8 ก.พ. 2023 เวลา 06:56 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

เรื่องของมด

เรื่องโดย รวิศ ทัศคร
ในบรรดาสัตว์ที่มีชีวิตมายาวนานนับร้อยล้านปี มดถือเป็นสัตว์โบราณชนิดหนึ่ง มดรุ่นแรก ๆ ปรากฏตัวขึ้นบนโลกเราราว 140–168 ล้านปีมาแล้ว เป็นแมลงที่อยู่ในวงศ์ Formicidae อันดับ Hymenoptera ซึ่งลักษณะเฉพาะของสัตว์ในวงศ์นี้คือ ความสามารถในการผลิตกรดมด (formic acid) อันเป็นที่มาของชื่อนั่นเอง
ส่วนอันดับ (Order) ของมดนั้นเป็นอันดับเดียวกับผึ้ง ต่อ แตน โดยมันวิวัฒนาการจากบรรพบุรุษที่เป็นตัวต่อยุคดึกดำบรรพ์ในกลุ่ม vespoid wasp ในยุคครีเตเชียส แต่รอดพ้นจากเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Cretaceous–Paleogene extinction event) มาได้
มดเป็นสัตว์ที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในการแพร่ขยายไปเกือบทุกที่ของระบบนิเวศบนโลก มันปรับตัวได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่ชื้นแฉะที่มีน้ำตลอดปีอย่างป่าชายเลน หรือบริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น หนอง คลอง บึง ไปจนถึงที่ที่ร้อนแล้งทุรกันดาร แม้ในทะเลทรายก็ตาม
ที่มาภาพ : ผศ.ดนัย ศิริบุรี
แม้ว่ามดจะไม่มีความฉลาดในแบบเดียวกับมนุษย์เรา แต่พวกมันก็รู้จักสร้างรังในแบบต่าง ๆ ด้วยหลักการที่น่าทึ่ง และรู้จักเทคนิคการทำเกษตรเพื่อสร้างแหล่งอาหารให้แก่ประชากรในรัง โดยการเพาะปลูกพืชหรือเชื้อราบางชนิด ซึ่งพวกมันรู้จักทำเช่นนี้มานานถึง 30 ล้านปีแล้ว ก่อนที่มนุษย์จะกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ด้วยซ้ำ
ในประเทศไทยของเรา นักมดวิทยาค้นพบตัวอย่างมดแล้วกว่า 1,200 ชนิด ซึ่งจำแนกชนิดได้แล้วกว่า 529 ชนิด 110 สกุล จาก 10 วงศ์ย่อย[1] โดยทั่วโลกเท่าที่มีบันทึกเอาไว้พบมดทั้งสิ้นจำนวน 15,617 ชนิด 411 สกุล ซึ่งหากจะกล่าวถึงมดทุกชนิด ก็คงกลายเป็นมหากาพย์ยาวไม่จบเป็นแน่ ในบทความจึงจะเลือกมดชนิดที่เราพบกันบ่อย ๆ บางชนิดมาเล่าให้ฟังในตอนนี้เท่านั้น
- มดที่อันตรายถึงชีวิต
มดตะนอย
เราเห็นมดเป็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ แต่อย่าประมาท เพราะหากคุณมีอาการแพ้ เพียงมดกัดก็อาจจะทำให้มีอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น มดตะนอย (Dolichoderus thoracicus) มดตะนอยอกส้ม (Tetraponera rufonigra) มดคันไฟ (Solenopsis geminata)
มดคันไฟ
อันตรายของมดตะนอยมาจากเหตุผลที่มันต่อยด้วยเหล็กใน ซึ่งเมื่อต่อยแล้วมันยังดึงเหล็กในกลับและต่อยเราได้อีกหลายครั้ง เหล็กในที่ต่อกับต่อมพิษในช่องท้องจะปล่อยสารประกอบโปรตีนที่ทำให้แพ้และอัลคาลอยด์ออกมา ทำให้ผู้เคราะห์ร้ายมีอาการต่าง ๆ นอกจากเจ็บตำแหน่งที่ถูกต่อย กล่าวคือ อาจมีอาการแพ้จนทำให้แน่นหน้าอกหายใจไม่ออก และหากแพ้มาก ๆ โดยเฉียบพลันก็อาจถึงแก่ชีวิตได้
ดังที่เคยเป็นข่าวไปล่าสุดเมื่อราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่มีเด็กหญิงวัย 11 ปี ในจังหวัดน่านถูกมดตะนอยอกส้มต่อยที่แขนและเกิดอาการแน่หน้าอกจนหายใจไม่ออก เคยมีผู้วิจัยศึกษาระบุชนิดของโปรตีนพิษมดตะนอยอกส้มและผลของการตอบสนองต่อพิษเอาไว้ ผู้อ่านที่สนใจรายละเอียดทางเทคนิคที่ลึกขึ้น สแกนอ่านได้ใน QR code นี้
รูป QR code แสดงส่วนหัวของมดตะนอย Dolichoderus thoracicus (มดงาน) ที่ได้จากการใช้ข้อมูลการถ่ายด้วย X-ray micro-CT scan มาสร้างขึ้นเป็นแบบจำลอง 3 มิติ
สแกน QR code เพื่ออ่านงานวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบของพิษและผลการศึกษาการตอบสนองต่อพิษมดตะนอย ด้วยเซลล์มาโครฟาจ (RAW 264.7 macrophage cells)
มดกองทัพคืออะไร
มดกองทัพ (army ant) คือ มดที่มีจำนวนมดงานในรวงรังของมันเป็นจำนวนมาก ราว 60,000–100,000 ตัว[2] มดพวกนี้ชอบกินมดชนิดอื่นเป็นอาหารและไม่สร้างรังถาวร จะเดินมาเป็นจำนวนมากมายมหาศาลในป่าและทำลายชีวิตสัตว์และพืชไปตลอดเส้นทางที่พวกมันเดินผ่านไป อาจเคยเห็นจากภาพยนตร์หรือสารคดีที่นำเอาชีวิตของมดกองทัพในทวีปแอฟริกาในสกุลมดเสี้ยนดิน (Dorylus ant) มาตีแผ่ พวกมันสามารถล่าสัตว์อย่างกิ้งก่า งู
แม้กระทั่งสัตว์ที่ใหญ่ขึ้นอย่างหมูและลิงก็ยังโดนพวกมันจัดการมาแล้ว มดพวกนี้อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ได้ โดยเฉพาะเด็กทารกและคนชราที่เคลื่อนไหวหนีพวกมันลำบาก เคยมีรายงานว่า เด็กทารกในประเทศกานา (Ghana) โดนมันรุมกัดจนเสียชีวิต ในขณะที่แม่ง่วนอยู่ในสวนของที่บ้าน และเผลอวางเด็กไว้ใต้ต้นไม้ นอกจากนี้ในอดีตเคยมีการนำมดเสี้ยนดินมาใช้ทรมานอาชญากรในช่วงศตวรรษที่ 19 อีกด้วย (อ่านเพิ่มเติมได้ใน https://www.antwiki.org/wiki/The_Ants_Chapter_16)
มดเสี้ยนดิน
ในช่วงพักจากการออกล่า โคโลนีของมดกองทัพจะพักเป็นเวลาหลายวัน ในขณะที่ราชินีมดยังวางไข่เป็นระยะ โดยมดในโคโลนีจะเกาะเกี่ยวร่างกายของพวกมันเองเป็นกลุ่มก้อนให้เป็นเหมือนรังชั่วคราว เมื่อโคโลนีเคลื่อนที่อีกครั้ง มดงานจะอุ้มตัวอ่อนที่กำลังเติบโตไปด้วยตามทางที่มันเดินทาง
ในประเทศไทยเคยมีการศึกษามดกองทัพและพบว่ามี 25 ชนิด ที่มาจาก 2 สกุล คือ สกุลมดเสี้ยนดิน (Dorylus) 3 ชนิด และสกุลมดทหาร (Aenictus) 22 ชนิด ซึ่งมีมดท้องถิ่นชนิดที่พบเฉพาะในประเทศไทยอยู่ 6 ชนิด ได้แก่ A. jarujini, A. duengkaei, A. siamensis, A. leptotyphlatta, A. longinodus, และ A. stenocephalus
มดทหารมักพบกระจายในป่าธรรมชาติหรือป่าเสื่อมโทรมที่มีสภาพใกล้ป่าธรรมชาติ ในขณะที่มดเสี้ยนดินแพร่กระจายกว้างกว่า โดยพบได้ในป่าธรรมชาติ ป่าเสื่อมโทรม และพื้นที่เกษตรกรรม มดเสี้ยนดินยังถือเป็นแมลงศัตรูพืชเกษตรที่สำคัญชนิดหนึ่ง แต่ก็ยังมีการเสนอแนวคิดการใช้ประโยชน์มดประเภทนี้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชแบบชีววิธี รวมทั้งอาจใช้เป็นอาหารของสัตว์กินมดบางกลุ่มได้
- บทบาทของมดในฐานะอาหารของมนุษย์
ปัจจุบันความสนใจเกี่ยวกับโปรตีนจากแมลงและการใช้แมลงเป็นแหล่งอาหารใหม่ของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารของโลกตะวันตก แมลงชนิดที่มีการกล่างถึงกันมากก็เช่น จิ้งหรีด หนอนไหม หนอนแมลงวันลาย (black soldier fly)
แมลงอื่น ๆ รวมถึงมดเอง ก็เป็นหนึ่งในแมลงที่รับประทานได้เช่นกัน แม้จะไม่ทุกชนิดก็ตาม คนไทยเราก็รู้จักหาไข่มดแดงส้ม (Oecophylla smaragdina Fabricius) หรือชื่อสามัญ “Australian green ant” มาบริโภคนานแล้วเช่นเดียวกัน
ในจำนวนมดที่รับประทานได้ มีมดดำชนิดหนึ่งชื่อ มดหนามกระทิงขนทอง (Chinese black ant) ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyrhachis dives Smith หรืออีกชื่อคือ Polyrhachis vicina Roger อยู่ในสกุลมดหนาม (Polyrhachis) มีอยู่ 600 กว่าชนิดทั่วโลก การที่เจ้ามดหนามกระทิงทองมีชื่อเช่นนี้เพราะมันมีหนามที่เอวลักษณะคล้ายกับเขากระทิง และบนลำตัวกับท้องมีขนอันอ่อนนุ่มสีทองสวยงามปกคลุม มีสไตล์การสร้างรังด้วยการนำเอาเศษไม้และเศษวัสดุมาสานกันเป็นรูปทรงต่าง ๆ โดยยึดด้วยเส้นใยที่ได้จากตัวอ่อน
เช่นเดียวกับญาติห่าง ๆ ของมัน คือมดกลุ่มที่เรียกกันว่ามดนักถักทอ หรือ weaver ant ซึ่งมดที่เรารู้จักคุ้นเคยและเห็นบ่อย ๆ คือ มดแดงหรือมดส้ม ที่มักจะสร้างรังจากการนำใบไม้ เช่น ใบมะม่วง มาสานเป็นรังเชื่อมด้วยใยจากตัวอ่อน
ชื่อของเจ้ามดดำชนิดนี้ในภาษาจีนคือ เฮย์หมาอี่ (黑蚂蚁) พบได้ในจีนทางตอนใต้และไทย ซึ่งหากท่านผู้อ่านสนใจ อยากแนะนำเว็บ https://antmaps.org ที่เข้าไปลองดูแผนที่ได้ว่ามดแต่ละชนิดมีการกระจายถิ่นที่อยู่และความหลากหลายของสายพันธุ์ในแต่ละภูมิภาคของโลกอย่างไร
มดหนามกระทิงขนทอง ที่มาภาพ : ผศ.ดนัย ศิริบุรี
มดหนามกระทิงขนทองใช้เป็นยาจีนมาอย่างยาวนานนับพันปีในการบำบัดโรครูมาตอยด์ ข้อเสื่อม (osteoarthritis) โรคจากอาการอักเสบ และเบาหวาน นอกจากนี้ยังมีการบริโภคโดยกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทในมณฑลยูนนาน ในอาหารมื้อพิเศษสำหรับรับรองแขกเหรื่อ
ส่วนในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (Guangxi Zhuang) ทางภาคใต้ของจีนที่ติดกับประเทศเวียดนามซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวจ้วง จะใส่ในเมนูอาหารในฤดูร้อนที่ประกอบด้วยมะระขี้นกหรือมะระจีน และมดชนิดนี้ยังนำไปใช้ผสมร่วมกับเต้าหู้ยี้ในลูกชิ้นตุ๋น ซึ่งเป็นเมนูอาหารในภูมิภาคทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนอีกด้วย
มีการศึกษา[3] พบสารประกอบที่มีไนโตรเจนซึ่งไม่ใช่เพปไทด์ในกลุ่ม non-peptide alkaloids จำนวน 12 ชนิด มีการนำไปทดสอบพบว่ามีฤทธิ์ในการยับยั้งการอักเสบ ปกป้องการทำงานของไต ลดการเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งฤทธิ์นี้นำไปใช้ประโยชน์ช่วยการบำบัดโรครูมาตอยด์และโรคข้อเสื่อมซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำลายเยื่อบุข้อ เป็นต้น
นอกจากนี้ในด้านคุณค่าทางโภชนาการ เคยมีผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ตัวอย่างมดหนามกระทิงทองจากมณฑลกุ้ยโจว (Guizhou) ของจีนกับมดแดงจากจังหวัดกาฬสินธุ์ของไทยเอาไว้ในงานวิจัยฉบับหนึ่ง[4] และพบว่าพวกมันเป็นแหล่งของกรดไขมันไม่อิ่มตัวชั้นดี โดยไขมันที่พบส่วนใหญ่จะเป็นไตรกลีเซอไรด์ (ร้อยละ 42.4–79.4) ตามมาด้วยฟอสโฟลิพิด (ร้อยละ 6.1-21.5) ไดกลีเซอไรด์ (ร้อยละ 6.1–18.1) คอเลสเตอรอลเอสเทอร์ (ร้อยละ 4.9–13.5) กรดไขมันอิสระ (ร้อยละ 1.8–2.9) สเตอรอล (ร้อยละ 0.5–0.8)
โดยปริมาณทั้งหมดนี้คิดเป็นร้อยละของไขมันทั้งหมดที่พบ ซึ่งในจำนวนของกรดไขมันจะพบกรดโอเลอิกมากที่สุด ตามมาด้วยกรดพัลมิติก กรดลิโนเลอิก แอลฟาลิโนเลอิก รวมถึงกรดไอคอซาเพนทาอีโนอิก ทั้งหมดนี้พบได้ในมดดำและมดแดง และมีเฉพาะกรดโดโคซาเพนทาอีโนอิกที่พบได้ในมดดำเท่านั้น
ตำรับอาหารที่ใช้ไข่มดทำไม่ได้มีเฉพาะในไทยเราที่เดียว แต่ในแถบเม็กซิโกและทวีปอเมริกายังมีมดอีกชนิดหนึ่งซึ่งจัดว่าเป็นเมนูเด็ดในอาหารตำรับเม็กซิกัน ถึงขนาดบางคนเรียกมันว่าคาร์เวียเม็กซิกันเลยทีเดียว มดชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Liometopum apiculatum Mayr หรือ “escamolera ant” หรือชื่อสามัญ “velvety tree ant” มีบทบาทในฐานะสัตว์เศรษฐกิจของแถบนั้นอีกด้วย นิยมรับประทานทั้งตัวอ่อนและไข่มด
โดยนำมาทอดและใช้เครื่องเทศปรุงรส ชาวเม็กซิกันเรียกไข่มดปรุงรสนี้ว่า เอสกาโมเลส (escamoles) ซึ่งสืบย้อนประเพณีการรับประทานได้จนถึงยุคของอารยธรรมแอซเท็ก (Aztec) โดยเป็นตำรับที่ถวายแด่องค์จักรพรรดิ ปัจจุบันเมนูนี้มักรับประทานกับน้ำจิ้มอาโวคาโดสูตรเม็กซิกันที่เรียกว่า กัวคาโมเล (guacamole) รับประทานกับตาโก (taco) หรือเป็นไส้ห่อกับแผ่นแป้งตอร์ติยา (tortilla) ก็ได้
จากการที่ชาวเม็กซิกันหามดชนิดนี้มาทำเป็นอาหาร รวมถึงประชากรและชุมชนเมืองที่ขยายตัวมากขึ้น ทำให้ถิ่นอาศัยของมดชนิดนี้ลดน้อยลง จึงมีความสนใจค้นคว้าวิจัยเพื่อรักษาประชากรของมัน รวมถึงคุณค่าทางโภชนาการของมัน ซึ่งมีผลจากงานวิจัย[5] พบว่าตัวอย่างไข่มดเอสกาโมเลสมีปริมาณไขมัน 34.96 กรัม ต่อน้ำหนักตัวอย่างแห้ง 100 กรัม ซึ่งมีปริมาณไขมันอยู่เพียงพอที่จะทำให้วิตามินที่ละลายในไขมันดูดซึมผ่านลำไส้
ไขมันชนิดหลัก ๆ ที่พบคือ กรดโอเลอิก (ร้อยละ 67.66) กรดลิโนเลอิก (ร้อยละ 2.61) กรดอะราคิโดนิก (ร้อยละ 0.16) กรดโอเลอิกมีสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและเป็นตัวตั้งต้นสำหรับการสังเคราะห์กรดลิโนเลอิก ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายและเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลของเนื้อเยื่อต่าง ๆ
รวมทั้งเป็นสารตั้งต้นของกรดอะราคิโดนิกซึ่งจำเป็นต่อความแข็งแรงของไมโทคอนเดรียและการสังเคราะห์สารพรอสตาแกลนดิน (prostaglandins: PGS) ซึ่งทำหน้าที่ลดความดันโลหิต รักษาระดับอุณหภูมิในร่างกาย และกระตุ้นการบีบตัวของมดลูกอีกด้วย
ไข่มดเอสกาโมเลสถือว่าเป็นแหล่งวิตามินชั้นยอด โดยจากผลการวิเคราะห์[5] พบว่ามันมีวิตามินเอ (0.324 mg retinol/100 กรัมตัวอย่าง) และวิตามินอี (3.29 mg/100 กรัมตัวอย่าง) ซึ่งมากกว่าอาหารหลายอย่าง เช่น ถั่วดำ (0.00 mg retinol/100 กรัมตัวอย่าง) มันฝรั่ง (0.00 mg retinol/100 กรัมตัวอย่าง) แตงซุกคีนี (0.025 mg retinol/100 กรัมตัวอย่าง) กล้วย (0.018 mg retinol/100 กรัมตัวอย่าง)
เว้นแต่แคร์รอต (0.835 mg retinol/100 กรัมตัวอย่าง) ที่มีมากกว่า ด้วยเหตุนี้ไข่มดจึงเป็นแหล่งอาหารเสริมที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่งของมนุษย์
เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับเรื่องราวของมดที่นำมาฝากกันในตอนนี้ หากผู้อ่านท่านใดสนใจอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับมดเพิ่มขึ้น หรือถ้ามีข่าวคราวการประยุกต์ใช้งานหรือศึกษาเกี่ยวกับมดในแง่มุมอื่น เช่น การนำไปประยุกต์ใช้งานในอุตสาหกรรรม การแพทย์ หรือแม้แต่วัสดุ ผู้เขียนบทความก็อาจจะนำมาฝากในโอกาสต่อไปครับ
กิตติกรรมประกาศ
ผู้เขียนขอขอบพระคุณ ผศ.ดนัย ศิริบุรี ที่กรุณาสนับสนุนภาพประกอบบทความในฉบับนี้เป็นอย่างสูง มา ณ ที่นี้ครับ
แหล่งอ้างอิง
1. วียะวัฒน์ ใจตรง เกรียงไกร สุวรรณศักดิ์ ยุทธนา สามัง และทัศนัย จีนทอง มดประเทศไทย. ปทุมธานี : องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ. 2563.
3. Tang, J. J., Fang, P., Xia, H. L., Tu, Z. C., Hou, B. Y., Yan, Y. M., … & Cheng, Y. X. (2015). Constituents from the edible Chinese black ants (Polyrhachis dives) showing protective effect on rat mesangial cells and anti-inflammatory activity. Food Research International, 67, 163-168.
4. Oranut, S., Subhachai, B., Shen, L. R., & Duo, L. I. (2010). Lipids and fatty acid composition of dried edible red and black ants. Agricultural Sciences in China, 9(7), 1072-1077.
5. Virginia, M. R., Tomás, Q. B., Rafael, D. G., & César, G. U. (2016). Consumption of Escamoles (Liometopum apiculatum M.): A Source of Vitamins A and E. Appl. Life Sci. Int, 9, 1-7.
โฆษณา