10 ก.พ. 2023 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์

ก็อย่ามาจิ๊จ๊ะให้มันมากไป… วิจัยเผย เพลงโปรดของเรา บอกได้ว่าเราเป็นคนรักแบบไหน

You can tell a lot about a person by what's on their playlist
ประโยคสุดคลาสสิกตลอดกาลจากภาพยนตร์เรื่อง Begin Again ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากที่สุดประโยคหนึ่งตลอดกาลในหมู่วัยรุ่น ที่บอกว่าเรารสนิยมการฟังเพลงนั้นสามารถบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของคนคนนั้นได้
หากว่าด้วยเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเสียงดนตรีกับมนุษย์นั้น มนุษย์ได้ใช้เพลงและท่วงทำนองต่างๆ เพื่อปลอบประโลมจิตใจและบรรเทาความเจ็บปวดมานับพันปี ผู้คนทั่วโลกล้วนเคยขับร้องและรับฟังเพลงกล่อมเด็กและแต่งบทเพลงต่างๆ มากมายเพื่อนำมาฉลองในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น วันเกิด วันรับปริญญา และงานแต่งงานด้วยเพลง
เรียกได้ว่ามนุษย์นั้นพึ่งพาเสียงดนตรีในหลากหลายแง่มุมของชีวิตอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเพื่อช่วยให้เรามีแรงในการออกกำลังกาย ช่วยให้เราเพลิดเพลินในการทำงาน ช่วยให้เรารู้สึกฮึกเหิมในการแข่งขัน ไปจนถึงช่วยเยียวยาจิตใจในวันที่ความรักไม่สมหวัง จึงทำให้ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าดนตรีที่เราเลือกรับฟังในแต่ละวันนั้น มีความเกี่ยวเนื่องอะไรบางอย่างภายในจิตใจของเรา
โดยเฉพาะในเรื่องความรัก เมื่อเราได้มีโอกาสพบเจอหรือพูดคุยกับคนที่เรากำลังสนใจ หนึ่งในคำถามแรกๆ ที่ถูกใช้ในการละลายพฤติกรรมระหว่างคนสองคนก็คือเรื่องของรสนิยมการฟังเพลง
เธอชอบฟังเพลงแบบไหน? ชอบศิลปินคนใด? เราล้วนใช้รสนิยมการดนตรีเพื่อวาดภาพขึ้นมาแบบคร่าวๆ เพื่อทำความเข้าใจว่าคนคนนั้นมีลักษณะนิสัยอย่างไร แต่รู้หรือไม่ว่าที่แท้จริงแล้วเสียงรสนิยมการฟังเพลงของใครสักคนนั้นอาจบ่งบอกได้มากถึงขนาดที่ว่า เขาจะเป็นคนรักแบบไหนกันแน่ได้อีกด้วย
เนื้อเพลง ท่วงทำนอง และความสัมพันธ์
แน่นอนว่าคนมีแฟนไม่ได้แปลว่าต้องฟังแต่เพลงอินเลิฟ หรือคนโสดก็ไม่ได้อยากจะฟังเพลงเศร้าเสมอไป ซึ่งแน่นอนว่าคนเรานั้นชอบฟังเพลงตามความรสนิยมส่วนตัวและอารมณ์ ณ เวลานั้น แล้วเพลงที่เราหรือรสนิยมดนตรีของเรานั้นฟังมันจะส่งผลต่อการเป็นคนรักของเราได้อย่างไรกันแน่?
จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Journal of the International Association for Relationship Research นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโทรอนโตพบว่าเนื้อเพลงของเพลงโปรดของคนเรานั้น มักจะมีความสอดคล้องกับรูปแบบความผูกพัน (Attachment Style) ของพวกเขา
โดย Ravin Alaei หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยดังกล่าวได้อธิบายและขยายความเพิ่มเอาไว้ว่า เพลงโปรดของผู้คนนั้นไม่เพียงแต่ทำหน้าเป็นเหมือนกับกระจกสะท้อนอารมณ์และความรู้สึกของผู้ฟังในช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิตเท่านั้น แต่ยังเผยให้เห็นถึงรูปแบบที่มีอยู่ในความสัมพันธ์ต่างๆ ของพวกเขาอีกด้วย
Attachment Style หรือ “รูปแบบความผูกพัน” ณ ทีนี้ มีต้นกำเนิดมาจาก “ทฤษฎีความผูกพัน (Attachment Theory)” ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เชื่อว่าการเลี้ยงดูที่เราเคยได้รับในวัยเด็กนั้น เป็นตัวกำหนดการแสดงออกและการตอบสนองต่อความสัมพันธ์ในตอนโตนั่นเอง โดยรูปแบบความผูกพันของคนเรานั้นสามารถถูกแบ่งออกมาเป็น 4 ประเภทด้วยกันก็คือ
[ ] รูปแบบความสัมพันธ์แบบมั่นคง (Secure Attachment)
[ ] รูปแบบความสัมพันธ์แบบวิตกกังวล (Anxious Attachment)
[ ] รูปแบบความสัมพันธ์แบบหมางเมิน (Dismissive-avoidant Attachment)
[ ] รูปแบบความสัมพันธ์แบบหวาดกลัว (Anxious-avoidant Attachment)
แล้วเพลงอะไรบ้าง ที่บอกว่าเราเป็นคนรักแบบใด?
โดยการศึกษานี้ กลุ่มนักวิจัยได้ทำการออกแบบสอบถามให้กับผู้คนทั่วไปประมาณ 570 คนว่าเพลงโปรดของพวกเขาคือเพลงอะไร จากนั้นจึงวิเคราะห์เนื้อเพลงของเพลงเหล่านั้นเพื่อค้นหาว่าพวกเขาแสดงออกถึงความผูกพัน (Attachment Style) แบบใด รวมถึงถามคำถามผู้เข้าร่วมเกี่ยวกับประสบการณ์ความสัมพันธ์ของพวกเขา และหลังจากวิเคราะห์เพลงกว่า 7,000 เพลง นักวิจัยพบว่าผู้คนมักจะชอบเพลงที่มีเนื้อเพลงที่สอดคล้องกับ Attachment Style ของพวกเขา ซึ่งแบ่งออกมาได้ดังนี้
1. รูปแบบความสัมพันธ์แบบมั่นคง (Secure Attachment)
คนที่มีลักษณะแบบนี้จะเชื่อใจคู่รักของพวกเขา สื่อสารอย่างเปิดเผย และโดยทั่วไปสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้อย่างยั่งยืน โดยคนเหล่านี้มักจะชอบเพลงที่มีแนวใกล้เคียงกับ “I Got You Babe” โดย Sonny & Cher, “At Last” โดย Etta James และ “I Love You” โดย Plain White T's
2. รูปแบบความสัมพันธ์แบบวิตกกังวล (Anxious Attachment)
คนที่มีลักษณะแบบนี้มักจะมีความกลัวที่จะถูกปฏิเสธหรือถูกทอดทิ้ง มีแนวโน้มอิจฉาและต้องการอะไรสักอย่างเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจของตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยคนเหล่านี้มักจะชอบเพลงที่มีแนวใกล้เคียงกับ “Wrecking Ball” โดย Miley Cyrus, “Hotline Bling” โดย Drake และ “Every Breath You Take” โดย The Police
3. รูปแบบความสัมพันธ์แบบหมางเมิน (Dismissive-avoidant Attachment)
คนที่มีลักษณะแบบนี้อาจกลัวความใกล้ชิดและให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระ ดังนั้นจึงมีความยากในการไว้วางใจและสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยคนเหล่านี้มักจะชอบเพลงที่มีแนวใกล้เคียงกับ “No Scrubs” โดย TLC, “Take A Bow” โดย Rihanna และ “The Hills” โดย The Weeknd
4
4. รูปแบบความสัมพันธ์แบบหวาดกลัว (Anxious-avoidant Attachment)
คนที่มีลักษณะแบบนี้ มักจะมีพฤติกรรมที่คาดเดาไม่ได้และมีความสับสนในตัวเอง โดยคนเหล่านี้มักจะชอบเพลงที่มีแนวใกล้เคียงกับ “I’m Not The Only One” โดย Sam Smith, “I Can't Make You Love Me” โดย Bonnie Raitt และ “Rolling in the Deep” โดย Adele
ยิ่งไปกว่านั้น ในการศึกษานี้ กลุ่มนักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์เนื้อเพลงของเพลงฮิตบน Billboard กว่า 800 เพลงตั้งแต่ปี 1946 ถึง 2015 และพบว่าเนื้อเพลงจากเพลงฮิตหลายเพลงเริ่มสื่อถึงความห่างเหินที่มากขึ้นและความรู้สึกปลอดภัยในความสัมพันธ์ที่น้อยลง ซึ่งสิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าเนื้อเพลงเหล่านี้ สะท้อนสภาพความเป็นอยู่ทางสังคมของการเพิกเฉยต่อสิ่งรอบตัวที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากว่าผู้คนให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระมากกว่าการพึ่งพาผู้อื่น แต่กระนั้นเองมันก็ทำให้พวกเรารู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การที่เราชอบเพลงอะไรสักเพลงก็ไม่ได้แปลว่าเพลงนั้นจะเป็นสิ่งที่คอยกำหนดตัวตนของเราตลอดไป ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถที่จะเห็นภาพตัวตนของผู้อื่นจากรสนิยมทางดนตรีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นอย่างแน่นอน
1
อย่าลืมว่าพวกเรายังคงเป็นมนุษย์ที่มีความหลากหลายทางอารมณ์ที่ผสมปนเปกันไปและดนตรีเองก็เป็นหนึ่งศิลปะที่เราทุกคนล้วนใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยบรรเทาจิตใจ เป็นเหมือนเพื่อนรู้ใจว่าจะใช้คำพูดแบบใดในการทำให้เรารู้สึกดีขึ้น เพราะฉะนั้นสวมหูฟังของตัวเองขึ้นมาแล้ว เปิดเพลงโปรดของเรา หลับตาลง แล้วปล่อยใจให้ล่องลอยไปกับท่วงทำนองของตัวเองเถอะ
ที่มา
What Your Music Taste Says About Your Attachment Style : Romano Santos, Vice - https://bit.ly/3Vpaskc
Why — and How — Music Moves Us : Jennifer L.W. Fink, Pfizer - https://bit.ly/3vjD8Rk
The scientific mystery of why humans love music : Brian Resnick, Vox - https://bit.ly/3GfnfkZ
Your Favorite Songs Reveal Your Attachment Style : Neurosciencenews - https://bit.ly/3I25NSv
#psychology
#music
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา