14 ก.พ. 2023 เวลา 08:29 • นิยาย เรื่องสั้น

หญิงบ้าบรรลุธรรม

นางปฏาจารา เป็นธิดาของเศรษฐีชาวเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล บิดามารดาเป็นคนร่ำรวยนางจึงได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี นางเป็นหญิงรูปร่างงดงามแต่ตกหลุมรักคนรับใช้ในบ้านตนเอง
เมื่อถึงวัยออกเรือน บิดามารดาก็หาชายที่เหมาะสมคู่ควร ชนชั้นเดียวกันมาแต่งงานด้วย นางปฏาจาราไม่ยินยอมเพราะมีคนรักอยู่แล้ว จึงทำการนัดแนะกับคนรักให้พากันหนี
นางและคนรักไปสร้างบ้านอยู่ในชนบทอันทุรกันดาร ให้ห่างไกลจากบิดามารดา ถึงจะลำบาก แต่นางปฏาจารามีความสุขมาก เพราะได้อยู่ใกล้ชิดกับชายคนรัก เวลาผ่านไปไม่นานนางก็ตั้งครรภ์ ในเวลาใกล้คลอดนางมีความกังวลใจเพราะไม่มีบิดามารดาและญาติอยู่ใกล้ นางจึงขอร้องให้สามีพากลับไปหาบิดามารดา
แต่สามีกลับปฏิเสธคำขอร้องของนาง เพราะกลัวเกรงบิดามารดาของนางจะลงโทษ นางจึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านเพียงลำพัง แต่ในระหว่างทางนั้นนางปฏาจาราได้เจ็บท้องหนัก และคลอดลูกระหว่างทาง
ฝ่ายสามีเมื่อกลับมาบ้านไม่พบหญิงคนรัก ก็รู้แน่ว่านางหนีไป จึงออกตามหา จนได้พบนางและลูกน้อยกลางทาง สามีได้ชี้แจงเหตุผลต่างๆ และเกลี่ยกล่อมจนพานางกลับบ้านได้สำเร็จ
ในเวลาต่อมานางปฏาจาราตั้งครรภ์อีกเป็นครั้งที่สองและขอร้องสามีให้พากลับบ้านเหมือนครั้งก่อน แต่สามีปฏิเสธเหมือนครั้งที่แล้ว นางจึงพาลูกน้อยวัยกำลังหัดเดิน หนีออกจากบ้านพร้อมกับลูกในท้อง
ในระหว่างทางนางปวดท้องอย่างรุนแรงเพราะกำลังจะคลอดบุตรและฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก
ฝ่ายสามีตามไปพบ เห็นนางกำลังดิ้นทุรนทุรายท่ามกลางสายฝนจึงรีบไปตัดไม้เพื่อมาทำที่กำบังฝนชั่วคราว แต่เคราะห์ร้าย สามีถูกงูพิษกัดถึงแก่ความตาย
นางปฏาจาราคลอดบุตรด้วยความยากลำบาก จากนั้นนางก็อุ้มทารกและจูงลูกน้อยตามหาสามี จนไปพบว่าสามีถึงแก่ความตายแล้ว นางมีความเศร้าโศกเสียใจมาก นางจึงตัดสินใจพาลูกทั้ง 2 ไปหาบิดามารดาในเมือง
เมื่อมาถึงลำธารใหญ่ที่น้ำกำลังไหลเชี่ยว นางไม่อาจพาบุตรข้ามน้ำพร้อมกันได้ จึงให้บุตรคนโตยืนรอที่ฝั่งข้างหนึ่ง แล้วนางก็อุ้มทารกแรกเกิดเดินข้ามน้ำไปอีกฝั่งหนึ่ง
และจัดแจงวางทารกน้อยไว้ที่ริมน้ำ แล้วนางก็เดินข้ามน้ำกลับมาฝั่งเดิม เพื่อไปรับลูกคนโต
ในขณะที่นางกำลังเดินกลับมาถึงกลางแม่น้ำนั้น นางเห็นเหยี่ยวตัวหนึ่งกำลังบินโฉบลงเพื่อจิกทารก เพราะมันเข้าใจว่าเป็นก้อนเนื้อ นางจึงยกมือขึ้นไล่ทำท่ายกมือโบกไปมาเพื่อไล่เหยี่ยว แต่สายเกินไปเพราะเหยี่ยวได้คาบทารกน้อยนั้นไปเป็นอาหารเสียแล้ว ลูกคนโตที่อยู่ริมฝั่งอีกด้าน เห็นอากัปกิริยาของแม่ตนเอง ก็เข้าใจว่าแม่เรียกตนจึงก้าวลงสู่แม่น้ำอันเชี่ยวกราก
และทันทีที่ก้าวเท้าลงบนผิวน้ำ เด็กน้อยก็ถูกกระแสน้ำพัดพาหายไปทันที ต่อหน้านางปฏาจารา
นางปฏาจาราสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในเวลาใกล้กันแต่นางยังยั้งสติได้ นางเดินร้องไห้เข้าสู่เมืองสาวัตถีเพื่อหาบิดามารดา แต่แล้วนางก็ได้ทราบข่าวจากชาวบ้านว่า ลมฝน พายุได้พัดเรือนบิดามารดาของนางพังทลายรวมถึงเจ้าของเรือนก็ตายไปด้วย
เมื่อนางทราบข่าวนี้นางไม่อาจตั้งสติได้ นางฉีกทึ้งผ้านุ่งทิ้ง แล้ววิ่งบ่นเพ้อ เสียสติไปด้วยร่างกายอันเปล่าเปลือย นางวิ่งกระเซอะกระเซิงไปจนถึงวัดพระเชตวัน ซึ่งขณะนั้นพระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางุพุทธบริษัท
ประชาชนเห็นนางแล้วร้องบอกกันว่า คนบ้าๆ อย่าให้เข้ามา พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปล่อยให้นางเข้ามาเถิด แล้วตรัสให้นางได้สติ เมื่อนางกลับได้สติดังเดิม ใครคนหนึ่งในที่ประชุมนั้นโยนผ้าให้นางนุ่งห่ม แล้วพระพุทธเจ้าทรงดำรัสปลอบโยน นางก็มีกำลังใจขึ้นมา และเข้าใจธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน และได้บรรลุโสดาบัน จากนั้นนางได้กราบทูลขอบวชเป็นพระภิกษุณี
ภิกษุณีปฏาจาราเป็นผู้ประพฤติดี หมั่นปฏิบัติธรรมสม่ำเสมอ หลังจากบวชแล้วไม่นาน วันหนึ่งหลังจากฟังเทศนาธรรมจบ และกำลังจะขึ้นกุฏิ พระภิกษุณีปฏาจารา ได้ตักน้ำจากหม้อสำหรับบรรจุน้ำล้างเท้ามาล้างเท้าของตน เมื่อเทน้ำราดเท้าครั้งที่หนึ่ง น้ำไหลจากหลังเท้าลงดิน ซึมแผ่ออกไปแล้วก็หมดลง ตักอีกกระบอกหนึ่งเทล้างเท้า น้ำก็ไหลลงดินแผ่วงกว้างออกไปมากกว่าครั้งแรกและซึมลงดินไป ครั้งที่สามน้ำก็แผ่วงกว้างออกไปมากกว่าครั้งที่ 1 และ 2 แล้วน้ำก็ซึมลงดินไปอีก
พระภิกษุณีปฏาจาราพิจารณาธรรม เทียบกับชีวิตของตนว่า ชีวิตเหมือนน้ำล้างเท้า น้ำแผ่ซึมครั้งแรกแค่ระยะสั้นๆ เหมือนชีวิตลูกน้อยของตนเกิดและอยู่ในโลกไม่ทันไรก็ตายจากโลกไป
น้ำแผ่ซึมครั้งที่สองไกลกว่าครั้งแรก เปรียบเหมือนอดีตสามี ที่กำลังหนุ่มก็ตายจากโลกเพราะถูกงูกัด น้ำซึมแผ่ครั้งที่สามเหมือนบิดามารดาที่ตายเมื่ออายุมาก
เมื่อนางพิจารณาเช่นนี้ พระพุทธเจ้า ก็ได้แสดงธรรมให้นางทราบความจริงว่า ความคิดของเธอถูกต้องแล้ว เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายมีความตายเป็นธรรมดา ฉะนั้นคนที่เกิดมาแล้วจะต้องพบกับความเสื่อมของชีวิตร่างกาย แม้ว่าชีวิตจะอยู่เพียงขณะหนึ่ง ระยะหนึ่ง ต้องประสบความเสื่อมอยู่นั่นเอง แต่ว่าค่าของชีวิตคนนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่าเกิดมานานหรือว่าเกิดมาน้อย เพราะคนเราแม้มีชีวิตอยู่ตั้ง 100 ปี แต่ถ้าไม่เห็นความเสื่อมของร่างกายแล้ว ก็สู้คนที่มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว แต่เห็นความเสื่อมของร่างกายไม่ได้
ภิกษุณีได้พิจารณาตาม และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันนั้นเอง หลังจากบรรลุพระอรหันต์แล้ว ท่านได้นำหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าและประสบการณ์ของท่านมาสอนภิกษุณีและสตรีทั้งหลายที่มีปัญหาในชีวิตอยู่เสมอ
จากเรื่องราวของภิกษุณีปฏิจารา ตั้งแต่เมื่อครั้งครองเรือนจนกระทั่งบรรลุอรหันต์ จะเห็นได้ว่านางได้พบกับความพลัดพรากสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ทั้งสามี ลูก พ่อแม่ ในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งเกินกว่ามนุษย์คนหนึ่งจะได้รับไหว แต่เมื่อเจอกัลยาณมิตรที่ประเสริฐอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้ใช้ธรรมะของพระองค์เป็นที่พึ่งแล้วล่ะก็ สามารถพลิกฟื้นสภาพจิตใจ ความเศร้าโศก จากวิกลจริตขึ้นสู่ความปกติ และพัฒนาปัญญาจนกระทั่งเป็นอริยะบุคคลได้
นี่จึงเป็นสิ่งสำคัญว่า ขณะที่เราทุกข์ เราใช้อะไรเป็นที่พึ่ง หากเราใช้โลกภายนอก เช่น ความบันเทิง เราอาจลืมทุกข์ได้ชั่วขณะ จากนั้นทุกข์ก็กลับมาใหม่ได้ตลอด เพราะมันไม่เคยหายไปไหน ไม่เคยหายไปจริง แต่หากเรานำธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเป็นที่พึ่ง ที่ดับทุกข์ เราจะสามารถพ้นทุกข์และดับทุกข์ได้จริง
ภิกษุณีปฏาจาราเป็นเพียงตัวอย่างบุคคลที่สามารถพ้นทุกข์ได้จริง ยังมีอีกมากมายหลายบุคคลที่ดับทุกข์ พ้นทุกข์ได้จากธรรมะของพระพุทธเจ้า
โฆษณา