7 ก.พ. 2023 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ตลาดแรงงานสหรัฐฯ แข็งแกร่ง ส่วนทางกับเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงได้อย่างไร!

เรียกได้ว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่ออกมาเดือนล่าสุด น่าจะมาแรงแซงทางโค้งผิดจากคาดการณ์ของหลายๆ คนเป็นอย่างมาก
จากที่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์หลายสำนักต่างคาดการณ์ว่าความร้อนแรงในตลาดแรงงานจะชะลอตัวลง เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น และการที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง จะผลักดันให้บริษัทต่างๆ ลดการใช้จ่ายและจ้างงาน
แต่ตัวเลขการจ้างงานเดือนล่าสุดที่ออกมา ก็สร้างความประหลาดใจไม่น้อย เมื่อมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 517,000 ตำแหน่ง จากที่ในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นเพียง 260,000 ตำแหน่ง โดยในอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นหลักๆ ได้แก่
  • 1.
    ภาคบริการและการโรงแรม มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 128,000 ตำแหน่ง
  • 2.
    บริการด้านสุขภาพ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 58,000 ตำแหน่ง
  • 3.
    บริการเฉพาะทางและบริการด้านธุรกิจ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 82,000 ตำแหน่ง
1
ตำแหน่งงานที่เปิดในเดือนธันวาคมก็สูงถึง 11 ล้านตำแหน่ง ซึ่งหมายความว่า มีงาน 1.9 งาน ต่อผู้ที่กำลังหางาน 1 คน เลยทีเดียว
และอัตราการว่างงานก็อยู่ที่เพียง 3.4% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 53 ปี จำนวนคนที่ยื่นขอสิทธิประกันการว่างงานลดลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน
การที่ตลาดแรงงานมีการจ้างงานแข็งแกร่งมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าสถานการณ์การจะเต็มไปด้วยความกังวลเรื่องของเศรษฐกิจถดถอย และการเลิกจ้างแรงงานระดับสูงๆ ของบริษัทเทคจำนวนมาก ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงของ Fed เป็นอย่างมาก และยังเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการที่เงินเฟ้อลดลง ซึ่งหักล้างกับทฤษฎีที่เราเคยได้ยินมา
📌 เงินเฟ้อลดลง พร้อมกับอัตราการว่างงานลดลง เป็นไปได้อย่างไร?
ตามหลักเศรษฐศาสตร์โดยปกติแล้ว ตลาดแรงงานที่มีการจ้างงานสูงและอัตราการว่างงานต่ำ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้แต่ละบริษัทจะพยายามเพิ่มค่าจ้าง เพื่อแข่งกันแย่งเอาตัวแรงงานมา และมักจะส่งผ่านต้นทุนค่าจ้างที่สูงขึ้นไปให้ผู้บริโภคแบกรับผ่านราคาที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกัน แรงงานที่ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น ก็จะมีเงินไปจับจ่ายใช้สอยมากกว่า จึงกลายเป็นแรงกดดันให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นจากทั้งสองทาง
พอมาดูสถานการณ์ของสหรัฐฯ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา การจ้างงานในสหรัฐฯ ก็ยังคงแข็งแกร่งเรื่อยมา ในขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อก็ลดลงจากจุดสูงสุดที่ 9.1% ในเดือนมิถุนายน ลงมาสู่ระดับ 6.5% ในเดือนธันวาคม อันเนื่องมาจากราคาแก๊สที่ลดลง แต่ถึงแม้จะตัดราคาอาหารและพลังงานซึ่งมีความผันผวนสูงออกไปแล้ว ก็พบว่าเงินเฟ้อที่ Fed นิยมใช้อ้างอิง หรือดัชนี Personal Consumption Expenditures (PCE) Price ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ก็เฉลี่ยอยู่ที่ 3% ต่อปี ซึ่งถือว่าไม่ได้ไกลจากเป้าหมาย 2% ของ Fed มากนัก
ตัวเลขที่ออกมาเช่นนี้ จึงอาจสะท้อนให้เราเห็นว่าความเชื่อมโยงระหว่าง “ตลาดแรงงานที่คึกคัก” กับ “เงินเฟ้อสูง” แบบที่เคยเป็นมาตลอดอาจไม่มีอีกแล้ว และอาจจะมีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะลดลง แม้ว่าตลาดแรงงานจะมีการเติบโตขึ้น
1
📌 เพราะอะไรกันล่ะ?
หลังจากวิกฤติโควิด-19 หลายๆ สิ่งเปลี่ยนแปลงไปมาก ตลาดแรงงานสหรัฐฯ เองก็เช่นกัน ตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีขนาดเล็กลงกว่าในช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่วนหนึ่งมาจากการที่คนนับล้านเกษียณก่อนวัย และบางส่วนที่หยุดงานไปก็ไม่ได้กลับมาอีก
ข้อมูลล่าสุดในเดือนมกราคมชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้อัตราการมีส่วนร่วมกำลังแรงงานจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจนอยู่ในระดับ 62.4% แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 อยู่ดี อีกทั้งการแพร่ระบาดในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ที่จะเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ จึงยิ่งทำให้ขนาดของตลาดแรงงานลดลงไปอีก
ประกอบกับแนวโน้มของประชากรในระยะยาวก็เริ่มจะเต็มไปด้วยคนที่สูงวัยมากขึ้น และมีสัดส่วนของคนสูงวัยที่ต้องพึ่งพิงคนวัยทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ
นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ยังมีมาตรการรัฐในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด เช่น การเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ว่างงาน การเสริมความมั่นใจให้แรงงานสามารถเปลี่ยนงาน และหางานที่ได้ค่าตอบแทนรวมถึงสภาพการทำงานที่ดีขึ้น ทำให้แรงงานกลายเป็นฝ่ายที่ถือไพ่เหนือกว่าในตลาดแรงงาน
1
ดังนั้น ด้วยความที่แรงงานหายากขึ้น นายจ้างจึงลังเลว่าหากเลิกจ้างไปในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำเพียงชั่วคราว เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวจะไม่สามารถหาแรงงานได้อีก หลายๆ ธุรกิจจึงพยายามกักตุนแรงงานเอาไว้กับตัวแม้ว่าจะเห็นสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม
📌 หนทางของ Fed ต่อจากนี้
แล้วการจะปราบเงินเฟ้อของ Fed จะเป็นอย่างไรต่อ เพราะ Fed เองก็เคยบอกไว้ว่า การสู้กับเงินเฟ้อครั้งนี้ อาจจะทำให้เศรษฐกิจต้องเจ็บสักหน่อย (หมายถึงการว่างงานจะสูงขึ้น) แต่การที่ตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง ก็อาจเป็นการไปเติมเชื้อเพลิงให้เงินเฟ้อโหมลุกขึ้นมาอีกอย่างเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะในเงินเฟ้อในภาคบริการที่ใช้แรงงานเป็นหลักซึ่งยังคงสูงถึง 4% และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลง อันเป็นผลมาจากการที่ค่าจ้างในธุรกิจที่เกี่ยวกับร้านอาหาร โรงแรม การคมนาคม และโกดังสินค้า เพิ่มขึ้นมาก แต่มีแรงงานจำนวนน้อยที่สามารถทำงานในตำแหน่งเหล่านี้ได้ ทำให้ตลาดแรงงานยังไม่สมดุล
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง พบว่าค่าจ้างรายชั่วโมงเพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% จากเดือนธันวาคม จึงอาจสะท้อนให้เห็นว่าแรงกดดันทางด้านค่าจ้างที่จะไปผลักให้เกิดเงินเฟ้อได้เริ่มผ่อนคลายลงบ้างแล้ว
นักวิเคราะห์จึงคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยแค่ 0.25% ในเดือนมีนาคม และพฤษภาคม ดันอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่กรอบ 5 - 5.25% และคงจะจับตาดูตัวเลขในตลาดแรงงานอย่างใกล้ชิดในระยะต่อจากนี้ เพราะถึงแม้ตัวเลขในเดือนมกราคมจะออกมาดีกว่าที่คาดมาก แต่ตัวเลขเพียงเดือนเดียวไม่อาจบ่งชี้แนวโน้มของตลาดได้ทั้งหมด เหมือนที่เราดีใจที่เห็นแสงแดดและท้องฟ้าที่สดใสยามเช้า แต่ไม่อาจวางใจได้ว่าตอนบ่ายจะไม่เกิดพายุหนัก…
2
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
1
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา