14 ก.พ. 2023 เวลา 12:00 • ธุรกิจ

ธุรกิจปรุงน้ำหอมในอิตาลีคึกคัก

หากกล่าวถึงธุรกิจการปรุงน้ำหอม (Artistic perfumery) โดยเฉพาะน้ำหอมเฉพาะกลุ่ม (Niche brand) ในตลาดความงามทั่วโลกยังคงเติบโตต่ำกว่า 2% ในขณะที่น้ำหอมที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่ผลิตจากดีไซเนอร์แบรนด์ (Designer brand) ยังคงมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ค่าเฉลี่ยเติบโตประมาณ 10% ใน หลายประเทศ)
โดยในปี 2565 น้ำหอม Niche brand ของอิตาลีมีมูลค่าการค้ามากกว่า 310 ล้านยูโร ซึ่งคิดเป็น 2.7% ของธุรกิจความงามของตลาดในประเทศของอิตาลีหรือราว 14% ของมูลค่าการจำหน่ายน้ำหอมในช่องทางต่างๆ และราว 30% ของมูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องหอมทั้งหมด
น้ำหอม Niche brand มักเป็นน้ำหอมจากกลุ่มผู้ผลิตขนาดเล็ก ที่สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวแก่สินค้าที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ที่หลงใหลการค้นหาและเลือกกลิ่นเครื่องหอมที่กระตุ้นความรู้สึกให้ตัวเองสดชื่นและรื่นรมย์ได้อย่างแม่นยำด้วยความเฉพาะเจาะจงของกลิ่นที่ปรุงแต่งมาอย่างบรรจง แม้แต่บรรจุภัณฑ์ก็ยังโดดเด่นด้วยงานฝีมืออันประณีต เพราะการผลิตที่มีจำนวนน้อยกว่าน้ำหอม Designer brand ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบฉลากติดด้วยมือ บรรจุภัณฑ์จากกระดาษหรือ ผ้า ฝาขวดทำด้วยไม้หรือหุ้มขวดด้วยหนัง
ความแตกต่าง 5 ประเด็นที่สำคัญระหว่างน้ำหอม Niche brand และ Designer brand
1. การผลิต (Production)
น้ำหอม Designer brand สำหรับคนทั่วไปมีการผลิตจำนวนมาก จำหน่ายทั่วไปในเกือบทุกสาขาของห้างสรรพสินค้า แต่น้ำหอม Niche brand ผลิตในห้องปฏิบัติการที่มีการผลิตจำนวนจำกัด สำหรับกลุ่มลูกค้าเฉพาะที่มีกำลังซื้อสูง เนื่องจากมีราคาแพง มีจำหน่ายเฉพาะในร้านน้ำหอมและบูติกเฉพาะเท่านั้น
2. ความแตกต่าง (Difference)
นักปรุงน้ำหอม Niche brand ไม่มีความมุ่งหมายการตลาดขนาดใหญ่ เนื่องจากน้ำหอมที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นการแสดงออกทางศิลปะ ในทำนองเดียวกันผู้ซื้อน้ำหอมเป็นลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ก็แตกต่างจากคนทั่วไป ที่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกและรสนิยมที่มีความเป็นส่วนตัว
3. ความพิเศษ (Exclusivity)
น้ำหอมแต่ละชนิดปรุงขึ้นจากประสบการณ์และความใส่ใจ สามารถสร้างชื่อเสียงและเป็นการโฆษณาตัวเองที่ดีที่สุด และการทำตลาดด้วยการบอกผ่านปากต่อปาก เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเรื่องราวและให้ความสำคัญกับความรู้สึกผสมผสานกับความเชี่ยวชาญและรู้จักทำของนักปรุงน้ำหอม
4. อิสระในการแสดงออก (Freedom of expression)
นักปรุงน้ำหอมทำงานอย่างอิสระ จากแรงผลักดันเพื่อสร้างงานศิลปะ (น้ำหอม) และความปรารถนาที่จะแสดงประสบการณ์ที่ยาก (การรู้จักกลิ่นจากการดม) ทำให้น้ำหอมไม่จำเป็นต้องตอบสนองต่อตรรกะทางการตลาด เพราะไม่ได้มุ่งผลิตสำหรับกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่
5. คุณภาพ (Quality)
การเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพเยี่ยมและความเข้มข้นที่เป็นลักษณะเฉพาะ
บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ดัง ก็เริ่มหันมาแตกแขนผลิตภัณฑ์ด้วยการเข้าซื้อกิจการน้ำหอม Niche brand นอกเหนือจากการจำหน่ายน้ำหอมแบบดั้งเดิม เช่น
 
- กลุ่ม Estée Lauder (ยี่ห้อ Kilian, Le Labo, Frederique Malle)
- กลุ่ม Puig (ยี่ห้อ L’Artisan Parfumeur, Penhaligon’s) กลุ่ม L’Oréal (ยี่ห้อ Atelier Cologne)
- กลุ่ม LVMH (ยี่ห้อ Maison Francis Kurkdjian หรือ MFK)
กลุ่มเหล่านี้พยายามรักษาเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ไว้ไม่ให้ลดระดับและชื่อเสียงลง แต่ยังคงทำมูลค่าการค้าที่สูงได้
น้ำหอม Niche brand สามารถแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่ม
1. แบรนด์ที่ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปีทศวรรษที่หกสิบ (1960)
ยี่ห้อ OFFICINA PROFUMO-FARMACEUTICA DI SANTA MARIA NOVELLA / CARTHUSIA / FLORIS / CREED / PEHNALIGON’S / HOUBIGANT / LUBIN / ROBERT PI GUET / MOLINARD / ACQUA DI GENOVA / COUDRAY / JOVOY / CARON / ISABEY PARIS / LORENZO VILLORESI
2. แบรนด์ที่ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปีทศวรรษที่เจ็ดสิบ (1970)
DYPTIQUE / L’ARTISAN PARFUMEUR / GOUTAL / XERJOFF / BRUNO ACAMPORA PROFUMI / LORENZO VILLORESI / CALE’ / LABORATORIO OLFATTIVO / MARIA CANDIDA GENTILE / KILIAN / ESCENTRIC MOLECULES / MAISON FRANCIS KURDJIAN / MONTALE /PARFUMERIE GENERALE / NICOLAI
3. แบรนด์ที่เกิดในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหวังว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องต่อไป
THE MERCHANT OFVENICE / AGONIST / ATELIER COLOGNE / MONOM / MEO FUSCIUNI /FRANCESCA DELL’ORO / JUS / AGONIST / ATELIER DES OR / FUEGUIA / PIERRE GUILLAUME / INEKE / URBAN SCENT / JULE ET MAD / LUCIEN FERRERO /LM PARFUMS / NASOMATTO และที่เป็นแบรนด์ของคนไทย ได้แก่ DUSITA
ธุรกิจน้ำหอมได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานแสดงสินค้าต่างๆในอิตาลี ซึ่งได้มีการจัดขึ้นครั้งแรกในงานแสดงน้ำหอมนานาชาติ Pitti Fragranze ในปี 2545 ณ เมืองฟลอเรนซ์และตามมาด้วยงานแสดงน้ำหอมนานาชาติ Esxence ณ เมืองมิลาน ในปี 2552
ซึ่งงานแสดงน้ำหอม Esxence (The Art Perfumery Event) เป็นงานระดับโลกสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงการปรุงน้ำหอม โดยในปี 2566 นับเป็นการจัดงานครั้งที่ 13 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มีนาคม - 2 เมษายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมภายในอาคาร Allianz MiCo ใจกลางเมืองมิลาน เพื่อต้อนรับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักปรุงน้ำหอม ผู้ผลิตผู้จัดจำหน่ายและผู้ที่หลงใหลในกลิ่นให้มีโอกาส ทำความรู้จักกับนวัตกรรมของยี่ห้อที่เกิดใหม่และผลงานสร้างสรรค์ที่ส่วนใหญ่ (70%) มาจากต่างประเทศ
งาน Esxence ถือเป็นช่องทางสำคัญในการเปิดตัวแบรนด์น้ำหอมให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล เนื่องจากเป็นงานเปิดตัวน้ำหอมระดับสูงโดยผู้ผลิตน้ำหอมที่เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงของโลกจะมานำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆจากการวิจัยและคัดสรร และการนำเสนอวัฒนธรรมการดมกลิ่นน้ำหอมที่ดั้งเดิมและซับซ้อนที่สุดและยังมีการตัดสินแนวโน้มของกลิ่นที่จะออกสู่ตลาดในฤดูกาลต่อไป
โดยในปีนี้จะมีแบรนด์น้ำหอมต่างๆจาก 30 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมมากกว่า 280 แบรนด์ ซึ่งบางประเทศเป็นผู้ผลิตหน้าใหม่ ได้แก่ คาซัคสถาน สิงคโปร์ ยูเครน โรมาเนียโครเอเชีย นอกเหนือจาก แบรนด์ดั้งเดิมอย่าง อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน กรีซ ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น ฮังการี และฮ่องกง ที่มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักดีแล้วในแวดวงน้ำหอม
ความคิดเห็นของ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ มิลาน
1. ธุรกิจน้ำหอมในไทยเริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้งและมีแบรนด์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นหลายแบรนด์เป็นน้ำหอมในกลุ่มเฉพาะที่ถูกรังสรรค์โดยสุคนธกรชาวไทยหน้าใหม่ ที่มีโอกาสจะโลดแล่นในระดับนานาชาติได้
เนื่องจากไทยเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบที่สำคัญและมีคุณภาพที่เป็นสารตั้งต้นสำหรับกลิ่น และน้ำมันหอมระเหยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเทศ ดอกไม้ ผลไม้ที่สามารถนำมาแปรรูปและสกัดเป็นสารตั้งต้นในส่วนผสมของน้ำหอม หรือไม้หายากอย่างกฤษณา (OUD) ที่มีคุณสมบัติช่วยให้น้ำหอมมีกลิ่นติดทนนานที่ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างมาก
2. ในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าในกลุ่มน้ำหอม (HS Code 3303) ไปทั่วโลกมูลค่า 62.04 ล้านเหรียญ สหรัฐฯขยายตัวเพิ่มขึ้น 297.65% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีมูลค่า 15.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (การส่งออกในปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มูลค่า 113.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
โดยการส่งออกสินค้าในกลุ่มน้ำหอมมายังอิตาลี มูลค่า 136,772 เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 591.40% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งมีมูลค่าเพียง 19,782 เหรียญ สหรัฐฯ แต่หากเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2562 ไทยส่งออกสินค้ารายการหัวน้ำหอมและน้ำหอมมายังอิตาลีถึง 571,183 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าในอนาคตอันใกล้ แนวโน้มการส่งออกสินค้าในกลุ่มน้ำหอมจะกลับมาเติบโตได้ใกล้เคียงในช่วงก่อนการเกิดระบาดของโควิด-19 แน่นอน
3. อิตาลีเป็นตลาดที่กลุ่มผู้ซื้อมีกำลังซื้อสูง และยอมใช้จ่ายเงินเพื่อผลิตภัณฑ์เครื่องหอมที่มีคุณภาพและเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างแท้จริง แม้จะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ผลิตภัณฑ์หัวน้ำหอมและน้ำหอมไทยจึงยังมีศักยภาพในการเข้าตลาดสูง
ซึ่งการเข้าเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าที่เป็นศูนย์กลางการรวมตัวของนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องจากทั่วโลกในแวดวงน้ำหอมอย่าง งาน Esxence ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 2 เมษายน 2566 นี้ก็จะเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการไทสามารถเข้าร่วมนำเสนอแบรนด์ ศึกษาหาข้อมูลพฤติกรรม ผู้บริโภค แนวโน้มตลาดนวัตกรรม และรายละเอียดที่เป็นประโยชน์ต่อการผลิตน้ำหอมได้
อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการพบปะนักธุรกิจรายสำคัญของโลก ที่หากผู้ประกอบการไทยสามารถประสานความร่วมมือในการเสาะหาวัตถุดิบ หรือเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตได้ก็จะเป็นการเพิ่มมูลค่าการค้าให้กับสินค้าไทยให้อยู่ในระดับสูงขึ้น
Reference
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน
โฆษณา