15 ก.พ. 2023 เวลา 15:50 • กีฬา

#ภาคผนวกเกมชนะลีดส์0-2

เก็บตกแทคติกเพิ่มเติมจากลีดส์ ยูไนเต็ด ที่ได้เขียนรีวิวหลังเกมแบบละเอียดยาวเฟื้อยไปแล้วในลิงค์นี้
นี่คือโพสต์เก็บตกในเชิงแทคติกเล็กๆน้อยๆจากเกมนั้น ที่จะทำให้เห็นอะไรบางอย่างได้ชัดเจนว่า รูปเกมในวันนั้นเป็นแมตช์ที่ยาก และต้องสู้กันด้วยแผนการเล่นอย่างแท้จริง
ลีดส์ใช้แทคติกเดิมได้ผลกับเราเป็นครั้งที่สอง ยูไนเต็ดเองก็ยังเจอปัญหาเดิมอยู่ แต่สิ่งที่ดีขึ้นคือ เราเล่นด้วยความแน่นอนมากขึ้น ไม่ปล่อยให้โดน Quick Transition เล่นงาน
และที่สำคัญ ทีมโชว์คาแรคเตอร์ของการเป็นทีมที่มีความเฉียบคมในด้านการยิงประตูตัดสินเกม แสดงให้เห็นกันแบบจะจะว่านี่คือจุดที่แตกต่างกันระหว่างเรากับพวกเขา
แทคติกที่มองเห็นชัดๆในวันนั้นมีอะไรบ้าง ไปดูกัน
1. เพรสซิ่งคุมโซนในพื้นที่ Middle Third
ลีดส์ยูไนเต็ดยังคงดันเกมสูงขึ้นมายืนกันให้แน่นในแดนกลาง เพื่อป้องกันและบีบไม่ให้แมนยูไนเต็ด สร้าง build-up play ขึ้นมาบุกได้ง่ายๆ
แผนนี้ต้องใช้ความเข้าใจในเรื่องเพรสซิ่ง รวมถึงทีมเวิร์คของทีมเยอะมากถึงจะทำได้ ต้องชมลีดส์จริงๆว่า สามารถเพรสซิ่งได้ดียิ่งกว่านัดแรกที่เจอกันซะอีก จากที่เกมแรกพวกเขายุบลงไป และเลิกดันเกมสูงในช่วงครึ่งหลัง จนสุดท้ายเจอยิงคืนไปสองลูก ทั้งๆที่ควรจะเล่นเหมือนเดิม
นัดนี้ลีดส์บี้ตลอดทั้งเกม จนแมนยูไนเต็ดขึ้นเกมได้ยาก และแทบไม่มีความหวังในการทำเกม สร้าง attempts โจมตีลีดส์เลยด้วยซ้ำ ภาพข้างบนนี้ก็จะชัดเจนว่า ลีดส์พุ่งเข้าหาตัวถือบอลของแมนยูทันทีที่เกิดช่องว่างของการถ่ายบอลไปมา ยิ่งบอลที่ถูกส่งเข้ามุมอับ จะยิ่งเป็นตัว Pressing Triggers ในการวิ่งบีบวิ่งเพรสเข้าใส่ทันที
2. บอลไดเร็คต์สวิตช์ข้ามฝั่ง
แทคติกที่ทางแมนยูเองก็ปรับแก้มาเพื่อเกมนี้ คือการวางตัวแฮรี่ แมกไกวร์ลงมาในสนาม ในฐานะตัวหลักในการออกบอลของทีม
จริงอยู่ว่าเขาเล่นได้ค่อนข้างแย่ และทำไม่ได้อย่างที่ผู้จัดการวางตัวเขาลงมา แต่การตัดสินใจในสนามของแมกไกวร์ก็จะเห็นชัดว่า ทีมวางเขาลงมานอกจากเพื่อเรื่อง rotation แล้ว ก็ยังจัดลงมาเพื่อสวิตช์บอลยาวไปให้ปีกตัวรับบอลในแดนหน้าด้วย
เกมนี้แรชฟอร์ดอยู่ทางซ้าย ซานโช่อยู่ทางขวา เป็นตัวเก็บบอลแดนบนที่ดีทั้งคู่ แต่น่าเสียดายว่า บอลยาวข้ามเพรสแดนกลางของลีดส์ ใช้ไม่ได้ผลนักเนื่องจาก error ส่วนตัวในการออกบอลของตัวเล่นหลักในแผงหลังของเรา
3. Quick Transition ที่ชัดเจนและรวดเร็วของลีดส์
บอลที่ออกมาจากเท้าสู่เท้าของลีดส์ มักเป็นบอล Forward Passes (เส้นเหลือง) ที่ถูกจ่ายออกมาในแนว vertical เสมอซะเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่บอล Square Passes ที่เน้นครองบอลแน่นอน และใช้เวลานานๆ
บอลที่เล่นกันด้วยชุดความคิดโจมตีเร็วเช่นนี้ มีข้อดีข้อเสียอยู่ ข้อเสียคือความแน่นอนอาจจะมีลดน้อยลงไปบ้างบางครั้ง เพราะต้องโจมตีเร็ว เล่นเร็วเพื่อทำลายเกมรับคู่แข่งที่ยังตั้งกระบวนไม่ได้
แต่ข้อดีคือ การเล่นจะสามารถสร้าง attempts การยิงประตูได้ค่อนข้างมาก (เหมือนที่ลีดส์ทำได้ในเกมนี้) เป็นจุดที่เกมเร็วของแมนยูเองก็ชอบเล่นเกมลักษณะนี้เหมือนกัน ถ้าทีมฝึกมาอย่างดี เข้าใจซึ่งกันและกันได้แม่นยำแล้ว บอลเร็วจะเป็นอาวุธที่อันตรายมากๆ
ในภาพนี้บอลถูกจ่ายขึ้นมาให้ซัมเมอร์วิลล์โดยตรง และเขาก็สามารถยิงโจมตีใส่เดเคอาได้อย่างรวดเร็ว โดยที่แนวรับแมนยูไม่ทันตั้งตัว งานจึงพุ่งตรงดิ่งเข้าไปหาเดเคอาให้ต้องออกแรงเซฟอย่างที่เห็น
ตัวเล่นเร็วเก่งๆของแมนยูชุดนี้ที่เห็นชัดคือ แรชฟอร์ด บรูโน่ ซานโช่ การ์นาโช่ มาร์กซิยาล พวกนี้เล่นเร็วกันเฉียบคมจริงๆ
4. Inverted Wing-Back ที่ช่วยมิดฟิลด์ตั้งเกม
หนึ่งจุดของแทคติกที่เกิดขึ้นคือการใช้วิงแบ็คหุบเข้าในมาเพื่อช่วยกองหลัง ที่เซ็ตหลังสามเสมือน เป็นฐานในการเซ็ตบอลเพื่อเล่นออกจากแดนหลัง (play out of defense) เนื่องจากมิดฟิลด์สองคนไม่ใช่ตัวโฮลดิ้งที่ถนัดในการรับบอล ครองบอลขึ้นจากตรงกลาง
มิดฟิลด์ที่ปกติแล้วจะวางไว้หนึ่งตัวรออยู่หน้าแผงหลัง (ซาบิตเซอร์ในรูป) ก็จะกลายเป็นการดึงวิงแบ็คหุบเข้าใน มาช่วยรับบอลต่อบอลแทน
แผนนี้จะใช้ยามที่คาเซมิโร่ไม่อยู่ และเกมแรกไม่มีแทคติกนี้แก้เกมลีดส์เลย แต่นัดสองจะเห็นชัดมาก ไม่ว่าจะเป็นมาลาเซีย หรือ ชอว์ เกมนัดสองกับลีดส์จะหุบเข้ากลางมาช่วยมิดฟิลด์ตัวต่ำอย่างซาบิตเซอร์ต่อบอลอยู่บ่อยๆในเกม
5. การถอย Target man ลงต่ำเพื่อเพิ่ม "สปีดการเข้าทำ" ในแนวฟร้อนท์ทรี
รูปแบบของการปรับใช้เว็กฮอร์สต์ ลงต่ำมา ทำให้แกนกลางของทีมแน่นขึ้น จากการลงมาช่วยล้างบอล เก็บบอล และเข้าปะทะในจังหวะบอลรีคัฟเวอร์หลายต่อหลายครั้ง
ทรงนี้จะทำให้แดนหน้า 3 ตัว สามารถโจมตีด้วยความเร็วได้ เพราะก่อนหน้านี้ใช้เว็กฮอร์สต์ค้ำบน เกมจะเป็นอีกรูปแบบ แต่เมื่อดันบรูโน่ออกไปขวา ใช้แรชยืนค้ำกลาง และซ้ายมียอดนักแว๊นอย่างการ์นาโช่ ทำให้ฟร้อนท์ทรีของทีมเพิ่มสปีดความเร็วในการโจมตีทันทีมากขึ้น
พูดง่ายๆ การถอยเว็กฮอร์สต์ลงมา คือการเพิ่มความเร็วในการเล่นให้ฟร้อนท์ทรีนั่นเอง
ประตู 0-1 จากลูกโหม่งของแรชฟอร์ด ก็มาจากบอลสวิตช์ข้ามฝั่งอย่างรวดเร็วของซาบิตเซอร์เมฆวัฒนา ที่เปิดให้ชอว์เก็บบอลสำเร็จ และครอสบอลทันทีด้วยตัววิ่งที่พุ่งขึ้นมาเข้าทำเร็วอย่างแรชฟอร์ด
มันคือประตูที่เกิดจากสปีดการเข้าทำที่มากขึ้นของทีมนั่นเอง ไม่ต้องค่อยๆเซ็ตบอลกันช้าๆจนสร้างโอกาสไม่ได้ เพราะยิ่งช้า โอกาสที่นักเตะลีดส์จะพุ่งเข้าเพรสซิ่งใส่ ยิ่งมีมากขึ้น
ประตูที่สอง จากลูกแทงขึ้นหน้าของเว็กฮอร์สต์ ยิ่งชัดเจนว่า ถอยตัวเป้าTarget manลงต่ำมา มันได้ "สปีด" ในการบุกเพิ่มขึ้นจากตัวแนวหน้าที่มีความเร็วอย่างแรช หรือ การ์นาโช่
6.ความเฉียบคมคือคำตอบ
โอกาสการจบสกอร์ที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างทั้งสองทีม เป็นตัวบ่งบอกว่า แมนยูไนเต็ดที่ได้โอกาสจบน้อยกว่ามากๆ (โดยเฉพาะในครึ่งหลัง) แต่กลับชนะเก็บสามแต้มได้ ในภาพนี้เป็นStatของจังหวะการได้สัมผัสบอลในกรอบเขตโทษ (Touch in opponent box)
แมนยูช่วงครึ่งหลังแทบไม่มีโอกาสทำเกมขึ้นมาถึง Final Third เลยด้วยซ้ำ ลูกยิงได้ลุ้นครั้งเดียวคือดาโลต์ ก็ยิงออกมาจากขอบนอกของแดนสาม บริเวณนอกกรอบเขตโทษ ถึงจะได้ลุ้น
จนกระทั่งเกิดจังหวะบุกสวนขึ้นมาทีเดียวรู้เรื่องจากลูกโหม่งแรชฟอร์ด ถึงได้คำตอบที่แฟนผีอดทนมา 80 นาทีว่า รูปเกมที่อึดอัดเช่นนี้ สุดท้ายแล้วต้องวัดที่ความคมจริงๆ ถึงเกมจะแย่กว่า แต่ฟุตบอลเป็นแบบนี้เสมอ
"ทีมที่คมกว่า ยิงประตูได้มากกว่า มักเป็นผู้ชนะ"
ไม่มีคะแนนท่าสวยให้ผู้แพ้
คงจะดีกว่า ถ้าแมนยูไนเต็ดมีรูปเกมที่สวยด้วย และบุกเอาชนะได้ด้วย แต่ในวันที่เจอคู่แข่งเหนือกว่า เตรียมเกมแพลนมาดี และเล่นด้วยอย่างยากลำบาก
ขอแค่แผงหลังเราไม่เสียประตู และช่วยกันรักษาคลีนชีตกันไว้ให้ได้ ที่เหลือปล่อยให้แดนหน้ารอโอกาสที่จบสกอร์ได้ก็พอ โอกาสชนะก็จะมีสูง
บาลานซ์ระหว่างเกมรับกับเกมรุกเป็นสิ่งสำคัญมาก และเกมนัดนี้ปีศาจแดงทำได้สำเร็จ
เกมถัดๆไป หากว่าแดนกลางเราแข็งแกร่งขึ้นในเกมนัดหน้า หรือฤดูกาลหน้าถ้ามีการเสริมทีมในตำแหน่งนี้ให้แน่นปึ้ก แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดจะน่ากลัวทั้งรูปเกมในสนาม ทั้งภาคเกมรับเหนียวแน่นจากโคตรโกลและเซ็นเตอร์คู่แชมป์โลก บวกกับแดนหน้าที่คมกริบและยิงกันได้ดุเดือดยิ่งขึ้นทุกวันๆที่เด็กเหล่านี้เติบโต
ถ้ารักษาเรทการพัฒนาทีมแบบนี้ได้เรื่อยๆ อยากจะเห็นเร็วๆว่า ในอนาคตที่ทีมจะโหดได้มากกว่านี้ จะยิ่งยกระดับและดีขึ้นขนาดไหน
ในมือของเอริค เทน ฮาก เราทำได้แน่นอนครับ
-ศาลาผี-
โฆษณา