7 ก.พ. 2023 เวลา 05:53 • ศิลปะ & ออกแบบ

“หญิงสาวปริศนาในภาพเหมือนของอาร์นอลฟีนี”

Arnolfini Portrait, or Portrait of Giovanni Arnolfini and his Wife by Jan van Eyck, 1434
“ภาพเหมือนอาร์นอลฟีนี (Arnolfini Portrait) หรือ ภาพเหมือนของโจวันนี อาร์นอลฟีนี และภรรยา (Portrait of Giovanni Arnolfini and his Wife)”วาดขึ้นในปี 1434 เป็นหนึ่งในภาพวาดที่โด่งดัง และน่าสนใจที่สุดภาพหนึ่ง ภาพเขียนสีน้ำมันบนไม้โอ๊กนี้เขียนโดย ยัน ฟัน ไอก์ (Jan van Eyck) จิตรกรชาวเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันแสดงอยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
จากภาพจะเห็นผู้ชายที่อยู่ทางซ้ายของฉากนั้นคือโจวันนี อาร์นอลฟีนี (Giovanni Arnolfini) พ่อค้าจากเมืองลุกกาในอิตาลี และทางด้านขวาคือภรรยาของเขา ทั้งสองแต่งตัวหรูหรายืนอยู่ในห้องส่วนตัวคาดว่าอาจจะเป็นบ้านในเมืองบรูชในฟลานเดอส์ เเม้จะเป็นภาพคู่รักธรรมดาเเต่ภาพนี้ได้ชื่อว่าเป็นภาพที่มีความซับซ้อนมากที่สุดภาพหนึ่งของจิตรกรรมตะวันตก
ด้วยคุณสมบัติแห้งช้าของสีน้ำมัน ศิลปินจึงสามารถใช้เทคนิคเปียกบนเปียก (wet-in-wet) คือเขียนสีใหม่บนสีเก่าที่ยังไม่แห้งเพื่อที่จะให้ได้แสง และเงาที่ต้องการ และทำให้เพิ่มความเป็นสามมิติของภาพเพิ่มขึ้น เขาทาสีเคลือบใสหลายชั้นทำให้ภาพเหมือนจริงมากขึ้น มีผู้เสนอว่าศิลปินใช้เเว่นขยายในการเขียนรายละเอียดที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ในภาพเช่นเงาบนลูกประคำแต่ละเม็ดที่ห้อยอยู่ข้างกระจกโค้งนูนบนผนังในฉากหลัง
ศิลปินลงชื่อและวันที่ว่าวาดในปี 1434 แม้ภาพดูเหมือนจะเป็นห้องธรรมดาเเต่วัตถุที่ปรากฎอยู่ในภาพทำให้เราได้เห็นถึงความพิถีพิถันของการคัดเลือกสิ่งของเพื่อประกาศความมั่งคั่ง และสถานะทางสังคมของทั้งคู่ การวางท่าของบุคคลสองคนในภาพเป็นลักษณะการวางภาพตามที่ใช้กันในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่แสดงถึงการสมรส เเละขนมธรรมเนียมประเพณีของชายหญิง
ผู้หญิงยืนใกล้เตียงเป็นสัญลักษณ์ของบทบาทในฐานะผู้ดูแลบ้าน ในขณะที่ผู้ชายยืนริมหน้าต่างที่เปิดไว้เป็นสัญลักษณ์ของบทบาทในฐานะผู้นำครอบครัว ฝ่ายชายยังยกมือขวาขึ้นมาเป็นการแสดงว่าเป็นผู้มีอำนาจขณะที่มือของภรรยาอยู่ต่ำกว่าเพื่อแสดงความอ่อนน้อม
ทั้งสองอยู่ในห้องชั้นบนของบ้าน สามารถบอกได้ว่าเป็นช่วงเวลาหนึ่งในฤดูร้อนจากต้นเชอร์รี่ที่ออกผลอยู่นอกหน้าต่าง ยังมีการถกเถียงว่าห้องที่เห็นไม่ใช่ห้องนอนแต่เป็นห้องรับรอง เพราะในฝรั่งเศส และเบอร์กันดีนิยมการมีเตียงตั้งอยู่ในห้องรับรองเช่นกัน เตียงขนาดใหญ่และหรูหราปูด้วยผ้าขนสัตว์สีแดงราคาแพง เบาะและผ้าสีแดงกระจายอยู่บนเก้าอี้ข้างเตียงและม้านั่ง
เตียงซึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่แพงที่สุดในบ้านเก้าอี้และม้านั่งแกะสลักอย่างวิจิตร พรมแบบตะวันออกวางอยู่บนพื้น โคมระย้าทองเหลืองอันวิจิตรที่ห้อยลงมาจากเพดาน อย่างไรก็ตามโคมระย้ากลับดูมีขนาดที่ไม่พอดีกับพื้นที่ภายในห้อง และห้องนี้ยังเป็นห้องที่ไม่มีเตาผิง เตียงมีขนาดสั้นเกินไป และกระจกนูนหรูหราที่ผนังด้านหลังไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก
กระจกโค้งนูนกลมมีกรอบที่ทำด้วยไม้ที่มีภาพเขียนในชุดทุกขกิริยาของพระเยซูในช่องกลมเล็ก ๆ ล้อมรอบกรอบกระจก ส้มที่กระจัดกระจายก็บ่งบอกถึงความมั่งคั่ง เนื่องจากส้มนั้นมีราคาแพงมาก และคาดว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจของอาร์นอลฟีนี นอกจากนั้นในอิตาลีส้มเป็นสัญลักษณ์ของความสามารถในการมีบุตรธิดาของคู่สมรส เหนือหัวเสาของเตียงมีรูปสลักของนักบุญมาร์กาเรตผู้เป็นนักบุญผู้พิทักษ์ของสตรีผู้มีครรภ์และการให้กำเนิดทารกอีกด้วย
เครื่องแต่งกายของทั้งสองคนเป็นเครื่องแต่งกายที่มีราคาสูงมาก สีของเสื้อผ้าเหล่านี้ และผ้าที่แขวนอยู่ที่เตียงก็มีความสำคัญเช่นกัน ผ้าสีแดง สีดำ สีเขียว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสีน้ำเงินล้วนเป็นผ้าที่ย้อมสีที่มีราคาแพงมาก เช่นเดียวกับปริมาณผ้าของชุดหญิงสาว โดยเฉพาะการจับจีบที่ต้องใช้ผ้าจำนวนมาก แต่เขาทั้งสองคนกลับสวมเครื่องประดับร่างกายแต่เพียงสร้อย และแหวนทองเรียบ ๆ เท่านั้น
ที่คลุมศีรษะของเธอเป็นการแสดงออกว่าเธอเป็นผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว รองเท้าแตะไม้ ที่วางอยู่ทางล่างซ้ายของภาพอาจจะเป็นการแสดงความเคารพพิธีสมรสโดยตามธรรมเนียมแล้วสามีมักจะให้รองเท้าแตะไม้เป็นของขวัญต่อภรรยา หรืออาจจะเป็นการแสดงความสงบสุขของความเป็นอยู่ภายในบ้าน
อย่างไรก็ตามได้เกิดข้อถกเถียงกันว่าภรรยาสาวผู้นั้นคือใครกันเเน่ จากข้อมูลพบว่าศิลปินได้ลงชื่อกำกับอย่างชัดเจนบนภาพด้วยภาษาละตินว่า “Jan van Eyck ปี 1434”เเต่ภรรยาคนแรกที่ชื่อ คอสสแตนซา เทรนทา เสียชีวิตลงในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1433 ซึ่งสามารถตั้งสมมติฐานได้ว่าศิลปินเริ่มวาดภาพนี้ในปี 1433 ในขณะที่ภรรยาของเขายังมีชีวิตอยู่ และเธอได้เสียชีวิตลงเมื่อวาดรูปนี้เสร็จเเล้ว
และยังมีข้อสันนิษฐานที่ว่านี่อาจเป็นภาพที่วาดขึ้นเพื่อระลึกถึงการเสียชีวิตของภรรยาคนเเรกของเขา เนื่องจากผู้ชายจับมือผู้หญิงไว้หลวม ๆ เทียนมีลักษณะแปลกไปโดยเทียนที่ด้านบนของผู้ชายเป็นเพียงเทียนเล่มเดียวที่ยังสว่างอยู่ ในขณะที่เชิงเทียนของด้านตรงข้ามของฝ่ายหญิงว่างเปล่ามีเพียงขี้ผึ้งไม่กี่หยด เทียนเล่มเดียวทางด้านซ้ายบนโคมทองเหลืองอาจจะเป็นเทียนที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ในประเพณีการแต่งงานแบบเฟลมิช เทียนจุดทั้งที่ยังเป็นเวลากลางวันเหมือนกับเทียนภายในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในวัดของชาวคริสต์
ความเป็นไปได้ที่สอง นั่นคือเป็นภาพการแต่งงานครั้งที่สองของโจวันนี และภรรยาคนที่สอง ซึ่งบันทึกการเเต่งงานได้สูญหายไป สังเกตุจากใบหน้าของผู้หญิงที่ดูเด็กเป็นพิเศษ ชุดที่สวมใส่ดูเหมือนสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ และสัญลักษณ์ที่ปรากฏในภาพยังสื่อถึงการเเต่งงาน เเละการตั้งครรภ์อีกด้วย อย่างไรก็ตามยังมีนักวิชาการเเย้งว่าบริเวณท้องที่ป่องคล้ายตั้งครรภ์นั้นอาจเป็นเพียงชุดที่นิยมใส่กันในสมัยนั้น และชุดกระโปรงจับจีบหลายชั้นเป็นเครื่องยืนยันถึงฐานะทางสังคมเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เเม้จะไม่สามารถหาข้อเท็จจริงได้ เเต่ความคลุมเครือนี้กลับกลายเป็นการเพิ่มเสน่ห์ให้กับภาพวาดนี้อย่างน่าเหลือเชื่อ เพราะหากลองมองให้ลึกไปถึงฝีมือที่ละเอียด ประณีต บรรจง ทะลุไปถึงเรื่องราวที่เป็นปริศนาแล้วอาจก่อให้เกิดแนวคิดและทฤษฎีใหม่ที่ผู้ชมได้วิเคราะห์ขึ้นเองอย่างอิสระ และมีส่วนร่วมไปกับการชมงานชิ้นนี้มากขึ้นด้วย
-ซับศิลป์-
โฆษณา