13 ก.พ. 2023 เวลา 03:30 • ธุรกิจ

“ดันโด” หลักลงทุนหาธุรกิจความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนสูง

ระหว่างปี 2000 ถึงปี 2018 ถ้าเรานำเงินไปลงทุนในดัชนีหุ้น S&P 500 ของสหรัฐอเมริกา เราจะได้รับผลตอบแทนรวม 159%
แต่มีนักลงทุนอยู่คนหนึ่ง ที่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง
สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากถึง 1,204% เอาชนะดัชนี S&P 500 ได้อย่างขาดลอย
เขาคนนั้นคือคุณ Mohnish Pabrai นักลงทุนผู้ถอดแบบสไตล์การลงทุน และการบริหารกองทุนมาจาก
คุณ Warren Buffett และคุณ Charlie Munger
แล้ววิธีการลงทุนของคุณ Mohnish Pabrai เป็นอย่างไร ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
หลักการลงทุนที่คุณ Mohnish ใช้นั้น ถูกเขียนเป็นหนังสือชื่อ “The Dhandho Investor: The Low-Risk Value Method to High Returns”
1
โดยคำว่า Dhandho อ่านว่า ดันโด หมายถึง การพยายามสร้างความมั่งคั่งให้มากที่สุด โดยให้มีความเสี่ยงต่ำที่สุด
1. ลงทุนในบริษัท ที่ดำเนินงานอยู่แล้ว
ถ้าเราสร้างธุรกิจของเราเอง เราก็อาจจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล จนอาจจะต้องไปกู้เงินจากธนาคาร ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ย
แต่ถ้าเรานำเงินที่มีอยู่ ไปลงทุนในหุ้น ของธุรกิจที่มีการดำเนินงานโดยมืออาชีพ ที่น่าไว้ใจและมีประสบการณ์
เราก็ไม่จำเป็นต้องเสียแรง ทำธุรกิจด้วยตัวเอง
อีกทั้งการเป็นหุ้นส่วน ในธุรกิจที่อยู่ในตลาดหุ้น ที่มีผู้ถือหุ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ก็ทำให้เราไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงเพียงตัวคนเดียวด้วย
2. ลงทุนในธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรม ที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อย
หากเรานำเงินไปลงทุนในธุรกิจที่ง่ายต่อการวิเคราะห์ และอยู่ในอุตสาหกรรม ที่ในระยะยาวแล้ว แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย
ก็เรียกได้ว่า ธุรกิจนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการผูกขาดภายในอยู่มาก ทำให้โอกาสที่บริษัทหน้าใหม่ ๆ จะเข้ามาแข่งขันด้วย เป็นไปได้ยาก
บริษัทประเภทนี้ ก็จะสามารถทำกำไรและสร้างกระแสเงินสด จากการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
3. ลงทุนในธุรกิจที่ กำลังเผชิญกับปัญหาชั่วคราว
หลายครั้ง การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดคือ ลงทุนในหุ้น ที่ขณะนั้นกำลังเผชิญกับข่าวร้าย
เพราะเมื่อมีข่าวร้ายเกิดขึ้น ตลาดหุ้นจะเกิดความตื่นตระหนก และนักลงทุนมักจะเทขายหุ้น ที่มีข่าวร้ายเกิดขึ้นนั้นออกมาในปริมาณมาก
จนทำให้ราคาของหุ้นตัวนั้น ตกลงมาจนอยู่ในระดับ ที่ถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริง
แต่เราก็จำเป็นต้องวิเคราะห์ก่อนด้วยว่า ธุรกิจของหุ้นตัวนั้น แท้จริงแล้ว ไม่ได้แย่ตามที่ตลาดตื่นตระหนกกัน
ถ้าเราเข้าซื้อหุ้นของบริษัทดังกล่าว แล้วเมื่อข่าวร้ายได้ผ่านพ้นไป ราคาหุ้นก็จะดีดตัวกลับขึ้นมาสู่มูลค่าที่แท้จริงอีกครั้ง
วิธีนี้ก็เป็นอีกหนึ่งในวิธีที่อาจจะสร้างผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำให้เราได้
4. ลงทุนในธุรกิจ ที่มีความได้เปรียบเชิงการแข่งขันอย่างยั่งยืน
เราควรลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มี Economic Moat หรือ คูเมืองทางเศรษฐกิจสูง
เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทหน้าใหม่ สามารถเข้ามาแข่งขันกับบริษัทที่ทำธุรกิจมาก่อนได้ง่าย
บริษัทที่มี Economic Moat สูง มักจะมีความสามารถในการทำอัตรากำไรขั้นต้นได้สูง เพราะเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการประหยัดต่อขนาด หรือ Economies of Scale
อีกทั้ง ธุรกิจที่มีความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน ก็มักจะมีความสามารถในการกำหนดราคาเองได้ด้วย
5. ลงทุนไม่บ่อย แต่ลงทุนเป็นเงินก้อนใหญ่ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
เราควรลงทุนในสิ่งที่เราเข้าใจ และลงทุนเมื่อโอกาสที่ดี มาถึง โดยเราไม่ควรลงทุนซื้อขายบ่อยจนเกินไป
ถ้าในเวลาที่หุ้นของบริษัท ยังมีราคาแพงเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริงไปมาก เราก็ยังไม่ควรนำเงินไปซื้อหุ้นตัวนั้น
1
ดังนั้น เราควรรอ จนกว่าราคาหุ้นจะตกลงมาอยู่ในจุดที่น่าซื้อ แล้วจึงเข้าซื้อหุ้นตัวนั้น ให้มากที่สุด
6. มองหาโอกาสทำ Arbitrage
Arbitrage คือ การทำกำไรจากส่วนต่าง ที่เราพบเจอได้ในการลงทุนในสิ่งของแบบเดียวกันหรือคล้ายกัน
แต่การ Arbitrage แบบ Dhandho นั้น คือการลงทุนในธุรกิจของบริษัทที่มีความแตกต่างไปจากเจ้าอื่น ๆ และเป็นธุรกิจที่เจ้าอื่นยังไม่สามารถเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไปได้ในระยะเวลาอันสั้น
ดังนั้น เราควรมองหาบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรม ที่มีผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ เข้ามาแข่งขันด้วยยาก หรือต้องใช้เวลานาน ถึงจะสามารถเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากบริษัทที่อยู่มาก่อนได้
7. มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยเสมอ
หลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า คือการวิเคราะห์หามูลค่าที่แท้จริงของกิจการนั้น และประเมินหาจังหวะเข้าลงทุนเพื่อทำกำไร
แต่การที่จะมีใครสามารถคาดการณ์ความเป็นไปได้ของธุรกิจ ได้อย่างแม่นยำนั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก
ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องมี ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยเสมอ เพื่อให้เราไม่ซื้อหุ้นมาในราคาแพงเกินไป
โดยส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย จะเป็นกรอบที่จะช่วยให้เราตัดสินใจซื้อหุ้น ในราคาที่สมเหตุสมผล
ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย ยังครอบคลุมไปถึง การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ด้วยการถือหุ้นของบริษัท ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน อย่างเหมาะสมด้วย
8. ลงทุนในธุรกิจที่แข็งแกร่ง
ความผันผวนทางเศรษฐกิจ มักจะส่งผลต่อการดำเนินกิจการของหลายบริษัท จนทำให้ราคาหุ้นตกลงมา เพราะนักลงทุนเลือกที่จะเทขายหุ้นตัวนั้น
แต่ความจริงแล้ว หากวิเคราะห์กิจการในเชิงลึกแล้ว บริษัทนั้นอาจจะมีความแข็งแกร่ง และสามารถทำธุรกิจ ทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจที่ติดขัด ไปได้อีกหลายปี
โดยบริษัทอาจมีทรัพย์สินและเงินสดอยู่มาก ทำให้มีความเสี่ยงที่บริษัทจะล้มละลายต่ำมาก
นอกจากนี้ ธุรกิจที่แข็งแกร่ง ยังครอบคลุมไปถึง การมีแบรนด์ของสินค้าและบริการที่แข็งแกร่ง เป็นแบรนด์สินค้าที่ใคร ๆ ต่างก็ต้องนึกถึง ทำให้มีลูกค้าที่มีความซื่อสัตย์ต่อแบรนด์ของสินค้าสูง
ถ้าเรานำเงินไปลงทุนในบริษัทเหล่านี้ เมื่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัว ผลประกอบการของบริษัทก็จะกลับมาดีอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ เราได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงด้วย
9. ลงทุนในบริษัทที่ต่อยอดไอเดีย ที่มีอยู่แล้ว
เราควรลงทุนในบริษัท ที่นำไอเดียดี ๆ จากบริษัทอื่น ๆ มาต่อยอด เพราะบริษัทเหล่านี้จะสามารถประหยัดเงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาไปได้เยอะ
ที่ผ่านมา บริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่าง Microsoft และ Apple เอง ก็ได้มีการนำเทคโนโลยีที่คนอื่นเคยพัฒนามาแล้ว มาต่อยอดและสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
- Microsoft Office ของ Microsoft
- Siri ของ Apple
ซึ่งหลักการ Dhandho ข้อสุดท้ายนี้ ไม่ได้จำกัด อยู่แค่การวิเคราะห์กิจการของบริษัทเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง การหาต้นแบบวิธีการลงทุนของเราได้อีกด้วย
อย่างคุณ Mohnish Pabrai เอง ก็ยอมรับว่า หลักการลงทุนของเขานั้น ถอดแบบมาจากคุณ Warren Buffett และคุณ Charlie Munger
ดังนั้น ก็ไม่มีความจำเป็น ที่เขาจะต้องไปคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่เอง เพราะเขาสามารถถอดบทเรียนจาก บุคคลต้นแบบที่ประสบความสำเร็จได้
และทั้งหมดนี้ก็คือ กลยุทธ์ Dhandho ที่คุณ Mohnish Pabrai ใช้ในการลงทุน และสร้างผลตอบแทนได้อย่างยั่งยืน
โดยการลงทุนแบบวิถี Dhandho นี้เอง ทำให้คุณ Mohnish Pabrai มักมีคำพูดติดปากปนตลก อยู่บ่อย ๆ ว่า
“ออกหัว ผมได้เงิน ออกก้อย ผมเสียเงินแค่นิดหน่อย..”
References
-The Dhandho Investor: The Low-Risk Value Method to High Returns (2007) โดย Mohnish Pabrai
-Richer, Wiser, Happier: How the World's Greatest Investors Win in Markets and Life (2021) โดย William Green
โฆษณา