8 ก.พ. 2023 เวลา 08:02 • การเกษตร

สารเร่งเนื้อแดง หอกข้างแคร่กรมปศุสัตว์

สถานการณ์ตลาดโคขุนไทยต้องมาชะงักอีกครั้ง หลังเวียดนามระงับนำเข้าโคขุนของไทยเพราะตรวจเจอสารเร่งเนื้อแดง สารต้องห้ามที่กฎหมายไทยไม่อนุญาต !!!
สารเร่งเนื้อแดง เป็นสารสังเคราะห์ในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (beta-agonist) เช่น แรคโตพามีน (ractopamine) zilmax และ optaflexx เป็นต้น สารกลุ่มนี้อนุญาตให้ใช้เป็นยาในอาหารสัตว์ของ หมู โค และไก่งวง เพื่อเสริมการเจริญเติบโตของเซลล์กล้ามเนื้อ ทำให้สัตว์โตเร็ว มีน้ำหนักซากดี ได้เนื้อแดงมาก สารกลุ่มนี้จึงนิยมใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอาหารสัตว์และลดต้นทุนอาหารสัตว์ได้ เช่น ในหมู สามารถขายได้เร็วขึ้น 4 วัน ลดปริมาณอาหารได้ 18.5 กก. [1, 2]
จากรายงานของ FAO สารแรคโตพามีน อนุญาตให้ใช้ 25 ประเทศ นำโดย สหรัฐอเมริกา แคนาดา และแมกซิโก ซึ่งจะมีการกำหนดปริมาณการใช้ที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้มีสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และสารกลุ่มนี้ไม่อนุญาตให้ใช้ในมนุษย์แม้ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ก็ตาม !!!
สิ่งที่ตลกคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) อนุมัติให้ใช้ยาแรคโตพามีนในหมูหลังจากการวิจัยสุขภาพของมนุษย์เพียงหนึ่งครั้ง โดยเป็นการประเมินผู้ชายอายุน้อยที่แข็งแรงดี 6 คน คนหนึ่งต้องออกจากการวิจัยเพราะหัวใจของเขาเริ่มเต้นแรงและเต้นแรงผิดปกติ [3]
สารเร่งเนื้อแดง มีคุณสมบัติทนความร้อนสูง แม้ว่าจะนำไปประกอบอาหารด้วยการ ต้ม อบ หรือทอด ก็ยังคงมีสารตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์ และข้อมูลทางการแพทย์ชี้ว่า หากร่างกายได้รับสารกลุ่มนี้เข้าไปในปริมาณสูงส่งผลเสียไปถึงสุขภาพของผู้บริโภคโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ลมชัก และโรคไฮเปอร์ไทรอยด์
การใช้สารเร่งเนื้อแดงในหมูจะพบสารตกค้างมากในเครื่องใน ทั้งปอด หัวใจ และลำไส้ the FAO/WHO Expert Committee on Food Additives (JECFA) จึงประเมินความเสี่ยง (risk assessments)และกำหนดเพดานปริมาณการสารแรคโตพามีนตกค้างได้ในเนื้อแดง ตับ ไต และไขมัน ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มีการบริโภคมาก
ด้วยเหตุนี้ สารเร่งเนื้อแดงจึงห้ามใช้ใน 160 ประเทศ โดยมีกลุ่มสหภาพยุโรปเป็นผู้นำ ประกาศห้ามใช้ในปี 2539 รวมถึง รัสเซีย และจีน [4] สำหรับประเทศไทย ได้ประกาศห้ามใช้ในปี 2546 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2546 กำหนดให้อาหารทุกชนิดต้องตรวจไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกลุ่มนี้
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศห้ามใส่สารเร่งเนื้อแดงเป็นส่วนผสมในการผลิตและนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์ตั้งแต่ปี 2525 ประกาศเป็นสารอันตรายในประกาศกระทรวงเกษตรฯ ปี 2545 และตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ ปี พ.ศ. 2558 โดยผู้ละเมิด “ผู้ผลิต นำเข้า จำหน่าย และใช้สารต้องห้าม มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จะเห็นได้ว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ทราบถึงอันตรายของสารเร่งเนื้อแดงมาสองทศวรรษ มีการปราบปรามกันจริงจังในฟาร์มหมูตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา แต่ใน ‘โคเนื้อ’ กลับปิดตาข้างหนึ่ง !!!
มีการขายกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เรียกว่า ขนมวัวขุน กระทบต่อการส่งออกโคไปเวียดนาม เพราะเวียดนามตรวจพบสารเร่งเนื้อแดงในโคเนื้อนำเข้าจากไทยมากจนต้องประกาศระงับนำเข้าและส่งหนังสือมาถึงอธิบดีกรมปศุสัตว์ของไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ส่งผลให้ปัจจุบันราคาวัวโครงหรือวัวขนาดกลางที่ตลาดนัดโคกระบือบ้านหัน จ.มหาสารคาม ซื้อขายกันเพียง 20,000 – 25,000 บาท/ตัว (เดิมราคากลาง 30,000 บาท/ตัว) [5] กลุ่มพ่อค้าวัวจากภาคกลางชะลอการซื้อ สถานการณ์โคเนื้อไทยหนักขึ้นเนื่องจากไม่สามารถส่งออกโคไปเวียดนามได้เหมือนก่อนหน้านี้
สาเหตุของการใช้สารเร่งในโคขุนคงไม่ต่างจากการใช้ในหมู คือ พ่อค้าปลายทางอยากได้เนื้อสวย ซากดี จึงแนะนำให้เกษตรกรใส่ หากไม่ไส่ก็จะไม่ซื้อ สุดท้ายคนที่ต้องมารับเคราะห์คือ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคต้นน้ำและกลางน้ำ ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อย มีทุนน้อย อาศัยเลี้ยงโคเหมือนเงินออม หวังขายลูกโค วัวโครง เอาเงินมาหมุน แม้ว่าผู้เลี้ยงกลุ่มนี้จะไม่ได้ใช้สารเร่งแต่ก็ได้รับผลของความละโมบของพ่อค้าปลายทางด้วยเช่นกัน
อีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบคือ ผู้บริโภคชาวไทย เมื่อส่งออกโคไม่ได้ แล้วโคจะไปไหน ก็ต้องขายในประเทศนี่แหละ !!! ซื้อตัวโคถูกลง ขายเนื้อราคาเดิม ผู้บริโภครับเต็ม ๆ ปศุสัตว์ต้องเข้มงวดและตรวจสารเร่งเนื้อแดงในอาหารสัตว์และโคเนื้อที่เข้าโรงเชือด รวมถึง อย. คงต้องทำงานกันหนักเพิ่มขึ้นในการตรวจสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อโคที่จำหน่ายในตลาด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคชาวไทย
ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ ส่งทีมสารวัตรปศุสัตว์ไซเบอร์ (DCU) เร่งกวาดล้างจับกุมกลุ่มลักลอบจำหน่ายสารเร่งเนื้อแดงทางออนไลน์ สำหรับด้านต่างประเทศ กรมปศุสัตว์ได้ส่งรายชื่อฟาร์มปลอดการใช้สารเร่งเนื้อแดง (beta agonist) ไปให้ฝั่งเวียดนาม รวมถึงขั้นตอนการออกใบรับรองและกระบวนการตรวจวิเคราะห์สาร และความถี่ในการเก็บตัวอย่าง คาดส่งออกวัวไปเวียดนามได้กลางเดือนกุมภาพันธ์นี้
สิ่งที่ต้องติดตามต่อคือ ความเอาจริงเอาจังกับการกำกับดูแลดังเช่นที่เคยทำในฟาร์มหมู ตรวจวิเคราะห์วัวทุกตัวที่ส่งออกและวัวที่เข้าโรงเชือดหรือโรงแปรสภาพ โดยเก็บค่าธรรมเนียมในการตรวจเพื่อลดภาระแก่รัฐ และที่สำคัญต้องไม่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อเรียกความเชื่อมันของประเทศคู่ค้ากลับคืนมา
บทเรียนที่เราเคยมีจากความสำเร็จในการปกป้องอุตสาหกรรมหมูจากแรงกดดันจากสหรัฐให้นำเข้าเนื้อหมูในปี 2560 คงไม่ยากที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเรื่องการใช้สารเร่งเนื้อแดงในโคเนื้อของไทย หากไม่จริงจัง หอกข้างแคร่นี้คงทิ่มแทงอุตสาหกรรมปศุสัตว์และกรมปศุสัตว์ต่อไป
#EatEcon
Photo by Ric Matkowski on Unsplash
อ้างอิงข้อมูล
1. Centner, T.J., J.C. Alvey, and A.M. Stelzleni, Beta agonists in livestock feed: Status, health concerns, and international trade. Journal of animal science, 2014. 92(9): p. 4234-4240.
2. Rathmann, R., et al., Effects of zilpaterol hydrochloride and days on the finishing diet on feedlot performance, carcass characteristics, and tenderness in beef heifers. Journal of Animal Science, 2012. 90(9): p. 3301-3311.
3. Pacelle, W. Banned in 160 Nations, Why is Ractopamine in U.S. Pork? (Op-Ed). Expert voices 2014 [cited 2023 8 February]; Available from: https://www.livescience.com/47032-time-for-us-to-ban-ractopamine.html.
4. Barker, D., Trade matters: Transatlantic trade and investment partnership (TTIP) - Impacts on food and farming, in Trade matters, J.H. Hanson, Cameron, Editor. 2014, Center for Food Safety: Pennsylvania.
5. ThaiPBS, "วัวอีสาน" ราคาตก หลังพบสารเร่งเนื้อแดง. 2566. p. https://www.thaipbs.or.th/news/gallery/455.
โฆษณา