10 ก.พ. 2023 เวลา 21:31 • บันเทิง

เส้นทางของ Pink Floyd จาก Psychedelic สู่ Progressive Rock

หากท่านเป็นนักฟังเพลงมานานและเป็นหนึ่งในผู้ที่ชื่นชอบในดนตรีแนว Progressive Rock โดยเฉพาะดนตรีในยุค 60 – 70 ซึ่งมีวงดนตรีแนว Progressive Rock ที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลทางด้านดนตรีต่อวงดนตรีในยุคหลังอย่างสูงหลายวง
วงดนตรีแนว Progressive Rock ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้นมีอยู่หลายวง เท่าที่พอนึกได้ อย่างเช่น King Crimson, Yes, Genesis, Emerson Lake and Palmer, Jethro Tull, Barclay James Harvest, The Doors, Camel, Supertramp และอื่นๆอีกมากมาย
ในบทความนี้ผมตั้งใจจะเขียนถึงวงดนตรีแนว Progressive Rock ที่ผมชอบที่สุดเป็นการส่วนตัว คือ Pink Floyd และผมยังมีผลงานของ Pink Floyd ทุกๆชุดเก็บไว้ ผมศึกษาเส้นทางของ Pink Floyd ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันอันยาวนานหลายสิบปี แม้แต่ปัจจุบันผมก็คงยังฟังเพลงของ Pink Floyd อยู่โดยไม่เคยมีความรู้สึกเบื่อหน่ายเลย
ดนตรีแนว Progressive Rock มีจุดเริ่มต้นมาจากดนตรี Psychedelic ซึ่งเริ่มต้นได้รับความนิยมในเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวที่เรียกตนเองว่าฮิปปี้และมีความเกี่ยวข้องกับยาหลอนประสาทประเภทหนึ่งที่ชื่อว่า LSD จุดเริ่มต้นทางดนตรีแนวนี้ถูกนำมาโดยวงดนตรีชื่อดังในยุค 60 ตอนปลายอย่าง The Beatles ,The Beach Boys, The Yardbirds, The Byrds และ Jefferson Airplane เป็นต้น
มีเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับชื่อของวง Pink Floyd ว่ามีที่มาจากชื่อของนักดนตรีแนว Blues สองคนที่เป็นที่ชื่นชอบของ Syd Barrett หนึ่งในผู้ก่อตั้งวงคือ Pink Anderson และ Floyd Council
เช่นเดียวกับวงดนตรีรุ่นพี่ Pink Floyd เริ่มต้นจากดนตรีแนว Psychedelic เช่นกัน โดย Pink Floyd ก่อตั้งวงขึ้นเมื่อปี 1965 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สมาชิกรุ่นก่อตั้งประกอบด้วย Syd Barrett (กีตาร์และร้องนำ), Nick Mason (กลอง), Roger Waters (เบส, ร้อง), และ Richard Wright (คีย์บอร์ด, ร้อง) โดย Barrett และ Waters เป็นเพื่อนกันตั้งแต่วัยเด็ก
Pink Floyd เป็นวงดนตรีใต้ดินที่ได้รับความนิยมมากในตอนนั้น ต่อมา Pink Floyd เริ่มเซ็นสัญญากับ EMI และออกซิงเกิ้ลแรก “Arnold Lane” และซิงเกิ้ลที่สอง “See Emily Play” จากการประพันธ์ของ Barrett ในปี 1967 แต่แล้ว Syd Barrett ก็ต้องจากวงไปเพราะมีปัญหาส่วนตัวทางระบบประสาทจนถึงกับสติหลุดเนื่องจากการใช้ยา LSD เป็นประจำ
“The Piper at the Gates of Dawn”
ในปี 1967 Pink Floyd ร่วมกับ EMI ได้ออกอัลบั้มแรก “The Piper at the Gates of Dawn” แต่การแสดงคอนเสิร์ตของอัลบั้มนี้ไปต่อไม่ได้เพราะอาการผิดปกติทางจิตของ Barrett โดยก่อนที่ Barrett จะออกจากวงไป ทางวงได้รับมือกีตาร์คนใหม่เข้ามาคือ David Gilmore โดย Gilmore เป็นเพื่อนร่วมสถาบันเดียวกับ Barrett
“A Saucerful of Secrets”
ปี 1968 Pink Floyd ออกอัลบั้มที่สอง “A Saucerful of Secrets” ร่วมกับ EMI อีกครั้ง มีเพลง “Set the Controls for the Heart of the Sun” และ “Let there be More Light” ซึ่งเป็นเพลงเอกของอัลบั้ม ที่ประพันธ์โดย Waters
“Ummagumma”
ปี 1969 Pink Floyd ออกอัลบั้มที่ 3 คือ “Ummagumma” เป็นอัลบั้มคู่ มีทั้งเพลงจากการแสดงสดและเพลงที่บันทึกเสียงในสตูดิโอ
“Atom Heart Mother”
ปี 1970 Pink Floyd ออกอัลบั้ม “Atom Heart Mother” และเป็นอัลบั้มแรกที่ขึ้นถึงอันดับ 1 ในประเทศอังกฤษ แต่สมาชิกบางคนของวงโดยเฉพาะ Waters และ Gilmore ผิดหวังกับอัลบั้มนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากแนวดนตรีขาดความเป็นตัวตนของ Pink Floyd และไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ในปี 1971 Pink Floyd ออกอัลบั้ม “Meddle” ในอัลบั้มชุดนี้มีเพลง “Echoes” อันเป็นหนึ่งในเพลงอมตะของวงที่มีความยาวถึง 23 นาที และเพลงดังอีกเพลงหนึ่งคือ “One of these Days”
ภายหลังการจากไปของ Barrett แล้ว ตั้งแต่ปี 1973 Waters เริ่มสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำทางแนวความคิดและดนตรีของวง
“The Dark Side of the Moon”
ในปี 1973 Pink Floyd ออกอัลบั้ม “The Dark Side of the Moon” ซึ้งถือว่าเป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จและยิ่งใหญ่ที่สุดของวง อัลบั้มนี้ได้ชื่อว่าเป็นอัลบั้มเพลงร็อกที่มียอดขายมากที่สุดอันดับสามของโลกและเป็นหนึ่งในอัลบั้มเพลงร็อกที่ดีที่สุดตลอดกาล
เหตุที่ต้องกล่าวถึงอัลบั้มนี้ให้มากหน่อย เพราะนี่คืออัลบั้ม Masterpiece ของ Pink Floyd เลยทีเดียว อัลบั้มชุดนี้มีเพลงหลายเพลงที่เป็นเพลงเอก อาทิ “Time”, “Money”, ”The Great Gig in the Sky”, “Brain Damage” และ “Us and them” อัลบั้มนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญจาก Psychedelic มาสู่ Progressive Rock อย่างเต็มตัว
แต่เริ่มมีความขัดแย้งในแนวคิดทางดนตรีระหว่าง Waters และ Gilmore โดย Waters ให้ความหมายของความซับซ้อนของเนื้อร้องและความหมาย ในขณะที่ Gilmore ให้ความสำคัญกับอิทธิพลของดนตรี Blues ของเขาและเนื่อเพลงที่ความเรียบง่ายมากกว่า
“Wish You were Here”
ปี 1975 Pink Floyd ออกอัลบั้ม “Wish You were Here” ขณะที่ทางวงกำลังบันทึกอัลบั้มนี้ Syd Barrett ได้มาเยี่ยมที่สตูดิโอ ในลักษณะของคนที่เปลี่ยนไปอย่างแท้จริง ความไร้ชีวิตและจิตใจที่ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ทำให้ Waters, Gilmore และ Wright รู้สึกเศร้าใจมาก ทั้งสามได้ร่วมแต่งเพลง “Shine on Your Crazy Diamond” เพื่อเป็นการระลึกถึง Barrett ในอัลบั้มนี้
“Animals”
ปี 1977 Pink Floyd ออกอัลบั้ม “Animals” อันเป็นอัลบั้มที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิยายเรื่อง “Animal Farm” ของ George Orwell
“The Wall”
หลังจากนั้นอัลบั้ม “The Wall” ที่ออกในปี 1979 ที่มีที่มาจากแรงกดดันและแรงบันดาลใจจากประสบการณ์วัยเด็กของ Waters รวมทั้งความฝังใจจากการเสียชีวิตของบิดาในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการแสดงคอนเสิร์ตในอัลบั้มนี้มักจะมีเอกลักษณ์เป็นการก่อกำแพงโดยวัสดุที่ดูเสมือนเป็นก้อนอิฐ และกำแพงเหล่านี้ก็จะถูกทลายลงในตอนท้ายของการแสดง
ปัญหาของการทำอัลบั้มนี้คือลักษณะอันเป็นเผด็จการทางความคิดของ Waters โดยที่ Wright แทบไม่มีส่วนร่วม และหลังจากบันทึกอัลบั้มจบสิ้น Wright ก็ออกจากวงไป แต่เขาก็ได้ออกทัวร์คอนเสิร์ตกับวงในฐานะของนักดนตรีรับจ้าง
The Wall ประสบความสำเร็จตั้งแต่ซิงเกิลแรก ตั้งแต่ "Mother", "Another Brick in the Wall (Part II)" และ “Comfortably Numb” ซึ่งติดอันดับบนชาร์ตในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร อัลบั้มนี้ติดอันดับ 6 ของอัลบั้มที่ได้รับการรับรองโดย RIAA โดยมียอดขายที่ 23 ล้านชุดในสหรัฐอเมริกา
การแสดงคอนเสิร์ตของ The Wall มักจะมีแอนนิเมชั่นเป็นหุ่นเป่าลมขนาดยักษ์รูปครูใหญ่และแม่ประกอบ ในการแสดง Wright เข้าร่วมในฐานะนักดนตรีรับจ้าง เป็นช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ภายในวงตกต่ำเป็นประวัติการณ์ ทั้งสี่พักในคนละโรงแรมและใช้รถคนละคันเดินทางมาที่เวที ผลลัพธ์ของการแสดงทำให้ทางวงขาดทุนไปกว่า 6 แสนดอลลาร์ ยกว้น Wright คนเดียวที่ได้กำไรจากการออกทัวร์ในฐานะนักดนตรีรับจ้าง
นอกจากนี้ The Wall ยังถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ Pink Floyd – The Wall ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์และเปิดตัวครั้งแรกในสหราชอาณาจักร ในเดือนกรกฎาคม 1982
“The Final Cut”
อัลบั้ม “The Final Cut” ออกในปี 1983 โดย Waters ตั้งใจอุทิศอัลบั้มนี้ให้กับบิดาผู้ล่วงลับของเขา มีการโต้เถียงเกิดขึ้นระหว่าง Waters และ Gilmour บ่อยครั้ง Waters รู้สึกว่า Gilmour มีส่วนเพียงเล็กน้อยในการสร้างสรรบทเพลงของวงดนตรี ความตึงเครียดภายในวงเพิ่มขึ้น Waters และ Gilmour ทำงานอย่างอิสระ อย่างไรก็ตาม Gilmour เริ่มรู้สึกถึงความเครียด หลังจากการเผชิญหน้าครั้งสุดท้าย ชื่อของ Gilmour ก็หายไปจากรายการเครดิต ซึ่งสะท้อนถึงสิ่งที่ Waters รู้สึกว่าเขาขาดการมีส่วนร่วมในการแต่งเพลง
The Final Cut วางจำหน่ายในเดือนมีนาคม 1984 ขึ้นอันดับหนึ่งในสหราชอาณาจักรและอันดับหกในสหรัฐอเมริกา โดย Waters เขียนเนื้อเพลงทั้งหมดทุกเพลงในอัลบั้ม The Final Cut โดยพื้นฐานแล้ว The Final Cut เหมือนเป็นอัลบั้มเดี่ยวของ Roger Waters โดยมี Pink Floyd ทำหน้าที่เป็นวง Backup เท่านั้น
ความสัมพันธ์ของ Gilmore กับ Waters ถึงขั้นแตกหัก Gilmore ระบุในภายหลังว่าเขาใช้อัลบั้มนี้เพื่อแยกตัวออกจาก Pink Floyd หลังจากนั้นไม่นาน โดย Waters ปรารถนาจะให้การจากไปของเขาคือการสิ้นสุดของ Pink Floyd แต่ Gilmore และ Mason ยังคงต้องการให้ Pink Floyd อยู่ต่อไป ถึงขั้นมีการฟ้องร้องกัน แต่ภายหลังมีการตกลงกันนอกศาลโดย Pink Floyd จะยังคงอยู่ต่อไปภายใต้การนำของ Gilmore พร้อมกับการออกจากวงไปของ Waters
ในปี 1986 เริ่มมีการทำอัลบั้มแรกของ Pink Floyd ที่ไม่มี Waters คือ “A Momentary Lapse of Reason” มีการกลับมาสู่วงของ Wright อีกครั้งโดยเพลงทั้งหมด Gilmore เป็นผู้แต่งร่วมกับนักแต่งเพลงหลายคน ในปี 1989 Pink Floyd ได้ออกทัวร์ Momentary Lapse of Reason แต่ก็มีผู้มองว่ามันเหมือนเป็นอัลบั้มเดี่ยวของ Gilmore เช่นกัน อัลบั้มนี้มีเพลงดีๆที่ผมชอบมากคือ “On the Turning Away” และ “Learning to Fly” ที่แสดงออกถึงความเป็นตัวตนของ Gilmore อย่างเด่นชัด
Waters พยายามต่อต้านอัลบั้มนี้และการออกทัวร์คอนเสิร์ตของวง แต่ในที่สุดทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงทางกฎหมายได้โดยมีข้อสรุปว่า Mason และ Gilmore ยังคงรักษาสิทธิ์ในการใช้ชื่อ Pink Floyd ตลอดไป และ Waters ได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าใครใน The Wall
“The Division Bell”
Gilmore, Mason และ Wright กลับมาทำงานเพื่อออกสตูดิโออัลบั้ม “The Division Bell” หากสังเกตที่หน้าปกอัลบัมเป็นภาพถ่ายสีของประติมากรรมเหล็กสีเทาเงินขนาดใหญ่ 2 ชิ้นที่มีเงาของใบหน้าตรงข้ามกัน รูปปั้นยืนอยู่ในทุ่งข้าวสาลีสีน้ำตาลที่มีท้องฟ้าสีครามอยู่ข้างหลัง
ภาพปกอัลบั้มซึ่งออกแบบโดย Storm Thorgerson มีจุดประสงค์เพื่อแสดงถึงการไม่มี Barrett และ Waters อยู่ในวงอีกต่อไป
The Division Bell ขึ้นสู่อันดับ 1 ในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา และใช้เวลา 51 สัปดาห์ในชาร์ตสหราชอาณาจักร
ในที่สุดทั้งสี่คนคือ Roger Waters, David Gilmore, Richard Wright และ Nick Mason ก็ได้กลับมาแสดงร่วมกันเป็นครั้งสุดท้ายในคอนเสิร์ตที่ชื่อ Live 8 เมื่อปี 2005 หลังจากนั้น Syd Barrett ก็เสียชีวิตในปี 2006 และ Richard Wright ก็จากไปด้วยโรคมะเร็งในปี 2008
โดยส่วนตัวผมชอบ “The Dark Side of the Moon” มากที่สุด ตามมาด้วย “The Wall”, “The Final Cut” และ “The Division Bell” แต่ถ้าจะให้บอกว่าผมชอบเพลงไหนมากที่สุด ผมขอเลือก “On the Turning Away”, “Comfortably Numb” และ “Wish You were Here” แต่ในความเป็นจริงเกือบทุกเพลงสามารถที่นำมาฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่มีเบื่อหน่าย
กล่าวโดยสรุป Pink Floyd ถือว่าเป็นผู้สร้างปรากฎการณ์ทางแนวดนตรีหลัก 2 แนว ได้แก่ Psychedelic Rock, และ Progressive Rock ที่มีพื้นฐานมาจาก Blues และกลายเป็นวงดนตรีที่มีอิทธิพลจากบทเพลงที่แฝงเจือปนด้วยการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง, สังคม, และบ่งบอกถึงความรู้สึกทางอารมณ์และหลอกหลอนด้วยอัดตาจากอดีดที่เจ็บปวดมากที่สุด และดนตรีของ Pink Floydส่งอิทธิพลมาสู่วงการดนตรีในยุคหลังด้วยความเป็นอมตะของพวกเขาจนถึงปัจจุบัน
1
โฆษณา