Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Supawan’s Colorful World
•
ติดตาม
9 ก.พ. 2023 เวลา 08:39 • ท่องเที่ยว
ทมิฬนาดู (8) .. เทวาลัยเอกัมพเรศวร (Sri Ekambaranathar Temple)
เทวาลัยเอกัมพเรศวร เป็นเทวาลัยฮินดูที่อุทิศให้กับพระศิวะตั้งอยู่ในเมือง กาญจีปุรัม ในรัฐทมิฬนาฑูประเทศอินเดีย .. มีความสำคัญต่อศาสนาฮินดูของ Saivism ในฐานะที่เป็น 1 ในเทวาลัยที่เกี่ยวข้องกับธาตุทั้งห้า ได้แก่ Pancha Bhoota Stalas และโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ประกอบของแผ่นดินหรือ Prithvi
เป็นเทวาลัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองกาญจีปุรัม เริ่มสร้างในสมัยราชวงศ์ปัลลวะและมีการก่อสร้างเสริมเติมมาตลอด อาคารส่วนใหญ่สร้างในสมัยวิชัยนคร เช่นโคปุระที่ทาสีเหลืองอ่อน มีขนาดความสูงถึง 59 เมตร ระเบียงคต และมณฑปด้านหน้า
ด้านหน้าของพื้นที่เทวาลัยมีอาคารลักษณะเหมือนศาลา ตั้งอยู่
เทวาลัยอัมภเรศวร สร้างในสถาปัตยกรรมแบบ ดราวิเดียน .. เป็นสถาปัตยกรรมฮินดูแบบหนึ่ง ที่มีหอโคปุรัมในกรอบรูปสี่เหลี่ยม และปลายสอบแหลมเข้าหากัน ที่สูงชะลูด และบางเทวสถานมีหลายหอ เป็นลักษณะสำคัญของสถาปัตยกรรมแบบนี้ เป็นส่วนที่ล้อมรอบเทวาลัย รวมถึงมีห้องโถงเสา ( Chaultris หรือ Chawadis ) ที่ถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์หลายประการ
ด้านบนและด้านหน้าของโคปุรัมทั้ง 4 ทิศ ประดับด้วยรูปปั้น และรูปสลักของเทพเจ้าหลายๆองค์ .. ไม่มีสีสันจัดจ้านเหมือนที่เราเห็นในเทวาลัยของชาวทมิฬส่วนใหญ่ และโคปุรัมทางด้านทิศใต้ซึ่งมีทั้งหทด 11 ชั้นจะสูงที่สุด คือ ราว 59 เมตร อันเป็นโคปุรัมที่สูงที่สุดมนอินเดีย
เราเดินเข้าไปในโคปุรัม ผ่านภาพสลักหินของพระแม่คงคา และยมุนา .. ได้รับพรและเชื่อว่าร่างกายจะได้รับการล้างมลทินต่างๆ ก่อนที่จะเข้าไปสู่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
.. มองเห็นภาพวาดบนด้านข้างของกำแพงโคปุรัม เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นตำนานเรื่องเล่าของกำเนิดของเทวาลัยศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
เอกัมพเรศวร .. ชื่อนี้มาจากคำว่า “เอก = หนึ่ง”+“อัมพ = มะม่วง”+“อิศวร = ศิวะ” รวมความได้ว่า ต้นมะม่วงต้นหนึ่งของพระศิวะ
ศิวลึงค์ประธานของเทวาลัยแห่งนี้ กล่าวกันว่าสร้างขึ้นด้วยมูลดินจึงมีพระนามในภาษาสันสกฤตว่า ปฤถวีลึงค์ (ปัถวี – แผ่นดิน) ตามคติที่ว่า พระศิวะจะปรากฏพระองค์ในรูปของธาตุหลักทั้ง 5 หรือ "ปัญจภูตสถาลัม"คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ ที่นี่จึงนับเป็นหนึ่งในเทวสถานหลักห้าแห่งที่ประดิษฐานพระศิวลึงค์อันเป็นต้นธาตุในอินเดียใต้
ศิวลึงค์ดินของเทวาลัย มีตำนานพื้นบ้านที่เล่าขาน เกี่ยวกับความรักระหว่างพระศิวะและพระนางปารวตี (พระอุมา) อันเป็นที่มาของการกำเนิดและชื่อของเทวาลัยนี้ว่า ...
.. ครั้งหนึ่งพระนางปราวตี ชายาพระศิวะ หยอกล้อแกล้งปิดพระเนตรของสามี(พระศิวะ) ทำให้เกิดความมืดมิดไปทั้งจักรวาลนานชั่วกัปกัลป์ พระศิวะพิโรธมากจึงสาปให้พระนางลงมาอยู่ในโลกมนุษย์ พระนางจึงก่อศิวลึงค์ขึ้นด้วยดินทรายใต้ต้นมะม่วงต้นหนึ่ง ริมฝั่งแม่น้ำเวกาวาตี (Vegavathi river) เพื่อบูชาและบำเพ็ญเพียรอย่างเคร่งครัดอยู่ช้านาน
ในระหว่างที่พระนางบำเพ็ญตบะอยู่นั้น พระศิวะก็ได้มาทดสอบความแน่วแน่ในการบำเพ็ญตบะของพระนาง โดยได้ทำใหเกิดเพลิงลุกโชนขึ้นมาที่ต้นมะม่วงและล้อมรอบตัวพระนางที่กำลังก่อศิวลึงค์ขึ้นมา
พระนางได้วิงวอนต่อพระวิษณุ ผู้เป็นพระเชษฐาให้ช่วยขจัดปัดเป่าภัยในครั้งนี้ โดยพระวิษณุได้ใช้พระจันทร์จากปิ่นที่มวยของพระศิวะ มาสาดฉายแสงแห่งความเย็นลงมาดับพิษของอัคคีนั้น จนเพลิงไม่สามารถทำอันตรายแก่ต้นมะม่วง ศิวลึงค์และตัวพระนางได้
พระศิวะจึงทดสอบความภักดีด้วยการปล่อยสายน้ำคงคาจากมวยผมให้ไหลท่วมท้นลงมา เพื่อจะใช้ความรุนแรงของสายน้ำพัดทำลาย เพื่อทดสอบความแน่วแน่ในการบำเพ็ญตบะอุทิศตนสร้างบูชาศิวลึงค์เป็นครั้งที่สอง ..
พระนางได้วิงวอนขอความเห็นใจจากพระแม่คงคา ซึ่งเป็นพี่น้องกัน (บุตรีแห่งท้าวหิมวัต) และยังใช้ร่างบังป้องกันศิวลึงค์จากสายน้ำด้วยความภักดี
จนพระศิวะพอพระทัย เห็นใจ และตอบแทนความรักและความภักดีด้วยการมาขอวิวาห์กับพระแม่ที่ใต้ต้นมะม่วงริมฝั่งแม่น้ำเวกาวธีนี้ โดยมีพระวิษณุมาเป็นสักขีพยาน แล้วพานางกลับขึ้นสู่เขาไกรลาสเหมือนเดิม
เราเดินเข้าไปสู่พื้นที่ชั้นที่สองของเทวาลัย .. มองเห็นผู้คนจำนวนหนึ่งบูชาโคนนทิ ซึ่งอยู่ใน พาหะนะมณฑป (Vahana Mandapa)
ภาพวาดรูปแบบเรขาคณิตรูปทรงสมมาตร ผสมผสานกับลวดลายที่อ่อนช้อย โดยใช้ผงแป้งหรือทรายสีต่างๆ .. มองเห็นหลายชิ้นงานมากบนพื้น ไม่ว่าเป็นหน้ามณฑป หน้าทางเข้าเทวาลัย หรือแม้แต่ในพื้นที่หน้าคาร บ้านเรือน หรือร้านค้า ..
สิ่งนี้เรียกกันว่า “รังโกลี” แต่ทางอินเดียใต้ จะเรียกภาพสีนี้ว่า “โกลัม” (Kolam) ซึ่งเป็นการขอพรจากพระแม่ลักษมี เทพนารีผู้อำนวยโชค อำนาจ ความมั่งคั่ง และบุญญาธิการ
.. คนอินเดียจะล้างพื้นบ้าน และวาดภาพแบบนี้ทุกเช้าเพื่อต้อนรับการมาเยือนของพระแม่ลักษมี เทวีที่จะนำโชคลาภและความสมบูรณ์มาสู่ครอบครัว
เทวาลัยอัมภเรศวร .. สร้างบนสถานที่พระนางปาราวตีได้เคยมาสร้างศิวะลึงค์จากก้อนดินอยู่ใต้ต้นมะม่วง และพระศิวะกับพระนางปาราวตีได้สยุมพรใต้ต้นมะม่วงนี้
ภาพสลักบนเสาหิน เล่าเรื่องตอนที่พระนางปาราวตีหยอกล้อ ปิดตาพระศิวะ
อีกภาพที่อยู่บนเสาหินฝั่งตรงข้าม .. ภาพพระศิวะกับพระนางปาราวตีได้สยุมพรใต้ต้นมะม่วง
เทวาลัยแห่งนี้ไม่อนุญาตให้ผู้ที่มิได้นับถือศาสนาฮินดูเข้าไปภายในเขตกำแพงชั้นใน .. แต่ในบางกรณี ก็อาจจะเข้าได้ค่ะ
ฉันลองเข้าไปใกล้ๆแถวที่ผู้คนทั้งชายหญิง .. ในชุดส่าหรีสีสด และผู้ชายในชุดฑรรมดา .. แล้วดูลู่ทางว่าแถวนั้นจะยาวมากเกินที่จะรอไหวหรือไม่ แต่ในขณะที่รอ ก็มีใครบางคนเข้ามาหา และพูดว่า ..
“.. Come near me. Whare are you from? ..
.. If you want to go inside, I can arrange for you for 500 Rupee..”
ชายชาวอินเดีนคนหนึ่งซึ่งอยู่ด้านข้างแถวเข้ามาชวนคุย และมีข้อเสนอพิเศษ
“I’ll think about it. OK?” ฉันตอบชายคนนั้นไป พร้อมกับหันหลังกลับ และเดินมาสมทบกับพรรคพวกที่กำลังเดินเข้ามาด้านใน
ทุกสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ว่าที่ไหน (และที่อินเดียก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น) .. นักท่องเที่ยวมักจะเจอกับเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เสมอ ขึ้นอยู่กับวิจาณญานว่าแต่ละคนจะตอบสนองต่อเรื่องแบบนี้อย่างไรค่ะ
.. ความเชื่อ ความศรัทธา .. ปรากฏอยู่ทุกแห่งที่เราผ่านไปในรายทาง
กลุ่มเทวาลัยแห่งนี้ ไม่มีเทวาลัยของพระนางปาราสตีแยกออกมา ด้วยเหตุที่เมืองกาญจีปุรัม มีเทวาลัยกามักษี ซึ่งเป็นเทวาลัยศักดิ์สิทธิ์และสำคัญของพระนางปาราวตีอยู่แล้ว
สิ่งที่ฉันประทับใจมากเมื่อเดินชมในพื้นที่เทวาลัย คือ เสาหินทั้งสองข้างที่เราเดินผ่าน .. เสาแต่ละต้นได้รับการสลักเสลาออกมาเป็นรูปแบบงานศิลปะที่เยี่ยมยอด
มีรูปสลักของสัตว์ในจินตนาการ ที่มีส่วนผสมของสิงโต ม้า หรืออาจะเป็นสัตว์อื่นๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับปกรณัมทางศาสนา หรือตำนานต่างๆที่คนในท้องถิ่นเชื่อถือและเล่าขานกันมานานนับพันปี
.. อันนี้รูปร่างเหมือนหงส์ (มองอีกที คล้ายเป็ด) มีรูปบุคคลนั่งอยู่บนหลัง .. เทพองค์ไหน?
.. ลวดลายหินสลักรูปเทพเจ้า ในปกรณัมต่างๆ นับร้อยๆภาพ เรียงรายเป็นส่วนหนึ่งของเสาหินที่ไร้ชีวิต สวยงามมาก เป็นพยานแห่งความเชื่อ ความศรัทธาของผู้คนที่เดินผ่านมาบนทางเดินแห่งนี้ตั้งแต่โบราณกาล ย้อนไปนับพันปี จนถึงปัจจุบัน
ความใหญ่โตของเทวาลัย และความอลังการของเสาหิน และ Sculpture Arts .. ข่มให้ผู้ที่เดินผ่านรู้สึกถึงความน้อยนิด ความเล็กของตัวตนของเราอย่างช่วยไม่ได้
ระหว่างการเดินชมงานศิลปะชนิดต่างๆในเทวาลัย เราสังเกตเห็นว่าโดยรอบด้านของผนังที่ติดกำแพง มีศิวลึงค์ตั้งอยู่บนแท่นยกชั้นมากมาย .. กล่าวกันว่ามีถึง 1008 องค์
โดยในบางช่วงจะมีรูปสลักของโคนนทิหมอบแสดงความภักดีต่อตัวแทนมหาเทพ ..
มีรูปสลักเทพเจ้า และซุ้มบูชาเทพเจ้าที่มีพราหมณ์ประจำอยู่ สามารถเข้าไปสักการะได้
ในช่วงของวงระเบียงคดด้านหลัง เป็นตำแหน่งของต้นมะม่วงศักดิ์สิทธิ์ในตำนาน แต่ไม่ใช่ต้นดั้งเดิม ..
ชิ้นส่วนไม้มะม่วงของต้นมะม่วงต้นเดิมที่มีอายุกว่า 3,500 ปี อยู่ที่บริเวณของโคปุรัมมณฑปชั้นใน
เราเห็นผู้คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิงสาว เดินขึ้นไปไหว้ขอพรกันไม่ขาดสาย .. พวกเธอไปทำอะไรกันนะ?
“.. สตรีที่ยังไม่มีคู่ หรือแต่งงานแล้วยังไม่มีลูก จะมาบูชาเพื่อขอพรให้ได้ดังที่พวกเธอปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นสามี บุตร หรือการคลอดที่ปลอดภัย” .. คำถามของเรา ได้รับคำอธิบายจากไกด์คนเก่ง
.. เห็นทีฉันจะต้องขอแว๊ปๆๆๆ ไปสวดขอพรบ้างแล้วล่ะค่ะ .. เพื่อสิ่งที่จะขอ อาจจะปลิวมาตามสายลม อิอิ
“.. มาทางนี้กันครับ มีบางสิ่งที่ unseen ให้ดูครับ” ไกด์ของเรากล่าวเชิญชวนให้พวกเราเข้ามาใกล้ ในขณะที่ชี้มือไปยังภาพสลักพระพุทธรูปบนกำแพงเทวาลัยด้านหนึ่ง
“.. นี่เป็นหลักฐานว่าในพื้นที่กว้างใหญ่ของ กาญจีปุรัม เคยมีพุทธศาสนาดำรงอยู๋ในสมัยโบราณ ที่คนไทยที่มาถึงเทวาลัยแห่งนี้ น้อยคนที่จะเคยเห็น” .. ไกด์ของเราบอก
พระพุทธรูป ในเทวาลัยฮินดู
กาญจีปุรัม เมืองหลวงแห่งอาณาจักรปัลลวะ เคยเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนามาก่อน โดยมีหลักฐานสำคัญเป็นที่ประจักษ์อยู่สองเรื่องคือ
- เป็นถิ่นกำเนิดของ "ตะโมภิกขุ หรือท่านโพธิธรรม หรือหลวงจีนตั้กม้อ" ซึ่งมีหลักฐานว่า ท่านเป็นเจ้าชายแห่งอาณาจักรปัลลวะ ที่มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองกาญจีปุรัมแห่งนี้ โดยเป็นพระราชบุตรแห่งพระเจ้าสิงหวรมัน ประสูติเมื่อปี พศ.๑๐๒๖ และได้จาริกเพื่อไปเผยแผ่พระพุทธศาสนานิกายสุญญตาหริอนิกายเซนยังประเทศจีน
- เมื่อครั้งหลวงจีนเสวียนจัง (พระถังซัมจั๋ง) ได้จาริกมายังดินแดนชมภูทวีป ในปี พศ.๑๑๘๙ ก็ได้เดินทางมายังแคว้น "ทราวิฑ" โดยในบันทึกของท่านกล่าวไว้ว่า
"แคว้นทราวิฑ มีเนื้อที่อาณาเขต ๖,๐๐๐ ลี้โดยประมาณ เมืองหลวงชื่อกาญจีปุระ มีเนื้อที่วัดโดยรอบได้กว่า ๓๐ลี้ ดินดีสมบูรณ์ชุ่มชื้น ธัญพืชเจริญงอกงาม อุดมด้วยไม้ดอกไม้ผลนานาพันธุ์ เป็นแหล่งผลิตอัญมณีมีค่ามากมาย อากาศค่อนข้างร้อน โดยประเพณีนิยมคนเก่งกล้าห้าวหาญ รักษาวาจาสัตย์ มีคุณธรรม นับถือผู้มีความรู้ ภาษาและตัวอักษรแตกต่างจากอินเดียกลางเล็กน้อย
ภายในอาณาจักรมีอารามกว่า ๑๐๐แห่ง พระภิกษุสงฆ์กว่าหมื่นรูป ล้วนศึกษาลัทธิสถวีร นอกจากนี้ยังมีเทวาลัยอีกกว่า ๘๐แห่ง พวกนิครนถ์มีจำนวนมหาศาล ในสมัยพระตถาคตเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น เคยจาริกมายังแคว้นนี้และประทานธรรมเทศนาให้ชาวโลกหลายครั้ง พระเจ้าอโศกมหาราชจึงให้สร้างสถูปไว้ทุกแห่ง
จากตัวเมืองบ่ายหน้าไปทางทิศใต้ออกไปไม่ไกลนัก มีอารามใหญ่แห่งหนึ่งเป็นที่ชุมนุมของคนที่กอรปไปด้วยสติปัญญาทั้งปวง ในอารามมีสถูปองค์หนึ่ง สูงกว่า ๑๐๐เฉียะ(ประมาณ ๑๐๐ฟุต) พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างไว้ ในกาลก่อนโน้น พระตถาคตเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดเทวดาและมนุษย์และทรมานพวกเดียรถีย์ให้พ่ายแพ้ไป ข้างสถูปมีร่องรอยประทับนั่งและจงกรมของพระพุทธเจ้า ๔พระองค์ในอดีต"
ในภาพจะเป็นกำแพงด้านหนึ่งของเทวาลัยเอกัมภเรศวร ปรากฎหินแกรนิตที่แกะสลักเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิประทับในซุ้มเรือนแก้วอยู่ ๗รูป สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการนำหินมาจากสถานที่อื่นเพื่อมาสร้างเป็นกำแพงเทวาลัย
โดยหินนี้อาจจะรื้อมาจากอารามหรือวัดตามบันทึกของหลวงจีนเสวียนจังก็เป็นได้...
Ref : ไกด์โอ พาเที่ยว
1 บันทึก
1
1
3
1
1
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย