Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ตงฮั้วเดลี่
•
ติดตาม
16 ก.พ. 2023 เวลา 04:39 • ประวัติศาสตร์
ลิ้มกอเหนี่ยว สตรีจีนผู้สาปแช่งมัสยิดกรือเซะ
เรื่องราวมหากาพย์ “ลิ้มกอเหนี่ยว” สตรีจีนผู้สาปแช่งมัสยิดกรือเซะ‼️ ก่อนตายได้สาปแช่งไว้ว่า “ขอให้การสร้างมัสยิดที่พี่ชายทําอยู่นั้นไม่มีวันสําเร็จ” หลังจากที่ลิ้มกอเหนี่ยวสิ้นชีวิตลง ได้เกิดอภินิหารที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ที่นางผูกคอตาย เพราะเชื่อกันว่าวิญญาณของนางได้สิงสถิตอยู่ที่นั่น อ่านเรื่องราวของนางกันเลยค่ะ
1
👉🏻รศ. มัลลิกา คณานุรักษ์ จากตระกูลคณานุรักษ์ (ตระกูลที่สร้างศาลเจ้าเป็นครั้งแรกให้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวประทับ) ได้ศึกษาข้อมูลทั้งจากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษ เอกสารทางราชการ ตำรา และบันทึกต่าง ๆ นำมาเขียนเป็นบทความเรื่อง “ประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ฉบับตระกูลคณานุรักษ์” เล่าว่า
1
📣เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมีประวัติกําเนิดในครอบครัวตระกูลลิ้มในสมัยพระเจ้าชื่อจงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์เหม็ง ราว ๆ พ.ศ. 2065 – 2109 มีพี่น้องชายหญิงหลายคน โดยพี่ชายคนหนึ่งชื่อ "ลิ้มโต๊ะเคี่ยม" รับราชการอยู่ที่มณฑลฮกเกี้ยน เมื่อบิดาของลิ้มโต๊ะเคี่ยมถึงแก่กรรม จึงได้ย้ายมารับราชการที่เมืองจั่วจิว ปล่อยให้ลิ้มกอเหนี่ยวและพี่น้องคนอื่น ๆ เป็นผู้เฝ้าดูแลมารดา
เล่ากันว่าในช่วงระยะนั้นมีโจรสลัดญี่ปุ่นบุกปล้นและเข้าตีเมืองตามชายฝั่งของจีน ลิ้มโต๊ะเคี่ยมซึ่งเป็นที่รักของชาวบ้านถูกขุนนางกังฉินใส่ร้ายว่าสมคบกับโจรสลัดญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงถูกทางราชการประกาศจับ ทําให้ต้องจําใจหลบหนีออกจากประเทศจีนพร้อมกับพรรคพวกหลายคนไปอาศัยอยู่ที่เกาะไต้หวัน ต่อมาเปลี่ยนอาชีพเป็นพ่อค้า นําสินค้าจากประเทศจีนบรรทุกเรือสําเภามาขายที่ประเทศไทย และท่าเรือสุดท้ายที่มาจอดขายสินค้าคือ เมืองกรือเซะ (ปัจจุบันคือ บ้านกรือเซะ ตําบลตันหยงลุโละ อําเภอเมือง จังหวัดปัตตานี)
เจ้าเมืองผู้ครองเมืองกรือเซะสมัยนั้นเป็นชาวไทยมุสลิมที่มีบุตรสาวงามเลิศอยู่นางหนึ่ง ในสมัยก่อนถือเป็นธรรมเนียมของพ่อค้าที่เมื่อนําเรือสินค้าเข้าไปจอดที่เมืองใดก็มักจะนําผ้าแพรพรรณและสิ่งของสวย ๆ งาม ๆ ที่มีค่าขึ้นไปถวายเจ้าผู้ครองเมืองเป็นของกํานัลเพื่อผูกไมตรี ปรากฏว่าเป็นที่พอพระทัยของเจ้าผู้ครองเมืองเป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงได้ให้ความสนิทสนมเป็นกันเองอย่างดีต่อลิ้มโต๊ะเคี่ยม
1
เนื่องจากลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นชายหนุ่มรูปงาม อีกทั้งยังมีความรู้ความสามารถในศิลปวิทยาการแขนงต่าง ๆ หลายด้าน แม้แต่ฝีมือการรบพุ่งก็เก่งกล้าสามารถ จึงเป็นที่สนใจของบุตรสาวเจ้าเมืองกรือเซะ ซึ่งลิ้มโต๊ะเคี่ยมเองก็ต้องตาต้องใจในความงามที่เป็นเลิศของนางอยู่ก่อนแล้ว
ฝ่ายเจ้าเมืองกรือเซะเองก็สนับสนุนอยากได้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมมาเป็นเขย ในที่สุดลิ้มโต๊ะเคี่ยมและบุตรสาวเจ้าเมืองกรือเซะจึงได้เข้าสู่พิธีวิวาห์ตามหลักศาสนาอิสลาม โดยที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามตามฝ่ายบุตรสาวเจ้าเมืองเพราะยึดถือความรักเป็นใหญ่
2
อีกทั้งลูกเรือที่เดินทางมากับลิ้มโต๊ะเคี่ยมทั้งหมดก็ไม่กลับประเทศจีน ยอมอยู่กับลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นนายที่เมืองกรือเซะ และเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเช่นกัน และมีภรรยาเป็นคนไทยมุสลิมในเมืองกรือเซะ (ในปัจจุบันยังเหลือร่องรอยให้เห็นว่าชาวไทยมุสลิมแถบบ้านกรือเซะจะมีผิวขาวแบบคนจีน)
👉🏻หลายปีต่อมา มารดาของลิ้มโต๊ะเคี่ยมซึ่งอยู่ที่ประเทศจีนไม่เห็นบุตรชายกลับมาจากการค้าขายตามปกติ ก็มีความคิดถึงอีกทั้งเป็นห่วงจนไม่เป็นอันกินอันนอน ลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องสาวอีกคนหนึ่งต่างเกิดความสงสารมารดา ประกอบกับความเป็นห่วงพี่ชายที่ไม่ส่งข่าวมาถึงทางบ้านเลย จึงรับอาสาออกติดตามพี่ชายเพื่อจะพากลับบ้านให้ได้ โดยนางให้สัญญากับมารดาว่า ถ้าไม่สามารถพาพี่ชายกลับมาก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่ต่อไป
ลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องสาวได้คัดเลือกชายฉกรรจ์ที่มีฝีมือการรบในเชิงดาบจํานวนประมาณ 70 คน ออกเดินทางโดยใช้เรือสําเภาติดตามมาจนถึง ประเทศไทย โดยแวะที่ท่าเรือเมืองนครศรีธรรมราชเป็นแห่งแรก และได้สืบหาพี่ชายเรื่อยลงมาทางใต้จนกระทั่งถึงกรือเซะจึงได้ทอดสมอหยุดเรือที่อ่าวหน้าเมือง
ฝ่ายเมืองกรือเซะเข้าใจว่าเป็นเรือของข้าศึกจะยกมาตีเมือง จึงส่งทหารออกไปต่อสู้แต่ก็ถูกฆ่าตายพ่ายแพ้กลับมา เจ้าเมืองกรือเซะเห็นว่าทหารไม่มีฝีมือพอที่จะชนะข้าศึกได้ อีกทั้งยังไม่มีใครกล้าอาสาออกรบ จึงได้ขอร้องลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นบุตรเขยกับพวกที่มาจากประเทศจีนออกไปรบแทน
การรบเป็นไปอย่างดุเดือด ต่างฝ่ายต่างมีฝีมือทัดเทียมกัน และฝีมือเพลงดาบของลิ้มกอเหนี่ยวกับลิ้มโต๊ะเคี่ยมก็มีความเหมือนกัน ทั้งนี้เพราะต่างก็เรียนมาจากสํานักอาจารย์เดียวกัน
1
ในสนามรบ ลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องสาวแต่งกายเป็นผู้ชาย ส่วนลิ้มโต๊ะเคี่ยมแต่งกายแบบไทยมุสลิม และเนื่องจากเป็นเวลากลางคืนทำให้ต่างฝ่ายต่างจํากันไม่ได้ เมื่อการรบกินเวลานานไม่มีใครแพ้ชนะ อีกทั้งยังสงสัยว่าเหตุใดเพลงดาบของอีกฝ่ายจึงเหมือนกับของตน จึงได้เอ่ยถามกันขึ้นตามแบบธรรมเนียมจีน จนในที่สุดได้รู้ว่าเป็นพี่น้องกัน ทั้งคู่สั่งยุติการรบและชวนกันเข้าไปพบเจ้าเมืองกรือเซะ เมื่อเจ้าเมืองทรงทราบก็ยินดีจัดงานเลี้ยงต้อนรับ
ฝ่ายลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องสาวพํานักอยู่ในเมืองกรือเซะเป็นเวลานานพอสมควร จึงได้ชวนลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นพี่ชายกลับประเทศจีน แต่ถูกพี่ชายปฏิเสธทั้ง ๆ ที่ได้รบเร้าไปหลายครั้ง ลิ้มกอเหนี่ยวแค้นใจและน้อยใจในตัวพี่ชาย และมองเห็นแล้วว่าพี่ชายคงไม่ยอมกลับไปแน่นอน ซึ่งในช่วงระยะนั้นลิ้มโต๊ะเคี่ยมกําลังเป็นผู้อํานวยการก่อสร้างมัสยิดอยู่ด้วย ลิ้มกอเหนี่ยวจึงได้ตัดสินใจสละชีวิตตนเองประท้วงพี่ชาย โดยการผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ ก่อนตายได้สาปแช่งไว้ว่า ขอให้การสร้างมัสยิดที่พี่ชายทําอยู่นั้นไม่มีวันสําเร็จ
ส่วนน้องสาวของลิ้มกอเหนี่ยวเมื่อเห็นพี่สาวฆ่าตัวตายก็ฆ่าตัวตายตาม และลูกเรือที่มาด้วยทั้งหมดก็ยังฆ่าตัวตายตามนาย ด้วยการแล่นเรือออกไปในทะเลแล้วกระโดดน้ำตายหมดทุกคน เหลือทิ้งไว้แต่เรือสําเภา 9 ลํา ลอยอยู่ในทะเล ซึ่งเมื่อขาดการดูแลก็ชํารุดและจมทะเลลง คงเหลือไว้แต่เสากระโดงเรือ ซึ่งทําด้วยต้นสนชูอยู่เหนือผิวน้ำทะเล 9 ต้น
1
บริเวณดังกล่าวต่อมาได้ชื่อว่า "รูสะมิแล" เป็นภาษามลายู ซึ่งได้มาจาก "รู" แปลว่า "สน" "สะมิแล" แปลว่า "เก้า" รวมความแปลว่า สนเก้าต้น ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ฝ่ายลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นพี่ชาย เมื่อรู้ว่าต้องสูญเสียน้องสาวทั้ง 2 คนไปเพราะตนเอง ก็โศกเศร้าเสียใจยิ่งนักและได้จัดพิธีศพตามประเพณีจีนอย่างสมเกียรติให้ โดยทําเป็นฮวงซุ้ยอยู่ที่บ้านกรือเซะ ต่อมามีการบูรณะเฉพาะฮวงซุ้ยของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวให้เห็นปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
เมื่อเสร็จงานพิธีศพน้องสาวแล้ว ลิ้มโต๊ะเคี่ยมก็ได้ก่อสร้างมัสยิดที่สร้างค้างไว้ต่อไป พอสร้างจวนจะสําเร็จเหลือยอดโดมก็เกิดเหตุถูกฟ้าผ่ายอดโดมพังทลายหมด เขาก็ยังไม่ยอมแพ้ เพียรพยายามสร้างต่ออีก 3 ครั้ง แต่ก็ถูกฟ้าผ่าพังทลายลงทุกครั้ง ในที่สุดลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงยอมแพ้หมดความพยายามที่จะสร้างต่อไป แม้แต่เจ้าเมืองกรือเซะเองก็บังเกิดความกลัวในอภินิหารตามคําสาปแช่งจนไม่มีใครกล้าสร้างต่อ
ปัจจุบันมัสยิดแห่งนี้ได้กลายเป็นโบราณสถานที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ไว้แล้ว เมื่อนับเวลาว่าเริ่มสร้างในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา จนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลาเกือบสามร้อยปีแล้ว
👉🏻หลังจากที่ลิ้มกอเหนี่ยวสิ้นชีวิตลง ได้เกิดอภินิหารที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ที่นางผูกคอตาย เพราะเชื่อกันว่าวิญญาณของนางได้สิงสถิตอยู่ที่นั่น ใครเจ็บไข้ได้ป่วยหรือได้รับความเดือดร้อนประการใด เมื่อไปบนบานที่นั่นก็จะหายเจ็บหายป่วยพ้นจากความเดือดร้อน ชาวบ้านทั่วไปจึงขนานนามใหม่ว่า เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนับแต่นั้นมา
มีการจัดงานแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่จังหวัดปัตตานีทุกปีหลังตรุษจีนไป 14 วัน เป็นงานที่ชาวจีนและชาวไทยทั่วประเทศรวมทั้งชาวจีนในประเทศใกล้เคียงให้ความสนใจมาชมมากที่สุดของจังหวัดปัตตานี ในงานจะมีพิธีลุยน้ำข้ามแม่น้ำปัตตานี และมีพิธีลุยไฟที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ
ที่มา:
http://www.kananurak.com/
3 บันทึก
7
10
3
7
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย