Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Supawan’s Colorful World
•
ติดตาม
16 ก.พ. 2023 เวลา 02:45 • ท่องเที่ยว
ทมิฬนาดู (22) … เทวาลัยคังไคโกณฑะ โจฬะปุรัม
เมืองตัญจาวูร์ (Thanjavur) .. "อู่ข้าวอู่น้ำของรัฐทมิฬนาฑู"
ตัญชาวูร์ .. เป็นเมืองทางตอนใต้ของรัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ริมฝั่ง “แม่น้ำเกาเวริ” ซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่มีสาขามากมาย เป็นแหล่งกสิกรรมใหญ่ และเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของอินเดียใต้
ตัญชาวูร์ .. ได้มาจากชื่อของอสูร “ตันชัญ” ที่ถูกปราบโดยพระวิษณุ และพระนางลักษมี โดยก่อนจะตายอสูรตันชัญ ขอให้เอาชื่อตนมาตั้งเป็นชื่อเมือง
เมืองนี้เป็นอดีตศูนย์กลางของอาณาจักรโจฬะ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10-12 (พุทธศตวรรษที่ 15-17) ซึ่งเป็นจักรวรรดิที่มีอำนาจทางทะเล สามารถโค่นล้มราชวงศ์ปัลลวะในกาญจีปุรัม .. ตีทะลวงไปถึงปากแม่น้ำคงคาในเบงกอล .. ราชวงศ์ณายกะในระหว่างปีค.ศ. 1535 - 1676 และฮินดูมาราธา ในปีค.ศ. 1676– 1855
ราชวงศ์โจฬะ (Chola Dynasty) เป็นราชวงศ์ทมิฬทราวิฑที่ปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนใต้ของอินเดียมาจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 13 .. ถิ่นกำเนิดของราชวงศ์อยู่ที่ลุ่มแม่น้ำกาเวรี (Kaveri River) พระเจ้าการิกาลาโจฬะ (Karikala Chola) เป็นบุคคลสำคัญที่สุดในยุคโจฬะตอนต้น ขณะที่จักรพรรดิองค์อื่น ๆ หลายองค์ทรงมีชื่อเสียงในยุคกลาง
ราชวงศ์โจฬะรุ่งเรืองตลอดมาตั้งแต่ครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 9 มาจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ในรัชสมัยของพระเจ้าราชาราชะโจฬะที่ 1 และพระเจ้าราเชนทระโจฬะที่ 1 ผู้เป็นพระราชโอรส ราชวงศ์โจฬะก็กลายเป็นมหาอำนาจทางการทหาร เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของเอเชีย
ระหว่างปี ค.ศ. 1010 ถึงปี ค.ศ. 1200 ดินแดนของจักรวรรดิโจฬะก็ครอบคลุมตั้งแต่เกาะมัลดีฟส์ทางตอนใต้ขึ้นไปทางเหนือจนจรดแม่น้ำโคทาวารีในรัฐอานธรประเทศ .. พระเจ้าราชาราชะโจฬะที่ 1 ทรงพิชิตคาบสมุทรอินเดียใต้ ผนวกดินแดนที่ปัจจุบันคือศรีลังกา และยึดครองมัลดีฟส์
ต่อมาพระเจ้าราเชนทระโจฬะที่ 1 ทรงขยายพระราชอำนาจขึ้นไปทางเหนือของอินเดียจนไปถึงแม่น้ำคงคาและสามารถพิชิตนครหลวงปาฏลีบุตรแห่งจักรวรรดิปาละ นอกจากนั้นก็ยังทรงไปรุกรานราชอาณาจักรของกลุ่มเกาะมลายู และขยายดินแดนไปถึงพม่า และ เวียดนามและภาคใต้ของไทย
ราชวงศ์โจฬะมาเริ่มเสื่อมโทรมลงเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 และสลายตัวไปเมื่อราชอาณาจักรปัณฑยะและจักรวรรดิฮอยซาลาขึ้นมาเรืองอำนาจ
ราชวงศ์โจฬะ เลื่อมใส ศรัทธาในศาสนาฮินดู และชื่นชอบงานศิลปะ .. เป็นผู้อุปถัมภ์วรรณคดีทมิฬ และการก่อสร้างเทวาลัย พระมหากษัตริย์ของราชวงศ์โจฬะทรงนิยมสร้างเทวาลัย ที่ไม่แต่จะเป็นสถานที่สำหรับการสักการะ แต่ยังเป็นศูนย์กลางของกิจการทางเศรษฐกิจด้วย และ ยังริเริ่มระบบการปกครองจากศูนย์กลางและระบบราชการที่เป็นระเบียบแบบแผน
ในเมืองแห่งนี้จึงมีสิ่งก่อสร้างที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองอยู่มากมาย .. และเรากำลังจะไปเดินชมกันค่ะ
Ref : Wikipedia
เทวาลัยคังไคโกณฑะ โจฬะปุรัม .. Gangaikonda Cholapuram
จักรพรรดิราเชนทรโจตฬะที่ 1 ได้ตั้งเมืองนี้เป็นเมืองหลวงของราชวงศ์โจฬะ ในคศ. 1025 เพื่อเป็นการประกาศชัยชนะในการแผ่อิทธิพลตลอดแนวสองฝั่งเบงกอลได้สำเร็จ และให้ชื่อเมืองใหม่นี้ว่า “กังไกโกณฑะโจฬะปุรัม” (Gangaikonda Cholapuram) ซึ่งมีความหมายว่า “เมืองแห่งโจฬะผู้ครองแม่น้ำคงคา”และเมืองนี้คงสถานะอยู่ได้ถึง 250 ปี
ราชธานีแห่งใหม่นี้ มีพระราชวังใหญ่โต และมีเทวาลัยอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งในเชตราชธานี และบริเวณใกล้เคียง และที่มีชื่อเสียงมาก รวมถึงเทวาลัยคังไคโกณฑะ โจฬะปุรัม
เทวาลัยคังไคโกณฑะ โจฬะปุรัม ที่เราเห็นในปัจจุบันสร้างเสร็จในปี 1035 CE .. จักรพรรดิราเชนทรโจตฬะ เป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถมาก สามารถขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง และเมื่อไปรบชนะที่ใด พระองค์จะสั่งให้อาณาจักรใต้การปกครองต้องส่งน้ำจากแม่น้ำคงคา เพื่อมาใส่ในบ่อน้ำของเทวาลัยแห่งนี้
พระองค์ยังโปรดให้สร้างเทวาลัยมากมายไปทั่วอาณาจักร ด้วยการใช้แบบแผนและเครื่องมือในแบบเดียวกัน .. แต่เทวาลัยเหล่าให้ถูกทำลายในช่วงปลายศตวรรษที่ 13 และ 14 ยกวันเทวาลัย Brihadishvara temple ซึ่งเหตุผลที่เทวาลัยนี้สามารถยืนยงอยู่ได้ก็ไม่ปรากฏแน่ชัดเช่นกัน
เทวาลัยคังไคโกณฑะ โจฬะปุรัม แห่งนี้ ได้รับการประกาศเป็น มรดกโลก UNESCO World Heritage Site.
สถาปัตยกรรม และงานศิลป์
กษัตริย์ผู้สร้างเทวาลัยแห่งนี้เป็นผู้ที่รักงานศิลป์และสถาปัตยกรรมมาก การสร้างเทวาลัยคังไคโกณฑะ โจฬะปุรัม จึงเป็นผลงานที่วิจิตรอลังการ ..
หินที่ตัดเป็นก้อนๆนำมาวางเรียงเป็นแนวยาวสูงล้อมรอบเทวาลัย กลายเป็นกำแพงที่เหมือนป้อมปราการที่ตั้งเป็นสง่า.. มองไม่เห็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นโคปุรัม ด้วยคิดว่าเป็นสัญลักษณ์ของเทวาลัยในอินเดียใต้ แต่ไม่มีให้เห็น
ทางเดินหินเรียง นำเราไปสู่ประตูทางเข้า .. มองเห็นส่วนบนของเทวาลัยที่เป็นฉากหลังให้กับโคที่สลักจากหินขนาดใหญ่ รวมถึงเสาธวัชสดมภ์สูงเด่นขึ้นไปตัดกับท้องฟ้าสีคราม
โคนนทิ .. สีส้มอ่อนๆเหมือนสีอิฐของรูปปั้นโคขนาดใหญ่ของเทวะพาหนะ อลังการกว่าที่เราเคยเป็นในเทวาลัยอื่นๆ แต่ยังคงสื่อความหมายเดียวกันว่า เทวาลัยแห่งนี้สร้างอุทิศถวายแด่ พระศิวะ .. น่าเกรงขามอยู่ในที
เทวาลัยสร้างขึ้นมาด้วยหินขนาดใหญ่ การวางหินดูเป็นระเบียบเรียบร้อย .. ตัวอาคารให้ความรู้สึกเหมือนเป็นพระราชวังขนาดใหญ่ มากกว่าจะเป็นศาสนสถาน อาจจะเป็นเพราะไม่มีโคปุรัมที่คุ้นตา
เราเดินอ้อมไปทางด้านข้างของเทวาลัย .. บนผนังที่เป็นกำแพงหิน มีรูปสลักเทพเจ้าเป็นระยะๆ
สิ่งที่ปรากฏในสายตาเมื่อเราเงยหน้าขึ้นไปมองขึ้นไปจากทางขึ้นด้านข้างของเทวาลัย ทำให้เราตลึงอยู่สักครู่ ... รูปปั้นขนาดมหึมาของทวารบาลที่ตั้งอยู่ขนาบข้างทางเข้าสู่ด้านในของเทวาลัย
1
ทวารบาล .. ศิลปะโจฬะ มือข้างหนึ่งยกนิ้วในท่าดรรชนีมุทรา ซึ่งมีความหมายถึงการขู่ความชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในศาสนสถาน จากความเชื่อที่ว่า นิ้วชี้เป็น “นิ้วแห่งเดช” ที่มีพลังอำนาจ
ความน่าเกรงขาม ด้วยขนาดที่ใหญ่โต .. ยิ่งเดินเข้าไปใกล้เท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกว่าต้องนอบน้อม และตัวเราเล็กลงเรื่อยๆ รู้สึกถึงพลังและพระราชอำนาจของกษัตริย์ผู้สร้างได้เลย
ด้านข้างบันไดทางขึ้น .. ทั้ง 2 ข้างมีรูปสลักหินของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู เช่นพระแม่อุมา
รูปสลักหินทางด้านซ้ายของเทวาลัย มีเรื่องราวที่น่าสนใจ .. เล่าโดย ไกด์โอ
'มูรติแห่งพระศิวะที่ประทานความเมตตาแด่จันเทศวรา' Chandesanugraha Murti
จันเทศะ หรือจันเทศวรา เป็น 1 ใน 63 นยันมาร์ สาวกผู้ภักดีแด่องค์ศิวะ
ในแถบอินเดียใต้ในลัทธิไศวนิกาย หรือการบูชาพระศิวะเป็นใหญ่ นอกจากจะมีการบูชาพระศิวะแล้ว ก็ยังจะมีการบูชา "นยันมาร์" (Nyanmar) หรือสาวกผู้ภักดีต่อองค์พระศิวะ ซึ่งนยันมาร์ทั้งหมดจะมีจำนวน 63 องค์
"จันเทศะ" นยันมาร์ผู้เฝ้ารักษาขุมทรัพย์แห่งองค์พระศิวะ จากคัมภีร์ปุราณัมใหญ่ของฝ่ายทมิฬ (Periya Puranam)
“จันเทศะ” เป็นบุตรของครอบครัวพราหมณ์ อาศัยอยู่ในแถบอินเดียใต้ มีบิดาชื่อ “ฑัตตะ” (ในบางตำนานท้องถิ่นกล่าวว่าเกิดมาในครอบครัวโคปาละ และเป็นเด็กเลี้ยงวัวเลย)
ในวัยเด็กจันเทศะได้เห็นฝูงแม่โคที่ไม่มีใครเลี้ยงดู ปล่อยให้หากินหญ้ากินน้ำกันตามมีตามเกิด จันเทศะจึงได้หาหญ้าหาน้ำเลี้ยงดูโคที่ถูกปล่อยปะละเลยฝูงนั้น
ด้วยความที่กำเนิดเกิดจากครอบครัวพราหมณ์ จันเทศะก็นึกถึงว่า ตัวเราเองยังได้นมจากแม่โคมาดื่มกิน แล้วองค์พระศิวะ จะได้รับน้ำนมเช่นเราได้อย่างไร
จันเทศะจึงได้นำดินทรายในบริเวณนั้น ก่อเป็นรูปศิวลึงค์ขึ้นมา และได้นำน้ำนมจากแม่โคส่วนนึง มาราดรถลงบนศิวลึงค์ถวายแด่องค์พระศิวะ หลังจากถวายนมโคแล้ว จันเทศะก็จะนั่งบำเพ็ญฌานสมาธิอย่างลึกซึ้ง และได้กระทำต่อเนื่องมาเป็นกิจวัตร
การกระทำนี้รู้ไปถึงฑัตตะ บิดาแห่งจันเทศะ ทำให้ฑัตตะนั้นรู้สึกโกรธเป็นอย่างมาก ที่บุตรชายในตระกูลพราหมณ์ได้กระทำการอันไร้สาระ มาเลี้ยงโค รีดนมโค และยังนำน้ำนมโคราดรดลงบนกองดินทิ้งเล่นอยู่ทุกๆวัน
จนกระทั่งในวันหนึ่ง ความอดทนของฑัตตะก็สิ้นสุดลง ฑัตตะได้เดินมาบริเวณฝูงโคและเห็นจันเทศะกำลังหลับตาบำเพ็ญฌานอยู่ใกล้กับศิวลึงค์ดินทรายที่ตัวเองได้สร้างขึ้นมา
เมื่อมาถึง ฑัตตะก็ไม่พูดพร่ำทำเพลงใดๆ จัดการเงื้อแข้งขวาของตนเองหมายจะเตะทำลายกองดินทรายที่เป็นศิวลึงค์ที่จันเทศะสร้างขึ้นมา แต่การกระทำนั้นได้ปลุกให้จันเทศะผู้บุตร ถอนออกจากฌานสมาธิที่กระทำอยู่
ในพริบตานั้นเอง จันเทศะได้คว้าเอาไม้เท้าสำหรับต้อนฝูงโค แล้วเหวี่ยงไม้เพื่อไปกันลำแข้งขวาของฑัตตาผู้บิดา เพื่อป้องกันไม่ให้ทำลายศิวลึงค์ของตนเอง .. แต่ไม้เท้านั้นได้กลับกลายเป็น "ปรศุ" หรือขวานแห่งองค์พระศิวะ ตัดเข้าสู้ลำแข้งของทัตตะจนขาขาดลงไปทั้งสองข้างล้มลงนอนโอดครวญบนพื้นดิน
และทันใดนั้น พระศิวะได้ปรากฏกายขึ้นพระองค์ได้เห็นความภักดีของจันเทศะ ผู้ที่นับถือพระองค์มิให้บิดาตัวเองมาทำลายศิวลึงค์อันเป็นตัวแทนของพระองค์ได้
พระองค์ได้กล่าวกับจันเทศะว่า
"ต่อแต่นี้สืบต่อไป ข้าจะเป็นบิดาของเจ้าเอง และด้วยความที่เจ้าดูแลรักษาสมบัติแห่งข้า (องค์ศิวลึงค์) ข้าจะขอแต่งตั้งเจ้าเป็นผู้พิทักษ์รักษาสมบัติแห่งข้าสืบต่อไป"
พระศิวะก็ได้ประทานพวงมาลัยพันลงบนเศียรของจันเทศะ เพื่อเป็นการอภิเษก และได้เสกให้ขาที่ขาดของฑัตตะได้ต่อติดกันและมีชีวิตสืบต่อไป...
ปัจจุบันในเทวาลัยที่อินเดียใต้ มักจะมีรูปแกะสลักหรือมณฑปของจันเทศะ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของศิวลึงค์ประธาน เพื่อทำหน้าที่เฝ้ารักษามิให้ใครมาขโมยหรือทำร้ายทรัพย์สมบัติของพระศิวะได้
และเนื่องจากจันเทศะ จะนั่งเข้าฌานสมาธิอยู่เป็นนิจ หลังจากที่คนอินเดียบูชาองค์พระศิวะหรือศิวลึงค์ประธานในเทวาลัยนั้นๆแล้ว ก็จะต้องมาที่รูปแกะสลักหรือมณฑปของจันเทศะ
แล้วก็จะทำการ "ดีดนิ้ว" หรือ "ตบมือ" เพื่อปลุกให้จันเทศะให้ถอนออกจากสมาธิ และเพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า มือของเรามิได้หยิบทรัพย์สมบัติของพระศิวะติดออกไปจากเทวาลัยแห่งนั้น
Ref : ไกด์โอ พาเที่ยว
เทวาลัยพระวิษณุ ... ตั้งอยู่ใกล้ๆเทวาลัยประธาน ..
เทพเจ้าในศาสนาฮินดู .. เส้นสายขององค์ประกอบรูปสลัก งดงามด้วยฝีมือเชิงช่างชั้นครู เป็นสวรรค์สำหรับคนที่รักงานศิลปะแบบกึ่ง Sculptural Art
ศิวะนาฏราช และรูปสลักเทวี .. ยังคงมีมนต์เสน่ห์ สะกดสายตาที่เพ่งมองได้อย่างดี
ศิลปะ ดราวิเดียน ที่งดงาม บบนส่วนของหลังคาด้านหลังของเทวาลัยประธาน ..
ภาพสลักรูปเทพเจ้าต่างๆในศาสนาฮินดูมากมายหลายองค์อยู่บนนั้น แม้จะเห็นไม่ชัดว่าเป็นองค์ไหน แต่แค่ความงามในมุมมองทางศิลปะ ก็ดูได้เพลินแล้ว
.. เดินไป ชมความงดงามใหญ่โตของเทวาลัยไป .. อดคิดไม่ได้ว่า ผู้สร้างต้องระดมทรัพยากรต่างๆมากมายแค่ไหน ในการสร้างที่เหมือนเนรมิตสถานที่แห่งนี้ให้เป็นสรวงสวรรค์ของเทพเจ้า รวมถึงเป็นการประกาศความยิ่งใหญ่ของฏัตริย์ผู้สร้างอยู่ในที
ภายในเทวาลัยประธาน เป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ขนาดใหญ่ที่สร้างจากหินก้อนเดียว
ด้านหน้าของเทวาลัยประธาน
นาฏราช .. Vitarka Mudra ลองทำตัวกลมกลืนสักหน่อย 555
1 บันทึก
2
1
3
1
2
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย