8 ก.พ. 2023 เวลา 04:46 • ไลฟ์สไตล์

"Okonomiyaki (お好み焼き)" พิซซาญี่ปุ่นแต่ละแบบ มีชื่อเรียกว่าอะไรกันบ้างนะ ? 🍕🇯🇵

เชื่อว่าถ้าพูดถึงชื่อโอโคโนมิยากิ เพื่อน ๆ หลายคนที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่น ก็จะนึกภาพตามออกทันที
นั่นคือเจ้า "พิซซ่าญี่ปุ่น" หรือ “แพนเค้กแบบญี่ปุ่น” (แต่เรียกว่าแพนเค้ก ก็ไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไรแห่ะ..)
เจ้าโอโคโนมิยากินี้มีส่วนประกอบหลัก คือ แผ่นแป้ง เครื่อง(เนื้อสัตว์/ผัก) และซอสปรุงรส
ไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัวมาก ตามชื่อเรียกของเมนูนี้เลย
Okonomi (お好み) แปลว่า "สิ่งที่คุณต้องการ/สิ่งที่ชอบ" ส่วน "Yaki (焼き)" แปลว่า ปิ้งย่าง เมนูนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาหาร “โยโชคุยากิ” (洋食焼) หรืออาหารปิ้งย่างสไตล์ชาวตะวันตก
 
ว่าแต่… พูดถึงเรื่องราวต้นกำเนิด เมนูพิซซาสไตล์ญี่ปุ่นแบบนี้ถูกคิดค้นมาตั้งแต่เมื่อไรกันนะ ?
🎎🤓 คำตอบนี้คงต้องพาเพื่อน ๆ ย้อนกลับไปยังแรงบันดาลใจในการคิดค้นสูตรแผ่นแป้งแผ่นบางมาย่างในกระทะร้อนในช่วงยุคสมัยเอโดะ หรือประมาณช่วงศตวรรษที่ 16-17 เลยทีเดียว โดยเจ้าแป้งนี้จะถูกใช้เป็นหนึ่งในขนมสำหรับพิธีชงชา (อยู่ในกลุ่มขนมชาฟุโนะยากิ)
(ว่ากันว่าเป็นกลุ่มพระนิกายเซนที่นำวิธีการทำอาหารที่คล้ายๆกับการทำข้าวเกรียบ* (煎餅 / Jianbing) แบบนี้มาจากจีน แต่อันนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อพันปีก่อนเลยละนะ)
🏴󠁧󠁢󠁥󠁮󠁧󠁿 🇳🇱 🇵🇹 แต่สำหรับชาวตะวันตกที่เดินทางเข้ามายังญี่ปุ่น เค้าก็จะเรียกเจ้าขนมนี้แบบเหมารวมว่า “เครป”
Jianbing แบบของชาวจีน
.
แต่กว่าจะมาเป็นเมนูโอโคโนมิยากิ หรือพิซซาญี่ปุ่นที่เราคุ้นตากันเนี่ย
ก็จะเป็นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ประมาณค.ศ 1945 ไม่นานมานี้เอง)
🏳😵 ในสมัยนั้นประเทศญี่ปุ่นหนึ่งในผู้แพ้สงคราม ถือว่าอยู่ในช่วงขาดแคลนอาหาร ชาวบ้านจึงต้องพึ่งปากท้องกับเมนูง่าย ๆ หนึ่งในเมนูยอดฮิตก็คือ “เมนูโอโคโนมิยากิ” ก็จะเป็นการเอาวัตถุดิบที่หาง่ายและกินอิ่ม(เน้นแป้ง)
โดยแรกเริ่มมีแค่แป้งแพนเค้ก(หรือแป้งในลักษณะเดียวกับขนมฟุโนะยากิที่ได้เกริ่นไปด้านบน) มาคลุกเคล้ากับกะหล่ำหั่นฝอย ไข่ เนื้อหมู ผสมกับซุปดาชิ (และอาจมีเส้นโซบะ) โดยหัวใจสำคัญคือ ใส่ส่วนผสมอะไรก็ได้ตามความชอบของคนทำและตามกำลังทรัพย์ของคนซื้อ
จึงทำให้มีราคาถูก อิ่มท้องเร็ว และหากินง่ายตามร้านรถเข็นริมถนน (เป็นสตรีทฟู้ด)
🤓 เจ้าเมนูโอโคโนมิยากิ เพิ่งได้ถูกเรียกเป็นครั้งแรกที่เมืองโอซากะ (ที่เชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของเมนูนี้)
แต่เขาว่ากันว่า ต้นกำเนิด(ที่ไม่ได้ถูกบันทึก)ที่แท้จริง อาจจะมีจากเมืองฮิโรชิม่า เพราะเป็นเมืองที่ประสบภัยระเบิดปรมาณู จึงทำให้ผู้คนขัดสนกว่าเมืองอื่น ๆ ชาวบ้านจึงได้เริ่มทำเมนูง่าย ๆ อย่างโอโคโนมิยากิขึ้นมาก่อน (เพียงแต่…ไม่ได้มีเวลาไปตั้งชื่อ… เราเข้าใจว่าแบบนี้นะคร้าบ หากผิดพลาดประการใดต้องกราบขออภัยครับผม ☺️🙏)
ตัวสูตรฮิโรชิมะยากิ (หรือโอโคโนมิยากิของเมืองฮิโรชิมะ) ก็จะมีการนำเส้นโซบะเข้ามาผสมทานด้วย
มาชวนส่องความแตกต่างกันสักนิดว่าโอโคโนมิยากิหรือพิซซ่าญี่ปุ่น 2 รูปแบบยอดนิยม เค้าแตกต่างกันยังไงนะ ? 🧐😋
[ แบบ Osaka-style ]
 
สูตรต้นกำเนิดจากเมืองโอซากะ ลักษณะจะเป็นก้อนนุ่มนึบเหมือนแพนเค้กชิ้นใหญ่กลม ๆ
วิธีการทำผสมส่วนผสมไปคลุกเคล้าให้เข้ากันก่อน แล้วค่อยนำไปย่างบนกระทะร้อนทีเดียว ปิดท้ายด้วยการราดซอสมายองเนส ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นหนึ่งในจุดแตกต่างจากแบบของฮิโรชิมะ
[ Hiroshima-style ]
สูตรต้นกำเนิดจากเมืองฮิโรชิมะ ลักษณะจะเป็นแป้งแผ่นบางไว้สลับชั้นกับเครื่อง(เนื้อสัตว์) ผัก และเส้นโซบะ จะไม่ได้เป็นก้อนแป้งหนึบอย่างแบบโอซากะ
วิธีการทำหลัก ๆ เค้าจะนำส่วนผสมลงไปย่างทีละชั้น เพิ่มเติมด้วยเส้นโซบะ(่ที่ในแบบของโอซากะจะไม่มี) ปิดท้ายด้วยการราดซอสหวาน (พวกซอสหวานอมเปรี้ยวอย่างวูสเตอร์ซอส (Worcestershire sauce) หรือซอสยากิโซบะ ก็เป็นที่นิยม)
บางสูตรของฮิโรชิมะก็จะไล่จากชั้นของแป้ง(เป็นฐาน) ไล่ขึ้นมาเป็นเส้นโซบะ จนมาถึงด้านบนที่โปะด้วยไข่ทอดและถั่วงอก
[ แล้วโอโคโนมิยากิแบบอื่น ๆ ละ มีไหมนะ ? 🤩]
แน่นอนว่าเมนูที่ทำง่ายมีส่วนผสมตามที่เราอยากจะกินเนี่ย มันก็ต้องมีแตกแขนงออกไปในหลายรูปแบบ
พวกเราขอหยิบยกมาให้อ่านกันสั้น ๆ 3 เมนู
- จะมี 2 รูปแบบหลัก ๆ ที่มีต้นกำเนิดในเมืองโอซากะ (Modan-yaki และ Negiyaki)
- อีกตัวนึงจะเป็นสไตล์ของเมืองโตเกียว (Monjayaki)
(อันที่จริงเราเข้าใจว่ามีเยอะกว่านี้ แต่ที่เด่น ๆ แล้วพอจะหาข้อมูลได้ก็จะมี 3 ตัวคร้าบผม)
[ Modan-yaki ]
 
เป็นโอโคโนมิยากิที่ใส่เส้นคล้ายสไตล์ฮิโรชิม่า แต่ใช้วิธีผสมเส้นเข้าไปในส่วนผสมตอนทำแบบโอซากะ
โดยชื่อของเมนูนี้ก็คาดเดากันว่าเป็นคำยืมที่มาจากภาษาอังกฤษอย่างคำว่า “Modern” เพราะว่าเมนูนี้มีการประยุกต์อย่างหลากหลาย เช่น อาจนำชีส ผงกะหรี่ จนไปถึงการนำผลไม้ต่าง ๆ เข้ามาผัด ก็เรียกได้ว่ามีรูปแบบที่หลากหลายพอสมควร (แต่พวกเราเองก็ยังไม่เคยลองกินเลยนะคร้าบ 😅😂)
ส่วนต้นกำเนิดของเมนูนี้ถูกคิดค้นขึ้นในเมืองโคเบในจังหวัดเฮียวโงะในปีค.ศ. 1950 อยู่ไม่ไกลจากโอซากะเท่าไรนัก แต่เดิมเป็นเมนูที่ชาวบ้านนำเมนูโอโคโนมิยากิจากเมืองโอซากะมาผสมเข้ากับเมนูยากิอุด้ง
[ Negiyaki ]
หนึ่งในเมนูโอโคโนะมิยากิที่มีต้นกำเนิดจากเมืองโอซากะ
มีเอกลักษณ์ที่เห็นได้ชัดโดยการใช้ต้นหอมซอยเป็นวัตถุดิบหลัก (เข้าใจว่าเมนูโอโคโนมิยากิอื่น ๆ เขาใช้กระหล่ำปลีเป็นหลัก แต่เมนูนี้จะเน้นที่ต้นหอมเขียว ๆ ผัดลงไปพร้อมแป้งแทนคร้าบ)
ซึ่งก็ตรงกับชื่อของเมนู “Negi (葱)” แปลว่าต้นหอมญี่ปุ่น (Japanese Long Green Onion)
ผู้คิดค้นสูตรเนกิยากิจานนี้ มาจากร้านอาหารญี่ปุ่นที่ชื่อว่า “Yamamoto” ในกรุงโอซากะ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากขนมโบราณของญี่ปุ่นอย่างฟุโนะยากิ (ในช่วงศตวรรษที่ 16)
ต่อมาในปีค.ศ.1964 ร้าน Yamamoto เลยเป็นผู้ที่ออกมาจดเครื่องหมายการค้าให้กับเมนู Negiyaki ว่าเป็นสูตรที่มีต้นกำเนิดจากร้านนี้นั่นเอง (ชื่อร้าน Negiyaki Yamamoto)
[ Monjayaki ]
 
หนึ่งในเมนูที่ไม่ควรพลาดในเมืองโตเกียว เมนูนี้มีส่วนผสมคล้าย "okonomiyaki" เสริฟบนกระทะร้อน จุดเด่นอยู่ความข้นหนืดของเมนูนี้ที่เขาจะทานตอนที่แป้งยังไม่แข็งตัว คลุกเคล้าผัดเข้ากับส่วนผสมที่สับมาให้เรียบร้อย
(และหลาย ๆ ร้านยังให้ลูกค้านั่งผัดทานเองด้วย ซึ่งปกติเมนูอื่น ๆ เขาจะผัดมาให้)
ส่วนตัวเราแล้ว เรารู้สึกว่าจุดเด่นของเมนูนี้คือการเทน้ำซุปปลาลงตรงกลาง (แหวกส่วนผสมที่ผัดออกไปรอบ ๆ ก่อนนะ) เลยทำให้มีความข้นหนืดและเข้มข้นจากน้ำซุป
สำหรับอุปกรณ์การกินเจ้าเมนูนี้ ก็จะมีช้อนแบบไม้พายหัวตัดเรียกว่า “Hera” ถ้านึกภาพไม่ออกก็จะเป็นคล้าย ๆ กับไม้พายตัดพิซซา (ซึ่งจริง ๆ เมนูโอโคโนมิยากิอื่น ๆ ก็ใช้นะ)
แล้วเขาก็จะมีช้อนเล็ก ๆ (เขาเรียกว่าเป็นตะหลิวเล็ก) ที่มีชื่อว่า “hagashi (small spatula)” ที่เอาไว้ทาน
ชวนหิวกันสักนิดดดด แบบนี้แถวสุขุมวิท39 เห็นมีร้านมอนจะยากิอร่อยๆเพียบเลยคร้าบ
พอหอมปากหอมคอกันไป ถ้าอย่างนั้นพวกเราก็ขอตัวไปทาน Monjayaki ในร้านแถว ๆ ซอยสุขุมวิท 39 ก่อนดีกว่า ! (หรือเพื่อน ๆ มีร้านเด็ด ๆ แนะนำก็บอกพวกเราใต้คอมเมนต์ได้เลยนะคร้าบบ)
โฆษณา