8 ก.พ. 2023 เวลา 08:10 • การเกษตร

หมูหลุม...หนึ่งทางรอดของเกษตรกรรายย่อย

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ได้มีกฎกระทรวงออกมาบังคับการทำมาตรฐานฟาร์มหมู GAP (การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551)โดยกฎกระทรวงนี้มีผลบังคับใช้กับฟาร์มหมูขนาดกลางและขนาดใหญ่
  • ฟาร์มหมูขุนขนาดกลางตั้งแต่ 500-1,499 ตัว หรือฟาร์มแม่พันธุ์ตั้งแต่ 95 – 119 ตัว ฟาร์มขนาดนี้มีระยะเวลา 180 วันนับจากวันประกาศ หรือมีผลบังคับวันที่ 2 สิงหาคม 2566
  • ฟาร์มหมูขุนขนาดใหญ่ตั้งแต่ 1,500 ตัวขึ้นไป หรือแม่พันธุ์ 120 ขึ้นไป มีระยะเวลาปรับปรุงฟาร์ม 90 วัน หรือมีผลบังคับวันที่ 4 พฤษภาคม 2566 [1] ซึ่งกฎกระทรวงนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงการรับรองมาตรฐานฟาร์มหมูอินทรีย์และฟาร์มหมูหลุมจากกรมปศุสัตว์ เนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขมาตรฐานฟาร์มที่แตกต่างกัน
แม้ว่าผู้เลี้ยงจะทราบดีถึงการบังคับทำมาตรฐานฟาร์ม GAP ก่อนหน้านี้กรมปศุสัตว์ก็เดินหน้ามาตรฐานฟาร์มมาพักใหญ่ แต่ประกาศนี้ออกมาในช่วงเวลาที่ไม่ดีนัก เนื่องจากปัญหาหมูเถื่อนที่ทางภาครัฐเองก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทำให้ราคาขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มโซนภาคตะวันตกตอนนี้ลงมาที่ 86 บาท/กก. บางพื้นที่ราคา 80 บาท ราคาลงมาอย่างรุนแรงภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์หลังจากเทศกาลตรุษจีน แบบนี้คงจะยากที่จะได้ความร่วมมือจากผู้เลี้ยง
สิ่งที่ผู้เลี้ยงหมูทั้งหลายต้องทำความเข้าใจคือ การทำมาตรฐานฟาร์ม GAP แตกต่างจากการปฏิบัติตามหลักไบโอซิเคียวริตี้ ที่ต้องเน้นย้ำให้ความสำคัญในการควบคุมฟาร์มเพื่อลดความเสี่ยงในการระบาดของโรคโดยเฉพาะ ASF
การทำมาตรฐานฟาร์ม GAP ฟาร์มเก่าจะมีปัญหาการปรับปรุงฟาร์มมากกว่าฟาร์มใหม่ด้วยข้อจำกัดทางกายภาพของฟาร์ม การปรับปรุงฟาร์มจึงมีต้นทุน โดยต้นทุนสำคัญคือ การทำรั้ว ห้องอาบน้ำก่อนเข้าและออกจากฟาร์ม และสัตวแพทย์ที่ปรึกษาประจำฟาร์มที่มีค่าใช้จ่ายไม่น้อย บางครั้งการจะหาสัตวแพทย์ที่ปรึกษามาประจำฟาร์มก็ไม่ง่าย เนื่องจากจำนวนสัตว์แพทย์ของไทยที่ได้รับอนุญาตให้เป็นที่ปรึกษามีจำกัด
สำหรับผู้เลี้ยงรายย่อย แม้ว่าจะไม่อยู่ในการทำมาตรฐานฟาร์มบังคับตามกฎกระทรวงฉบับนี้ แต่ด้วยสภาวะปัญหาราคาอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแบบไม่มีทีท่าว่าจะลง การทำฟาร์มหมูหลุมอาจเป็นอีกหนึ่งทางออกที่พอจะเป็นทางรอด
แนวคิดการเลี้ยงหมูหลุมดั้งเดิมมาจากประเทศเกาหลี หนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าหมูอร่อย คนเกาหลีจะพิถีพิถันในการเลี้ยงหมู แปรรูป และวิธีการกินหมูค่อนข้างมาก จนมีสารคดี มหากาพย์หมูสามชั้นใน Netflix
ในทางเศรษฐกิจการเลี้ยงหมูหลุมมีต้นทุนค่าอาหารต่ำกว่าการเลี้ยงหมูขุนปกติ เนื่องจากสามารถนำวัสดุท้องถิ่น เช่น เศษพืชผัก ผลไม้ หรือหยวกกล้วยมาทำเป็นอาหารหมัก 50% ร่วมกับอาหารข้น 50% ในการเลี้ยง จำกัดปริมาณอาหารข้นที่ให้ ใช้ทรัพยากรทั้งน้ำและแรงงานน้อย เนื่องจากไม่ต้องทำความสะอาดคอก ไม่มีน้ำเสีย และส่งกลิ่นรบกวนน้อย ที่สำคัญมาตรฐานฟาร์มที่ปศุสัตว์กำหนดเป็นเพียงมาตรฐาน GFM และมีต้นทุนการสร้างโรงเรือนต่ำ
การเลี้ยงหมูหลุมตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ของภาครัฐได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากตอบโจทย์
  • เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) สร้างมูลค่าเพิ่มของเศษพืชผักหมักจุลินทรีย์ในการจัดการคอกและให้อาหาร
  • เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเช่น แกลบ ฟาง มาเป็นวัสดุรองคอก เมื่อผสมกับมูลก็จะได้ปุ๋ยมูลสัตว์ จะเห็นได้ว่าการหมูหลุมเป็นหนึ่งใน
  • เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ใช้น้ำน้อยตอบโจทย์ความยั่งยืนของการใช้ทรัพยากร ผู้เลี้ยงสามารถการพึ่งพาปัจจัยภายนอกได้มากกว่าการเลี้ยงหมูแบบทั่วไปและดีต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ หมูหลุมยังตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ ต้องการอาหารที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่ใส่สารเร่งเนื้อแดง ที่สำคัญผู้บริโภคกลุ่มนี้ที่มีกำลังซื้อสูงและมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
หากเกษตรกรรายย่อยเลี้ยงหมูในรูปแบบฟาร์มสมัยใหม่แล้วไม่สามารถแข่งขันได้ ลองเลี้ยงหมูหลุมดูคงไม่เสียหาย
สิ่งที่อยากจะฝากถึงคนเลี้ยงหมูคือ ราคาหมูมีวัฏจักรมีขึ้นมีลงตามอุปสงค์อุปทานหมูในตลาด การให้ความสำคัญกับคุณภาพอาหาร การจัดการฟาร์มตามหลักไบโอซิเคียวริตี้ รวมถึงการจดบันทึกรายรับรายจ่ายอย่างละเอียดเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อจะได้การวางแผนจัดการฟาร์มรับมือกับความผันผวนของตลาดได้
#Eatecon
อ้างอิง
1. ราชกิจจานุเบกษา, กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรเป็นมาตรฐานบังคับ, in ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนที่ 9ก, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, Editor. 2566.
ภาพจาก ภาพโดย Roy Buri จาก Pixabay
โฆษณา