26 ก.พ. 2023 เวลา 00:00 • ปรัชญา

บทความ บทเรียนจากหลวงพ่อชา

จากหนังสือ ลำธารริมลานธรรม
เขียนโดย พระไพศาล วิสาโล
พูดถึงวุฒิการศึกษาทางโลก หลวงพ่อชา สุภทฺโท จบแค่ชั้นป. ๑ เท่านั้น แต่ท่านมีลูกศิษย์ที่จบปริญญามากมาย ที่เป็นดอกเตอร์ก็มิใช่น้อย ยิ่งกว่านั้นยังมีชาวต่างประเทศ ความรู้สูงมาบวชกับท่านเป็นจำนวนมาก
เรื่องหนึ่งที่ผู้คนสอบถามท่านเสมอก็คือท่านสอนฝรั่งได้อย่างไรในเมื่อท่านไม่รู้ภาษาอังกฤษเลย คำตอบของท่านก็คือ “ที่บ้านโยมมีสัตว์เลี้ยงไหม อย่างหมาแมว หรือวัวควายอย่างนี้ เวลาพูดกับมัน โยมต้องรู้ภาษาของมันด้วยหรือเปล่า?”
สำหรับหลวงพ่อชา การสอนที่สำคัญมิใช่การพูด แต่อยู่ที่การทำให้ดูและชวนให้ทำ ซึ่งใคร ๆ สามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องอาศัยภาษาใด ๆ
“พาเขาทำเอาเลย ทำดีได้ดี ถ้าทำไม่ดีก็ได้ของไม่ดี พาเขาทำดู เมื่อทำจริง ๆ ก็เลยได้ดี เขาก็เลยเชื่อ ไม่ใช่มาอ่านหนังสือเท่านั้นนะ ทำจริง ๆ นี่แหละ สิ่งใดไม่ดีก็ละมัน อันไหนไม่ดีก็เลิกมันเสีย มันก็เป็นความดีขึ้นมา”
การเรียนรู้จากการทำนั้นให้ผลที่ยั่งยืนกว่า เช่นเดียวกับการเรียนรู้จากประสบการณ์ ไม่ว่าประสบการณ์นั้นจะดีหรือไม่ดี ก็สามารถสอนใจเราได้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะรู้จักมองหรือเก็บเกี่ยวบทเรียนหรือไม่
หลวงพ่อสุเมโธ ซึ่งเป็นชาวอเมริกันและเป็นพระฝรั่งรูปแรกที่มาอยู่กับหลวงพ่อชาเล่าว่า มีคราวหนึ่งหลวงพ่อชาสั่งให้ท่านขึ้นเทศน์ ๓ ชั่วโมงโดยไม่ทันได้เตรียมตัว
1
ทั้งกำชับว่าห้ามลงก่อนหมดเวลา ช่วงแรก ๆ ท่านก็เทศน์ได้เรื่อย ๆ เพราะมีเรื่องพูด แต่เมื่อเทศน์นานเข้า ก็ไม่รู้ว่าจะเทศน์อะไร ต้องพูดวนไปเวียนมา ตอนนั้นภาษาไทยก็ไม่คล่อง ผลก็คือคนฟังนั่งหลับเป็นส่วนใหญ่
ใครที่เจอประสบการณ์แบบนี้ ย่อมรู้สึกแย่ และอาจถึงกับสูญเสียความมั่นใจในการพูด ตามมาด้วยความหงุดหงิดขัดเคืองใจ
แต่สำหรับหลวงพ่อสุเมโธ ประสบการณ์ครั้งนั้นมีประโยชน์มาก เพราะช่วย “แก้กิเลส” หรือลดอัตตาของท่านได้ดี “นิสัยของชาวอเมริกันเรามีอัตตาสูง ความเชื่อมั่นในตัวเองมีมาก เวลาขึ้นธรรมาสน์ ก็อยากจะเทศน์ให้น่าฟัง อยากจะให้ทุกคนฟังด้วยความตั้งใจ แต่ถ้าเห็นใครง่วงนอนหรือไม่ตั้งใจฟังก็อยากจะหยุดพูดทันที เป็นเพราะจิตใจเรายังมีความหวั่นไหวกับโลกธรรมอยู่”
3
ยิ่งมีอัตตา ก็ยิ่งจำเป็นต้องถูกถอนอัตตา ในทำนองเดียวกัน ยิ่งกลัวความล้มเหลว ไม่อยากได้คำตำหนิ ก็ยิ่งจำเป็นต้องเจอความล้มเหลวและคำตำหนิ จิตใจจะได้มั่นคงไม่หวั่นไหวกับสิ่งนั้น นี้เป็นหลักการสอนข้อหนึ่งของหลวงพ่อชาก็ว่าได้
5
พระฝรั่งอีกรูปหนึ่งที่ได้บทเรียนดังกล่าวจากหลวงพ่อชาก็คือพระอาจารย์ญาณธัมโม ชาวออสเตรเลีย วันหนึ่งท่านมีเรื่องขัดใจกับพระรูปหนึ่งที่วัด รู้สึกหงุดหงิดตลอดทั้งวัน วันร่งุ ขึ้นระหว่างเดินบิณฑบาตก็ครุ่นคิดอยู่กับเรื่องนั้นตลอดทาง พอกลับเข้าวัดก็เห็นหลวงพ่อชาเดินสวนมา
1
ท่านยิ้มให้และทักทายเป็นภาษาอังกฤษว่า กู๊ดมอร์นิ่ง เพียงเท่านั้นอารมณ์ของพระอาจารย์ญาณธัมโมก็เปลี่ยนไปทันที ความหงุดหงิดขุ่นมัวหายไปเป็นปลิดทิ้ง มีความปลื้มปีติมาแทนที่
ตกเย็นหลวงพ่อชาสั่งให้ท่านเข้าไปถวายการนวดที่กุฏิเป็นการส่วนตัว ท่านรู้สึกตื่นเต้นดีใจมากเพราะโอกาสที่จะได้อยู่ใกล้ชิดสองต่อสองเช่นนั้นหาได้ยากมาก เพราะท่านยังเป็นพระใหม่ ท่านถวายการนวดอย่างตั้งอกตั้งใจด้วยความปลื้มปีติ แต่จู่ ๆ โดยไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว “หลวงพ่อชาก็ถีบเปรี้ยงเข้าที่ยอดอก ซึ่งกำลังพองโตด้วยความรู้สึกภาคภูมิของอาตมา จนล้มก้นกระแทก”
ความตกใจและมึนงงว่าเกิดอะไรขึ้นหายเป็นปลิดทิ้งเมื่อได้ยินคำตำหนิของหลวงพ่อชาว่า “จิตใจไม่มั่นคง พอไม่ได้ดังใจ ก็ขัดเคือง หงุดหงิด เมื่อได้ตามปรารถนา ก็ฟูฟ่อง”
1
เพียงเท่านั้นพระอาจารย์ญาณธัมโมถึงกับร้องไห้ ไม่ใช่เสียใจเพราะถูกด่า แต่เพราะซาบซึ้งในบุญคุณของท่าน
1
“หลวงพ่อเมตตามากที่ชี้กิเลสของเรา ไม่เช่นนั้นเราก็คงมืดบอดมองไม่เห็น คงเป็นคนหลงอารมณ์ไปอีกนาน”
2
นี้เป็นบทเรียนสอนใจให้มั่นคงจากหลวงพ่อชาที่พระอาจารย์ญาณธัมโมไม่เคยลืมเลือน
การเรียนรู้ที่ดีนั้นต้องเกิดจากการเจอ “ของจริง” แม้เป็นของจริงที่ไม่พึงปรารถนา แต่มันก็สามารถสอนใจและฝึกใจเราได้มาก จะว่าไปแล้วคนเราเรียนรู้จากสิ่งที่ขัดใจได้มากกว่าสิ่งที่ถูกใจด้วยซ้ำ
3
โฆษณา