17 ก.พ. 2023 เวลา 01:00 • การตลาด

รสนิยมเครื่องประดับทองคำในบาห์เรน ที่เปลี่ยนไป

ผู้บริโภคในประเทศบาห์เรนมีการเปลี่ยนแปลงรสนิยมการซื้อหาเครื่องประดับอัญมณีมากขึ้น จากเดิมที่มักจะนิยมซื้อในรูปแบบที่ดูมีความทันสมัย ได้เปลี่ยนมาเป็นเครื่องประดับทองรูปพรรณดีไซน์พื้นเมืองสไตล์อาหรับกันมากยิ่งขึ้น
จากรายงานข่าวของ www.gulf-insider.com ในประเทศบาห์เรนระบุพฤติกรรมการซื้อเครื่องประดับอัญมณี มีค่าในบาห์เรนเปลี่ยนไป ส่งผลให้ร้านเครื่องประดับออกแบบเครื่องประดับสไตล์อาหรับมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากตลาดท้องถิ่นในประเทศ
ร้านค้าหลายแห่งรวมถึงร้านเจ้าของแบรนด์ที่มีชื่อเสียง เริ่มเปลี่ยนเป้าหมายลูกค้าสู่กลุ่มผู้ซื้ออาหรับท้องถิ่นในประเทศมากขึ้น เนื่องจากทองคำกลายเป็นเทรนด์การลงทุนล่าสุดในหมู่ชาวบาห์เรน จากความเห็นของนาย Shaji C.K ผู้จัดการร้าน Devji ที่มีสาขาขายปลีกหลายแห่งในบาห์เรนกล่าวว่า “อุปสงค์ทองคำลดลงในช่วงการระบาดใหญ่และส่วนหนึ่งมาจากการที่ทองคำมีราคาสูงในปีนั้น
แต่ตลาดของบริษัทมีเสถียรภาพเพราะบริษัทเน้นการค้ากับคนบาห์เรนท้องถิ่น รวมถึงการออกแบบสินค้าสไตล์อาหรับเพื่อตอบสนองตลาดที่ลูกค้าส่วนใหญ่ซื้อทองคำเพื่อการลงทุนโดยจะซื้อทองคำเมื่อราคาตกต่ำ ดังนั้นความต้องการเครื่องประดับทองรูปพรรณก็เพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำ
ร้านบางสาขาของเราได้มีการออกแบบเครื่องประดับสไตล์อาหรับมากขึ้น”หลังจากการระบาดโควิด-19 ร้านขายเครื่องประดับเหล่านี้ส่วนใหญ่เคยขายให้กับผู้ซื้อชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศเอเชียใต้ โดยเฉพาะก่อนที่บาห์เรนจะเริ่ม ประกาศเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอัตรา 5% เมื่อเดือน ธันวาคม 2564 และต่อมาเพิ่มเป็นอัตรา 10%
ผู้ค้าเครื่องประดับอัญมณีอีกรายให้ความเห็นว่า ทางบริษัทไม่ได้คาดหวังว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นหลังจากการระบาดใหญ่ แต่โชคดีที่ชาวบาห์เรนเริ่มหันกลับมาซื้อทองคำช่วยให้ขายเครื่องประดับได้มากขึ้น อีกทั้งช่วยส่งเสริมธุรกิจเครื่องประดับมีค่าในบาห์เรน
นอกจากนี้ยังมองเห็นความต้องการของเครื่องประดับเงินในบาห์เรนจะมีโอกาสการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และอ้างถึงรายงานของกรมการค้าภายในและการค้าต่างประเทศ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมการค้าและการท่องเที่ยวระบุว่า มีเครื่องประดับทองคำมากกว่า 9.9 ตัน ในปีที่ผ่านมาขอรับตราสัญลักษณ์การรับรอง มาตรฐานเครื่องประดับอัญมณีมีค่าหรือ Hallmark ถือได้ว่ามีปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์
สอดคล้องกับคำพูดของ Shaikh Hamad bin Salman Al Khalifa ปลัดกระทรวงกระทรวงอุตสาหกรรมการค้ากล่าวไว้ว่า ในปี 2565 ได้มีการรับรองคุณภาพโลหะ
มีค่าของเครื่องประดับจำนวนเพิ่มมากขึ้น ภายใต้การดำเนินมาตรการต่างๆในการยกระดับคุณภาพของเครื่องประดับมีค่าและทองรูปพรรณของบาห์เรน
ส่วนมาตรการเชิงรุกกระทรวงฯ ยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกพื้นที่ทำการตรวจสอบร้านค้าอัญมณีจำนวนกว่า 3,400 แห่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 38 ทั้งเพื่อจะให้เป็นไปตามกฎระเบียบของบาห์เรนในการใช้ไข่มุกและโลหะมีค่า สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภคอีกทั้งยกระดับมาตรฐานให้เทียบเท่าระดับสากล
โอกาสของอัญมณีและเครื่องประดับในบาห์เรน
ปัจจุบันบาห์เรนเป็นแหล่งผลิตและส่งออกเครื่องประดับทองที่มีศักยภาพแห่งหนึ่งในตะวันออกกลาง เครื่องประดับที่ผลิตได้มีรูปแบบตรงกับรสนิยมและดึงดูดความสนใจของคนตะวันออกกลาง แต่ละปีบาห์เรนยังนำเข้าเครื่องประดับอัญมณีทองคำ เพชรพลอยจากต่างประเทศเพื่อจำหน่ายและใช้ประกอบสินค้า แหล่งนำเข้าหลักของบาห์เรนเมื่อปี 2564 ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สวิตเซอร์แลนด์ อินเดีย อิตาลี ฝรั่งเศส จีน ไทย และฮ่องกง
ผู้ซื้อเครื่องประดับอัญมณีมีค่าในบาห์เรนกลุ่มสำคัญคือชาวซาอุดีอาระเบียที่นิยมเดินทางไปพักผ่อนและซื้อสินค้า และใช้บริการในบาห์เรน โดยเฉพาะผ่านสะพาน causeway ระหว่างซาอุดีอาระเบียและบาห์เรน และขณะนี้มีความแตกต่างของอัตรา VAT อยู่ที่ 5% ส่งผลให้แรงจูงใจให้คนซาอุดีอาระเบียเดินทางไปซื้อสินค้าในบาห์เรน
ในปี 2565 ไทยส่งออกเครื่องประดับอัญมณีมีค่าไปบาห์เรนมูลค่ารวม 790 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 282 เทียบกับปีก่อนหน้า สินค้าในกลุ่มนี้ที่ไทยส่งออกไปบาห์เรนสูงสุดคือ เครื่องประดับแท้มูลค่า 785 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 99 นอกจากนั้นเป็นพลอยร่วง และเครื่องประดับพลอย มูลค่าไม่มากนัก
Reference
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ
โฆษณา