9 ก.พ. 2023 เวลา 02:00 • สิ่งแวดล้อม

"สบ หรือ กระตุก" สารพัดประโยชน์ พบได้ทุกภาค ใกล้ลำธารในป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น

ในปี 1790 "สบหรือกระตุก" ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกด้วยชื่อพฤกษศาสตร์ Altingia excelsa Noronha ในวารสาร Verhandelingen van het Bataviaasch Genootschap der Kunsten en Wetenschappen ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 โดยชื่อสกุล Altingia ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ Jacobus Alting ชาวเยอรมัน ผู้ศึกษาวัฒนธรรมและประเพณีเอเชียตะวันออก
ในปัจจุบันการศึกษาวิจัยทางด้านอนุกรมวิธานพืชมักใช้ศาสตร์ทางด้านชีวโมเลกุลมาเกี่ยวข้องเพื่อช่วยยืนยันการจำแนกและระบุชนิด รวมถึงการได้มาซึ่งข้อมูลทางวิวัฒนาการ ในกรณีของ "สบ" ชื่อพฤกษศาสตร์ในปัจจุบันคือ Liquidambar excelsa (Noronha) Oken ซึ่งชื่อดังกล่าวเคยถูกใช้ครั้งแรกในปี 1841 และยกเลิกไป
จนกระทั่งได้ถูกใช้อีกครั้งในวารสาร Phytokeys ปีที่ 31 หน้า 21-61 ปี 2013 ในหัวข้อ A taxonomic synopsis of Altingiaceae with nine new combinations โดย Stefanie M. Ickert-Bond และ Jun Wen ได้ประยุกต์ศาสตร์ทางสัณฐานวิทยาและชีวโมเลกุลในการจัดจำแนกพืชในวงศ์สบ (Altingiaceae)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 20–40 ม. ตามีเกล็ดหุ้ม ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปไข่ หรือแกมรูปขอบขนาน ปลายแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนมน ขอบหยักมนหรือจักฟันเลื่อย มีต่อมสีดำตามขอบหยัก แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ก้านใบยาว 1–3 ซม. ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นช่อ ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลด หรือช่อกระจะ ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น ผลย่อยแบบผลแห้งแตก มี 4-18 ผล
นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ : ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค บริเวณใกล้ลำธารในป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 600–800 เมตร ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูฏาน จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย สกุล Liquidambar L. ในประเทศไทยมี 2 ชนิด อีกชนิดคือ ตำยาน (L. siamensis (Craib) Ickert-Bond & J. Wen) พบทางภาคเหนือ ใบเรียวยาวกว่า โคนใบสอบเรียว
การใช้ประโยชน์: ใบอ่อนรับประทานเป็นผัก เนื้อไม้ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายใน ชันที่เกิดจากการถูกเจาะทำลายเนื้อไม้มีกลิ่นหอม ใช้ทำน้ำหอมและเป็นสมุนไพร
เอกสารอ้างอิง
- ราชันย์ ภู่มา. (2559). สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรุงเทพฯ.
- Phengklai, C. (2001). Hamamelidaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(3): 400–401.
Ickert-Bond, S. M., & Wen, J. (2013). A taxonomic synopsis of Altingiaceae with nine new combinations. PhytoKeys, (31), 21.
#สบ #กระตุก #หอพรรณไม้ #กรมอุทยาน #กรมอุทยานแห่งชาติ #prdnp #dnp
โฆษณา