13 ก.พ. 2023 เวลา 03:16 • ข่าวรอบโลก

เกร็ดที่มาของกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน ไทย – สหภาพยุโรป

ชวนฟังเกร็ดที่มาของกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านไทย – สหภาพยุโรป และวิเคราะห์ผลประโยชน์ไทยกับอธิบดีกรมยุโรป
หลังจาก Blockdit ของเราได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับการลงนามกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านไทย - อียู (Thailand - EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ไปแล้ว วันนี้ ผมจะมาเล่าเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาสั้น ๆ ของการจัดทำกรอบความตกลง PCA และค้นหาคำตอบว่าไทยจะได้รับประโยชน์อะไรจากกรอบความตกลงฯ นี้ จากบทสัมภาษณ์ของอธิบดีอสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป ในรายการบันทึกสถานการณ์ครับ
ทุกท่านสามารถรับฟังการให้สัมภาษณ์ผ่านรายการบันทึกสถานการณ์ย้อนหลังได้ที่: https://fb.watch/hRS-IwW0hL/ (นาทีที่ ๓๐.๑๘)
ท่านอธิบดีอสิฯ เล่าสั้น ๆ ถึงที่มาและประวัติศาสตร์ของกรอบความตกลง PCA ที่ใช้ระยะเวลาจัดทำยาวนานถึง ๑๘ ปี โดยเริ่มจากอียูเข้ามาตั้งคณะผู้แทนในไทยเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี ๒๕๒๑ จากนั้น ไทยและอียูเริ่มเจรจากรอบความตกลง PCA ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ ซึ่งใกล้จะบรรลุผลแล้วในปี ๒๕๕๖ แต่สถานการณ์การเมืองของไทยขณะนั้นทำให้การเจรจาหยุดชะงัก
จนกระทั่งมีการเลือกตั้งในปี ๒๕๖๒ จึงรื้อฟื้นการเจรจาขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมทั้งมีการรวบรวมประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายสนใจส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือขึ้นใหม่ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การค้าดิจิทัล และการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของสตรีและเด็ก ซึ่งการเจรจารอบนี้ใช้ระยะเวลา ๒ ปี โดยมีการลงนามร่างกรอบความตกลงดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๕ ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน – อียู สมัยพิเศษ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
การลงนามร่างกรอบความตกลง PCA ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม (ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ)
อธิบดีอสิฯ เปรียบกรอบความร่วมมือ PCA ให้เข้าใจได้ง่ายว่า เป็นเสมือนการกำหนดแขนความร่วมมือระหว่างไทยและอียูเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกันในทุกด้าน ในขณะเดียวกัน เอกสารฉบับนี้ก็เป็นเครื่องรับประกันว่า ไทยมีค่านิยมและมาตรฐานต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับอียู ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เท่าเทียมและเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ที่จะนำไปสู่การเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย – อียู ต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ ไทยยังได้รับประโยชน์จากกรอบความตกลง PCA ในด้านต่าง ๆ อาทิ (๑) การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับสากล สอดคล้องกับมาตรฐานโลก (๒) การถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศจากอียู ทำให้ไทยเข้าถึงเงินทุนด้านการวิจัย และโครงสร้างส่งเสริม
ขีดความสามารถต่าง ๆ (๓) การเปิดโอกาสให้ไทยได้นำเสนอแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ในสาขาที่ไทยเชี่ยวชาญ เช่น ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น และ (๔) การสะท้อนค่านิยมว่าไทยเป็นหุ้นส่วนใกล้ชิดและไว้ใจได้ของอียู โดยยึดถือค่านิยมร่วมกัน
หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทยลงนามความตกลง PCA ร่วมกับฝ่ายอียู (ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ)
อธิบดีอสิฯ เห็นว่า การเจรจาความตกลงครั้งนี้ก็ถือว่ามีความท้าทายและแตกต่างจากครั้งอื่น เพราะเกี่ยวข้องกับความร่วมมือรอบด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการประมงผิดกฎหมาย รวมถึงความร่วมมือด้านใหม่ ๆ อาทิ การค้าดิจิทัลและระบบอาหารที่ยั่งยืน ทำให้ต้องประสานกับหน่วยงานจำนวนมากเพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ครอบคลุมทั้งหมดอย่างแท้จริง โดยจะต้องเจรจาให้ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นอยู่ในขอบเขตที่ไทยปฏิบัติได้ด้วย
ทั้งนี้ การเจรจาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงโควิดทำให้ไม่สามารถพบปะพูดคุยกันได้ จึงต้องเจรจาผ่านระบบการประชุมออนไลน์เท่านั้น
อย่างไรก็ดี แม้จะพบกับความท้าทายที่หลากหลาย แต่การเจรจาก็บรรลุผลและนำไปสู่การลงนามในที่สุด เหลือเพียงขั้นตอนสุดท้าย คือ การเรียนเสนอกรอบความตกลงดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศมีแผนที่จะเปิดให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมก่อนด้วย
กล่าวได้ว่า ความตกลง PCA เป็นการยกระดับการบริหารจัดการในหลากหลายสาขา ที่จะส่งผลให้เกิดการปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น และเป็นการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทย – อียู คู่ค้าสำคัญของไทย ดังนั้น เราอาจจะได้มูลค่าทางการค้าไทย – อียู และการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างสองฝ่ายเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมได้รับประโยชน์ทางอ้อมด้วยเช่นกัน
นอกจากไทยแล้ว อียูยังจัดทำกรอบความตกลง PCA กับอีก ๕ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย โดยมาเลเซียเพิ่งลงนามพร้อมไทยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
แม้ว่าภารกิจการเจราจาจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน และกระทรวงการต่างประเทศต้องรับบทบาทหลักในการนำการเจรจาและประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น ๕๕ หน่วยงาน แต่อธิบดีอสิทิ้งท้ายว่า ไม่ได้รู้สึกหนักใจแต่อย่างใด เพราะทุกหน่วยงานก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของไทย
การประชุมเพื่อเตรียมการการเจรจาจัดทำกรอบความตกลง PCA ไทย-อียู (รอบที่ ๑) (ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ)
นายสิรภพ เดชะบุญ
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
โฆษณา