14 ก.พ. 2023 เวลา 05:00 • สิ่งแวดล้อม

นกเงือกปากดำ (Bushy-crested Hornbill)

Anorrhinus galeritus (Temminck)
ลักษณะทั่วไป เป็นนกขนาดใหญ่ (87-89) ตัวเต็มวัยตัวผู้ลำตัวสีดำ หัวมีหงอนขนสีดำปากสีดำประมาณสองในสามของหางเป็นสีเทาแกมน้ำตาล ปลายหางสีดำ ตัวเมียต่างจากตัวผู้ตรงที่โหนกแข็งเล็กกว่าของตัวผู้ ผิวหนังบริเวณคอหอยสีน้ำเงิน วงรอบเบ้าตาสีน้ำเงินหรือขาว
บางตัวปากเป็นสีงาช้าง ตัวไม่เต็มวัยลำตัวมีลายแต้มสีน้ำตาล ท้องสีขาว ทั่วโลกมีนกเงือกปากดำ 3 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 1 ชนิดย่อยคือ Anorrhinus galeritus carinatus (Blyth) พบเฉพาะทางภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชจนถึงใต้สุดของประเทศ
อุปนิสัยและอาหาร อาศัยอยู่ตามป่าดงดิบชื้น ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั้งความสูง 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์พบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ นกเงือกปากดำร้องเสียงแหลมและดังไปไกล อาหาร ได้แก่ ผลไม้ โดยเฉพาะลูกไทร ลูกหว้า และลูกตาเสือ นอกจากนี้มันยังกินสัตว์ขนาดเล็กที่อยู่ตามพื้นดิน เช่น หนู กิ้งก่า ปู เป็นต้น
การผสมพันธุ์ นกเงือกปากดำผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อน
ทำรังตามโพรงต้นไม้ ชีววิทยาการสืบพันธุ์อื่น
ไม่แตกต่างจากนกเงือกสีน้ำตาล ยกเว้นไข่ของนกเงือกปากดำมีขนาดใหญ่กว่า นกเงือกปากดำมีพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่คล้ายคลึงกับนกเงือกสีน้ำตาล คือในช่วงที่ตัวเมียและลูกนกยังอยู่ในโพรง จะมีนกเงือกปากดำอย่างน้อย 3 ตัว และอาจมากถึง 5 ตัว ช่วยพ่อนกหาอาหารมาป้อนเกือบตลอดทั้งวัน
แต่ที่แตกต่างจากนกเงือกสีน้ำตาลคือตัวที่มาช่วยมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับชีววิทยาการสืบพันธุ์แบบนี้ชัดเจนนัก ตัวที่มาช่วยอาจเป็นนกในครอบครัวเดียวกันที่เกิดเมื่อ 1-2 ปีก่อน หรืออาจเป็นตัวผู้หรือตัวเมียอื่นที่ยังไม่ได้ผสมพันธุ์ในฤดูผสมพันธุ์นั้น
ภาพ : สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ - ป่าฮาลาบาลา
ข้อมูลจาก : สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (สงขลา)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา