12 ก.พ. 2023 เวลา 06:24 • ท่องเที่ยว

ทมิฬนาดู (13) .. โขดหินมหิษาสูร

เสียงคลื่นที่สาดซัดเข้ามากระทบฝั่ง และสายลมเย็นในยามเช้า ณ ชายหาดมหาปุริปุรัม (Mahabalipuram Beach) เป็นสิ่งเย้ายวน ชวนให้มาเดินย่ำทรายที่หยุ่นไปตามจังหวะการเดิน
ท่ามกลางธรรมชาติริมทะเลที่สงบเงียบ ..ณ มุมหนึ่งของหาด ปรากฏโขดหินขนาดใหญ่รูปร่างแปลก โดดเดี่ยวและโดดเด่น ท่ามกลางหมู่ก้อนหินชายหาด .. ผ่านเข้ามาในสายตา ..
.. ในยามที่น้ำทะเลขึ้นสูง เป็นเรื่องที่ยาก หรือเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าไปถ่ายภาพโขดหินนี้
.. หรือแม้แต่เมื่อน้ำทะเลลดระดับลง ก็อาจจะต้องระมัดระวัง ด้วยเหตุที่ก้อนหินที่เราจะเดินฝ่าเข้าไป มีความลื่น และสามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ทุกขณะ
การทำความเข้าใจความหมายของรูปสลักหินที่มีอายุผ่านมาแล้วกว่า 1300 ปี ตั้งแต่ยุคสมัย ปัลลวะ นั้น .. อาจจะยากอยู่สักหน่อย หากไม่มีใครบางคนอธิบายเรื่องราวให้ฟัง .. แต่ไกด์ของเราเล่าเรื่องราวในภาพได้อย่างสนุกสนาน มีสีสันมากค่ะ .. รวมถึงช่วยให้เข้าใจประติมากรรมที่เราจะเห็นในเทวาลัยต่อๆไปได้อย่างชัดเจน
'โขดหินมหิษาสูร' (Mahishasura Rock) .. รูปลักษณ์ด้านหนึ่งแกะสลักเป็นรูป 'มหิษาสูร' นอนกอดอาวุธประจำกาย คือ คธา ..
,.. ด้านที่หันออกไปทะเล มีการตัดก้อนหินเว้าเข้าไปเป็นช่องขนาดเล็ก เป็นแท่นบูชาหรือเทวาลัย ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อบูชา “พระแม่ทุรคาในปางปราบมหิษาสูร” หรือที่เรียกว่า “มหิษาสุรมรรทินี”
ปกรณัมของฮินดูที่กล่าวถึงเรื่องราวของ “มหิงษาอสูร – มรรทินี” (Mahishasura Mardini) ปรากฏในบทสวดภาวนาอันศักดิ์สิทธิ์ “สโตรตรัม” Mahishasura Mardini Stotram ในวรรณกรรมฮินดู ที่กล่าวถึงการปราบอสูรควายอันชั่วร้ายโดยเทวี “ทุรคา” (Durga)
ความสำคัญของเหตุการณ์นี้ ทำให้ทุกๆปีในระหว่างวันที่ 6-10 ของเทศกาล บูชาเหล่าพระแม่เทวี (Fortnight of the Goddess) ในเดือนตุลาคม หรือกันยายน ตามปักษ์จันทรคติของฮินดู จะมีงานเทศกาล “ทรุคาบูชา (Durga Puja)” เพื่อระลึกถึงชัยชนะของเทวีทุรคาเหนือมหิงษาอสูร อันมีความหมายถึงชัยชนะของความดีงามเหนือความชั่วร้าย และการปกป้องผู้คนที่ศรัทธาในพระองค์
กำเนิด “มหิงษาอสูร”
“มหิงษาอสูร มรรทินี " (Mahishasura Mardini) หรือการปราบอสูรควายของพระแมทุรคา .. ปรากฏในงานวรรณกรรมเรื่อง “มหาภารตะ” (The Epic Mahābhārata) มาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 2
บทกวีของอินเดีย “มหิงษาสุรมรรทินีสโตรตรัม” (Mahishasura Mardini Stotram) ขับขานลำนำอันไพเราะว่า .. กาลครั้งหนึ่งมีอสูรสองพี่น้อง คนพี่นามว่า “กาลัมภะ” (Karambha) คนน้องชื่อ “รัมภะ” (Rambha) ทั้งสองอสูรปรารถนาที่จะมีพลังอำนาจและความเป็นอมตะ จึงเข้าบำเพ็ญตบะญาณบารมี
อสูรกาลัมภะผู้พี่ เลือกบำเพ็ญในน้ำเย็นถวายแด่พระวรุณเทพ (Varuna Deva) .. ส่วนอสูรรัมภะ เลือกที่จะบำเพ็ญตบะในเพลิงไฟ เพื่อขอพรจากพระอัคนีเทพ (Agni Deva)
องค์อินทร์ .. เข้ามาขัดขวาง แปลงร่างเป็นจระเข้ยักษ์ สังหารอสูรกาลัมภะผู้พี่ในน้ำ
เทพอัคคนี .. เข้ามาช่วยอสูรรัมภะ จนรอดตาย
อสูรรัมภะ .. มีความแค้นเคืองพระอินทร์ จึงคิดจะขอพรจากพระอัคคนี โดยใช้การตัดศีรษะตนเองเป็นเครื่องสังเวย .. พระอัคนีเทพจึงประสาทพรให้เป็นอมตะ ไม่อาจตายได้โดยเทพเจ้า อสูร หรือมนุษย์ แต่ก็แนบท้ายพรไว้ว่า จะมีเพียง "คนตาย" และ “สัตว์” เท่านั้นที่สามารถสังหารอสูรรัมภะได้
อสูรรัมภะ ..หลังได้รับพรอันยิ่งใหญ่ จึงเกิดอาการอหังการณ์ อาละวาดสังหารสรรพสิ่งไปทั่ว
… จนกระทั่งวันหนึ่งมาเจอนางนางควายเผือกที่งดงาม เกิดความรักท่วมท้น จึงแปลงร่างเป็นควายเผือกเข้าไปสมสู่อยู่กินด้วย จนนางควายสาวตั้งท้องขึ้นมา อสูรรัมภะจึงพานางควายท้องแก่เดินทางกลับไปยังเมืองของตน
ด้วยบุญกรรมแต่ปางหลัง .. ระหว่างการเดินทาง ได้พบควายหนุ่มที่กำลังเปลี่ยว จึงเกิดการต่อสู่แย่งชิงนางควายเผือก โรมรันพันตูเป็นเวลายาวนาน ..
… แต่ด้วยอายุที่มากขึ้น พลังที่ลดลง อสูรรัมภะในร่างควายสู้แรงของควายหนุ่มไม่ได้ จึงพลาดท่าถูกควายหนุ่มสังหารจนตาย ดังพรที่ได้รีบมาว่า .. มีเพียงสัตว์เท่านั้นที่จะสังหารได้ (บางตำนานเล่าว่า พระอินทร์ได้ส่งวัชระให้กับควายหนุ่มกลายมาเป็นเขา จนสามารถฆ่ารัมภะอสูร)
ควายหนุ่มวิ่งไล่กวดนางควายเผือกไปถึงประตูเมืองของอสูรรัมภะ .. ทหารในเมืองจึงช่วยกันรุมฆ่าควายหนุ่ม แล้วนำนางควายเผือกท้องแก่และศพของอสูรรัมภะกลับเข้าเมือง
นางควายเผือกได้ให้กำเนิดบุตรชาย ที่สามารถเปลี่ยนร่างเป็นควาย หรือร่างที่หัวเป็นอสูรหรือเป็นควายก็ได้ มีชื่อว่า “มหิงษาอสุรา” (Mahishasura)
ความแค้นที่นำไปสู่วิบากกรรม
มหิงษาอสูร .. สั่งให้สะสมความแค้นจากบิดา จึงส้องสุมไพร่พลกองทัพอสูร รากษส เพื่อเตรียมทำสงครามกับเหล่าเทพเจ้า แล้วบำเพ็ญตบะญาณบารมีเพื่อขอพรอมตะจาก “พระพรหม”
อาจจะฟังดูแล้วแปลกว่า ทำไมเทพเจ้าแทบทุกองค์ของฮินดูจึงต้องให้ทุกครั้ง เมื่อมีการขอพร .. แต่ “พระพรหม” ก็ได้ประสาทพรให้ มหิงษาอสูร ให้เป็นอมตะ ไม่มีสิ่งใดและไม่มีผู้ใดสามารถสังหารได้ แม้แต่เหล่ามหาเทพ เทพเจ้า มหาเทวี มหาฤๅษี มนุษย์ อมนุษย์ หรือสรรพสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่แล้วในสามโลก
แต่เพื่อไม่ให้ดูง่ายเกินไป ก็ต้องพ่วงข้อยกเว้นห้อยไว้ว่า .. ถึงแม้ มหิงษาอสูร จะเป็นอมตะดังที่ได้รับพร แต่จะต้องตายเมื่อถูก “อิสตรี”สังหาร
มหิษาอสูร ก็เขี้ยวไม่เบา .. จึงต่อรองพรแห่งพรหมาว่า ขอให้อิสตรีผู้นั้นจะต้องเกิดโดยผิดปกติวิสัย ไม่ได้ถืออวตารมาจากเหล่าเทพเทวีบนสรวงสวรรค์ อิสตรีนั้นจะต้องมีฤทธาอานุภาพดั่งมหาเทพ มหาเทวี มหาฤๅษีทั้งปวง และมีศาตราวุธทุกอย่างที่เหล่ามหาเทพ มหาเทวี มหาฤๅษีใช้อยู่รวมกัน จึงจะสามารถสังหารตนได้
มหิงษาอสูร ย่ามใจและมีความเชื่อมั่นว่า .. ในสามโลกนี้ จะไม่มีอิสตรีนางใดที่จะมีคุณสมบัติได้เพียบพร้อมดังที่ได้กล่าวขอพรสกัดเอาไว้ได้อย่างแน่นอน ฮ่า ฮ่าๆๆๆ
ด้วยความทะนงตัวว่าจะไม่มีใครฆ่าได้ .. มหิงษาอสูรได้สำแดงฤทธิ์เดช เพื่อให้ทั้งสามโลกประจักษ์ถึงความยิ่งใหญ่ของตน ด้วยการอาละวาด เข่นฆ่าทำลายล้างไปทั้งสามโลก นำกองทัพบุกขึ้นสวรรค์ ทำลายวิมานอินทรา .. ไม่มีเทพเจ้าองค์ใดสามารถต่อกรกับมหิงษาอสูรได้เลย
ภาพจาก Internet
ทวยเทพทั้งหลายเดือดร้อนหนัก จึงรวมตัวกัน หนีมาเข้าเฝ้ามหาเทพ “ตรีมูรติ” เพื่อแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือ
.. เหล่ามหาเทพ มหาเทวี มหาฤๅษี จึงร่วมกันทำ “พิธีสร้างอิสตรี” ผู้ที่จะลงมาปราบ มหิงษาอสูร ตามคำประสาทพรแห่งพระพรหม
.. พระศิวะจึงเปิดพระเนตรที่สามบนพระนลาฏสร้างดวงไฟใหญ่ขึ้นบนท้องฟ้า ร้อนแรงและทรงพลังยิ่งกว่าอำนาจแห่งพระสุริยะ ให้เป็นดัง “ครรภคฤหะแห่งอิสตรี” อันมิได้เป็นปกติวิสัย
.. มหาเทพ มหาเทวี และมหาฤๅษีทั้งหลาย มอบศาสตราวุธและร่วมกับส่งพลังอำนาจเข้าสู่เพลิงครรภ์
.. พระศิวะ ถวายตรีศูล .. พระวิษณุ ถวายจักร .. พระอินทร์ ถวายวัชระ .. อัคนีเทพ ถวายหอก .. พระวรุณเทพ ..ถวายหอยสังข์ .. พระสุริยะ ถวายคันธนูและลูกศร .. พระศรีลักษมี ถวายดอกบัว ฯ
พลิงครรภ์ได้บังเกิด “มหาเทวีทรุคา” (นางกาตยายนี) ผู้มีความงามและแสงสว่างดุจดวงอาทิตย์พันดวง มีสามเนตร 18 กร ถืออาวุธครบมือ .. มีลักษณะของกัลยาผู้ที่สุนทรที่สุดในสามโลก ที่มีอำนาจไม่สิ้นสุด มีกายที่สว่างมาก มีพระเนตร ๓ ดวงที่มีลักษณะเหมือนปัทมา มีพระเกศที่นุ่มสละสลวย มีสีผิวสีทองแดง และมีดวงจันทร์ที่มีขนาดเป็นหนึ่งในสี่ส่วน ๑ ดวงอยู่บนพระนลาฏของพระนาง ประทับอยู่บนหลังสิงโต หรือเสือ .. พระแม่ทุรคาทรงมีเครื่องแต่งกายสีฟ้ามหาสมุทรที่แวววาวและสีแดง
“มหาเทวีทรุคา” เสด็จลงมาท้าทายและเข้าต่อสู้กับมหิษาอสูรที่เชิงเขา “วินธัย” (Vindya) กองทัพมหาอสูรและเหล่าแม่ทัพนายกองได้ถาโถมบุกเข้าใส่พระนางพร้อมกันอย่างฮึกเหิม แต่ด้วยความน่าสะพรึงและโหดร้าย เทวีทุรคาได้ซัดอาวุธที่ได้รับมาจากเหล่าเทพเข้าสังหารอสูรทั้งหมดพร้อมกันในคราวเดียว จนเลือดอสูรานองปัฐพี
.. มหิงษาอสูรในร่างของควายจึงเข้าโจมตี ด้วยความโกรธแค้น .. พระนางก็จับจอมอสูรมัดไว้ด้วยเชือก อสูรหลุดจากพันธนาการเปลี่ยนร่างเป็นสิงโตแล้วกระโจนเข้าใส่ นางทุรคาจึงตัดศรีษะอสูรด้วยดาบ อสูรแทรกร่างออกมาจากส่วนหัวที่ถูกตัดแล้วใช้ดาบเข้าต่อสู้ แต่พระนางก็ตรึงร่างของจอมอสูรด้วยห่าลูกศร อสูรไม่ยอมแพ้กลายร่างเป็นช้างยักษ์แต่ก็ถูกพระนางฟันด้วยดาบจนสาหัส
.. ก่อนตายได้กลับกลายร่างเป็นควายเผือก เทวีทุรคาเนรมิตกายเป็นเสือโคร่งใหญ่กระโจนเข้าตะปบกัดจนควายเผือกสิ้นแรงกลับคืนร่างเป็นอสูร พระนางจึงกลับร่างเป็น “อิสตรี” แล้วใช้ตรีศูลแทงเข้าที่หน้าอก สังหารมหิงษาอสูรได้สำเร็จ
---------------
ครั้งแรกผู้ที่มาร่วมกันสร้างพระแม่ทุรคามหาเทวีคิดแต่จะสังหารจอมอสูรมหิงสางสามโลกเพื่อสันติสุขของสามโลกเท่านั้น
อาจจะลืมคิดไปว่า เมื่อสร้างพระแม่ทุรคามหาเทวีให้มีฤทธิ์เท่ามหาเทพมหาเทวีมหาฤษีรวมกันขึ้นมาแล้ว สักวันหนึ่งถ้าพระแม่ทุรคามหาเทวีเกิดแผลงฤทธิ์ขึ้นมาเหมือนพวกจอมอสูร ก็จะไม่มีผู้ใดที่จะสามารถปราบพระแม่ทุรคาลงได้แน่
แล้วเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น??
เจ้าแม่กาลี พระนางทุรคา และพระนางปาราวตี .. องค์เดียวกันหรือเปล่า?
โฆษณา