าเบิร์นลีย์ไม่ใช่ทีมระดับเงินถุงเงินถังที่พร้อมจ่ายไม่อั้นให้โค้ชดึงนักเตะที่ตรงตามที่ต้องการเข้ามาสู่ทีม ดังนั้นการเลือกในแต่ละครั้งจึงเป็นไปในลักษณะฟันธงทีเดียวห้ามพลาด เข้ามาแล้วต้องไปกันได้กับทีม หรือยกระดับการเล่นโดยรวมได้ยิ่งดี
โดยการเล่นระบบของเขา ตำแหน่งที่สำคัญที่สุดนั่นคือ ศูนย์หน้าเป้า ที่ต้องมีลักษณะที่แข็งแกร่ง เบียดปะทะได้ ค้ำบอลได้ กระจายบอลได้ ความคล่องตัวอาจจะไม่ต้องมากมาย หรือหากมีรูปร่างสูงใหญ่ยิ่งได้เปรียบ ซึ่งพลพรรค เดอะ คลาเรตส์ มีไม่เคยขาด เช่น แซม โวกส์, คริส วูด, เวาต์ เวกฮอร์สต์, แดนนี่ อิงส์ หรือ สตีเว่น เฟล็ตเชอร์ เมื่อครั้งขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกหนแรกเมื่อฤดูกาล 2009-10
นอกจากตำแหน่งหน้าเป้าแล้ว กองหน้าต่ำก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ในการช่วยดึงตัวประกบ ถ่างเกมรับคู่ต่อสู้ ล้วงบอลแนวลึก หรือวิ่งทำทาง รอเก็บตกทำประตู เช่น แอชลีย์ บาร์นส์, มาเตจ วีดา, เจย์ โรดริเกซ หรือ เจฟฟ์ เฮนดริค
เซ็นเตอร์ฮาล์ฟที่เน้นสไตล์โบราณ สกัดคือสกัด เสียบคือเสียบ ถึงลูกถึงคน เช่น เบน มี, เจมส์ ทาร์คอฟสกี, นาธาน คอลลินส์, ฟิล บาร์ดสลีย์ พร้อมกับฟูลแบ็กซ้าย-ขวา ที่หุบเข้ากลางยามเล่นเกมรับแน่น ๆ อย่าง แมตต์ โลว์ตัน และ ชาร์ลี เทย์เลอร์ อาจจะรวมถึง คีแรน ทริปเปียร์ สมัยหนุ่ม ๆ ไปด้วย
รวมถึงกองกลางที่มีวินัยในการยืนตำแหน่งอย่าง แจ็ค คอร์ก, โยฮันน์ เบิร์ก กุดมุนด์สัน, ดไวท์ แม็กนีล, แอชลีย์ เวสต์วูด และ ร็อบบี้ เบรดี้ หรือย้อนไกลเสียเล็กน้อยอาจเป็น จอร์จ บอยด์ และ เดวิด โจนส์
1
แต่ที่เป็นเหมือนกับการถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 นั่นคือในตำแหน่งผู้รักษาประตู เพราะมีระดับเทวดาเดินดินถึง 2 คน อย่าง ทอม ฮีตัน และ นิค โป๊ป ซึ่งขยันเก็บคลีนชีตเป็นว่าเล่น ชนิดที่ไม่ได้กล่าวว่าอยู่กับทีมลุ้นหนีตกชั้นย่อมไม่มีใครเชื่อเป็นแน่
1
รายชื่อที่กล่าวมาล้วนได้รับการจัดให้อยู่ในระดับเกรด B เกรด C กลาง ๆ ค่อนไปทางท้าย ๆ หากแต่เมื่อมาอยู่ร่วมชายคาภายใต้การบริหารจัดการของไดซ์ กลับพลิกขั้วสลับด้านกลายเป็นอสรพิษร้ายที่บรรดาสโมสรในพรีเมียร์ลีกต่างมองข้ามไปเสียไม่ได้
1
เหตุผลไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ในการฝึกซ้อมไดซ์ไม่ได้เน้นแทคติกจ๋า ๆ หรือใส่รายละเอียดจ๋า ๆ แต่ทำให้ฟุตบอลเข้าใจได้ไม่ยากด้วยระบบ 4-4-2 ที่พ่อค้าแข้งคุ้นชิน แถมยังง่ายต่อการเล่น เพราะวิ่งไปตรงไหนสามเหลี่ยมก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ทำให้นักเตะไม่ต้องปรับตัวและไม่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมให้สมองระเบิด แค่ทำตามที่ไดซ์แนะนำประเดี๋ยวคู่ต่อสู้ก็เล่นเข้าทางเรา แถมไดซ์ยังให้อิสระในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเวลาลงสนามอีกด้วย ดังนั้นนักเตะจึงนำเวลาที่มีค่าไปเพิ่มศักยภาพทางกายและฝึกซ้อมจ่ายยาวตามรายละเอียดการเล่นเป็นพอ
เมื่อเป็นเช่นนี้เกรดนักเตะจึงไม่มีผลยามลงสนาม บรรดาทีมใหญ่ ๆ ในลีกเมื่อเจอเบิร์นลีย์เข้าไป หลายต่อหลายครั้งเป็นอันหมอบกระแตเสียหมด ไม่เว้นแม้แต่ทีมระดับใกล้เคียงกันที่สยบแก่พิษสงของคำว่า "ระบบเบสิก" นี้มาแล้ว
กระนั้นไม่มีสิ่งใดเป็นสรณะหรือจีรังยั่งยืนตลอดไป แม้แทคติกจะสร้างมาเพื่อตอบโจทย์ทุนทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงใด แต่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ "มีสมองและหัวใจ คิดได้และเจ็บเป็น" เมื่อนานวันเข้าความรู้สึกไม่เหมือนเดิมก็เข้ามารบกวนจิตใจ หรืออาจรู้สึกอิ่มตัวกับสิ่งที่ทำเป็นวัตรปฏิบัติ แน่นอนว่าให้เหมือนเดิมตลอดไปก็คงเป็นไปไม่ได้
และนี่คือสิ่งที่ทำให้เบิร์นลีย์กระเด็นตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกไปในฤดูกาล 2021-22 พร้อมกับการจากลาของไดซ์ที่ล่มหัวจมท้ายกับทีมมากว่าทศวรรษ
ไม่มีใครทราบอนาคตว่าการกลับมาอีกครั้งของไดซ์บนลีกสูงสุดกับภารกิจพาเอฟเวอร์ตันรอดตกชั้น เขาจะติดตั้ง 4-4-2 แบบจ่ายยาวเหมือนที่เคยสร้างชื่อให้กับเขามานานหรือไม่ เขาอาจจะพิจารณาทุนทรัพยากรมนุษย์ที่มีแล้วพบว่าวิถีแบบเดิม ๆ ใช้ไม่ได้อีกต่อไปและจะต้องนำสิ่งใหม่มาทดแทน
แม้ในเกมแรกกับท็อฟฟี่สีน้ำเงิน ไดซ์จะใช้ระบบ 4-5-1 นำทีมพลิกล็อกชนะ อาร์เซนอล 1-0 แบบสาวกเห็นยังชื่นใจว่า เล่นได้ดีแบบที่ไม่ได้เห็นมานาน แต่เวลาคือคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้ ทั้งรูปแบบและผลลัพธ์ที่บอร์ดบริหารตั้งไว้ว่า จบฤดูกาล 2022-23 เอฟเวอร์ตันต้องรอดตกชั้นและอยู่พรีเมียร์ลีกต่อให้ได้สถานเดียว
บทความโดย วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา