Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Supawan’s Colorful World
•
ติดตาม
11 ก.พ. 2023 เวลา 11:07 • ท่องเที่ยว
ทมิฬนาดู (12) .. เมืองมามัลละปุรัม (Mamallapuram) อินเดียใต้
ถัดจากกาญจีปุรัมออกมาทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 75 กม. ติดริมฝั่งอ่าวเบงกอล คือ เมืองมหาพลีปุรัม (Mahabalipuram) หรือ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อกลับไปเป็น "มามัลละปุรัม" (Mamallapuram) อันเป็นชื่อเดิมที่ปรากฏในศิลาจารึก นักท่องเที่ยวทั่วโลกรู้จักเมืองนี้ในฐานะที่มีกลุ่มโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
มามัลละปุรัม .. ในอดีตเคยเป็นเมืองท่าและเมืองหลวงแห่งที่สองของราชวงศ์ปัลลวะ เป็นเมืองท่าที่คึกคักในสมัย Periplusใน ศต.ที่ 1: (Periplus คือบันทึกเส้นทางการเดินเรือ Periplus ของกรีกที่บรรยายการเดินเรือ และการค้าขาย จากเมืองท่าของโรมันอียิปต์ เช่น เบเรนีซ ตามชายฝั่งทะเลแดง และเมืองอื่น ๆ ตามชายฝั่งแอฟริการตะวันออกเฉียงเหนือ และอินเดีย) และในสมัยของปโทเลมี (Ptolemy) คศ. 140 ชาวอินเดียนโบราณที่ได้มายังประเทศต่าง ๆ ทางเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ได้แล่นเรือมาจากเมืองท่ามามัลละปุรัม
เมืองนี้เคยรุ่งเรืองในศตวรรษที่ 7 - 8 .. เป็นเมืองท่าสมัยราชวงค์ปาลวะ ซึ่งครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของอินเดียใต้ ระหว่าง ศต. 4 - 9 ต่อมา ใน ศต. ที่ 7 ก็ได้กลายมาเป็นเมืองท่าของราชวงค์อินเดียใต้แห่งปัลลวะ
ที่นี่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีโบราณสถานที่เป็นตัวอย่างชั้นเยี่ยม ..ช่างปัลลวะเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว สกัดโขดหินแกรนิตที่มีกระจัด กระจายอยู่ทั่วไป ให้กลายเป็นศาสนสถานได้อย่างน่าทึ่ง
มามัลลปุรัม .. มีสถาปัตยกรรมที่เป็นเทวาลัยต้นแบบดราวิเดรียน ซึ่งเกิดจากการสลักหิน เป็นวัดที่บูชาเทพเจ้า เช่น พระศิวะ พระวิษณุ พื้นที่ของโบราณสถานนี้ กว้างใหญ่จนติดทะเล ได้รับการยกย่องว่าเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก้ในปีค.ศ.1984
เมืองใหม่ของมามัลละปุรัมตั้งขึ้น สมัย British Raj ในปี 1827 (พศ. 2370) ส่วนกลุ่มโบราณสถานเมืองมามัลละปุรัม ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก ในปี คศ. 1984 (พศ. 2527)
เหตุการณ์สึนามิ พศ. 2547 สร้างความเสียหายแก่มามัลละปุรัมไม่น้อย โดยเฉพาะร้านอาหารริมทะเลของชาวบ้าน แต่ขณะเดียวกัน เหตุการณ์นี้ก็นำไปสู่การค้นพบซากโบราณสถานเพิ่มเติมขึ้นในพื้นที่อีกหลายแห่ง
Ref : หนังสือ "อินเดียเริ่มที่นี่ ทมิฬนาฑู" โดยศรัณย์ ทอง ปาน และวิชญดา ทองแดง
วิกิพีเดีย และหนังสือ "The Rough Guide to India"
มัลละปุรัมที่ฉันเห็น เป็นสีหม่นๆ
เราเดินทางมาถึงเมืองมัลละปุรัมในช่วงค่ำ .. มัลละปุรัมที่เห็นในขณะที่รถเคลื่อนผ่านตัวเมือง ทำให้คิดถึงสมุย และตัวเมืองชายทะเลที่ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลเลื่องชื่ออย่างทางภาคใต้ของประเทศไทย .. แต่เป็นเหมือนชุมขนชายทะเลที่อยู่ห่างออกไป
.. มองเห็นร้านอาหารตะวันตกที่สร้างและตกแต่งแบบเอาใจนักท่องเที่ยว เป็นการสร้างโดยใช้สถาปัตยกรรมชายทะเลของชาวตะวันตกง่ายๆ ฉันเดาเอาว่า คนที่นี่คงคิดว่านักท่องเที่ยวคงคิดถึงบ้าน จึงดึงเอาความเป็นตะวันตกให้มาอยู่ใกล้ๆ .. เหมือนเวลาที่คนกรุงเทพไปเที่ยวปาย เชียงคาน เชียงใหม่ฯ ที่มองเห็นว่ามีการนำเอาความสะดวกสบาย ความเป็นกรุงเทพ ให้มาอยู่ใจกลางแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ .. เหมือนเราเดินอยู่กลางถนนข้าวสาร ..
.. เช่นเดียวกับสิ่งที่ผ่านตาเราในเมืองมัลละปุรัม ที่มีผับ บาร์ ร้านอาหารตะวันตก ร้านขายของที่ระลึก ร้านขายเสื้อผ้าชายหาด ฯ เต็มไปหมด
เราเข้ามาพัก ณ รีสอร์ทริมทะเลแห่งหนึ่ง .. บรรยากาศของชายทะเลยามค่ำภายในรีสอร์ท
Shore Temple .. มองเห็นเป็นหมุดหมายที่จะไปเยือนในวันพรุ่งนี้
เราเปิดน้ำให้ไหลผ่าน ปลอบประโลมร่างกายที่อ่อนล้าจากการเดินทาง และการเดินชมโบราณสถานมาทั้งวัน .. ถึงแม้ไม่หิว และไม่ได้ทานอาหารเย็น แต่เราก็หลับไหลอย่างรวดเร็ว ลืมแม้กระทั่งจะพูดกับเพื่อนร่วมห้องว่า .. Good night. Have a restful sleep!
อรุณรุ่ง .. การเดินเลานบนหาดทรายให้สายลมอ่อนพัดมากระทบผิวกาย คลื่นซัดเข้ามาเป็นระลอกชะโลมเท้า ไม่ยี่หระหรือกังวลว่าชายกางเกงจะเปียกหรือไม่ .. เป็นความสุขเล็กๆใกล้ตัวที่ฉันทำเป็นประจำเมื่อมีโอกาส
เช้านี้ที่ริมชายฝั่งของอ่าวเบงกอล .. ทรายไม่ได้ขาวเนียนเหมือนแป้งอย่างชายหาดส่วนใหญ่ของบ้านเรา
.. ขยะบนชายหาดมีมากมาย ทำให้คิดไปว่า คนที่นี่อาจจะไม่ได้คิดเรื่องการอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมมากนัก
.. ที่หนักไปกว่านั้น ฉันรู้สึกแย่เมื่อมองเห็นชายคนหนึ่งหิ้วกระป๋องเดินตรงลงมาที่ชายน้ำ .. ยกกระป๋องขึ้นสูง แล้วเทขยะที่มีสารพัดเศษซาก ลงไปในน้ำทะเล ..
นกบนชายหาดบินเข้ามาอย่างรวดเร็ว พยายามจิกคุ้ยหาเศษอาหาร .. หรือคนที่นี่คิดว่ากำลังทำบุญ??
.. ซากปลาปักเป้าที่ตาย และคลื่นซัดเข้ามาหาฝั่ง .. บอกบางอย่างกับเราหรือเปล่า ?
การเดินบนายหาดยามเช้า .. แท้ที่จริงเป็นการปลอบประโลมจิตใจให้รื่นรมย์มากขึ้น หลังจากการเดินชมเทวาลัยโดยไม่ได้ใส่รองเท้าในระยะทางไกลๆในแต่ละวัน ซึ่งกรวดก้อนเล็กๆ และหินที่ไม่ราบเรียบทำร้ายฝ่าเท้า และนิ้วเท้าคนที่ไม่คุ้นชอน สาหัสไม่เบา
บนชายหาดมองเห็นเรือประมงสีฉูดฉาดนับร้อยๆลำจอดเรียงราย .. ใกล้ๆเรืออาจะมีอวน และอุปกรณ์สำหรับจับสัตว์น้ำวางอยู่เป็นระยะๆ
ชีวิตของพรานทะเลที่ไหนๆก็เหมือนกัน เป็นงานหนัก แต่อิสระ ปล่อยชีวิตไปตามคลื่นลมและกระแสน้ำ .. ธรรมชาติเป็นผู้กำหนดชะตาและโชคลาภประจำวัน ที่พวกเขาต้องน้อมรับ
ศิลปะบนชายหาด .. รอยล้อของรถประเภทหนึ่งที่ถูกนำมาขับเล่นในบริเวณนี้ .. คนบนหาดคิดอย่างไรบ้างคะ?
ความสุขของหลายคน ที่พอจะหยิบยื่น ปรนเปรอตัวเองได้บ้าง ในแบบที่ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินในกระเป๋า
.. พระอาทิตย์ขึ้น ณ อ่าวเบงกอล
.. สายลม หาดทราย และโขดหิน .. ทิ้งไว้เบื้องหลังสำหรับเช้านี้ โปรแกรมท่องเที่ยวจะเริ่มหลังอาหารเช้าค่ะ
.. Bon Appetite!
1 บันทึก
2
1
3
1
2
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย