10 ก.พ. 2023 เวลา 02:14 • ท่องเที่ยว

เขตรักษาพันธุ์ลาป่า และนาเกลือ @Little Rann of Kutch

25 ม.ค. 2566 เช้าตรู่อันหนาวเย็น อุณหภูมิราว 12 องศา C เรานัดกันที่ ล้อบบี้โรงแรม บัจจาน่า รอยัล  ซาฟารี แคมป์ เมืองสุเรนทรนคร/สุเรนทร นาการ์ (Bajana Royal Safari Camp, Surendranager) รัฐคุชราต กาจิหัวหน้าทัวร์จำเป็น บอกทุกคนเตรียมอุปกรณ์กันหนาวให้พร้อมเพราะเมื่อนั่งจี๊ปเปิดประทุนกอปรกับแรงลมในพื้นที่โล่งที่ Little Rann of Kutch (LRK) อากาศจะหนาวกว่านี้มาก
จี๊ปของอินเดียยี่ห้อ มหินทราสองคันมารอตามนัดหมาย นั่งรถไม่ถึง 15 นาที ก็ถึงทางเข้าเขตรักษาพันธุ์ลาป่า Wild Ass Sanctuary รอครู่ใหญ่น่าจะจัดการเรื่องตั๋ว จึงเคลื่อนรถเข้าพื้นที่ด้านใน
Rann of Kutch เป็นที่ลุ่มต่ำในทะเลทรายธาร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของคุชราตและบางส่วนของ จว. สินธุในปากีสถาน แต่ส่วนใหญ่อยู่ฝั่งอินเดีย บ้างเรียกที่นี่ว่าบึงน้ำเค็ม บึงเกลือ ทะเลทรายเกลือ พื้นที่แบ่งเป็น Great Rann of Kutch (ทะเลเกลือใหญ่) ติดปากีสถาน และ Little Rann of Kutch หรือ LRK (ทะเลเกลือเล็ก) ทั้งสองแห่งอยู่ห่างกันราว 130 กม. (นั่งรถ~ 4 ชม.) ภูมิประเทศหลากหลายทั้งทะเลทราย ทุ่งหญ้าแห้งแล้ง ไม้พุ่ม และป่าชายเลน มีสัตว์ป่าหลายชนิดแต่ส่วนใหญ่อยู่ใน LRK ซึ่งมีพื้นที่ราว 1 ใน 5 ของพื้นที่ทั้งหมด
แม่น้ำหลายสายจากราชสถานและคุชราตไหลลงในพื้นที่ ดังนั้นในฤดูมรสุม น้ำจากแม่น้ำบวกกับน้ำทะเลที่เอ่อท่วม กลายเป็นบึงน้ำเค็มขนาดใหญ่ เมื่อน้ำลดลงช่วงเดือน ต.ค. - มิ.ย. ชาวอะการิยะเริ่มอพยพเข้าพื้นที่ สูบน้ำเค็มจากใต้ดินให้ไหลตามร่องน้ำเข้านาเกลือ ครั้นถึง ก.พ. - มี.ค. ผลึกเกลือเริ่มได้ที่ แปลงนามีเกลือเต็มพื้นที่ ความที่ Great Rann เป็นนาแปลงใหญ่จึงกลายเป็นทุ่งเกลือสีขาวสะท้อนแสงวิบวับสุดลูกหูลูกตา เป็นที่มาของชื่อ ทะเลทรายขาว (White Desert) ส่วน Little Rann ทำนาเกลือแปลงเล็กเหมือนบ้านเรา
Little Rann เป็นถิ่นอาศัยแห่งสุดท้ายของลาป่าอินเดีย (khur) ที่นี่มีต้นไม้บางชนิดที่ออกฝักเป็นอาหารของลาป่าทั้งปี มีการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ลาป่าอินเดียเมื่อปี ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) ในเน็ตว่ามีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมประมาณ 50 ชนิด รวมทั้งนกนานาพันธุ์ มีนกอพยพตามฤดูกาลอีกหลายชนิด
ที่นี่เป็นจุดหมายการท่องเที่ยวที่น่าสนใจไม่ใช่แค่เพราะสภาพแวดล้อมหลากหลายที่เกิดตามธรรมชาติและมีสัตว์ป่านานาพันธุ์เท่านั้น แต่ทัศนคติของการจัดการเพื่อสร้างความยั่งยืนของธรรมชาติก็น่าสนใจ เช่นการเข้าใจข้อจำกัดเรื่องแหล่งน้ำและการแก้ไขที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม
ปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลคุชราตกำหนดบริเวณนี้เป็น พื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งคุตช์ (Kutch Bioshere Reserve) เพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน โดยเน้นการอนุรักษ์ความหลากหลายด้านชีววิทยาและมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่และการวิจัย พืชส่วนใหญ่เป็นพืชที่เติบโตได้ในสภาพที่มีน้ำจำกัด (xyrophytic plants) พบพันธุ์ไม้ดอกราว 253 ชนิดขึ้นบนพื้นที่ที่มีระดับสูง 74 จุด ประมาณว่ามีนกทำรังถึง 70,000 - 75,000 รัง
พขร ขับรถเพียงอึดใจก็ถึงริมบึงน้ำกร่อย แวะจอดให้ถ่ายรูปนก แล้วขับไปจอดชมนกจุดต่อไปเป็นระยะๆ คุณฟารุกและเพื่อนบางคนบอกชื่อนกให้รู้ Spoonbill (นกปากช้อน) Sand grouse (นกทราย) Ibis (นกช้อนหอย) และนกเล็กๆอีกหลายชนิด สัตว์ปีกที่เห็นและพอรู้จักคือ Saurus (กระเรียน) Stork (นกกระสา) นกอินทรี เป็ด Magpie robin (กางเขน) ฝูงนกฟลามิงโกจากรัสเซียโผบินขึ้นแปรขบวนบนท้องฟ้า เอียงปีกสะท้อนแสงไปมาก่อนร่อนลงเดินกรีดกรายในบึง เสียดายที่ถ่ายคลิปฟลามิงโกโบยบินบนฟ้าไม่ทัน!
ขับตามรอยล้อรถบนพื้นดินต่อไปอีกครู่เดียว เริ่มเห็นลาป่าถี่ขึ้น นิลกายรีบวิ่งเหยาะๆหนีเข้าพุ่มไม้ (Nilgai กึ่งม้ากึ่งวัว ตัวผู้สีเทาดำ ตัวเมียสีน้ำตาลแดง) หมาจิ้งจอกอยู่ไกลๆ วิ่งหนีพลางเหลียวมามองรถที่พยายามขับให้ทันเพื่อเก็บภาพก่อนจะวิ่งลับตาหายไป
นิลกาย (Nilgai) เครดิตภาพ: ดร. สายฤดี
ลาป่า เครดิตภาพ: ดร.สายฤดี
เมื่อรถแล่นเข้าใกล้บึงเกลือ พบเนินดินขนาดย่อมสูงราว 3 ม. กระจายตัวไปทั่ว นกอินทรีเกาะบนยอดเนินเตี้ยๆ พขร ว่านกมาทำรังบนนั้น ในฤดูมรสุมเนินดินนี้กลายสภาพเป็นเกาะน้อยๆ เป็นที่พักพิงของสัตว์บางชนิด
และแล้วรถสองคันของเราก็แล่นเข้าป้ายสุดท้าย พบชาวอะการิยะ (Agariya) หรือชาวนาเกลือ 1 คนยิ้มกว้างต้อนรับผู้มาเยือน เป็นชายร่างเล็ก จมูกโด่ง ผิวดำเพราะกรำแดดกล้านานหลายเดือน หลังจากคุณฟารุกเข้าไปคุยด้วยสักครู่ ชาวอะการิยะเดินลงไปคราดพื้นนาเกลือที่มีน้ำท่วมขังสามสี่รอบ ก่อนโกยผลึกเกลือที่ยังไม่ได้ที่ เต็มสองฝ่ามือขึ้นมาให้ดู เราถ่ายรูปรัวราวกับไม่เคยเห็นผลึกเกลือมาก่อน จากนั้นนั่งรถต่อไปยังที่พักชั่วคราวของชาวนาเกลือคนนี้ เจ้าบ้านเดินตามมาอย่างรวดเร็ว กระวี กระวาดเข้าครัวก่อไฟต้มน้ำ
หลายคนไปหาความสุขส่วนตัว บ้างถ่ายภาพกระต๊อบ 1 นอน 1 ครัว และอุปกรณ์การทำนาเกลือ ชั่วอึดใจเจ้าบ้านรินชาร้อนๆใส่จอกน้อย วางบนถาดสเตนเลสเดินแจก ดื่มชารสอร่อยแกล้มของว่างที่กาจิพกมาแจกเพื่อรองท้อง
บันทึกภารกิจล่าสัตว์ด้วยกล้องและการแวะชมนาเกลือที่ Little Rann of Kutch วันนี้เป็นประสบการณ์เปิดโลกแบบสบายๆและน่าจะจบลงแค่นี้ แต่เพราะกลับมาค้นข้อมูลเพิ่มเติมว่าอะการิยะคือใคร จึงพลอยได้รับรู้วิถีชีวิตที่ยากลำบากและปัญหาบางส่วนของชาวนาเกลือใน amazing tourist attraction แห่งนี้
อะการิยะ เป็นชุมชนหรือวรรณะย่อยหรือกลุ่มอาชีพชาวนาเกลือในคุชราต ตลอดฤดูทำนาเกลือ คนจากชุมชนวัยทำงาน (บ้างว่าบางครั้งรวมเด็ก 10 ขวบด้วย!) จะย้ายมาพักที่กระต๊อบใกล้นาเกลือราว 8 เดือน เมื่อย่างเข้าฤดูมรสุมจึงอพยพกลับหมู่บ้าน เจ้าบ้านรายนี้อพยพมาทำนาเกลือพร้อมลูกชาย
การทำนาเกลือเริ่มด้วยการอัดพื้นของแปลงนาเกลือให้แน่นแข็งเพื่อไม่ให้น้ำซึมกลับลงดิน ก่อนจะใช้ปั๊มสูบน้ำเค็มใต้ดินเข้านา เมื่อเกลือชั้นแรกสุดตกผลึก ต้องคราดจนชั้นของผลึกเกลือหนา 7”- 9” จึงเก็บผลผลิตล็อตแรกราว ก.พ. หรือ มี.ค. ส่งให้พ่อค้าคนกลางได้ ปกติเกลือผลึกเล็กได้ราคาดีกว่า ทุกๆ 15 วัน จะผลิตเกลือได้ราวๆ 12-15 ตัน (ไม่รู้ขนาดแปลงนา) นาหนึ่งแปลงผลิตเกลือได้ราว 400 ตันต่อฤดูกาล (ราว 60,000 รูปี/ฤดูกาล)
ข้อมูลจาก International Finance Corporation ว่าชาวนาเกลือขายเกลือได้ราคา 150 รูปี/ตัน ขณะที่ราคาขายปลีกของเกลือที่ใช้ในครัวเรือนสูงถึง 17,000 รูปี/ตัน (ทำไมจะต่างกันปานนั้น! เราลืมถามราคาเกลือในตลาดที่ไปเดิน) ร้อยละ 60 ของรายได้ทั้งปีหมดไปกับน้ำมันดีเซลและอะไหล่ของเครื่องปั๊มน้ำ
ชาวอะการิยะน่าจะมีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ยากลำบากเป็นเวลาช้านาน ข้อมูลบางแห่งว่า ก่อนคริสตวรรษที่ 19 เคยเป็นช่างหลอมเหล็ก แต่อาชีพนี้ล่มสลายลงหลังจากอังกฤษนำเข้าเหล็กมายังอาณานิคมอินเดีย เราไม่เจอข้อมูลระบุว่าเหตุใดหรือเมื่อไรที่อะการิยะผันตัวมายึดอาชีพทำนาเกลือ
ช่วงอาณานิคม ภาษีที่ได้จากนาเกลือและการค้าเกลือเป็นรายได้สำคัญที่ใช้ในกิจการทหารของอาณานิคม การขูดรีดภาษีเกลือและการผูกขาดการทำนาเกลือของเจ้าอาณานิคมเป็นชนวนสำคัญของการต่อสู้ด้วยวิธีอหิงสาที่นำไปสู่การประกาศเอกราชของอินเดียในที่สุด
Dandi March 12 มี.ค. 2473 การเดินรณรงค์ต่อต้านการขึ้นภาษีเกลือและการผูกขาดการทำนาเกลือของเจ้าอาณานิคมอังกฤษตามแนวทางการต่อสู้แบบอหิงสา (อินเดียประกาศเอกราช 15 ส.ค. 2490)
เจ้าอาณานิคมอังกฤษตรา พ.ร.บ.ชาติพันธุ์อาชญากร ค.ศ. 1871 (พ.ศ. 2414 ตรงกับสมัย ร. 5) ระบุรายชื่อชาติพันธุ์จำนวนมากในอินเดียใน พ.ร.บ.นี้ ทารกเกิดใหม่ทุกคนของชาติพันธุ์เหล่านี้ถือว่าเป็นอาชญากรด้วย ชาวอะการิยะถูกจัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์อาชญากร เพราะมีพฤติกรรมกบถแข็งข้อต่ออังกฤษ กฎหมายฉบับนี้มีที่มาและพัฒนาการน่าสนใจ มีการจัดวรรณะย่อยตามอาชีพต่างๆโดยละเอียด ห้ามการเคลื่อนย้ายถิ่น และเป็นเครื่องมือของกำปั้นเหล็กในการควบคุมประชากรอย่างเข้มงวด หาอ่านเพิ่มได้ในเน็ตโดยพิมพ์คำว่า Criminal Tribes Act 1871
เดิมอะการิยะเคยเป็นเจ้าของที่นาเกลือ แต่เมื่อรัฐบาลคุชราตจัดตั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์ลาป่าขึ้นใน Little Rann ที่ดินทั้งหมดในบริเวณนี้ถูกเวนคืน เราไม่มีข้อมูลว่าตอนนี้รัฐบาลคุชราตจัดการเรื่องที่ทำกินอย่างไร ให้เช่าที่หรือให้สิทธิเข้าทำกิน?!?
นอกจากปัญหาสุขภาพเนื่องจากต้องตรากตรำงานในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากต่อเนื่อง 8 เดือนท่ามกลางสภาพอากาศสุดขั้วที่อาจร้อนถึง 40-50 องศา C และอาจหนาวถึง 0 องศา C ยังมีปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รัฐบาลไม่รับประกันราคาขั้นต่ำของผลผลิตเหมือนสินค้าภาคเกษตรอื่นๆ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอะการิยะต่ำกว่าเกณฑ์เส้นความยากจน
การทำนาเกลือเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่นี้ อินเดียเป็นประเทศที่ผลิตเกลือมากเป็นอันดับสามของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งออกราว 10 ล้านตันต่อปี (ประมาณ 1 ใน 3 ของผลผลิตเกลือทั้งประเทศ) ผลผลิตเกลือจากที่นี่มีปริมาณร้อยละ 75 ของผลผลิตเกลือทั้งประเทศ (ข้อมูลบางที่ว่าร้อยละ 30 ?!?)
ปี พ.ศ. 2562 มีสงครามการค้าการแข่งขันราคาระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนทำให้ราคาเกลือตกต่ำลง กอปรกับฤดูมรสุมที่ยาวนานกว่าปกติทำให้ผลผลิตน้อย กลายเป็นปัญหาหนักหน่วง ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อชาวนาเกลือไทยด้วย ในปี พ.ศ. 2563 เกลือสมุทรจากอินเดียทะลักเข้าไทยในราคาเพียง ก.ก.ละ 1 บาท ขณะที่ราคาในประเทศ ก.ก.ละ 4-6 บาท ราคาของเกลือล็อตใหญ่ที่เคยขายได้ตันละ 3,000 บาท ลดลงเหลือเพียงตันละ 500 - 600 บาท วลี ”เด็ดดอกไม้สะเทือนดวงดาว” นี้เป็นจริงแน่แท้
บางองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่หวังผลกำไรริเริ่มโครงการหลายอย่างเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวอะการิยะ สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำทดแทนเงินกู้นอกระบบ สนับสนุนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สำหรับเครื่องปั๊มน้ำแบบไฮบริดที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในเวลากลางวันและใช้น้ำมันดีเซลตอนกลางคืน บ้างว่าลดต้นทุนการผลิตลงหนึ่งในสาม บ้างว่าลดลงครึ่งหนึ่ง! ทั้งยังประสานช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อรักษาระดับราคา รวมถึงโครงการปรับปรุงคุณภาพชีวิต คุณฟารุกว่า รัฐบาลมีงบสนับสนุนเรื่องแผงโซลาร์เซลล์และโครงการสนับสนุนด้านอื่นด้วยเช่นกัน
นอกจากการเที่ยวชมลาป่า สัตว์ป่าและนกนานาชนิด รวมทั้งสัมผัส(แบบผิวๆ)ชีวิตชาวอะการิยะในฤดูการทำนาเกลือแล้ว ยังมีแหล่งโบราณสถานอารยธรรมฮารัปปาที่บูรณะแล้วในพื้นที่ Great Rann of Kutch ด้วย เราหวังใจว่าจะมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมสักครั้งเช่นกัน
โฆษณา