Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Supawan’s Colorful World
•
ติดตาม
13 ก.พ. 2023 เวลา 02:24 • ท่องเที่ยว
ทมิฬนาดู (15) … เทวาลัยปัญจปาณฑพรถะ ..ปราสาทหินห้าพี่น้องปาณ
ฉันเป็นแฟนตัวยงของมหากาพย์ “มหาภารตะยุทธ์” ซึ่งเป็นเรื่องที่ว่ากันว่า มีความยาวถึง 1.8 ล้านคำ หรือราวแสนโฉลก .. เป็นเรื่องของการรบระหว่างพี่น้อง 2 ตระกูล คือ ปาณฑพ และเการพ โดยมีผู้ช่วยที่สำคัญ คือ พระวิษณุ ที่ทำให้ฝ่ายปาณฑพ เป็นฝ่ายชนะ..
เมื่อรู้ว่าจะมีโอกาสมาเดินชม ปัญจรถะ หรือเทวาลัยห้าพี่น้องปาณฑพ .. จึงตั้งตารอวันที่จะมาได้เห็น และวันนี้จะขอนำชมสถานที่นี้ค่ะ
ฉันเดินถ่ายภาพจากทางเดินคอนกรีตยกพื้นสูงที่สร้างล้อมรอบพื้นที่ที่อยู่ในระดับต่ำลงไป เพื่อให้ได้ภาพบรรยากาศโดยรวมของหมู่อาคารทั้งหมด
เทวาลัยนี้เรียกอีกชื่อว่า Galaprishthakara (คชปฤษฎาคาร - elephant's back side) .. ช้างสลักหินขนาดเท่าช้างที่มีชีวิต เป็นสิ่งแรกที่แตกต่างและสะดุดสายตาในภาพรวมของหมู่อาคาร .. ช้างตัวนี้สลักจากหินก้อนเดียว มีรูปพรรณที่มองดูแล้วสง่างาม ได้รับการยกย่องว่าเป็นช้างสลักที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่งในอินเดีย
อนึ่ง .. ทิพยบุคคลในศาสนาฮินดู มีความเกี่ยวข้องกับสัตว์ประจำพระองค์ หรือสัตว์พาหนะเสมอ
ช้าง เป็นสัตว์พาหนะของพระอินทร์ .. ช้างหมายถึง เมฆฝน ความอุดมสมบุณณ์
.. เดาๆเองว่า มณฑปข้างๆช้าง เดิมอาจจะสร้างถวายพระอินท์
สิงห์ .. หมายถึงพลังอำนาจ เมื่อตั้งอยู่หน้ามณฑป ก็อาจจะตีความว่า มณฑปนี้สร้างถวาย พระแม่ทุรคา ผู้มีพลังอำนาจกำจัดอวิชชา
ปัญจรถะ (Pancha Pandava Ratha) หรือปราสาทหินห้าพี่น้องปาณฑพ (Five Rathas) .. ความจริงไม่ใช่โบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องของ “มหาภารตะยุทธ์” หรือเป็นความตั้งใจของผู้สร้างกลุ่มอาคารเหล่านี้ในสมัยปัลลวะ แต่อย่างใดเลย
… แต่เป็นเรื่องของคนท้องถิ่น ที่พอมาเห็นอาคารโบราณห้าหลังตั้งเรียงกันจึงผูกโยงเข้ากับพี่น้องตระกูล “ปาณฑพ” วีรบุรุษในมหากาพย์มหาภารตะ ซึ่งเป็นปกรณัมที่ชาวอินเดียรู้จักอย่างดี ..
.. เข้าใจเอาเองว่า ความตั้งใจดั้งเดิมของการสร้างกลุ่มปราสาทนี้ก็เพื่อเป็นการอุทิศถวายแก่ พระศิวะ พระพรหม พระวิษณุ พระอินทร์ และพระนางทุรคา
.. เหตุที่ได้ชื่อ รถะ เนื่องจากกลุ่มปราสาทหินที่นี่ มีลักษณะคล้ายราชรถที่เทวสถานในอินเดียใต้ ใช้ชักลากอัญเชิญเทวรูปจำลองออกแห่แหนในงานเทศกาลประจำปี
แต่ไหนๆมาเดินชมแล้ว แม้จะไม่ได้เข้าไปเกี่ยวโยงกับ พี่น้องปาณฑพ แต่อาคารเหล่านี้ก็ยังมีความน่าสนใจมากอยู่ดี .. ลองตามมาชมกันค่ะ
ความน่าสนใจของกลุ่มปราสาทหินพี่น้องปกณฑพ อย่างแรกคือ .. แต่ละรถะไม่ได้สร้างขึ้นด้วยการก่อหินก้อนเป็นตัวอาคาร แต่ใช้เทคนิคของการ สกัด สลัก หรือคว้าน โขดหินใหญ่ๆก้อนเดียว ให้เกิดเป็นรูปร่างของสถาปัตยกรรมอาคาร
…ซึ่งเมื่อดูจากระดับความสูงของรถะแต่ละหลัง ก็ทำให้อนุมานได้ว่า โขดหินแต่เดิมคงมียอดสูงสุดอยู่ทางใต้ และค่อยๆ ลาดลงไปทางทิศเหนือ
… น่าทึ่งมาก หากจะลองนึกภาพการแกะสลักหินจากภูเขาทั้งลูก เพื่อสน้างสถาปัตยกรรมที่เราเห็นตอนนี้ โดยใช้เพียงเครื่องมือที่ไม่ซับซ้อนอะไรในสมัยโบราณ .. น่าประทับใจมาก
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ .. หลังคาของรถะแต่ละหลังมีลักษณะต่างกันไป
ธรรมราชารถะ และ อรชุนรถะ .. หลังคาเป็นยอดทรงแปดเหลี่ยม
ภีมะรถะ .. หลังคาทรงศาลายาว
สหเทพรถะ .. หลังคาที่ด้านหน้ามีหน้าจั่วแต่ปลายอีกด้านหนึ่งโค้งมน
เทราปตีรถะ .. หลังคาแบบกระท่อมมุงหญ้า
นักวิชาการเชื่อว่า .. เทวสถานเหล่านี้ จำลองอาคารโครงสร้างไม้ ผนังก่ออิฐ ประดับด้วยรูปปูนปั้นที่อยู่ในสมัยปัลลวะ จึงเรียกที่นี่ว่า “พิพิธภัณฑ์อาคารสมัยปัลลวะ”
… เพราะกลุ่มอาคารเหล่านี้ สามารถทำให้มองย้อนไปถึงรูปแบบอาคารในยุคพันสองร้อยปีก่อนได้
อาคารเหล่านี้ถูกฝังอยู่ใต้ผืนทรายแห่งกาลเวลามาเนิ่นนาน จนกระทั่งชาวอังกฤษได้ค้นพบสิ่งเหล่านี้ และมีการขุดแต่งในเวลาต่อมา
ผังของกลุ่มโบราณสถานแห่งนี้
โบราณสถานหินสกัดแห่งแรกที่จะพบ คือ .. เทราปตีรถะ (Draupadi Ratha) เป็นเทวาลัยหลังเล็กที่สุด (ทางซ้ายของภาพ) และเสร็จสมบูรณ์มากที่สุด
.. เรียกชื่อตามนางผู้เป็นสหภรรยาของห้าพี่น้อง เนื่องจากมีภาพสลักเป็นรูปเทพสตรีอยู่ภายใน ..
แต่จากการศึกษารายละเอียด พบว่าที่จริงเป็นภาพพระนางทุรคา ปางหนึ่งของพระนางปารวตี ชายาของพระศิวะ และด้านซ้ายของภาพสลัก มีรูปชายกำลังรวบมวยผมของตน และอีกด้านเป็นรูปชายที่พนมมือเหมือนกำลังทำสาธุการ ส่วนด้านบนเป็นภาพคนแคระ
เรื่องของนางทุรคา เราได้รู้ไปแล้ว จึงขอนำเนื้อความที่ไกด์ของเราเคยเขียนไว้มาเล่าต่อนะคะ
นวฆัณฒัม / การพลีร่างกายแด่พระแม่ฆัตตรไว
... "นวฆัณฒัม" เป็นภาษาทมิฬหมายถึงการตัดแบ่งร่างกายออกเป็นเก้าส่วน เป็นพิธีกรรม "นรพลี" หรือพลีร่างกายของตนเองเพื่อบูชาแด่ "พระแม่ฆัตตรไว" หรือที่รู้จักกันในภายหลังว่า "พระแม่ทุรคา"
"พระแม่ฆัตตรไว" ในสมัยก่อน ถูกบูชาเป็นเทพท้องถิ่นของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ๆแห้งแล้งกันดารของดินแดนที่ปัจจุบันก็คือรัฐทมิฬนาฑู ที่ชาวบ้านในสมัยนั้นต้องคอยระแวดระวังปกป้องทรัพย์สินและพืชพันธุ์ธัญญาหารของตนเองจากโจรขโมยที่เข้ามาจี้ปล้นซ้ำเติม เนื่องจากผืนดินที่ทำการเกษตรและหมู่บ้านของตนนั้นแห้งแล้งอยู่แล้ว ภายหลังจึงถูกยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งสงครามและความอุดมสมบูรณ์ของพืชผล
1
"นวฆัณฒัม" หรือพิธีการตัดร่างกายออกเป็นเก้าส่วนเพื่อเป็นยัญญนรพลี เพื่อให้ได้รับชัยชนะในการศึกสงคราม เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของดินแดน เพื่อที่สามีจะได้หายป่วยและมีอายุยืน หรือในการบูชาเมื่อสิ่งที่ร้องขอแด่พระแม่ฯนั้นสมปรารถนา
โดยพิธีนี้เป็นที่นิยมกระทำกันในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8-12 ในทุกๆราชวงศ์แห่งอินเดียใต้ อันได้แก่ ปัลลวะ, โจฬะ, ปาณฑยะ และเจระ ฯลฯ และมีรายงานล่าสุดพบว่ายังมีการกระทำพิธีนี้ในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้
มีหลักฐานปรากฎอยู่ตามภาพแกะสลักตามเทวาลัย และปรากฎอยู่บนแผ่นหิน "วีระกัลลุ" (Hero Stone / แผ่นหินที่สลักและตั้งอยู่ตามสถานที่เพื่อระลึกถึงบุคคลผู้กล้าหาญ ที่ยอมอุทิศตนในการสงคราม, การปกป้อง, การพลีบูชาต่างๆ)
"นวฆัณฒัม" นี้มีปรากฎอยู่ในวรรณกรรมของทมิฬอยู่หลายเรื่อง เช่นในเรื่อง มณีเมฆาลัย และกลิงคถุปารานิ และพบจารึกที่เทวาลัยกาลี ณ ตำบลมัลลัล ที่บันทึกเหตุการณ์ในสมัยพระเจ้ากุโลตุงคะโจฬะที่ 1 (ค.ศ. 1070-1120) ที่มีแม่ทัพท่านหนึ่ง ได้บนบานต่อพระแม่ฯให้พระราชาหายจากอาการบาดเจ็บการการทำสงคราม และเมื่อพระองค์หายดีแล้ว แม่ทัพคนนั้นก็ได้มากระทำพิธี "นวฆัณฒัม" นี้ต่อหน้าเทวรูปองค์พระแม่ฯ และพระราชาก็ได้พระราชทานที่ดินและยกเว้นภาษีให้กับครอบครัวของแม่ทัพผู้ยอมพลีชิวิตตนเองแด่พระแม่ฯ โดยเหตุแห่งท่าน
พิธี "นวฆัณฒัม" นี้มีปรากฎอยู่ในมหากาพย์มหาภารตะ ในตอนการรบที่ทุ่งกุรุเกษตร ในราตรีที่ 8 แห่งการรบ ที่ฝ่ายปาณฑพได้ทำการพลี "อิราวาณ" บุตรชายแห่งอรชุนกับนางนาคอุลูปี แด่พระแม่กาลี เพื่อชัยชนะในการรบเหนือฝ่ายเการพ
Ref : ไกด์โอ พาเที่ยว
ศาสนาพุทธ ก็มีเรื่องที่คล้ายกัน คือเรื่อง “พระอนาคตวงศ์” ซึ่งแพร่หลายตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาแล้ว พระอนาคตวงศ์หรือที่เรียกในคัมภีร์ว่า “ทสโพธิสัตตุนิทเส” หรือ “ทศโพธิสัตตุปัตติกถา”
เรื่องพระอนาคตวงศ์นี้ได้ส่งผลให้ผู้คนในยุคนั้นยึดถือเอาการสละชีวิตเพื่อบูชาพระรัตนตรัย แลกเอาพระนิพพาน คงถือเป็นบุญกิริยาอันใหญ่หลวง และเป็นเรื่องน่าเลื่อมใสศรัทธา
“ลัทธิอนาคตวงศ์” เข้มข้นมากในสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงตำหนิและประกาศเตือนถึงผู้คนที่ยังยึดคติความเชื่อนี้ว่าไม่ควรกระทำเป็นอันขาด ดังความว่า
“ได้ฟังคำเล่าลือ แลได้ฟังพระสงฆ์บางรูปที่ไม่ได้เล่าเรียนศึกษาพระไตรปิฎกธรรมให้รู้จริงมาเทศนาเลอะ ๆ ลาม ๆ ใกล้จะเสียจริต พรรณาสรรเสริญว่าเป็นบุญเป็นกุศลมาก แล้วหลงใหลเห็นตามไป เหมือนอย่างเผาตัวบูชาพระรัตนตรัยแลเชือดคอเอาศีรษะบูชาพระ เชือดเนื้อรองเลือดใส่ตะเกียงตามบูชา…
.. ตั้งแต่นี้สืบไปอย่าให้ใครเผาตัวบูชาพระ ตัดศีรษะบูชาพระ เชือดเนื้อรองโลหิตตามตะเกียงบูชาพระเลยเป็นอันขาด เพราะว่าเปนการขัดต่อราชการแผ่นดิน… ผู้ซึ่งได้รู้เห็นแลจะนิ่งดูดายเสียไม่ห้ามปราม หรือจะพลอยเห็นว่าได้บุญได้กุศลนั้นไม่ได้ ถ้าผู้ใดได้รู้เห็นแล้วดูดายเสีย ไม่ว่ากล่าวห้ามปรามแย่งชิงเครื่องศัสตราวุธ… จะให้ผู้นั้นเสียเบี้ยปรับตามรังวัด…”
ในสมัยรัชกาลที่ 4 นี้เองที่แนวคิดหรือกระแส “เหตุผลนิยม” ของพุทธศาสนาสมัยใหม่แบบธรรมยุติกนิกายแพร่หลาย ทำให้ “ลัทธิอนาคตวงศ์” ลดความสำคัญลงไป แต่มิได้หายไปจนหมดสิ้น
Ref :
https://www.silpa-mag.com/history/article_65907
จิตรกรรม พระเจ้าสังขจักรตัดศีรษะถวายพระพุทธเจ้า ภาพเขียนวัดในกลาง จ.เพชรบุรี
อรชุนรถะ (Arjuna Ratha)
หลังถัดมาคือ “อรชุนรถะ” ตั้งชื่อตาม “อรชุน” วีระบุรุษคนสำคัญในมหาภารตะ
.. เป็นเทวาลัยผังสี่เหลี่ยมจตุรัส ตัวรถะสลักให้ชั้นล่างมีขนาดสัดส่วน สำหรับคนจริง ๆ เข้าไปใช้งาน
ชั้นหลังคาสลักหินเลียนแบบชั้นล่าง แบบย่อส่วนขึ้นไปซ้อน ๆ กันเอาไว้ ให้เล็กลงตามลำดับ … อันเป็นเทคนิคของช่างโบราณ ในการสร้างมิติลวงตาว่าที่เห็นอยู่นี้มีหลายชั้น
เทวาลัยนี้ เดิมคงสร้างเพื่ออุทิศถวายแก่พระศิวะ ..
มีก้อนหินแกะสลักรูปโคนนทิ หันหน้าเข้าหามณฑป
ภีมะรถะ (Bhima Ratha)
ทวาลัยทรงสี่เหลึ่ยมผืนผ้า อุทิศแก่พระวิษณุ
มีหลังคาทรงโค้ง รถะหลังนี้ตั้งชื่อตามภีมะ "ผู้ทรงพลัง" เพราะรูปทรงที่ดูหนักแน่นมั่นคง
จากอีกมุมหนึ่ง
ชั้นล่างของภีมะรถะยังไม่ได้ขุดเจาะเข้าไปเป็นห้อง
ธรรมราชารถะ (Dharmaraja Ratha)
รถะหลังสูงสุด อุทิศแก่เทพเจ้าหลายองค์ รวมถึงเทพแห่งดวงอาทิตย์ (Surya - สุริยา) และ เทพแห่งฝนและพายุ (Indra) ตามความเชื่อในศานาฮินดู
เนื่องจากเป็นรถะที่สูงที่สุด จึงได้รับชื่อว่า ธรรมราชา ซึ่งหมายถึงยุธิษฐิระ พี่ชายคนโตของพี่น้องปาณฑพ
นกุล-สหเทพรถะ (Nakula - Sahadeva Ratha)
นกุล-สหเทพรถะ เทวาลัยหลังสุดท้าย อุทิศแก่เทพแห่งฝนและพายุ (Indra) ลักษณะพิเศษคือ ผังอาคารที่ด้านหน้าเป็นรูปจั่วตัดตรง แต่ด้านหลังโค้งมน อยู่ถัดจากรูปแกะสลักช้าง ซึ่งหากเข้ามาทางประตูด้านเหนือ จะเห็นบั้นท้ายอันกลมกลึงของช้างก่อน
2 บันทึก
1
1
5
2
1
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย