14 ก.พ. 2023 เวลา 01:02 • ท่องเที่ยว

ทมิฬนาดู (18) .. กลุ่มเทวาลัยถ้ำหินขุดบนเขา (3)

ปริศนา โขดหิน “บำเพ็ญตบะ” .. Descent of the Ganges "เมื่อสายน้ำคงคา ไหลหลั่งลงจากสวรรค์ มาสู่พิภพโลก"
หน้าผาหินแกะสลัก มรดกโลก เมืองมามัลละปุรัม รัฐทมิฬนาฑู ซึ่งเรียกว่า “ภาพแกะสลักอรชุนบำเพ็ญตบะ” (Arjuna’s Penance) ที่หน้าผาหินธรรมชาติของเนินเขากลางเมือง ขนาดใหญ่ยาว 29 เมตร สูง 13 เมตร โดยช่างสมัยปัลลวะ มาสลักภาพเล่าเรื่องตกแต่งไว้ ในสมัยพระเจ้านรสิมหวรมัน (Narasimhavarman 1) แห่งอาณาจักรปัลลวะ (ครองราชย์ในปีค.ศ. 630-668)
ภาพสลักบนโขดหินฝั่งทิศเหนือ แสดงเรื่องราวของการบำเพ็ญตบะที่มีพระศิวะพร้อมภูติคณะ (Bhuta Gana) อยู่กึ่งกลาง .. ประกอบด้วยรูปศิลปะของพระสูริยเทพ พระจันทราเทพ ภาพเทวดาชาย –หญิง ในคติมิถุน – ความอุดมสมบูรณ์ (Mithuna) กินนร – กินรี (Kinnara) คนธรรพ์ (Gandharva) ฤๅษี (ป่าหิมพานต์-เชิงเขาไกรลาส โขลงช้าง ฝูงลิง แมวบำเพ็ญตบะ-หนูบริวาร เสือ เสือในถ้ำ สิงโต กระต่าย ตุ๊ดตู่ นก หมู ฝูงกวาง เต่า นายพรานและคนสลักหิน
ช่องรอยแยกตรงกลางของก้อนหินใหญ่ สลักเป็นรูปพญานาค (นาคราชา) นาคเทวี (นาคิณี) และบริวารขึ้นมาจากด้านล่างของช่องแยก
ภาพสลักนี้สันนิฐานกันเป็นสองนัย ว่า .. เป็น “ภาพอรชุนบำเพ็ญตบะ” (Arjuna’s Penance)
ส่วนความเห็นอีกด้านหนึ่ง เชื่อว่าเป็นภาพ “พระแม่คงคาเสด็จสู่โลกมนุษย์” (The Descent of the Ganga)
ความเชื่อแรก : อรชุนบำเพ็ญตบะ (Arjuna’s Penance) เพื่อการขอพรจากองค์พระศิวะ
ดูจากภาพสลักของพระศิวะ 4 กร ที่รายล้อมด้วยภูติคณะ แสดงท่าประทานพร ให้แก่รูปบุคคลร่างกายซูบผอม ยืนขาเดียวยกแขนเอามือประสานกันเหนือศีรษะ แหงนหน้ามองขึ้นด้านบน ที่
ภาพนี้ถูกตีความว่าเป็น “อรชุน” ใน "กีราตะอรชุนียะมูรติ" (Kirātārjunīya Murti) มาบำเพ็ญตบะที่ป่า “อินทรากีรา” (Indrakeela) เชิงเขาหิมาลัย เพื่อขอ "ปาศุปัตศาสตรา” (Pashupatastra) จากพระศิวะ ไปใช้ในสงครามทุ่งกรุเกษตร (มหาภารตะยุทธ)
แต่ ... ด้วยเพราะที่ด้านล่างของภาพสลัก มีรูปของการบำเพ็ญตบะมากกว่า 1 คน และภาพพระฤๅษีดาบสจำนวนมากโดยรอบมณฑปพระวิษณุ อีกแนวคิดจึงตีความว่าเป็นเรื่อง “กำเนิดแห่งแม่น้ำคงคา” (Descent of the Ganges) หรือ “คงคาธรมูรติ” (Gangadhara Murti) ที่เล่ากันว่า แต่เดิมนั้นแม่น้ำคงคาอยู่บนสวรรค์ ไม่ได้ไหลอยู่บนโลก
อีกหนึ่งการตีความ
ในอดีตมีมหาราชาพระนามว่า “ท้าวสัคระ”(Sagara) แห่งราชวงศ์อิษวากุ (Ikshvaku Dynasty) มีมเหสีเพียง 2 พระองค์ นามว่า "เกศินี" และ "สุมดี"
พระนางเกศินีมีพระโอรสเพียงคนเดียว ส่วนพระนางสุมดีทรงมีพระโอรสถึงหกหมื่นพระองค์ ทุกพระองค์มีนิสัยชั่วร้าย ชอบทำร้ายรังแกฤๅษีมุนีและเทวดา
ต่อมาท้าวสัคระได้ทรงทำพิธี “อัศวเมธ”(Ashwamedha Yagna) ปล่อยม้าอุปการทรงเครื่องกษัตริย์ ไปยังเมืองต่าง ๆ เพื่อแสดงอำนาจของพระองค์เหนือบ้านเมืองต่าง ๆ โดยทรงมอบให้บรรดาโอรสของพระองค์เป็นผู้ดูแล
พระอินทร์เห็นว่าหากปล่อยไว้ อำนาจของท้าวสัคระจะขยายตัวจนความชั่วของเหล่าพระโอรสจะเป็นภัยแก่โลก จึงแอบมาขโมยม้าอุปการมาซ่อนผูกไว้ที่อาศรมของฤๅษีกบิละ (Rishi Kapila)
เมื่อเหล่าโอรสออกติดตามหา จนมาพบม้าอุปการที่อาศรมพระฤๅษีกบิละ (ที่บางปุราณะก็ว่าเป็นพระวิษณุอวตาร) ตามแผนการของพระอินทร์ จึงพากันโกรธฤๅษีโดยไม่ถามไถ่ พากันบุกเข้าไปหมายจะสังหาร พระฤๅษีกบิละเปิดพระเนตรเป็นเพลิงไฟเผาผลาญบรรดาโอรสทั้งหมดจนสิ้นชีวิตกลายเป็นเถ้าอัฐิทั้งหมด
ท้าวสัคระไม่ได้ข่าวคราวโอรสทั้งหมดมานาน จึงทรงให้ “พระอัมชูมัน” (Amshuman) พระนัดดาผู้ทรงศีลและอ่อนน้อมถ่อมตนออกตามหาจนไปพบพระฤๅษีกบิละ พระองค์ได้แสดงความเคารพและยอมรับในความผิด พระฤๅษีจึงให้อภัยแก่ท้าวสัคระและคืนม้าอุปการให้
เมื่ออัมชูมันถามว่า จะทำอย่างไรที่จะล้างบาปกรรมที่เหล่าพระโอรสได้กระทำไว้ .. ฤๅษีกบิละก็แนะนำว่า เหล่าลูกหลาจะต้องบำเพ็ญตบะกิจขอพร เพื่อให้พระคงคาลงมาจากสวรรค์ เพราะมีเพียงน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งคงคาเท่านั้น ที่จะล้างบาปกรรมให้แก่เหล่าพระโอรสที่กลายเป็นเถ้าอัฐิไปแล้วเท่านั้น
ท้าวสัคระเริ่มปฏิบัติศีลธรรมและบำเพ็ญตบะบูชาจนสวรรคต พระนัดดาอัมชูมันก็ได้บำเพ็ญตบะสืบต่อ จนมาถึงท้าวดีลิภา (Dilipa) พระโอรสก็ยังไม่สำเร็จ จนถึงพระภาคิรัถถา (Bhagiratha) ผู้เป็นพระโอรสอีกรุ่นหนึ่ง พระองค์เลือกที่จะทิ้งบัลลังก์ สละเพศคฤหัสถ์เสด็จออกบวชเป็นฤๅษีบำเพ็ญพรตในป่า
.. สวดภาวนาจนพระพรหมเสด็จลงมา เพื่อแนะนำให้ภาคิรัถถามุนีได้บำเพ็ญสวดภาวนาขอต่อพระศิวะให้ช่วยนำพระแม่คงคาลงสู่โลกมนุษย์ ด้วยเพราะน้ำคงคานั้นไหลแรง (ตามนิสัย) เกินกว่าที่โลกจะรับได้ หากลงมาโดยตรง โลกก็จะพินาศสิ้นในทันที
ภาคิรัถถามุนี ได้บำเพ็ญตบะต่ออย่างไม่ท้อถอย จนพระศิวะเห็นใจ ช่วยนำพระแม่คงคาลงมายังโลกมนุษย์ โดยให้พระคงคานั้นลงมาสถิต (ปะทะ) ที่มวยพระเกศา บนพระเศียรของพระองค์ก่อน แล้วจึงค่อยปล่อยให้ไหลลงสู่พื้นโลกอย่างช้า ๆ
บางปุราณะก็ว่า พระนางคงคาก็ใช่จะยอมแต่โดยดี พระนางพยายามดิ้นหนีออกจากมวยพระเกศาของพระศิวะอยู่หลายครั้งจนเป็นที่ขบขันของพระนางปารวตี พระศิวะทรงใช้พระเกศารัดพระแม่คงคาเอาไว้ จนพระนางก็ยอมปล่อยสายน้ำออกมาให้โลกมนุษย์
ในปางปุราณะก็เล่าว่า ด้วยเพราะพระนางคงคามีพระสิริโฉมงดงามไม่ยิ่งหย่อนไปว่าพระนางปารวตีผู้เป็นน้อง (ทั้งคู่เป็นธิดาท้าวหิมวัตและนางมีนาปตี) เมื่อพระศิวะรับพระแม่คงคาลงมา จึงเกิดเป็นความสัมพันธ์ พระองค์จึงต้องอ้างเอาพระแม่คงคาไปทูลไว้เหนือหัว ให้พระคงคาปล่อยน้ำศักดิ์สิทธิ์ออกมาจากยอดพระเศียรของพระองค์ เพื่อเป็นการล้างบาปที่ทั้งสองได้ทรงเผลอใจให้แก่กัน
เมื่อพระแม่คงคาลงมายังโลก น้ำคงคาจะแยกเป็น “สัปตนที” แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งเจ็ดสาย ที่แยกไปทางทิศตะวันออกมีชื่อว่า นลินี หลาทินี ปาวนี ที่แยกไปทางทิศตะวันตก คือแม่น้ำจักษุ สีตา และสินธุ ส่วนแม่น้ำคงคานั้นอยู่สายกลาง
ในคงคาธรมูรติ เมื่อพระแม่ (น้ำ) คงคาลงมาสู่โลก น้ำศักดิ์สิทธิ์ได้ชำระล้างเถ้าอัฐิของเหล่าพระโอรสทั้งหกหมื่นหนึ่งจนพื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่ ทุกพระองค์กลับตัวเป็นคนดี พร้อมกล่าวสรรเสริญพระศิวะ พระนางคงคาและพระภาคิรัถถา โหลนของตนที่ไม่ยอมสิ้นความพยายามที่จะช่วยเหล่าบรรพบุรุษให้ได้รับการชำระบาป
พระพรหมทรงประกาศว่า “ความสำเร็จนั้น เกิดจากความพยายามอันเข็มแข็งด้วยศรัทธาอย่างแท้จริง”
ส่วนพระศิวะทรงประสาทพร “ชื่อนามของเจ้าภาคิรัถถา จะมีความหมายถึงความพยายามอันยิ่งใหญ่ เป็นที่จดจำไปตลอดกาล”
ภาพสลักบุคคลกำลังบำเพ็ญตบะด้านบน จึงหมายถึงพระภาคิรัถถามุนีที่กำลังได้รับความช่วยเหลือจากจากพระศิวะ รูปนาคหมายถึงแม่น้ำคงคา
กลุ่มภาพสลักล่างจึงเป็นภาพการบำเพ็ญตบะของเหล่าฤๅษีดาบสลูกหลานหลายรุ่นของท้าวสัคระ รูปของอัมชูมันแสดงความเคารพพระฤๅษีกบิละหรือพระวิษณุ และรูปบุคคลมีมวยผมถือพวงดอกไม้ คือลูกหลานของท้าวสัคระที่ได้ฟื้นกลับคืนมา
มณฑปถ้ำพระกฤษณะ มรดกโลก เมืองมามัลละปุรัม รัฐทมิฬนาฑู
กฤษณะมณฑป (Krishna Mandapa) .. เป็นเทวาลัยถ้ำ อุทิศแก่พระศิวะ ภายในมีภาพสลักเป็นเรื่องราวของ กฤษณอวตาร อวตารปางที่ 8 ของพระวิษณุ ยาว 8 เมตร .. มีสิ่งควรชมคือ ภาพสลัก “กฤษณาวตรา” ซึ่งเป็นอวตารปางที่ 8 ของพระวิษณุ ซึ่งเป็นภาพเล่าเรื่องการมากำเนิดเป็นพระกฤษณะและเมื่อยังเป็นเด็ก
กฤษณชนมาษฏมี ... "เมื่อเด็กเลี้ยงวัว หาญกล้าท้าองค์อมรินทร์"
"พวกเจ้าเหล่านางโคปีทั้งหลาย เจ้าจะทำการบวงสรวงแด่องค์อินทราทำไมเล่า ในเมื่อสายน้ำและต้นหญ้าอันฝูงโคของเจ้าได้ดื่มกิน และได้และเล็มยอดหญ้าจนทำให้โคทั้งหลายให้น้ำนมออกมาอย่างบริบูรณ์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ เนื่องมาจากภูเขาโควรรธณะเป็นแหล่งกำเนิดเกิดขึ้น หาได้เกิดจากอำนาจแห่งองค์อินทราอย่างที่พวกเจ้าทั้งหลายเคยเชื่อตามกันมา พวกเจ้าจงหันมาบูชาเขาโควรรธณะอันมีพระคุณกันเถิด"
เมื่อเหล่านางโคปีได้ยินเด็กน้อย อันมีนามว่า "กัญหา" หรือเหล่านางโคปีจะเรียกกันด้วยความที่เป็นเด็กเลี้ยงวัวว่า "โคปาละ" หรือจากบุคลิกที่เกิดจากการชอบเป่าขลุ่ยเลี้ยงวัวอย่างเพลิดเพลินใจว่า "โควินทะ" กล่าวมาดังนั้น ก็ได้เลิกการสักการะบวงสรวงแด่องค์อินทรา
ครั้งเมื่อพระอินทร์เห็นว่าเหล่าผู้เลี้ยงโคแห่งหมู่บ้านโคกุลนี้ เลิกทำการเคารพบูชาพระองค์แล้ว สาเหตุเนื่องมาจากเด็กน้อยโควินทะ จึงบันดาลให้ฝนตกลงมา หมายจะให้ท่วมทุ่งหญ้าและเหล่าฝูงโคเพื่อให้กัญหาและเหล่านางโคปีได้เห็นฤทธิ์ของการเลิกบูชาแด่พระองค์
เหล่านางโคปีทั้งหลาย เมื่อได้เห็นอำนาจในการบันดาลให้ฝนตกฟ้าร้องโดยอำนาจแห่งองค์อินทราแล้วไซร้ บางคนก็จะหันกลับไปทำการบวงสรวงแด่องค์อินทร์สืบต่อไป
พระกฤษณะกำลังใช้พละกำลังอันมหาศาลยกภูเขาโควรรธนะด้วยนิ้วก้อยซ้าย ให้เป็นที่พักพิง ช่วยเหลือเหล่าโคปาลกะ-โคปี (Gopalaka-Gopis) และฝูงวัว จากความพิโรธของพระอินทร์
เด็กน้อยกัญหา เมื่อเห็นพระอินทร์บรรดาลฤทธิ์ให้เกิดลมฝนขึ้นดังนั้น ก็ได้ใช้นิ้วชี้เพียงนิ้วเดียว ทำการยกภูเขาโควรรธนะ ขึ้นมาทั้งลูก เพื่อให้เป็นที่กำบังพายุลมฝนแก่ฝูงโคและเหล่านางโคปี และเพื่อให้เห็นว่าการยกภูเขาด้วยนิ้วเพียงนิ้วเดียวช่างง่ายดายเสียนี่กะไร
คนเลี้ยงวัว กำลังรีดนมวัว เหนือหลังวัวเป็นภาพพระกฤษณะกำลังเป่าขลุ่ย /โควินทะ (Govinda) ให้ความสุขแก่ฝูงวัว
กัญหายังได้หยิบเอาขลุ่ยขึ้นมาเป่าบรรเลงเพลง ขับกล่อมทำความเพลิดเพลินและคลายความหวาดกลัวให้แก่เหล่าฝูงโคและนางโคปีทั้งหลาย
จนเวลาผ่านไปถึงเจ็ดทิวาราตรี พระอินทร์ก็ยังไม่สามารถทำอันตรายใดๆให้เกิดขึ้นได้ จึงมีความฉงนสงสัยในอำนาจของโคปาละ เด็กน้อยเลี้ยงวัวผู้นี้
ด้านขวาขอบภาพ : พระพลราม” (Balarāma) ผู้เป็นพี่ชายพระกฤษณะ กำลังประคองนายนันทะและนางยโสธา ผู้เป็นบิดามารดา
พระอินทร์จึงได้ใช้ทิพยเนตรสืบเสาะความเป็นมาของเจ้าเด็กเลี้ยงวัวจึงทราบได้ว่า แท้จริงแล้วเด็กน้อยนี้เป็นองค์อวตารของพระนารายณ์เพื่อมาปราบปรามยุคเข็ญ และในภายภาคหน้าสืบไปก็จะปรากฎพระนามว่า "พระกฤษณะ" ผู้จะมาประทานหลักการแห่งการบรรลุในธรรมอันมีชื่อว่า "ภควัตคีตา"
วัวตัวผู้ วัวตัวเมีย ลูกวัว ในคอกวัวของ “พฤษภานุมหาราชา” (Vrishabhanu Maharaja) ที่มีวัวมากมายนับแสนตัว
ดังนั้นพระอินทร์จึงรู้ได้ว่าตัวเองนั้น หาคู่ควรที่จะมาแข่งอำนาจบารมีกับองค์นารายณ์อวตารก็หาไม่ ก็ได้หยุดการบันดาลพายุลมฝนนั้น และได้ลงมาขออภัยแด่พระองค์ที่ได้กระทำการอันไม่สมควร แต่พระกฤษณะในชื่อของเด็กน้อยกัญหา ก็มิได้โกรธเคืองอะไรแก่พระอินทร์เลย
เรื่องนี้จบกันโดยแฮปปี้เอนดิ้ง ในการประณีประนอมระหว่างพระอินทร์ เทพของสายอารยันแท้ๆ กับพระกฤษณะ เทพท้องถิ่นที่กำลังมาแรง เป็นการเปลี่ยนผ่านจากพราหมณ์มาเป็นฮินดูอย่างนุ่มนวล ปรองดอง และสมานฉันท์
Ref : EJeab Academy
โฆษณา