15 ก.พ. 2023 เวลา 11:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

พื้นฐานหุ้น 101: มาหาหุ้น Undervalue สไตล์ VI กัน ! 📈

ใน 1 ช่วงชีวิตของนักลงทุนทุกคนต้องเคยเห็นหุ้นที่อยู่ดีๆ ก็เติบโตอย่างรวดเร็วจนเป็นเด้งๆ หรือที่เราเรียกกันว่า “หุ้น 10 เด้ง” กันแน่นอน หุ้นเหล่านี้นักลงทุนมักจะไม่เคยรู้จักมาก่อน หรือรู้จักก็ไม่ได้สนใจ และสนใจอีกครั้งเมื่อหุ้นนั้นเติบโตจนเข้าซื้อไม่ทัน
แต่ในขณะเดียวกันก็มีนักลงทุนสาย VI เน้นคุณค่า (Value Investor) หลายคนที่ทำการศึกษา และสามารถเข้าลงทุนในหุ้น Undervalue ได้ วันนี้เราจะพาทุกท่านมาแกะวิธีการหาหุ้น Undervalue ที่ราคาถูก แต่ให้ผลตอบแทนดีเมื่อเติบโตกันครับ
📌หุ้น Undervalue คืออะไร ?
หุ้นที่มีพื้นฐานดี และราคายังถูก เมื่อเทียบกับมูลค่าที่แท้จริง (Real fair value) ที่นักลงทุนประเมินกัน หุ้น 1 ตัวสามารถเป็นหุ้นที่ Undervalue ได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงบริษัทที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่คนทั่วไป, มีชื่อเสียงทางลบในสื่อ หรืออยู่ในช่วงตลาดขาลง
ซึ่งตามทฤษฎีของการวิเคราะห์พื้นฐานหุ้นของนักลงทุนสไตล์ VI แล้ว “ราคาหุ้นจะปรับตัว (ทั้งขึ้นและลง) เพื่อสะท้อนถึงมูลค่าที่แท้จริงของมัน” และเป็นช่วงที่ดีในการหาโอกาสทำกำไร
การหาหุ้น Undervalue จึงไม่เป็นเพียงการหาหุ้นอะไรก็ได้ที่ราคาถูก แต่เป็น “หุ้นคุณภาพที่ดันมีราคาต่ำกว่ามูลค่าของมัน” เพราะสุดท้ายแล้ว หุ้นที่มีคุณภาพก็จะเติบโตได้ในระยะยาว
📌4 สาเหตุที่ทำให้หุ้นมีราคาต่ำกว่ามูลค่าจริง (Undervalued)
1. การเปลี่ยนแปลงของตลาด: ตลาดปรับตัวลง หรือมีวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้ตลาดหุ้นร่วง
2. มีข่าวร้ายมาโจมตี: ถ้ามีข่าวร้าย หรือข่าวลือเกี่ยวกับบริษัทที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นได้ หรือข่าวร้ายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง การเปลี่ยนแปลงของสังคม ก็ทำให้หุ้นทั้งตลาดราคาตกลงได้เช่นกัน
3. ความผันผวนตามวัฏจักรหุ้น: มีหลายอุตสาหกรรมที่อาจจะทำผลกำไรได้ไม่ดีในบางไตรมาส และทำให้หุ้นในอุตสาหกรรมนั้นราคาตกลงพร้อมกัน
4. นักลงทุนส่วนใหญ่ประเมินหุ้นตัวนั้นผิดพลาด: เมื่อนักลงทุนส่วนใหญ่ประเมินหุ้นตัวนั้นต่ำพร้อมกัน ก็ทำให้หุ้นราคาต่ำกว่าความเป็นจริงได้
📌8 วิธีที่ทำให้เราหาหุ้น Undervalue เจอ
#1 Price-to-earnings ratio (P/E)
P/E Ratio เป็นวิธีที่นิยมที่สุดในการประเมินมูลค่าหุ้น โดยอัตราส่วนนี้จะเทียบกันระหว่าง Price/Earning Per Share (ราคาหารด้วยกำไรสุทธิต่อหุ้น) ทำให้นักลงทุนรู้ได้ว่าถ้าต้องการกำไรเท่านี้ ต้องใช้เงินซื้อหุ้นเท่าไหร่ (หากบริษัทนี้ทำกำไรได้เท่าเดิมในทุกๆ ปี) หุ้นที่มี P/E ต่ำ อาจแปลความหมายได้ว่าทุกตัวนั้นกำลังถูก Undervalue
วิธีการหา P/E Ratio ทำได้โดยนำ “ราคาต่อหุ้น (Price) ÷ กำไรต่อหุ้น (EPS)”
กำไรต่อหุ้น (EPS) หาได้จาก “กำไรสุทธิของบริษัท ÷ จำนวนหุ้นทั้งหมดที่ขายในตลาด”
ยกตัวอย่างเช่น A ซื้อหุ้นกระต่ายที่ราคา 50 บาทต่อหุ้น ซึ่งบริษัทกระต่ายมีหุ้นสามัญทั้งหมด 10 ล้านหุ้นในตลาด และมีกำไรสุทธิทั้งหมด 100 ล้านบาท แปลว่ากำไรต่อหุ้น (EPS) อยู่ที่ 10 บาท (100 ล้าน ÷ 10 ล้าน) และค่า P/E Ratio อยู่ที่ 5 (50 ÷ 10) เพราะฉะนั้น A จะต้องซื้อหุ้นด้วยเงิน 5 บาทถึงจะได้กำไร 1 บาท และ A มีโอกาสได้กำไร 10 บาทจากหุ้นราคา 50 บาท
#2 Debt-equity ratio (D/E)
D/E ratio เป็นอัตราส่วนที่วัดหนี้สินของบริษัท เมื่อเทียบกับทรัพย์สิน ยิ่ง D/E ratio สูง ยิ่งแปลว่าบริษัทได้ทรัพย์สินมาจากการกู้ยืม ไม่ใช่กำไร หรือส่วนของผู้ถือหุ้น
การที่บริษัทมี D/E ratio สูงหรือต่ำ ไม่สามารถวัดได้ว่าบริษัทนั้นกำลังมีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง (Undervalue) แต่ควรหาค่า D/E ratio ของบริษัทคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้วเทียบกัน
วิธีการหา D/E ratio ทำได้โดยนำ “หนี้สินรวมของบริษัท (Debt) ÷ ส่วนของผู้ถือหุ้นรวม (Equity)”
ตัวอย่างเช่น A ซื้อหุ้นกระต่ายซึ่งมีหนี้สินบริษัททั้งหมด 1,000 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นรวมทั้งหมด 500 ล้านบาท = D/E ratio อยู่ที่ 2 (1,000 ล้าน ÷ 500 ล้าน) แปลว่ามีหนี้สิน 2 บาทต่อหุ้นทุกๆ 1 บาท
#3 Return on equity (ROE)
ROE คืออัตราส่วนที่ใช้วัดกำไรของบริษัท เมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นรวม (Equity)
โดยมีวิธีคิดคือ “(กำไรสุทธิ (Net Profit) ÷ ส่วนของผู้ถือหุ้นรวม (Equity)) x 100”
ยิ่ง % ROE เยอะ หมายความว่าตัวหาร หรือส่วนของผู้ถือหุ้นรวม (Equity) = หุ้นตัวนั้นมีกำไรมาก แต่ส่วนผู้ถือหุ้นน้อย เป็นหุ้น Undervalue
ตัวอย่างเช่น บริษัทกระต่ายมีกำไรสุทธิ (หักลบหนี้สินแล้ว) 90 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 500 ล้านบาท ดังนั้น ROE อยู่ที่ (90 ล้าน ÷ 500 ล้าน) x 100 = 18%
#4 Earnings yield
Earnings yield คืออัตราส่วนระหว่างกำไรต่อหุ้น เมื่อเทียบกับราคาหุ้น จะมีวิธีคิดที่กลับมาจาก P/E Ratio คือ “(กำไรต่อหุ้น (EPS) ÷ ราคาต่อหุ้น (Price)) x 100”
นักลงทุนจะมองว่าหุ้นที่มี Earnings yield สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยรัฐบาล เป็นหุ้น Undervalue
ตัวอย่างเช่น หุ้นกระต่าย มีกำไรต่อหุ้น (EPS) อยู่ที่ 10 บาทและราคาหุ้นอยู่ที่ 50 บาทต่อหุ้น เพราะฉะนั้น Earnings yield อยู่ที่ (10 ÷ 50) x 100 = 20%
#5 Dividend yield
Dividend yield คืออัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลของบริษัท ซึ่งเป็นส่วนของกำไรที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้น เมื่อเทียบกับราคาหุ้น
โดยมีวิธีคิดคือ “(เงินปันผลต่อหุ้น (Dividend per shares) x 100) ÷ ราคา (Price)”
เหล่านักลงทุนจะชื่นชอบบริษัทที่มี Dividend yield มั่นคงทุกปี เพราะนั่นแปลว่าบริษัทมีความมั่นคงและมีผลกำไรที่ดี
ตัวอย่างเช่น หุ้นกระต่ายจ่ายเงินปันผล 5 บาทต่อหุ้นทุกปี ราคาหุ้นอยู่ที่ 50 บาท เพราะฉะนั้น Dividend yield ของหุ้นกระต่ายอยู่ที่ (5 ÷ 50) x 100 = 10%
#6 Current ratio
หรืออัตราส่วนทุนหมุนเวียนของบริษัท เป็นอัตราส่วนที่ใช้ชี้วัดความสามารถของบริษัทในการจ่ายหนี้สิน
โดยมีวิธีคิดคือ “สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Asset) ÷ หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities)”
Current ratio ที่น้อยกว่า 1 มักจะแปลความหมายได้ว่าบริษัทนั้นมีหนี้สินที่เยอะจนมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนของบริษัททั้งหมด ยิ่ง Current ratio ต่ำ ก็ยิ่งมีโอกาสที่หุ้นจะราคาลดลงจนถึงจุดที่หุ้นตัวนั้น Undervalue ได้
ตัวอย่างเช่น บริษัทกระต่ายมีสินทรัพย์หมุนเวียน 1.2 พันล้านบาท และมีหนี้สินหมุนเวียน 1 พันล้านบาท ดังนั้น Current ratio จะอยู่ที่ 1.2 (1.2 พันล้าน ÷ 1 พันล้าน)
#7 Price-earnings to growth ratio (PEG Ratio)
PEG Ratio ถูกต่อยอดมาจาก PE Ratio เพื่อคาดการณ์การเติบโตของกำไรในอนาคต
โดยมีวิธีคิดคือ “PE Ratio (Price to Earning) ÷ อัตราการเปลี่ยนแปลงของกำไรสุทธิ (Net Profit Growth Rate(%))”
หากบริษัทนั้นมีรายรับที่มั่นคง และมี PEG Ratio ที่ต่ำ นั่นแปลว่าหุ้นตัวนั้นเป็นหุ้น Undervalue
ตัวอย่างเช่น หุ้นกระต่ายมี P/E ratio อยู่ที่ 5 และอัตราการเปลี่ยนแปลงของกำไรสุทธิคือ 20% เพราะฉะนั้น PEG Ratio = 0.25 (5 ÷ 20%)
#8 Price-to-book ratio (P/B) หรือ Price to Book Value Ratio (P/BV)
คืออัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี ใช้เพื่อประเมินราคาหุ้นปัจจุบัน เมื่อเทียบกับมูลค่าตามบัญชีของบริษัท
โดยมีวิธีคิดคือ “ราคาตลาดต่อหุ้น (Market price per share) ÷ มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Book value per share)”
และหุ้นที่มี P/B Ratio ต่ำกว่า 1 มักจะเป็นหุ้น Undervalue
ตัวอย่างเช่น หุ้นกระต่ายมีราคา 50 บาทต่อหุ้น และมูลค่าตามบัญชีอยู่ที่ 70 บาท ซึ่งหมายความว่า P/B Ratio คือ 0.71 (50 ÷ 70)
ทั้งหมดนี้เป็นสรุปความหมายและวิธีการหาหุ้น Undervalue แบบที่นักลงทุนสาย VI ใช้กัน ใครที่กำลังมองหาหุ้นลงทุนก็สามารถนำไปใช้กันได้ และอย่าลืมติดตามข่าวสาร ความรู้การลงทุนดีๆ จาก SkillLane นะครับ
#การลงทุน #เศรษฐกิจ #หุ้น #หุ้นไทย #ประเมินมูลค่าหุ้น
#เรียนออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา
โฆษณา