7 ก.พ. 2023 เวลา 04:51 • ท่องเที่ยว

ทมิฬนาดู (2) .. เรื่องที่ควรรู้ก่อนเดินทางไปสู่ อินเดียใต้

ผู้คนส่วนใหญ่ในอินเดียใต้นับถือศาสนาฮินดู และมีชีวิตผูกพันแน่วแน่อยู่กับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ..
ตั้งแต่เช้าเรา หากเราอยู่ที่ถนน เราจะเห็นผู้คนเดินเป็นทิวแถวมุงหน้าไปเทวาลัย
… พร้อมกับพวงมาลัยดอกไม้ หรือดอกไม้ผสมกับกิ่งกะเพราและอย่างอื่น เพื่อสวดมนต์และปฏิบัติบูชา สักการะเทพเจ้าก่อนจะทำกิจกรรมอื่นๆ
ศาสนสถานในอินเดียใต้ถือว่าเป็นที่ประทับของเทพเจ้าในโลกมนุษย์ ในรูปของ มูรติ (รูปปรากฏ) ของพระองค์ อันได้แก่ เทวรูป หรือสัญลักษณ์ เช่น ศิวลึงค์ .. ศาสนสถาน เช่น เทวาลัย จึงมีอยู่มากมายในแต่ละเมือง และอาจจะนับพันแห่งในเมืองเดียว
เทวาลัย ในอินเดียใต้
เทวาลัย (devālaya) หรือชื่ออื่น ๆ มนเทียร (mandir), และ โกยิล (koil) เป็นชื่อเรียกของศาสนสถานในศาสนาฮินดู ในความเชื่อถือว่าเป็นที่ประทับของเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของฮินดู
โครงสร้างของเทวาลัย .. สร้างขึ้นเพื่อนำมนุษย์กับเทพเจ้าเข้าหากันผ่านทางสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงแนวคิดและความเชื่อของศาสนาฮินดู
สัญลักษณ์และโครงสร้างของเทวาลัย .. มีรากฐานในความเชื่อแบบพระเวท ประกอบการใช้วงกลมและสี่เหลี่ยมจัตุรัส มนเทียรหนึ่ง ๆ จะนำเอาองค์ประกอบทั้งปวงของจักรวาลวิทยาฮินดูเข้าด้วยกัน แสดงให้เห็นถึงสวรรค์ (พระเจ้า) มนุษย์ และความชั่วร้าย รวมถึงแนวคิดของเวลาและชีวิตผ่านธรรมะ, กามะ, อรรถะ, โมกษะ และ กรรมะ
หลักสำคัญทางจิตวิญญาณที่ถูกแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ในเทวาลัยนั้นนำมาจากงานเขียนสันสกฤต เช่น พระเวท และอุปนิษัท
.. ในขณะที่กฎเกณฑ์ทางโครงสร้างนั้นมีระบุในเอกสารเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมสันสกฤตโบราณ เช่น พฤหตสังหิตา และวาสตุศาสตร์ มนเทียรต่าง ๆ ถือเป็นจุดหมายปลายทางทางจิตวิญญาณของชาวฮินดู ในขณะเดียวกันยังเป็นเหมือนศูนย์กลางที่ศิลปะโบราณ การเฉลิมฉลองของชุมชน รวมถึงเศรษฐกิจนั้นเฟื่องฟูและเจริญ
มนเทียรนั้นมีลักษณะรูปแบบที่หลากหลาย รูปแบบความเชื่อ สัญลักษณ์ และกรรมวิธีก่อสร้างที่แตกต่างกันไปตามภูมิภาค ชุมชน วัฒนธรรม ความเชื่อ ลัทธิ และเทพเจ้าเฉพาะองค์ มนเทียรสามารถพบได้ในเอเชียใต้โดยเฉพาะประเทศอินเดีย เนปาล ศรีลังกา และประเทศอื่น ๆ ที่มีประวัติศาสตร์ของฮินดูหรือมีชาวฮินดูอาศัยอยู่เป็นชุมชน
Ref : Wikipedia
สามองค์ประกอบสำคัญในเทวาลัยอินเดียใต้
... เมื่อเราก้าวเท้าเข้ามาพ้นจากประตูหรือโคปุรัมของเทวาลัยในอินเดียใต้ สามสิ่งแรกที่เราจะได้เห็นในทุกๆเทวาลัยก็คือ
๑. พลีปิฐะ (Balipitha) : พลี = อุทิศ, ปิฐะ = แท่นหรือฐาน
- แท่นหินรูปสี่เหลี่ยมที่ด้านบนแท่นมักแกะสลักเป็นรูปฐานทรงกลมหรือรูปดอกบัวบาน ด้านนึงของแท่นมักทำเป็นบันไดขั้นเล็กๆขึ้นไปเพื่อจะขึ้นไปวางของที่จะพลีบูชา ซึ่งแท่นนี้จะมีไว้สำหรับวางอาหาร, ดอกไม้หรือประทีป เพื่อเป็นการพลีบูชาเทพเจ้าที่อยู่ภายในเทวาลัยแห่งนี้ เนื่องจากภายในห้องครรภคฤหะจะไม่อนุญาตให้วางของบูชาต่างๆเพราะสถานที่คับแคบ
บริเวณ 'พลีปิฐะ' นี้จะเป็นจุดเริ่มแรกของการบูชาเทพเจ้าแห่งเทวาลัยนั้นๆ โดยความหมายดั้งเดิมของสิ่งที่จะให้พลีนี้คือ ความยึดมั่นถือมั่นในตนเองและยศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆ โดยมากเมื่อชาวฮินดูเดินเข้ามาถึงแท่นพลีปิฐะนี้ ก็มักจะลงกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์แล้วเดินเวียนประทักษิณเพื่อเป็นการเริ่มบูชา
๒. ธวัชสดมภ์ (Dhvaja Stambha) : ธวัช = ธง, สดมภ์ = เสา
- เป็นเสาธงที่สร้างด้วยไม้หรือหิน หุ้มด้วยโลหะเช่นทองแดง, ทองเหลืองหรือทองคำ ด้านปลายของเสาจะทำเป็นกิ่งยื่นออกมาสามกิ่งที่เปรียบเสมือนเป็น 'ธวัช' หรือธง ซึ่งจะหันด้านปลายของกิ่งหรือธงทั้งสามไปทางห้องครรภคฤหะของเทวาลัยนั้นๆ
ความหมายของกิ่งหรือธงทั้งสาม สื่อได้หลายความหมายเช่น สัตตวะ-รชะ-ตมะ หรือ บาดาล-โลก-สวรรค์ หรือเป็นความหมายแห่งตรีมูรติ ศิวะ-พรหม-วิษณุฯลฯ
แต่บางทีเทวาลัยที่บูชาพระวิษณุจะไม่มีเสาธวัชสดมภ์ แต่จะมีเสาทีปสดมภ์ หรือเสาประทีป(ตะเกียง) ตั้งแทนเสาธวัชสดมภ์หรือบางทีก็อาจจะมีทั้งสองเสา
๓. วาหนะ (Vahana) : พาหนะทรง
- ก็คือพาหนะทรงของเทพเจ้าที่ประดิษฐานเป็นประธานของเทวาลัยนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะบูชาพระศิวะที่มีพาหนะทรงคือโคนนทิ และพระวิษณุที่มีพาหนะทรงคือครุฑ
ทั้งโคนนทิและครุฑนั้น จะวางตั้งอยู่บนพื้นของเทวาลัย หรือจะอยู่ภายในซุ้มมณฑปขนาดเล็ก หรือถ้ามีขนาดใหญ่มากก็อาจจะสร้างเป็นมณฑปศาลาขนาดใหญ่ครอบไว้เลยก็ได้
เท่าที่สังเกตุดู พลีปิฐะ-ธวัชสดมภ์-วาหนะ สามสิ่งนี้อาจจะตั้งอยู่แบบสลับไปสลับมาในแต่ละเทวาลัยที่จะไม่เหมือนกัน บางที่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเดียวกัน บางที่ตัววาหนะอาจจะอยู่ที่ปราการหรือกำแพงชั้นนอกของเทวาลัย ส่วนธวัชสดมภ์และพลีปิฐะจะอยู่ด้านในของเทวาลัยด้านหน้าห้องครรภคฤหะ
และทั้งสามสิ่งนี้จะตั้งอยู่บริเวณกลางแจ้งหรือจะตั้งอยู่ภายในมณฑปก็ได้ และส่วนปลายยอดของธวัชสดมภ์หรือทีปสดมภ์ จะสูงจนเลยส่วนของหลังคามณฑปขึ้นไปด้านบนเลยก็ได้ เนื่องจากแต่ละเทวาลัย มีอายุนับพันปี คงจะมีการสร้าง, ซ่อม, บูรณะกันคนละยุคสมัย แต่อย่างไรก็ตามทุกๆเทวาลัยในอินเดียใต้จะต้องมีสามสิ่งนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญ...
Ref : ขอบคุณ เนื้อความจาก : ไกด์โอ พาเที่ยว
โคปุรัมในอินเดียใต้
โคปุรัม (สันสกฤต: गोपुरम्, gopuram) คือซุ้มประตูทางเข้าเทวาลัย ปกติมักประดับตกแต่งอย่างวิจิตรด้วยเทวรูปมากมาย พบสถาปัตยกรรมทมิฬนาฑู ซึ่งเป็นที่นิยมในอินเดียใต้
เทวสถานฮินดูกลายเป็นศูนย์รวมของชุมชน ซุ้มทางเข้าจึงกลายเป็นส่วนสำคัญของเทวสถานฮินดู การสร้างซุ้มประตูทางเข้าให้งดงามและโอ่อ่าจึงทำให้เกิดการสร้างโคปุรัมขึ้น .. จนในที่สุดโคปุรัมบดบังลักษณะของวิหารภายใน บางครั้งโคปุรัมก็เป็นเทวาลัยในตนเองด้วย บางเทวสถานจึงมีโคปุรัมมากกว่าหนึ่งแห่ง
ด้านบนสุดของโคปุรัมคือหินทรงบัลบัสที่เรียกว่ากลสัม (kalasam) สิ่งก่อสร้างลักษณะเดียวกับโคปุรัมตรงกลางของเทวสถานเรียกในอินเดียใต้ว่า วิมาน (vimana) หรือเรียกในอินเดียเหนือว่า ศิขร (shikhara)
ทั้งคู่สร้างและออกแบบตามกฏที่บัญญัติไว้ในวาสตุศาสตร์ (Vastu Shastra) คัมภีร์ฮินดูว่าด้วยการก่อสร้างและการออกแบบสถาปัตยกรรม
เมื่อเราผ่านประตูของโคปุลัม จะมองเห็นรูปปั้น หรือรูปสลักของเทวีอยู่ทั้ง 2 ข้างท่าทางใจดีมีผิวพระวรกายอ่อน .. เทวีนางหนึ่งทรงพาหนะศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่ามาการะ (จระเข้) ในพระหัตถ์ทรงดอกบัวในหัตถ์หนึ่ง และพิณอินเดียในอีกหัตถ์หนึ่ง คือ พระแม่คงคา (สันสกฤต: गङ्गा Gaṅgā) ซึ่งพระนางได้รับการเคารพบูชาในศาสนาฮินดู ที่ซึ่งมีความเชื่อว่าการลงอาบน้ำในแม่น้ำคงคาจะเป็นการคลายบาปและช่วยหนุนไปสู่โมกษะ และเชื่อกันว่าน้ำในแม่น้ำคงคานั้นบริสุทธิ์มาก พระแม่คงคาเป็นเทวีแห่งการให้อภัยและการทำให้บริสุทธิ์ ไร้มลทิน
พระนางเทวีอีกองค์หนึ่งคือ พระยมี (สันสกฤต: यमी) เป็นเทวีในศาสนาฮินดู ผู้ดูแลและรักษาแม่น้ำยมุนาและเป็นเทพแห่งน้ำ หรืออีกพระนามคือ กลินทิ (อังกฤษ: Kalindi) ทรงพาหนะเป็นเต่าในศิลปะโบราณมักจะทรงประทับยืนตริภังค์และทรงสัญญาลักษณ์หม้อปูรณฆฏะในหัตถ์ข้างหนึ่ง ได้รับการบูชาในฐานะเทพแห่งน้ำคู่กับพระแม่คงคาน ฐานะผู้รักษาและพิทักษ์เทวสถานเพื่อชำระล้างและขจัดอาถรรพณ์ของผู้ที่จะเข้ามาสักการะบูชาให้บริสุทธิ์
Ref : Wikipedia
เดินผ่านโคปุลัมของเทวาลัย จึงเปรียบเสมือนได้เดินผ่านสายน้ำคงคาและยมุนา .. เป็นการล้างมลทินทั้งปวง ทำให้ร่างกายบริสุทธิ์ ก่อนที่จะไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือทำพิธีกรรมทางศาสนาด้านใน
“กาล/เกียรติมุข” .. กาลเวลาย่อมกลืนกินทุกสรรพสิ่ง
รูปสลักเศียรยักษ์ที่มีใบหน้าของสิงห์มีแต่ฟันบนไม่มีฟันและกรามล่าง (บางครั้งก็จะมีลิ้นแลบออกมา) ที่ปรากฏอยู่ที่ทับหลังหรือหน้าบันศาสนสถานพราหมณ์-ฮินดูในเทวาลัยฮินดูนั้น ตอนแรกที่เห็นคนไทยมักจะเข้าใจว่าเป็น “พระราหู” .. แต่จริงๆแล้วเป็นยักษ์ชื่อว่า กาล หรือ หน้ากาล (kāla) หรือเกียรติมุข หรือ กีรติมุข (Kīrtimukha)
ยักษ์ตนนี้เป็นสัญลักษณ์ของ “ความโกรธ” ต่อมายังได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของ เวลา ที่กลืนกินทุกสรรพสิ่งของมนุษย์บนโลกที่ไม่มีอำนาจใดจะหยุดยั้ง “กาลเวลา” ลงได้
เรื่องราวเริ่มต้นมาจากวรรณกรรมฮินดูตามคติ “ผู้กลืนกินทุกสรรพสิ่ง แม้กระทั่งตนเอง เล่าขานกันมาว่า .. “ชลันธร” (Jalandhara) ซึ่งเป็นยักษ์ที่เกิดจากไฟของพระศิวะ ไม่มีผู้ใดสามารถเอาชนะได้ .. ยักษ์ชลันธร จึงเกิดอาการลำพองผยองตน เกะกะระรานไปทั่วทั้งสามโลก จนถึงกับลืมตัวลามปามเหิมเกริมสั่งให้ พระราหู (Rāhu) ไปขอนางปารพตีซึ่งเป็นพระชายาของพระศิวะมาเป็นเมียตน ถ้าพระศิวะไม่ยอมก็ให้ท้ารบเดิมพันกัน ถ้าพระศิวะแพ้ต้องยกนางปารพตีให้ยักษ์ชลันธร
มหากาลไภรวะ (Maha Kala Bhairava) หรือ “กาล” เป็นยักษ์หัวสิงห์ที่หิวโหย .. กำเนิดขึ้นจากเพลิงพิโรธแห่งองค์พระศิวะ .. กระโดดออกมาจากรุทรเนตร (ตาที่สาม) ด้วยความโกรธ หมายจะเข้ากัดกินพระราหู
พระราหูหวาดกลัว จึงได้ขอความเมตตาจากพระศิวะ ขอให้พระองค์ทรงยกโทษและช่วยตนพ้นจากภัยหน้ากาล .. พระศิวะซึ่งยังทรงมีเมตตาราหูอยู่บ้าง จึงสั่งห้ามหน้ากาลไม่ให้ทำร้ายราหู
เมื่อกาลไม่สามารถกัดกินราหูได้ จึงกัดกินตัวเอง .. โดยเริ่มต้นจากหาง กลืนกินแม้กระทั้งขากรรไกรจนมาสิ้นสุดที่หัวท่อนบน แล้วลอยเคว้งคว้างไปในจักรวาลโดยไร้จุดหมาย
.. ใบหน้าที่เหลืออยู่ของกาลจึงได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์เพื่อการระลึกถึงความโกรธขององค์พระศิวะเตือนใจให้กับผู้พบเห็นได้เข้าใจถึงความมืดบอดของอารมณ์โกรธ ที่เข้าทำลายทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ตัวเองยังกัดกินได้จนหมดโดยไม่ยั้งคิด
หน้ากาล .. ได้รับการแต่งตั้งจากพระศิวะให้มาสถิตหน้าเทวสถาน ซุ้มวิมานของพระองค์ ประทานนามให้ใหม่ว่า “เกียรติมุข” ซึ่งหมายถึง หน้าอันมีเกียรติ เพื่อเตือนใจเหล่าสาธุชนให้ได้เห็นอำนาจของความโกรธ ยับยั้งทำลาย มิให้เกิดโทสะขึ้น โลกจะได้ไม่เบียดเบียนกันและเต็มไปด้วยความสงบสุข
หน้ากาลในวรรณกรรม .. ยังได้ถูกนำมาใช้สื่อความหมายสัญลักษณ์ของ “กาลเวลา” เพื่อเตือนสติแก่ทุกผู้ เพื่อไม่ให้เกิดความประมาทให้กับเวลาที่สูญเสียไปในชีวิตกับเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ กัดกร่อนจิตใจและร่างกายของตนเอง ก่อนที่จะถึงจุดจบของชีวิต
แต่นั้นมา รูปหน้ากาลหรือเกียรติมุข จึงมีอันปรากฏอยู่บนซุ้มประตูศาสนสถานที่อยู่ภายใต้อิทธิพลฮินดูอย่างต่อเนื่องยาวนานนับพันปีจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
Source : Derived from ห้องสมุด ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล : http://www.thapra.lib.su.ac.th/supatlib/picture2.php?check=word&keyword=&Page=285
โฆษณา