11 ก.พ. 2023 เวลา 02:30 • ธุรกิจ

5 Checklist งบการเงินแบบนี้ ธุรกิจรุ่งแน่ (ถ้ามีครบ)

ทุกคนเคยสงสัยมั้ยคะ ว่าสูตรสำเร็จของธุรกิจที่เจริญรุ่งเรืองนั้น พวกเค้ามีวิธีบริหารอย่างไร?
ถ้าเดินดุ่มๆ ไปถามคนที่ประสบความสำเร็จ เค้าคงไม่ตอบกลับมาง่ายๆ เป็นแน่
แต่เชื่อมั้ยคะ เคล็ดลับของธุรกิจที่รุ่งนั้นสามารถเช็คได้จากงบการเงินค่ะ
งบที่ดี แข็งแรง แข็งแกร่ง…ดุดัน ไม่เกรงใจใคร นั้นควรมีให้ครบทั้ง 5 ข้อนี้ จะเป็นอะไรบ้างลองไปดูวิธีเช็คทีละข้อเลยค่ะ
1. รายได้โต
ธุรกิจที่เติบโตดี อาจวัดจากคำพูดของ CEO เพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ควรสังเกตได้จากงบการเงินด้วยเช่นกันค่ะ
เช็คตรงไหน: รายได้ ในงบกำไรขาดทุน
เช็คยังไง: เอางบกำไรขาดทุนย้อนหลังสัก 4-5 ปี มาเช็คตัวเลขรายได้หลักจากธุรกิจว่ามีเพิ่มขึ้นหรือไม่
รายได้ที่เพิ่มโดยทั่วไปแล้วอาจสะท้อนว่า ธุรกิจสามารถเติบโตได้ดี ซึ่งอาจเกิดจาก
- ลูกค้าที่มากขึ้น
- ช่องทางการขายที่เยอะขึ้น
- สินค้าที่โดนใจขึ้น
ถ้างบของใครเป็นแบบนี้ บอกได้เลยว่าผ่านด่านงบดีไป 1 Step ค่ะ
2. สัดส่วนกำไรดี
คำว่า “กำไรดี” ไม่ได้แปลว่า กำไรที่เป็นบวกเท่านั้น แต่ควรจะเช็คไปถึง “สัดส่วนกำไรต่อรายได้” ต้องมากพอด้วย เพราะมีหลายธุรกิจที่ไม่รู้ตัวว่า % กำไรต่อรายได้นั้นบางเหลือเกิน ถ้าเทียบกับคู่แข่งในตลาด
เช็คตรงไหน: กำไร VS รายได้ ในงบกำไรขาดทุน
เช็คยังไง: เอางบกำไรขาดทุน มาเช็คตัวเลข กำไรแต่ละระดับ เทียบกับ รายได้ ว่าเป็นเท่าไร
กำไรแต่ละระดับคืออะไร
- กำไรขั้นต้น = รายได้ - ต้นทุนขาย
- กำไรจากการดำเนินงาน = รายได้ - ต้นทุนขาย – ค่าใช้จ่ายในการขาย – ค่าใช้จ่ายในการบริหาร
- กำไรสุทธิ = รายได้ – ค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ถ้างบของใครมี % กำไรทุกขั้นสูงกว่าคู่แข่ง แปลว่า เจ้าของธุรกิจมีความสามารถสร้างกำไรได้ยอดเยี่ยมเลยล่ะ
3. เงินคล่อง
แม้งบนี้จะมีกำไรก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าเงินไม่คล่องตัว ธุรกิจที่มีเงินถุงเงินถัง อยากใช้เงินเมื่อไรก็ไม่ขัดสนนั้นนับว่าเป็นบุญอันประเสริฐ
วิธีเช็คง่ายๆ ว่าเงินคล่องตัวไหม ทำได้ตามนี้
เช็คตรงไหน: งบแสดงฐานะการเงิน
เช็คยังไง: สินทรัพย์ที่คล่องที่สุดของธุรกิจ เทียบกับ หนี้ที่ต้องจ่ายในเวลาอันใกล้สุด
สินทรัพย์ที่คล่องที่สุดของธุรกิจ คืออะไร?
คำตอบอาจแตกต่างแล้วแต่ธุรกิจค่ะ บางคนบอกว่าเงินสดแหละคล่องตัวสุดแล้ว แต่บางคนก็บอกว่า เงินสด + ลูกหนี้ + สินค้า อันนี้คือ เป็นสินทรัพย์สภาพคล่อง นึกอยากจะเปลี่ยนเป็นเงินสดเมื่อไรก็ทำได้เลย
หนี้ที่ต้องจ่ายในเวลาอันใกล้ คืออะไร?
ในงบการเงินมีหนี้หลายแบบ ถ้าเป็นเจ้าหนี้การค้า เราน่าจะต้องจ่ายคืนในเวลา 30-60 วัน และยิ่งถ้าใครมีหนี้เงินกู้แบบระยะสั้น เช่นตั๋วเงิน 3 เดือน อย่างนี้ก็เรียกว่าหนี้ต้องจ่ายในเวลาอันใกล้
ธุรกิจที่เงินคล่องอย่างน้อยๆ ต้องผ่านสมการนี้ไปให้ได้ค่ะ
เงินสด + ลูกหนี้ + สินค้า > เจ้าหนี้ + เงินกู้ระยะสั้น
4. สินทรัพย์ขยัน
ธุรกิจที่แข็งแรง สินทรัพย์ (หรือทรัพย์สิน) ทุกชนิดที่อยู่ในธุรกิจต้องทำงานอย่างขะมักเขม้น
พูดแบบนี้หลายคนคงคิดว่า บ้าหรือเปล่า แล้วเราจะไปวัดอย่างไรว่าสินทรัพย์งั้นขยันทำงาน ลองมาเช็คอย่างงี้กันค่ะ
เช็คตรงไหน: สินทรัพย์ใน งบแสดงฐานะการเงิน และรายได้ ในงบกำไรขาดทุน
เช็คยังไง: เทียบ รายได้ กับ สินทรัพย์รวม
ถ้าสัดส่วนรายได้ต่อสินทรัพย์รวมมีเยอะขึ้น แปลว่า สินทรัพย์ที่เรามีในธุรกิจนั้น ขยันขันแข็ง และหารายได้กลับเข้ามาในธุรกิจได้ดีขึ้นนั่นเองค่ะ
วิธีเช็คสินทรัพย์แสนขยัน ถ้าทำงานได้ดีต้องเป็นแบบนี้ค่ะ
- ลูกหนี้ : ทำงานดี = เก็บเงินได้เร็ว/ทำงานแย่ = เก็บเงินไม่ได้สักที
- สินค้า : ทำงานดี = ขายออกเร็ว แบบมีกำไรด้วย/ทำงานแย่ = ขายออกช้า ค้างคาในสต็อก
- เครื่องจักร : ทำงานดี = เปิดเครื่องปุ๊บทำงานเต็มที่ ไม่พัง ไม่อู้/ทำงานแย่ = ซ่อมตลอด ซื้อมาไม่ได้ใช้
5. บริหารหนี้สิน
หนี้สินเป็นเรื่องที่ต้องบริหารเช่นเดียวกับสินทรัพย์ค่ะ เพราะการเป็นหนี้มีต้นทุนเกิดขึ้นเสมอ ฉะนั้น ธุรกิจไม่ควรเป็นหนี้ถ้าไม่วางแผนให้ดีเสียก่อน
เช็คตรงไหน: หนี้สิน ในงบแสดงฐานะการเงิน
เช็คยังไง: เช็คสัดส่วนหนี้ เทียบกับ สัดส่วน สินทรัพย์/ เช็คสัดส่วนกำไร เทียบกับ ดอกเบี้ย
ถ้าหนี้เยอะ สินทรัพย์น้อย แปลว่า หนี้ที่กู้มาอาจไม่เกิดประโยชน์เท่าไรนัก
และควรไปเช็คต่อในงบกำไรขาดทุนว่า กำไรที่หาได้มันเพียงพอจะจ่ายดอกเบี้ยในแต่ละปีหรือไม่
แต่ถ้าธุรกิจไหนมีหนี้เงินกู้ แต่ก็ยังไม่เยอะเกินเบอร์ไปกว่าสินทรัพย์ และทำยังไงกำไรก็พอจ่ายดอก ขอให้สบายใจไว้เลยค่ะว่าหนี้สินเหล่านี้เป็นหนี้ที่ดี ต่ออนาคตธุรกิจให้เติบโตได้แน่นอน
ทั้งหมด 5 ข้อนี้เป็นวิธีการเช็คงบการเงินในทุกมิติ ถ้าใครมีครบผ่านทั้ง 5 โอกาสรุ่งมีสูงมากค่ะ
แต่ถ้าใครยังไม่ครบ เริ่มต้นใหม่ปีนี้ เราก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนสู้กันต่อไปอย่าเพิ่งท้อถอยนะคะ
อยากรู้ธุรกิจเป็นยังไง งบการเงินรุ่งหรือไม่ ปรึกษาเราได้ที่นี่
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ได้ที่
โฆษณา