11 ก.พ. 2023 เวลา 12:00 • สิ่งแวดล้อม

นกเงือกผู้บ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของป่า

เนื่องจากนกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่และมีความสวยงาม ในปัจจุบันกำลังถูกคุกคาม ทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งหากนกเงือกสูญพันธุ์ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกหลายชนิดอาจสูญพันธุ์ตามไปด้วย เพราะนกเงือกเป็นผู้รักษาโครงสร้าง และความสมบูรณ์ของระบบนิเวศวิทยาในป่า ช่วยแพร่กระจายพันธุ์พืชใหญ่หลายสิบชนิด
โดยสาเหตุที่ประชากรนกเงือกลดลง คือ ภัยจากมนุษย์ ที่ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย จากกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำไม้ การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำเกษตรกรรม สวนยางพารา และสวนผลไม้ รวมถึงการล่านกเงือกเพื่อเป็นอาหาร เป็นเครื่องประดับ หรือเป็นสัตว์เลี้ยง วันเราหยิบยกข้อมูลที่แสดงถึงความสำคัญของนกเงือกต่อระบบนิเวศในผืนป่ามาให้ทุกท่านได้ทราบพร้อมๆกัน
นกเงือกจัดอยู่ในกลุ่มนกโบราณ กำเนิดมาตั้งแต่สมัยอีโอซีน ในยุคเทอร์เชียรี (ประมาณ 58 – 36 ล้านปีมาแล้ว) ทั่วโลกมี 2 วงศ์ ในประเทศไทยพบ 1 วงศ์ คือวงศ์ Bucerotoidae โดยที่นกในวงศ์นี้มีทั้งสิ้น 8 สกุล รวม 54 ชนิด ในประเทศไทยพบนกเงือก 13 ชนิด 4 สกุล คือ สกุลนกแก็ก (Genus Anthracoceros) สกุลนกกก (Genus Buceros) สกุลนกเงือกปากดำ (Genus Anorrhinus) และสกุลนกเงือกคอแดง (Genus Aceros)
ลักษณะเด่นของนกเงือกคือ มีปากใหญ่ ขากรรไกรบนมีโหนกแข็ง ภายในโหนกแข็งกลวงและประกอบด้วยเยื่อคล้ายลักษณะฟองน้ำ ยกเว้นเพียงนกชนหินเท่านั้นที่ข้างในโหนกตัน
อีกลักษณะหนึ่งที่มันแตกต่างจากนกขนาดใหญ่ชนิดอื่นคือ เวลาบินจะเกิดเสียงดัง เนื่องจากขนที่ปีกของนกจะมีขนคลุมขนปีก ทำให้ลมไม่สามารถลอดผ่านปีกได้ แต่นกเงือกซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มนกโบราณ ยังไม่มีขนคลุมขนปีก ทำให้ลมผ่านช่องขนปีก เวลาบินจึงเกิดเลียงดัง ซึ่งในนกเงือกแต่ละชนิดจะมีเสียงที่เกิดจากการบินจะแตกต่างกัน บางครั้งเพียงแค่ได้ยินเสียงก็สามารถคาดเดาได้ว่าเป็นนกเงือกชนิดใดแม้จะไม่เห็นตัวนก
เนื่องจากนกเงือกเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ การมีนกเงือกในพื้นที่มากแสดงให้เห็นว่าพื้นที่นั้นมีความอุดมสมบูรณ์ มีปริมาณ และความหลากหลายของพืชและสัตว์มากพอที่จะรองรับประชากรของนกเงือกจำนวนมากได้ นกเงือกจึงถูกใช้เป็นดัชนีบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของป่า (Indicator species) เป็นสัญลักษณ์ของป่าดิบ
ซึ่งในอดีตพบได้เกือบทั่วทุกหนแห่งในประเทศไทย แต่ในปัจจุบันหากต้องการเห็นนกเงือกต้องเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์เท่านั้น เมื่อนกเงือกลดจำนวนลงไป ก็จะส่งผลโดยตรงต่อระบบนิเวศของป่า สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆก็จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม อาจทำให้พันธุ์ไม้ที่เป็นอาหารหลักของนกเงือกหายไปจากป่าเนื่องจากไม่มีสัตว์ที่ช่วยกระจายพันธุ์ไม้ให้
นกเงือกทำหน้าที่สำคัญในการรักษาความหลากหลายของพืช และเนื่องจากนกเงือกกินอาหาร ทั้งพืชและสัตว์ กินผลไม้หลากหลายชนิด ซึ่งพืชอาหารของนกเงือกมีมากกว่า 100 ชนิด พืชอาหารหลักที่นกเงือกกินคือ ลูกไทร ดังนั้น ต้นไทรสุก ที่อยู่ในป่าจะเป็นแหล่งรวมของสัตว์หลายชนิด
เนื่องจากนกเงือกมีพฤติกรรมที่กินผลไม้สุก โดยเฉพาะผลไม้ขนาดใหญ่ที่มีขนาดมากกว่า 1.5 เซนติเมตร ซึ่งนกขนาดเล็กไม่สามารถนำพาได้ เช่น (Polyalthia spp.) ตาเสือ ( Dysoxylum macrocarpus ) และที่สำคัญคือกินโดยไม่ทำลาย โดยจะกินเฉพาะในส่วนที่เป็นเนื้อและไปคายเมล็ดหรือถ่ายมูลที่มีเมล็ดในที่ที่ไกลจากต้มแม่ไม้นั้น นกเงือกจึงมีบทบาทเด่นในการกระจายพันธุ์ไม้ป่า
นอกจากจะกินพืชเป็นอาหารหลักแล้ว นกเงือกยังเป็นเป็นสัตว์ผู้ล่าที่ช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลง สัตว์เลื้อยคลานต่างๆ โดยเฉพาะในป่าที่ไม่มีสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ เช่น เสือ หรือหมาไน เป็นต้น นกเงือกจึงมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลและความหลากหลายของระบบนิเวศ
"13 กุมภาพันธ์ วันรักนกเงือก"
ข้อมูลจาก สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 สงขลา
#นกเงือก #วันรักนกเงือก #13กุมภาพันธ์ #กรมอุทยาน #prdnp #dnp #สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่6

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา