Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Supawan’s Colorful World
•
ติดตาม
10 ก.พ. 2023 เวลา 01:10 • ท่องเที่ยว
ทมิฬนาดู (9) .. เทวาลัยไกรลาสนาถ .. เทวาลัยหินทรายที่วิจิตร แห่งกาญจีปุรัม
ทมิฬนาดูได้ชื่อว่า เป็น “ดินแดนสวรรค์” สำหรับผู้ที่มีความสนใจในงานศิลปะประเภท พิธีกรรม รูปปั้น สถาปัตยกรรม และงานแกะสลักหิน ด้วยเหตุที่ในเขตอินเดียใต้มีเทวาลัยอยู่มากมายถึงราวสามพันแห่ง ให้ได้เที่ยวชมและศึกษา .. หลายแห่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก อันเป็นเครื่องการันตีความงดงามวิจิตรที่จะปรากฏในสายตา
เทวาลัยไกรลาสนาถ (Kailashnatha Temple) .. เป็นโบราณสถานสำคัญและถือว่าเป็นผลงานชิ้นเอกจากยุคปัลลวะ สร้างในรัชสมัยของพระเจ้านรสิงหวรมันที่ 2 (Narasimhavarman II) เมื่อ คริสต์ศตวรรษที่ 8 หรือพุทธศตวรรษที่ 13 จัดเป็นเทวาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองกาญจีปุรัม (Kanchipuram) ที่มีการแกะสลักเป็นรูปพระศิวะ “คุรุทักษิณามูรติ – ผู้เป็นบรมครูเหนือคุรุในศาสตร์ทั้งหลาย” ผู้สดับรู้ทุกสรรพสิ่งในจักรวาล ในมูรติต่างๆ
ในเวลานั้น เป็นยุครุ่งเรืองของราชวงศ์ปัลลวะเข้าปกครองอินเดียใต้อย่างกว้างขวาง ทางเหนือขึ้นไปจรดดินแดนส่วนใหญ่ของแคว้นอานธระ(อมราวดี) ส่วนทางใต้นั้นก็สามารถเข้ามาไปมีอิทธิพลในดินแดนทางเหนือของแคว้นทมิฬ โดยมีศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่ที่นครกาญจีปุลัม (ปุระ) .. งานศิลปะ คติความเชื่อ วัฒนธรรม ระบบวรรณะ การสร้างปราสาทหิน ภาษาและอักษรจากราชวงศ์ปัลลวะในอินเดียใต้นี้ รวมถึงคติความเชื่อแบบฮินดู (Hinduism) ได้แผ่ขยายไปอย่างกว้างขวาง
เทวาลัยไกรลาสนาถ ตั้งอยู่ทางเหนือของแม่น้ำเวกาวาตรี (Vegavathy River) .. ชื่อของเทวลัยหมายถึงผู้เป็นใหญ่แห่งเขาไกลาส (ไกรลาส) ซึ่งหมายถึงพระศิวะผู้ประทับอยู่บนยอดเขาไกลาส เป็นเทวาลัยของไศวนิกาย ก่อสร้างด้วยหินทรายสีเหลือง
เทวาลัยแห่งนี้ เป็นต้นแบบขององค์ประกอบเทวาลัยอินเดียใต้ คือ มีเทวาลัยประธาน ถัดมาเป็นมณฑปโถง ล้อมรอบด้วยกำแพง มีอาคารผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงวิมาน อยู่ด้านหน้ากึ่งกลางแนวกำแพง
กำแพงล้อมรอบเทวาลัยประธานมีรูปแกะสลักคนขี่สิงห์เรียงรายตามระยะช่วงเสา เมื่อมองจากด้านในจะมีซุ้มเหมือนวิหารเล็กๆ (มี 58 หลัง) เรียงเข้าแถวติดชิดกันโดยมีผนังด้านหลังร่วมกันเป็นแนวกำแพง แต่ละหลังประดิษฐานภาพสลักพระศิวะปางต่างๆ
ด้านหน้าสุดเป็นอาคารพาหนะมณฑป ของโคนนทิ ที่หันหน้าเข้าหาเทวาลัย
เมื่อมองตรงไปยังอาคารหลักของเทวาลัย .. จะเห็นกำแพงรั้ว ด้านนอกกำแพงประดับรูปสลักนักรบขี่ “วยาล” (สิงห์มีเขา) ในท่วงท่าทะยานไปข้างหน้า ตามระยะช่วงเสา
มองสูงขึ้นไป จะเห็น มีอาคารประธานทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นปราสาททรงวิมานซ้อนขั้น (Pyramidal Vimana) ที่เรียกว่า “ฑราวิท-ศิขระ”
ซุ้มประตูทางเข้ามี 2 ประตู ..
ภายในมุขของกำแพงด้านหน้า มีอาคารมณฑปหลังเดี่ยวขวางอยู่
ลักษณะของเทวาลัยไกรลาสนาถ เมื่อแรกเห็น .. ให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับการเดินดูโบราณสถานในเมืองไทย ทั้งลวดลายตามผนัง หรือชั้นต่างๆของเทวาลัย โดยเฉพาะ คนแคระ ผู้เป็นบริวารของพระศิวะ ที่อยู่ในอาการรื่นเริง บรรเลงดนตรีให้ความสนุกสนาน .. เดาได้ไม่ยากว่าโบราณสถานในแถบบ้านเรา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเขมร อินโดนีเซีย มาเลเซีย มีต้นแบบและเรีบอิทธิพลของงานศิลป์มาจากไหน
กำแพงด้านใน .. ทำเป็นเรือนวิมานขนาดเล็ก เป็นห้องคูหาขนาดเล็กจำนวน 58 หลัง ล้อมรอบปราสาทประธาน .. ว่ากันว่าช่องคูหา ใช้สำหรับให้นักบวชเข้าไปนั่งบำเพ็ญตบะสมาธิ
โดยทำยอดเป็นอาคารซ้อนชั้นและยอดปราสาททรงโดมหลังคาแปดเหลี่ยม ประดับหน้าบันวงโค้งเกือกม้าที่เรียกว่า “กูฑุ – จัทรศาลา” (Gavaksha- Chandrashala) บนลาดหลังคา รองรับด้วยเสาที่มีรูป “วยาล”หรือ ยาฬิ นั่งประดับที่เชิง ในซุ้มจระนำ
ยาฬิ (ทมิฬ: யாளி, IAST: Yāḷi), หรือ วยาฬ เป็นสิ่งมีชีวิตในปรัมปราวิทยาฮินดู มีลักษณะหัวและตัวเป็นสิงโต งวงและงาอย่างช้าง และบางครั้งมีองค์ประกอบอย่างม้า
ยาฬิปรากฏในเทวาลัยแบบอินเดียใต้จำนวนมาก สลักเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเสา ยาฬิยังมีหลายรูปแบบ โดยมีส่วนอื่น ๆ ของตัวที่ได้มาจากสัตว์ร้านอื่น ๆ บางครั้งมีการบรรยายยาฬิไว้เป็นภาษาอังกฤษว่า เลอโอกริฟ (leogryph; ครึ่งสิงโต ครึ่งกริฟฟิน) ด้วยลักษณะบางส่วนอย่างนก และส่วนงวงนั้นเรียกว่าจะงอยปาก
การบรรยายและกล่าวถึงยาฬิปรากฏมาอย่างยาวนาน แต่เริ่มมาเป็นที่นิยมทั่วไปในเอกสารของอินเดียใต้ในศตวรรษที่ 16 เรื่อยมา มีการบรรยายไว้ว่ายาฬินี้มีอำนาจแข็งแกร่งกว่าสิงโต เสือ หรือช้าง ประติมานวิทยามีตัวงดงามอย่างแมว, ศีรษะเป็นสิงโต, งวงงาดั่งช้าง (คช) และหางอย่างงูใหญ่
Ref:Wikipedia
บางครั้งปรากฏแสดงยาฬิยืนปนมกร ซึ่งว่ากันว่าเป็นพาหนะของพระพุธ มักปรากฏภาพหรืองานแกะสลักรูปยาฬิตามผนังทางเข้าของเทวาลัย และเชื่อกันว่าคอยปกป้องเทวาลัยเหล่านั้น นอกจากนี้ยังมีรูปแบบที่ตัวเป็นอย่างสิงโต และมีหัวเป็นสัตว์อื่น เช่นหัวเป็นช้าง ที่เรียกว่า คชวยาฬ (gaja-vyala) หรือที่หัวเป็นสิงโต (สิงหวยาฬ; simha-vyala), ม้า (อัศววยาฬ; ashva-vyala), มนุษย์ (นีรวยาฬ; nir-vyala) และสุนัข (ศาวนวยาฬ; shvana-vyala)
สัญลักษณ์วิทยา
ว่ากันว่ายาฬิเป็นผู้พิทักษ์ ปกป้องมนุษย์ทั้งทางกายและทางจิตวิญญาณ เชื่อกันว่าเป็นสัตว์ดุร้ายที่ไม่เกรงกลัว และเป็นใหญ่ในบรรดาสัตว์ทั้งปวง นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่ายาฬิเป็นรูปแทนความกระเสือกกระสนของมนุษย์ต่อพลังพื้นฐานของธรรมชาติ
Ref : Wikipedia
ซอกผนังกำแพงสลักเป็นภาพของพระศิวะ พระนางปารวตี พระกรรติเกยะ – ขันธกุมาร (Kartikeya) ภาพโสมาสกัณฑะ (Somaskanda) หรือครอบครัวพระศิวะ .. หลาย ๆซุ้มในกำแพงรอบเทวสถานยังคงปรากฏร่องรอยของภาพเขียนสีโบราณสมัยปัลลาวะ อายุกว่าพันปี อาจะอนุมานได้ว่า ในสมัยโบราณในอดีตอาจจะเป็นภาพเขียนสีทั้งหมด
เทวาลัยประธาน .. มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มี่มุมทั้งสี่ และกลางด้าน ก่อเป็นคูหาเล็กๆ และทั้งภายในคูหาและและรอบๆกำแพง มีรูปปั้นเป็นภาพสลักในมูรติ หรือปางต่างๆของพระศิวะเป็นหลัก มองเห็นภาพสลักเทพเจ้าองค์อื่นๆอยู่บ้าง
ภาพในซุ้ม .. พระวิษณุ (ด้านขวาล่าง) และพระพรหม (ด้านซ้ายล่างของพระศิวะ ซึ่งเป็นรูปกลาง) แสดงวันทามุทรา แด่พระศิวะ ผู้ปรากฏพระองค์ออกมาจากศิวลึงค์
รูปปั้นเหล่านี้ ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาพดี มีความคมชัด มองเห็นรายละเอียด ทั้งรายละเอียดของเครื่องทรง หน้าตาที่แสดงออกถึงอารมณ์ต่างๆ .. ต้องชื่นชมฝีมือช่างโบราณที่สร้างสรรค์ชิ้นงานศาสนศิลป์เหล่านี้ขึ้นมาด้วยศรัทธาแรงกล้า เพื่อเป็นการศักการะมหาเทพ
ภาพปูนพระศิวะในปางทักษิณามูรติ .. โดดเด่นด้วยผมที่หยิกฟู ในลักษณะของนักพรต หรือฤาษีที่บำเพ็ญตบะ ท่าทางเท่ห์มาก จนต้องแอบกรี๊ดดดๆๆๆ หลายๆครั้งในใจ
ชฎาภาร .. คือชื่อของผมทรงนี้ค่ะ หมทรงนี้แสดงความเป็นนักบวช ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นรูปขมวดก้นหอย ซึ่งในอินเดียใต้ เจาะจงให้ผมทรงนี้ใช้กับพระศิวะในภาคโยคทักษิณามูรติเสมอ
มหาโยคีทักษิณามูรติ (Maha Yogi Dakshinamurthy) ถือเป็นภาคหรือปางที่ใหญ่ที่สุด อยู่ในภาคของโยคี (yogi) หรือ มหาฤๅษี เป็นอวตารหนึ่งของ พระศิวะ เพื่อมาเป็น บรมครู ผู้รู้ทุกสรรพสิ่ง ทุกอย่าง ทุกประเภท ของทุกความรู้ .. ทรงเสด็จอวตารลงมาเพื่อสั่งสอนให้ความรู้แก่ มหาคุรุ หรือ ครูผู้ที่มีความรู้เป็นเลิศ และชำนาญในแต่ล่ะด้าน ที่สามารถไปอบรมสั่งสอน ให้ความรู้แก่มวลมนุษย์คนอื่นต่อๆไป ให้ได้รับความรู้ที่ถูกต้อง ที่ดีที่สุด และเข้าใจในองค์ความรู้เหล่านั้นอย่างละเอียดลึกซึ้ง
พระองค์ทรงประทับนั่งอยู่ภายใต้ต้นไทร อันหมายถึงปัญญาที่แผ่นรากและกิ่งก้านสาขาไปทุกทาง หันหน้าไปทางทิศใต้ .. ทรงประทับนั่งอยู่บนพระบัลลังก์ และล้อมรอบด้วยปราชญ์ที่มีความรอบรู้ ชำนาญรอบด้าน ที่ได้รับการอบรมสั่งสอน ได้รับความรู้วิชาต่างๆจากการเรียนการสอนของพระองค์ทั้งสี่ทิศ
เสารูปวยาล .. โดดเด่นและสง่างามในสายมาก วยาล เป็นสัตว์ในจินตนาการ มีลักษณะคล้ายกับสิงห์หรือเสือมีเขา อยู่ในท่วงท่ายกขา 2 ข้างขึ้น ประดับอยู่ตามซุ้มรอบกำแพงด้านใน
ภาพในซุ้ม .. ศิวะนาฏราช แสดง คชหัสตมุทรา ซึ่งเป็นท่าเต้นรำอย่างรุนแรง สื่อด้วยการแกว่งพระกรจนตั้งชัน .. ศิลปอินเดียสมัยปาลวะ
ห้องครรภคฤหะประดิษฐานพระศิวลึงค์ (Shivalinga) 16 เหลี่ยม ที่สลักขึ้นจากหินแกรนิตสีดำ ซึ่งเป็นตัวแทนของมหาเทพ และว่ากันว่าศิวลึงค์ที่เทวาลัยแห่งนี้ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเทวาลัยทั่วเอเชีย .. จะเปิดให้เข้าไปนมัสการดาร์ซาน (Darshan - บูชาไฟหน้าพระศิวลึงค์) ที่ห้องอันตราละภายในมณฑป โดยมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธี (เราไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายในห้องครรภคฤหะ)
ผนังสลักเรื่องราว ลวดลายและมีจารึกไว้ทุกผนังของแต่ละช่องจระนำซุ้ม โดยสลักเป็นเรื่องราวของมูรติแห่งองค์พระศิวะเป็นหลัก
โดยทางทิศใต้สลักเป็นเรื่องราวของ “มหาโยคีทักษิณามูรติ” (MahaYogi-Dakshinamurti) ภาพ “อุมามเหศวร” (Umamaheshavara) “ลิงโคทภวมูรติ” (Lingodbhava murti) และ “ภิกษาฏนะมูรติ” (Bhikshatanamūrti)
ผนังทางทิศตะวันตกของ สลักเป็นเรื่อง “อูรฺธฺวตาณฑวะมูรติ” (Ūrdhvatāṇḍavamūrti ) และ “สัณธยา ตาณฑวะมูรติ” (Sandhya Tāṇḍavamūrti) หรือศิวนาฏราช “วีณาธรมูรติ” (Veenadhara Murti) โดยมีภาพสลักของเหล่าภูติคณะ (Bhuta-Ganas) สาวกของพระศิวะกำลังเล่นดนตรีและร่ายรำประกอบอยู่โดยรอบ
ผนังมุขเก็ขของมณฑปทางฝั่งทิศเหนือเป็นภาพสลักเรื่อง “ตรีปุรัมตกะ” (Tripurantaka) พระศิวะปราบตรีปุราสูร รูปของ”พระนางทุรคา” (Goddess Durga) แวดล้อมด้วยบริวาร พระแม่ไภรวี (Bhairavi) ศักติแห่งองค์ไภรวะ หรือพระนางกาลี (Kaushiki) และพระนางชเยษฐา (Jyestha) หรือพระนางอลักษมี เทวีแห่งความโชคร้ายครับ
ผนังมุมเก็จมณฑปทางทิศตะวันออก สลักเป็นเรื่อง ภิกษาฏนะมูรติ โสมาสกัณฑะ (ครอบครัวพระศิวะ) และ “สังหาระตาณฑวะ” (Samhara-Tandava) การร่ายรำเพื่อปราบอสูร
1 บันทึก
2
1
4
1
2
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย