11 ก.พ. 2023 เวลา 11:29 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

ทอมัส แอลวา เอดิสัน กับการประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียง

11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1847 คือวันเกิดของชายนักประดิษฐ์และนักธุรกิจชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งประดิษฐ์อุปกรณ์ที่สำคัญต่าง ๆ มากมาย จนได้ฉายาว่า "พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก" นั่นคือ “ทอมัส แอลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison)”
ทอมัส เอดิสัน มักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผู้คิดค้นหลอดไฟ แต่ในความเป็นจริงเขาเป็นบุคคลแรกที่จดสิทธิบัตรในการประดิษฐ์หลอดไฟจากนักวิทยาศาสตร์กว่า 20 คนที่คิดค้นหลอดไฟ และสามารถนำมาทำเป็นธุรกิจได้ เอดิสันยังคงเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเจเนอรัลอิเล็กทริก (General Electric) บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ของโลก และก่อตั้งอีกหลายบริษัทในด้านไฟฟ้า หนึ่งในนั้นคือ ‘การประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียง’
กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1878 โทมัส อัลวา เอดิสัน ได้จดสิทธิบัตร เครื่องบันทึกเสียง หรือ Phonograph ต้นแบบของเครื่องเล่นแผ่นเสียง หัวแตรใหญ่ ๆ ที่สมัยนี้เรียกกันว่าสไตล์วินเทจ แต่เมื่อ 145 ปีที่แล้วนั้น มันคือครั้งแรกของโลกเลยทีเดียวที่เราสามารถ ‘บันทึก’เสียง แล้ว ‘เล่น’ เสียงนั้นออกมาฟังได้อีกครั้ง หนึ่งในสิ่งประดิษฐ์หลายพันอย่างจากบริษัทเอดิสันที่ได้เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของพวกเราไปตลอดกาล
ในสมัยก่อนนั้น การฟังเพลง หมายถึงต้องเดินทางไปนั่งฟังกันแบบสด ๆ หรือไม่ก็ต้องร้องเองเล่นเอง ฟังเสียงตัวเองเนี่ยล่ะ ส่วนการจะโทรศัพท์นัดใครไปนั่งฟังเพลงด้วยนั้น ยังไม่ต้องพูดถึง เพราะโทรศัพท์เพิ่งถูกประดิษฐ์ จดสิทธิบัตรในปี 1877 โดยอเล็กซานเดอร์​ เกรแฮม เบลล์ แต่เสียงที่ออกมายังไม่ค่อยชัด ใช้โทรหาใครทางไกลยังไม่ได้ ส่วนจะส่งข้อความทางโทรเลขนั้น ค่าส่งต่อตัวอักษรก็แสนแพง กว่าข้อความจะไปถึงก็หลายวัน
ขณะนั้นเอดิสันในวัย 30 ปีเท่ากับเกรแฮม จึงพยายามปรับปรุงโทรศัพท์และโทรเลขให้ใช้งานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เอดิสันสังเกตว่า ในขณะที่เครื่องโทรเลขบันทึกข้อความรหัสมอร์สโดยใช้หัวเข็มสร้างรอยปรุลงบนกระดาษแข็ง มันเกิดเสียงออกมาเป็นจังหวะสั้นบ้างยาวบ้างตามรอยปรุบนกระดาษ และเมื่อเครื่องโทรเลขใช้หัวเข็มในการอ่านรอยปรุบนกระดาษเพื่อแปลงรหัสมอร์สกลับเป็นข้อความ มันก็เกิดเสียงเป็นจังหวะขึ้นมาเหมือนเดิม เอดิสันจึงเกิดความคิดอยากบันทึกเสียงด้วยวิธีการนี้ขึ้นมา เขาวาดแบบจำลองแล้วสั่งให้ลูกน้องในบริษัทประกอบมันขึ้นมา
ไม่กี่เดือนต่อมาเอดิสันก็นำเสนอผลงานชิ้นใหม่นี้กลางเมืองนิวยอร์ค มันสามารถบันทึกได้เหมือนโทรเลขและสามารถส่งเสียงออกมาได้เหมือนโทรศัพท์ เขาเรียกมันว่า Phonograph
เอดิสันสาธิตการใช้งานเครื่อง Phonograph ด้วยการนำแผ่นฟอยล์ดีบุกมาห่อรอบ ๆ แท่งทรงกระบอกที่มีหัวเข็มจิ้มอยู่ เขานำกรวยที่วางไว้ข้าง ๆ ต่อเข้ากับแผ่นไดอะแฟรมกลม ๆ บนหัวเข็ม เอดิสันใช้มือจับคันหมุนแล้วจ่อปากไปที่กรวย เขาเริ่มร้องเพลงช้า ๆ “Mary had a little lamb’ พร้อมกับหมุนแท่งทรงกระบอกไปด้วย ในขณะที่เขาเปล่งเสียงเข้าไปในกรวย คลื่นเสียงเดินทางผ่านกรวยเข้าไปกระทบกับแผ่นไดอะแฟรม เมื่อแผ่นไดอะแฟรมสั่น หัวเข็มก็จิ้มรอยปรุลงบนแผ่นฟอยล์ เป็นร่องลึกบ้างตื้นบ้างตามการสั่นของคลื่นเสียง
เมื่อเอดิสันร้องเพลงเสร็จแล้วเขานำแผ่นฟอยล์ที่มีรอยปรุนี้มาห่อแท่งทรงกระบอกอีกรอบ เมื่อเขาหมุนแท่งทรงกระบอก หัวเข็มที่จิ้มร่องอยู่ก็เกิดการสั่นตามรอยปรุ การสั่นนี้ต่อไปยังไดอะแฟรมและกรวยที่ทำหน้าที่ขยายการสั่นออกมาเป็นคลื่นเสียง จนเกิดเป็นเสียงเพลง “Mary had a little lamb” ที่เอดิสันเพิ่งบันทึกไว้
ความสำเร็จของเอดิสันได้เป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์ไปทั่วสหรัฐอเมริกา บริษัทของเอดิสันได้พัฒนาเครื่องบันทึกเสียงจนสามารถวางขายตามร้านค้าได้ ผู้คนในยุค 1900 ก็เริ่มใช้เครื่อง Phonograph นี้บันทึกเสียงเพลง ซื้อขายแผ่นบันทึกเสียงเพลง และเล่นแผ่นเสียงฟังเพลงอยู่กับบ้าน เรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยนวัฒนธรรมการฟังเพลงเลยก็ว่าได้
ติดตาม The Principiaได้ในทุกช่องทางออนไลน์ หรือ
ติดต่อโฆษณาได้ที่ theprincipia2021@gmail.com หรือโทร 0647711333
โฆษณา