Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Supawan’s Colorful World
•
ติดตาม
8 ก.พ. 2023 เวลา 00:31 • ท่องเที่ยว
เทวาลัยกปาลลีศวร .. ประตูสู่เชนไน และอินเดียใต้
เชนไน (Chennai) หรือชื่อเดิม มัทราส Madras .. เป็นเมืองใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ และเมืองหลวงของรัฐทมิฬนาดู ประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ริมชายฝั่งโคโรมันเดล (โจฬมณฑล) ของอ่าวเบงกอล ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ..
.. ตั้งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยที่ราชาแห่งจันทีคีรี (อยู่ในรัฐอานธระประเทศ) ที่มีอำนาจปกครองเหนือดินแดนแถบนี้ ได้อนุญาตให้บริษัทอีสต์อินเดียเข้ามาตั้งสถานีการค้าพร้อมป้อมปราการขึ้นที่หมู่บ้านมัทราสปัฏฏินัม อันเป็นที่มาของชื่อ ‘มัทราส” (ปัฏฏินัม = ท่าเรือ)
อังกฤษได้พัฒนาเมืองนี้ ให้เป็นเมืองหลักและฐานทัพเรือ เป็นเมืองหลักด้านการค้าของสหราชอาณาจักรในปี 1639 .. ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้กลายเป็นศูนย์กลางการบริหารที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในฐานะเมืองหลวงของเขตมัทราส (Madras Presidency)
เศรษฐกิจของเมืองเชนไน การผลิตรถยนต์ เทคโนโลยี ฮาร์ดแวร์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยเป็นผู้ส่งออกซอฟต์แวร์และบริการทางเทคโนโลยีสารสนเทศรายใหญ่อันดับที่ 3 ของประเทศรองจากบังคาลอร์และไฮเดอราบาด
อังกฤษเรียกเมืองใหม่นี้ ว่า จอร์จทาวน์ George Town ในขณะที่ชาวอินเดียพื้นเมืองเรียกว่า “เจนนะปัฏฏินัม” ตามชื่อราชา “เจนนัปปะ” แห่งจันทรคีรี รัฐบาลท้องถิ่นทมิฬนาฑูเลือกใช้ชื่อ เชนไน ที่ฟังดูเป็นพื้นเมืองไว้แทน มัทราส ที่มีกลิ่นอายอาณานิคม
เชนไน มีสถานที่ท่องเที่ยวอันหลากหลาย เป็นศูนย์กลางสำคัญของภารตนาฏยัม อันเป็นระบำพื้นเมืองแขนงหนึ่งของทมิฬนาฑู คุณสามารถเดินทางมาเยือนที่นี่ในเดือนมกราคมเพื่อร่วมเทศกาลปองกัลหรือปีใหม่ของทมิฬได้ในเดือนเมษายน เป็นโอกาสในการสัมผัสวัฒนธรรมทมิฬที่ดีที่สุด
เทวาลัยกปาลลีศวร (Kapaleeshwarar Temple) .. ตั้งอยู่ในไมลาปอร์ (Mylapore), เจนไน รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย เป็นเทวาลัยที่สำคัญที่สุดในเมืองเชนไน
เราเริ่มต้นการชมโบราณสถาน และสักการะเทพเจ้า รวมถึงเรียนรู้เรื่องของฮินดูในแง่มุมต่างๆของอินเดียใต้ในเมืองเชนไน ด้วยการเดินทางไปที่ เทวาลัยกปาลลีศวร เป็นแห่งแรก
ถนนที่นำไปสู่เทวาลัย .. เรารื่นรมย์กับสีสันสดใสของทมิฬนาดู ทั้งแผงขายผลไม้ แต่ที่มีสีสันมากที่สุด คือ แผงขายดอกไม้บูชาเทพเจ้า
ใครอยากอุดหนุนพวงดอกไม้ เพื่อเข้าไปไหว้พระ ก็ซื้อหาเข้าไปได้พวงดอกไม้ราคาตกอยู่ 80-100 รูปี ตกเป็นเงินไทยก็ 40 บาท ถือว่าไม่แพงเลยสำหรับพวงดอกไม้ใหญ่มากแบบนี้
“โคปุรัม” สีสันสดใส .. เป็นสิ่งแรกที่ปรากฏในสายตา เมื่อเราเข้าไปใกล้ ซึ่งใครบางคนบอกว่า สีจัดจ้านนั้น สัญลักษณ์ของชีวิตชาวทมิฬ เช่นเดียวกับที่เราสังเกตเห็นจากงานผ้าทอพื้นเมืองสีสดใส อาหารที่มีสีสันและรสชาติ ภาพวาดและงานจิตรกรรมที่งดงาม ประกาศการมีชีวิตและตัวตนที่เป็นอิสระ
“โคปุรัม” สีสดใสจัดจ้าน .. จึงเป็นรูปแบบของการประกาศความศรัทธา ผ่านความวิจิจรตระการตาของเทวาลัยที่ให้ความรู้สึกของการมีชีวิต
“โคปุรัม” (Gopuram) หรือ ซุ้มประตูทางเข้าสู่เทวาลัย (โกยิล ..Koil, Koyil เทวาลัยในภาษาทมิฬ) ทำเป็นอาคารมณฑปมีหลังคาแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า .. ส่วนยอดเป็นชั้นวิมานจำลองลดหลั่นขึ้นไปแบบหอคอยทรงแท่งเหลี่ยมชะลูดสูงเป็นจำนวนเลขคี่ มุมด้านบนสอบเข้าหากัน
.. ชั้นบนสุดเป็นหลังคาโค้งเกือกม้า เป็นสิ่งก่อสร้างที่นิยมในเขตอินเดียใต้ ซึ่งเรียกว่าสถาปัตยกรรมแบบนี้ว่า ดราวิเดียน (Dravidian architecture)
... รูปเทพ และเทวีมากมาย ถูกนำมาปั้นประดับบนหลังคา และว่ากันว่า ประกอบไปด้วยเรื่องราวในปกรณัมหลายเรื่อง รวมอยู่ในที่เดียวกัน คนต่างชาติและศาสนาอย่างเราอาจจะมองไม่ออก บอกไม่ถูกว่าเป็นเรื่องอะไรบ้าง
แต่ก็มีบ้างที่เห็นปุ๊บสามารถบอกได้เลย เช่น รูปปั้น พิธีกวนเกษียรสมุทร ในเรื่องรามายนะ
การผ่านเข้าไปในเขตเทวาลัยของฮินดู ทุกผู้ต้องถอดรองเท้า อาจจะฝากไว้ในสถานที่รับฝากที่ต้องจ่ายค่ารักษาเพียงเล็กน้อย หรือหากจะเลือกถอดกองสุมๆเอาไว้ก็ได้ ยังไม่เคยได้ยินว่ามีรองเท้าหายนะคะ
เราเดินผ่านโคปุรัมสูงราว 40 เมตรเข้าไปพร้อมๆกับคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ..
ความวิจิตรของรูปสลักบนแนวของทางเข้า ทั้งรูปของพระแม่คงคา ยมุนา และเทพองค์อื่นในวงกลมที่ซ้อนกันสูงขึ้นไปถึงเพดาน ..
สายตาไปบรรจบที่รูปสลักของ “หน้ากาล” ที่สวยงาม ทำให้ต้องกดชัตเตอร์กล้องเก็บภาพเอาไว้ ในขณะที่พยายามจะฟังไกด์ของเราอธิบายเรื่องราวต่างๆไปด้วย
หญิงสาวทำหน้าที่แจกจ่ายบางสิ่งลักษณะเหมือนข้าว หรือของหวานให้กับคนที่ออกจากเทวาลัย
.. สังเกตเห็นว่า มีคนอินเดียก้มตัวลงเอามือไปแตะธรณีประตูตรงรูปดอกบัว แล้วแตะที่ศรีษะตนเอง ก่อนจะก้าวข้ามเข้ามาด้านใน
ว่ากันว่า .. เทวาลัยแห่งนี้สร้างขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 7 ในสมัยของจักรวรรดิวิชัยนคร (Vijayanagar)
กปาลเลศวร .. เป็นชื่อของเทวาลัย ที่มีรากศัพท์มาจาก คำว่า kapāla (ศรีษะ) และ Īśvara คือพระศิวะ .. จากปุรณัมกล่าวว่า เมื่อพระพรหม ได้มาเข้าเฝ้าพระศิวะที่เขาไกรลาส พระพรหม ไม่ได้แ สดงออกถึงความเคารพเท่าที่ควร ทำให้พระศิวะไม่พอพระทัย จึงตัดหัวของพระพรหมออกไป 1 หัว .. พระพรหมจึงต้องมาบะเพ็ญเพียรที่ เมลาปอร์ แล้วสร้างศิวลึงค์ถวายพระศิวะ เป็นการเคารพและไถ่โทษ
.. เล่าขานกันมาว่า เทวาลัยแห่งนี้สร้างขึ้น ณ ตำแหน่งที่สิวะลึงค์ในตำนานประดิษฐานอยู่นั่นเอง
ที่นี่ยังมีปกรณัมอีกเรื่องที่กล่าวว่า .. กาลครั้งหนึ่งในขณะที่มหาเทพกำลังตรัสกับพระนางปาราวต แต่พระนางกำลังมองนกยูงที่รำแพนขนหางที่สวยงาม ไม่ฟังพระดำรัส ทำให้มหาเทพกริ้ว สาปให้พระนางเป็นนกยูง (ง่ายๆยังงั้นเลย) และขับไล่ให้ลงมาอยู่ในโลกมนุษย์
.. พระนางปาราวตีในรูปของนกยูง ได้บำเพ็ญเพียร สวดมนต์ บูชาศิวลึงค์ อยู่เป็นเวลานาน จนมหาเทพใจอ่อน ยอมให้พระนางกลับคืนสู่รูปเดิม และกลับไปที่วิมานไกรลาสดังเดิม
ตำนาน หรือปรกรณัมอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเทวาลัยแห่งนี้ยังมีอีกหลายเรื่อง .. ว่ากันว่า
.. พระราม มาบำเพ็ญเพียรและขอพรที่นี่ เพื่อให้ชนะทศกัณฑ์ และพานางสีดากลับจากกรุงลงกา
.. Sukracharya มาบำเพ็ญเพียรและขอพรที่นี่ เพื่อขอให้ได้ดวงตากลับคืนมา
.. Thirugnana Sambandar ซึ่งเป็นหนึ่งในนายันมาร์ นักบุญในลัทธืไศวนิกาย และ 1 ใน 3 ของคุรุทางดนตรีของทมิฬ เคยมาสวดสรรเสริญพระศิวะ แล้วเสกชุบชีวิตหญิงสาวคนหนึ่งที่ถูกงูกัดตาม ให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา
ด้านหน้าตรงกับโคปุรัมที่เราเข้าไป คงเป็นที่ตั้งของ เทวาลัยพระพิฒเนศ .. สังเกตุจากรูปปั้นที่โดดเด่นบนหลังคา
“ .. ถ่ายรูปได้ แต่ต้องระวังอย่าตั้งกล้องเข้าไปตรงๆ ในจุดที่พราหมณ์ทำพิธีบูชารูปเคารพนะครับ” ไกด์ของเราเตือน เมื่อเราหลายคนถ่ายรูปเพลินๆ และอาจจะไม่ได้ระวังมาก
เราเดินวนซ้าย .. เดินชมและถ่ายภาพภายในบริเวณฌทวาลัยไปเรื่อยๆ สังเกตุเห็นว่าที่นี่มีมณฑปอยู่หลายอัน มีทั้งที่ใช้ประกอบพิธีประจำวัน และที่ปิดเอาไว้ ซึ่งเราไม่รู้ว่าเป็นมณฑปอะไรบ้าง .. รู้มาว่า ที่นี่มีการบูชาพระพรหม เพื่อขจัดความทะนงในตน เสริมสร้างพลังในการทำสิ่งใหม่ๆ ด้วย ..
ท่อโสมสูตร .. บอกให้เรารู้ว่าที่นี่เป็นศาสนสถานที่บูชาพระศิวะ เมื่อชะโงกเข้าไปดู เห็นว่าน้ำที่ไหลออกมาตามรางนั้นไม่สะอาดนัก หากนำมาดื่มเอาเคล็ดเพื่อความสวัสดี อาจจะทำให้ป่วยก็เป็นได้
ด้านหน้าของมณเฑียรนี้นกยูง (หรือหงส์?? .. หากเป็นนกยูง จะเป็นเทวาลัยของพระสกันทะ แต่หากเป็นหงส์ ก็จะเป็นเทวาลัยของพระพรหม)
มีพราหมณ์ที่ทำหน้าที่บูชามหาเทพ แล้วนำถาดไฟออกมาให้ผู้คนที่ยินรอแตะที่เปลวไฟ แล้วแตดตามศีรษะ หน้า ตัว เป็นการรับพร .. และเป็นธรรมเนียมที่ผู้ศรัทธาจะต้องวาง “ทักษิณาทาน” เล็กน้อยลงบนถาดหลังรับพร
เราเดินข้ามมาทีอีกมณฑป .. ด้านหน้ามีเสา ธวัชสดมภ์ สีเหลืองทอง ตรงปลายมีข้นซ้อนกัน 3 คานยื่นออกไปเชื่อมกับเสา
โคนเสา ..
ใครบางคนกำลังทำความเคารพแบบ เบญจางคประดิษฐ์
ถัดมาเป็น พาหนะมณฑป (Vahana Mandapa) .. ที่ประดิษฐานของ โคนนทิ ซึ่งเป็นเทวพาหนะ
ภาพจาก Internet
กปาลีศวรมนเทียร .. มีมณฑปที่สำคัญที่สุดคือ Kapaleeswarar และ Karpagambal ซึ่งเป็นเทวาลัยที่บูชาพระศิวะในรูป "กปาลีศวร" (Kapaleeswarar) และมีศิวลึงค์เป็นสัญลักษณ์ .. พระนางปารวตี พระชายาของพระศิวะ ที่ประทับอยู่ ณ มนเทียรนี้มีชื่อเรียกว่า กรปกัมพล (Karpagambal) จากภาษาทมิฬ แปลว่า "เทวีแห่งต้นไม้ให้พร" (Goddess of the Wish-Yielding Tree)
ผู้เลื่อมใสศรัทธาเข้าแถวรอเช้าไปสักการะและรับพรภายในห้องครรภคฤหะ (Ardhamandap) หลายร้อนคน แถวยาวมาก .. เราเลยเลือกที่จะชเง้อดูอยู่ด้านนอก แต่ก็ไม่เห็นอะไรชัดเจน เพราะหากไปรอเข้าแถวคงต้องใช้เวลานานมาก อาจจะเป็นชั่วโมง
เราใช้เวลาฟังคำอธิบายรูปสลักต่างๆ รวมถึงเก็บภาพที่เราสนใจ ณ พื้นที่ของมณฑปด้านหน้าซึ่งมีรูปลักษณะเป็น ศาลาโถง รูปสี่เหลี่ยม ..
เสาหินที่เรียงรายแต่ละต้น สลักรูปต่างๆในปกรณัมที่เรารู้เรื่องบางส่วน (แต่พอก้าวออกมาจากมณฑป ก็ลืมหมด 555+) และอีกหลายส่วนก็ไม่คุ้นเคย แค่ความงามในรูปแบบงานศิลปะ ก็คุ้มค่าในการมาชื่นชมแล้วค่ะ
ด้านหนึ่งเป็นพื้นที่ ที่ผู้คนมาจุดเทียนลอยบูชาอะไรบางอย่าง
.. ใกล้ๆเป็นคอกที่มีวัวรูปร่างสวยงามอยู่ด้านใน .. แต่ไม่ใช่พิธีไถ่ชีวิตโคแบบบ้านเราแน่นอน (ชัวร์ๆๆๆ)
นักบวช?
สระ
สระน้ำของเทวาลัย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกใกล้ๆกับโคปุรัม.. เป็นสระน้ำที่ได้ชื่อว่ามีการยำรุงรักษาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเมือง ยาวราว 190 เมตร กว้าง 143 เมตร สามารถบรรจุน้ำได้ราว 119,000 ลูกบาตรเมตร
ตรงจุดกล่างสระมีมณฑปหลังคาสร้างด้วยหินแกรนิต .. ใช้เป็นที่ประกอบพิธีสวดมนต์สรรเสริญมหาเทพ และเทพองค์อื่นๆเป็นเวลา 3 วันในเทศกาล float festival
ภาพจาก Internet
ในช่วงเดือน Panguni ของชาวทมิฬ ซึ่งอยู่ในช่วงกลางเดือนมีนาคม ถึงกลางเดือนเมษายน ที่เทวาลัยแห่งนี้จะมีงานเทศกาล Panguni Peruvizha (Spring festival) ประจำปีเป็นเวลา 9 วัน มีการนำเทพเจ้าแห่แหนไปในรถลากด้วยเชือกขนาดใหญ่ และลงท้ายด้วยพิธีที่เรียกว่า Tirukkalyanam (การแต่งงานของพระศิวะ และพระนางปาราวตี) มหาเทพและพระชายาในเสื้อผ้าอาภรณ์ และอัญมณีที่วิจิตร จะถูกแห่แหนวนซ้ายไปรอบๆวัดและสระน้ำ
พิธีที่สำคัญที่สุดพิธีหนึ่งของวัดนี้ คือ พิธี Arupathimoovar ซึ่งชื่อได้มาจาก 63 Nayanmars ผู้ซึ่งมีความรักและภักดีต่อองค์พระศิวะ
1 บันทึก
2
1
3
1
2
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย