16 ก.พ. 2023 เวลา 10:19 • ท่องเที่ยว

ทมิฬนาดู (23) … เทวาลัยไอราวเตศวาราม (Airavatesvara)

เมืองตัญชอร์ (Tanjore)
เป็นเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นราชธานีแห่งโจฬะ ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกถึงสองครั้ง .. สถานที่สำคัญของเมืองนี้คือเทวสถานแห่งพระศิวะ
เทวาลัยไอราวเตศวาราม (Airavatesvara) และเทวาลัยคัมบาโกนัม (Kambaconam Temple)
เทวาลัยไอราวเตศวาราม .. เป็นเทวาลัยฮินดูโบราณที่มีประวัติความเป็นมา และตำนานที่น่าทึ่ง ซึ่งหากเรียนรู้จะเหมือนเราได้นั่งยานกลับไปสู่วันวานที่ยาวไกล .. ช่วงเวลาที่อินเดียเป็นประเทศที่มีอารยธรรมในด้านต่างๆก้าวล้ำหน้าไปกว่าหลายๆประเทศ โดยเฉาะอย่างยิ่งศิลปะการสลักหิน
เทวาลัยแห่งนี้ สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรม ดราวิเดียน (Dravidian) ที่งดงามและวิจิตรอลังการ ด้วยมือช่างชั้นครู ทั้งงานงานสถาปัตยกรรม และการแกะสลักตกแต่งเทวาลัย ..
.. สร้างโดย จักรพรรดิโชลาราชาราชาที่ 2 (Chola Emperor Rajaraja II) ในช่วงศตวรรษที่ 12 CE เพื่ออุทิศถวายองค์พระศิวะ .. ตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน ดาราสุรัม (Darasuram) ในเขต Kumbakonam, Tamil Nadu, India
.. เป็นโบราณสถานที่เป็น UNESCO World Heritage Siteใ นปี 2004 พร้อมกับอีก 2 เทวาลัยในศิลปะโจฬะ คือ เทวาลัย Brihadeeswara ที่ Thanjavur และเทวาลัย
Gangaikondacholisvaram ที่ Gangaikonda Cholapuram
ภายใต้ชื่อว่า Great Living Chola Temples หรือ "มหาเทวาลัยโจฬะที่ยังมีชีวิต
ในอดีต เทวาลัยไอราวเตศวารามมีขนาดที่เราเห็นในปัจจุบันมาก .. เคยมีถนน 7 สาย โคปุรัม และเทวสถานอีกหลายอัน ซึ่งถูกทำลายอย่างหนักในช่วงเวลาหนึ่งในอดีต เหมือนๆกับอีกหลายๆเมือง .. จนปัจจุบันไม่เหลืองานสถาปัตยกรรมให้เห็นแล้ว ยกเว้นเทวาลัยประธานที่เราเห็นในปัจจุบัน
เหตุที่ทำให้เมืองล่มสลายไม่ปรากฏแน่ชัด .. แต่อาจจะเกี่ยวข้องกับการรุกราน การสงคราม การเรืองอำนาจขึ้นมาของราชวงศ์อื่นในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาของกองทัพ สุลต่านจากเดลฮี ในปี 1311 ซึ่งนำทัพมาโดย Malik Kafur ผู้บัญชาการกองทัพซึ่งเป็นชาวมุสลิม
.. ตามมาด้วยกองกำลังของ Khusrau Khan ในปี 1314 และกองกำลังของ Muhammad bin Tughlaq ในปี 1327 และการสงครามที่เกิดขึ้นในช่วงต่อๆมา
.. แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่า เทวาลัยแห่งนี้ยังคงยืนยงมาๆได้ และมีหลักฐานของการได้รับการสนับสนุนเรื่องทรัพยากรเรื่องต่างๆที่มีต่อเทวาลัย รวมถึงการเข้ามาบูรณะโดยกษัตริย์ชาวฮินดูอีกครั้ง หลังอาณาจักรวิชัยนคร มีชัยเหนือสุลต่านแห่ง มาดูลัย
เทวาลัยไอราวเตศวาราม สร้างในรูปแบบผังสี่เหลี่ยม หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สร้างเสร็จราวปี 1166 CE
เทวาลัยแห่งนี้เป็นแหล่งรวมงานศิลป์ชิ้นเยี่ยมในเชิงงานสถาปัตยกรรม และการแกะสลักหินที่วิจิตรอลังการ เป็นประจักษ์พยานของความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ผู้สร้าง และราชวงศ์โจฬะ
มณฑปโคนนทิ ตั้งอยู่บนลานด้านนอกโคปุรัม
เสาธวัชสดมภ์ ด้านหน้าของมณฑป
พาหนะมณฑป (The maha-mandapa) เป็นศาลาลักษณะสี่เหลี่ยม มีเสา 6 แถว ซึ่งเสาแต่ละต้นได้รับการสลักเสลาอย่างวิจิตร
มณฑปทางด้านตะวันออก ที่เรียกว่า Rajagambhiran-tiru-mandapam ตามชื่อกษัตรย์ .. มีลักษณะคล้ายรถม้า มีรูปสลักหินของ ช้าง และม้า โดยมีล้อรถอยู่ตรงกลาง
.. รูปแบบของโครงสร้างคล้ายกับรถไม้ที่ลากจูงโดยม้า บางส่วนของรถและม้าอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ .. แต่ยังคงเห็นความอลังการของชิ้นงานสลักหิน ที่แปลกกว่าเทวาลัยอื่นๆในยุคเดียวกัน ..
รูปสลักหินตรงบันไดทางขึ้น วิจิตรด้วยรายละเอียดที่ประกอบขึ้นเป็นชิ้นงาน และดึงดูดใจให้เข้าไปเก็บภาพอย่างยิ่ง
ประวัติศาตร์ของที่นี่ผ่านเข้ามาในจินตนาการเป็นฉากๆ ในขณะที่ฉันเดินชมเทวาลัย ..
… ภาพความรุ่งเรืองของราชวงศ์โจฬะ .. การต่อสู้ที่กล้าหาญ ปกรณัมตำนาน ที่มาลงเอยที่งานศิลป์วิจิตรอลังการที่อยู่เบื้องหน้า
ด้านหนึ่งของล้อรถม้า และที่แต่ละเสาด้านหน้าของเทวาลัย มีรูปสลักของช้าง เป็น วายล แทนรูปสิงห์มีเขา .. ช้างจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับเทวาลัยแห่งนี้
ปกรณัมและตำนานพื้นบ้าน .. กล่าวถึงช้างตัวหนึ่งที่ชื่อ “ไอราวัต (Airavat)” ช้างเผือกของพระอินทร์ โดนพราหมณ์ขี้โมโหชื่อ “ดุรวาสะ (Durvasa) กล่าวหาว่าไม่เคารพตนเท่าที่ควร จึงสาบให้สีเผือกบนตัวช้างหายไป
ช้างไอราวัต เสียใจจึงมาสวดอ้อนวอนต่อพระศิวะในวัดแห่งนี้เพื่อขอพรให้สีบนตัวกลับมาเป็นเช่นเดิม .. พระศิวะได้ยินเสียงสวดอ้อนวอน จึงปรากฏกาย และบอกให้ช้างไอราวัตไปชำระล้างตัวในบ่อน้ำของวัด จนช้างพ้นคำสาป กลับมามีสีผิวที่สวยงามดังเดิม ..
และจากตำนานเรื่องนี้จึงเป็นที่มาของชื่อเทวาลัย ซึ่งตำนานนี้จะพบได้จากจารึกหินด้านในสุดของเทวาลัย และชาวอินเดียเชื่อว่า บ่อน้ำที่อยู่ในวัดนี้สามารถล้างบาปได้ หากได้ลงไปแช่
Yamatheertham: The Sacred Temple Tank
ยังมีตำนานอีกหนึ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ พระยม .. ความว่า พระยมถูกปราชญ์คนหนึ่งสาปให้ทั่วร่างกายปวดแสบ ปวดร้อนด้วยฤทธิ์แห่งไฟไหม้ พระยมจึงมาสวดอ้อนวอนพระศิวะ เพื่อให้คำสาปหายไป .. พระศิวะรับสั่งให้พระยมไปแช่น้ำในบ่อของวัด จนความเจ็บปวดหายไป
.. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์จึงได้ชื่อว่า ‘Yamatheertham‘... บ่อน้ำนี้รับน้ำมาจากแม่น้ำ คาวารี
เทวาลัยประธานสร้างด้วยหินแกรนิต เป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ .. มีพราหมณ์ทำหน้าที่สวดบูชา และทำพิธีบูชามหาเทพ เราสามารถเข้าไปขอพรได้
เทวพาหนะ … โคนนทิ ณ หน้าห้องครรคฤหัสภ์
ประตูทางเข้ากัองครรคฤหะ มีพระคเนศ พระสันทกุมาร ประดิษฐานอยู่ทั้งสองข้างของประตู
โคนนทิ .. วางในหลายจุดในเทวาลัย
ภาพจาก internet
ลิงโคทภวมูรติ (Lingodbhavamurti) ตรงผนังครรภคฤหะ ของอาคารประธาน ..
เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกำเนิดศิวลึงค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะมหาเทพ
เรื่องมีอยู่ว่า ในระหว่างที่พระวิษณุบรรทมสินธุ์ท่ามกลางเกษียรสมุทรมีดอกบัวผุดออกมาจาก พระนาภีของพระองค์ เมื่อดอกบัวบานออกปรากฏพระพรหมประทับอยู่
แล้วพระพรหมก็เริ่มสร้างสรรพสิ่ง เมื่อสร้างเสร็จ พระวิษณุก็ตื่นบรรทมต่างฝ่ายก็อ้างว่าตนเป็นใหญ่ที่สุด พระพรหมว่า พระองค์เป็นผู้สร้างโลก ในขณะที่พระวิษณุก็ว่าพระพรหมกำเนิดมาจากตนจึงยิ่งใหญ่กว่าพระพรหม
ในขณะที่ถกเถียงและลุกลามถึงขั้นต่อสู้กันนั้นเอง ก็ปรากฏเสาขนาดใหญ่ลุกเป็นไฟโผล่ขึ้นมาจากพื้นดินและยืดขึ้นไปสูงเสียดฟ้า พระวิษณุกับพระพรหมจึงหยุดสู้กัน ต่างตกลงกันว่า ถ้าใครพบโคนหรือยอดของเสานี้จะถือว่าชนะ โดยพระพรหมแปลงเป็นหงส์บินขึ้นไปหายอด ส่วนพระวิษณุแปลงเป็นหมูป่าเผือก(เศวตวราหะ)ขุดดินลงไปหาโคนเสา
ปรากฏ ว่าใช้เวลาเป็นพันปี พระวิษณุไม่สามารถลงไปถึงโคนเสาได้และพระพรหมก็เช่นกัน แต่พระพรหมโกหกโดยสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมา พระองค์เก็บดอกไม้ชื่อ เกตกี(Ketaki หรือKewda) ที่ร่วงลงมาและหลอกพระวิษณุว่าเก็บมาจากยอดของเสาเพลิง
ในขณะที่ พระวิษณุยอมรับความพ่ายแพ้ จู่ๆ พระศิวะก็แหวกออกมาจากเสานั้น พระองค์สาปพระพรหมให้ไม่มีเทวาลัยและนิกายของตัวเองเพราะไม่ซื่อสัตย์ และไม่ให้ใครนำดอกเกตกีไปบูชาพระองค์หรือเทพองค์ใด เพราะเป็นดอกไม้แห่งการหลอกลวง
ดอกไม้ชื่อ เกตกี(Ketaki หรือKewda) คือ ดอกการะเกด หรือ ลำเจียก หรือ ปาหนัน ของไทยนั่นเอง
.. มณฑปที่มีเสาตั้งเรียงราย ที่สลักเสลาด้วยงานแกะสลักในแบบของดาวิเดียนที่งดงาม เป็นรูปที่เล่าเรื่องเทพหลายองค์ในปกรณัมของฮินดู
ทึ่งในความละเอียดของลวดลายการสลักหินในทุกซอก ทุกมุม ความอ่อนช้อยของลวดลายเหมือนลายไม้ ไม่ใช่หินที่แข็ง
ภายในเทวสวถาน ยังเป็นเหมือนสถานที่รวมของงานศิลปะ งานแกะสลักหินเชิงสถาปัตยกรรมวางผังให้อาคารมีความสูงลดหลั่นกันไป รูปสลักหินที่ใช้ประดับก็ช่วยเน้นให้เทวาลัยงดงาม โดดเด่น
ภาพแกะสลักรอบๆฐานของเทวาลัย เล่าเรื่องราวของ 63 นายันมาร์ สาวกผู้ภักดีแห่งองค์พระศิวะ
มีรูปสลักเทพองค์ต่างๆ เช่นพระศิวะ พระนารายณ์ และเทพอื่นในมูรติต่างๆ เช่น พระวิษณุ พระอินทร พระอัคนี พระนางทุรคา พระนางสุรัสวตี พระคเนศ และเทพในความเชื่อทางศาสนาฮินดูอีกมาก
บางส่วนของเทวาลัย เช่นโคปุรัมอยู่ในสภาพผุพัง มีเพียงเทวาลัยประธาน และมณฑปเทพบางองค์ที่เหลืออยู่
.. ลวดลายบนเพดาน เส้นงอคดโค้ง ก้านขด .. สลักเสลาอย่างวิจิตรด้วยเรื่องราวของพระศิวะและพระเทวีประทับในดอกบัว ..
งานที่สร้างสรรค์ด้วยความศรัทธาที่สูงส่ง จึงออกมาเป็นผลงานศิลป์ที่คลาสสิก สวยงาม เพื่อให้สมกับเป็นเทวาลัยของมหาเทพ
ด้านนอกของเทวาลัยประธาน .. ประดับด้วยรูปสลักหินของเทพเจ้า 5 พระองค์ในแต่ละด้าน โดยภาพตรงกลางจะโชว์ภาพพระศิวะในท่าทางและมูรติต่างๆ
ท่อโสมสูตร
โฆษณา