17 ก.พ. 2023 เวลา 05:00 • ธุรกิจ

'หุ้นเคอรี่' (KEX) ราคาร่วงต่ำสุดตั้งแต่เข้าตลาด บริษัทขาดทุนต่อเนื่อง 5 ไตรมาส

'เคอรี่ เอ็กซ์เพรส' ประกาศผลการดำเนินงานงวดล่าสุด ยังขาดทุน 5 ไตรมาสรวด ฉุดให้ราคาหุ้น KEX ปรับตัวลงทำจุดต่ำสุดตั้งแต่เข้าเทรด จากสูงสุดที่ 73.00 บาท เหลือเพียง 14.90 บาท
ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ KEX ปรับตัวลงต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์นี้ (13-16 ก.พ. 2566) หลังจากที่บริษัทฯ ประกาศงบไตรมาส 4 และงบปี 2565 ออกมา ยังขาดทุนต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5
- ไตรมาส 4 ปี 2564 ขาดทุน 604 ล้านบาท
- ไตรมาส 1 ปี 2565 ขาดทุน 492 ล้านบาท
- ไตรมาส 2 ปี 2565 ขาดทุน 732 ล้านบาท
- ไตรมาส 3 ปี 2565 ขาดทุน 675 ล้านบาท
- ไตรมาส 4 ปี 2565 ขาดทุน 931 ล้านบาท
แต่การปรับลงของหุ้นเคอรี่รอบนี้ เป็นรอบที่สาหัสที่สุด เพราะนอกจากราคาหุ้นจะร่วงต่ำกว่าราคาจองซื้อ (IPO) แล้ว ยังร่วงทำจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เข้าเทรดในตลาดหุ้นอีกด้วย
ถ้าเทียบจากราคาปิดล่าสุดที่ 15.60 บาทต่อหุ้น คนที่จองซื้อหุ้น IPO ของเคอรี่ที่ 28.00 บาทต่อหุ้น จะขาดทุนอยู่ 12.40 บาท หรือ 44.29% ส่วนคนที่เข้าซื้อในราคาเปิดวันแรกที่ 65.00 บาทต่อหุ้น จะขาดทุนอยู่ 49.40 บาท หรือ 76%
แต่ที่หนักสุดคือคนที่เข้าซื้อตอนราคาพุ่งสูงสุดที่ 73.00 บาท เพราะหมายความตอนนี้จะขาดทุนอยู่ 57.40 บาท หรือ 78.63% เลยทีเดียว
ส่วนสาเหตุที่ราคาหุ้นปรับตัวลงหนักขนาดนี้ แน่นอนว่ามาจากผลประกอบการที่ยังคงขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และถ้ามองไปข้างหน้าก็ยังยากที่จะกลับมากำไรในเร็วๆ นี้
ขณะที่ความเห็นของนักวิเคราะห์หุ้นไทย (IAA Concensus) ที่ทำการวิเคราะห์หุ้น KEX รวมทั้งหมด 8 บริษัทหลักทรัพย์ พบว่า ส่วนใหญ่ยังแนะนำให้ขาย โดย 5 ใน 8 รายแนะนำ 'ขาย' ส่วนอีก 3 ใน 8 รายแนะนำ 'ถือ' และยังไม่มีนักวิเคราะห์เจ้าไหนที่แนะนำให้ซื้อหุ้นในตอนนี้
ส่วนราคาเป้าหมายของปีนี้ นักวิเคราะห์ให้ไว้สูงสุดเพียง 16.00 บาทต่อหุ้นเท่านั้น จากค่าเฉลี่ย 15.07 บาทต่อหุ้น และต่ำสุดที่ 13.50 บาทต่อหุ้น ใกล้เคียงกับราคาหุ้นที่แกว่งอยู่ตอนนี้
'บุณยกร อมรสังข์' นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า KEX ขาดทุนในไตรมาสล่าสุด (ไตรมาส 4 ปี 2565) ที่ 931 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานที่ต่ำที่สุด นับตั้งแต่เข้าเทรดเมื่อปี 2563
แต่ถ้าไม่รวมรายการพิเศษที่ต้องจ่ายในการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของบริษัทฯ 384 ล้านบาทแล้ว คาดว่าจะขาดทุนน้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ไตรมาส 3 ปี 2565 ขาดทุน 675 ล้านบาท)
ส่วนแนวโน้มในปี 2566 คาดว่าจะยังขาดทุนต่อเนื่องถึงไตรมาส 3 แต่คาดหวังจะเห็นการขาดทุนที่น้อยลง เพราะบริษัทใช้มาตรการลดต้นทุนที่เข้มข้นมากขึ้น และคาดว่าจะเริ่มเห็นกำไรกลับมาในไตรมาส 4 ปีนี้
ขณะที่ผู้บริหารยังคาดว่าปริมาณการส่งพัสดุของบริษัทจะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สะท้อนว่าสงครามราคาในตลาดน่าจะลดลง
ทั้งนี้ เคอรี่ได้ดำเนินโปรแกรม LEAN อย่างเข้มข้นมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน ทั้งลดจำนวนพนักงานลง 20% หรือประมาณ 4,000 กว่าคน และมีแผนจะนำระบบอัตโนมัติมาแทนที่
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การลงทุนยังแนะนำ 'ถือ' (Hold/Neutral) เท่านั้น โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 15.20 บาทต่อหุ้น ลดลงจากเดิมที่เคยให้ไว้ที่ 16.80 บาทต่อหุ้น
แม้การลดต้นทุนจะเริ่มสร้างประโยชน์ให้เห็นก็จริง แต่อาจจะไม่ได้ช่วยเพิ่มมูลค่าในระยะยาว หากส่วนแบ่งตลาดการขนส่งสินค้าของเคอรี่ทรงตัวหรือลดลง
สำหรับราคาเป้าหมายล่าสุดที่ลดลง สอดคล้องกับการปรับลดประมาณการกำไรปีนี้เป็นขาดทุน 1,123 ล้านบาท รวมถึงคาดการณ์กำไรปี 2567 ที่ถูกปรับลง 53% เหลือเพียง 292 ล้านบาท
ขณะที่ 'พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์' ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เคอรี่จัดประชุมจัดประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญ คือ
1. ค่าใช้จ่ายครั้งเดียว 384 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา เกิดจากการตัดรายการซ้ำซ้อน ซึ่งคาดว่าจะเกิดแค่ในไตรมาสดังกล่าวเท่านั้น
2. คาดว่ารายได้และปริมาณขนส่งพัสดุในปี 2566 จะทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากตลาดอีคอมเมิร์ซที่โตช้าและกำลังการใช้จ่ายเงินที่ลดลง
3. ต้นทุนพนักงานที่คาดว่าจะลดลงมากถึง 20% ในไตรมาส 2 ปี 2566 จากการตัดรายการซ้ำซ้อนไปในไตรมาส 4 ปีก่อน และ 4. คงเป้าจุดคุ้มทุนของกำไรสุทธิตามเดิมในไตรมาส 3 ปีนี้
'เรามองว่าโทนของการประชุมเป็นไปในเชิงลบ จากแนวโน้มการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซที่ไม่สดใส และผลลัพธ์ของโปรแกรมลดต้นทุนที่ยังไม่ชัดเจน'
จากผลการดำเนินงานปี 2565 ที่อ่อนแอและแนวโน้มตลาดที่ไม่สดใส บล.กสิกรไทยจึงเพิ่มประมาณการผลขาดทุนปี 2566 ขึ้นจาก 142 ล้านบาท เป็น 930 ล้านบาท และปรับลดประมาณการกำไรปกติปี 2567 ลง 64.4% เหลือ 178 ล้านบาท และปี 2568 เหลือ 356 ล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ยังคงคำแนะนำ 'ขาย' (Sell/Underweight) และปรับลดราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 ลง 17.6% จาก 16.57 บาทต่อหุ้น เป็น 13.65 บาทต่อหุ้น ตามการปรับประมาณการกำไร
โดยปัจจัยฉุดมูลค่าหุ้นมาจาก 1. สงครามราคาที่ยืดเยื้อ 2. ยอดขายอีคอมเมิร์ซที่อ่อนแอจากต้นทุนที่สูงขึ้นและสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง 3. การลดต้นทุนและระยะเวลาถึงจุดคุ้มทุนของกำไรสุทธิที่ช้ากว่าคาด และ 4. สถานะการเงินที่อ่อนแอจากกระแสเงินสดติดลบที่ยาวนาน
'เราเชื่อว่าหุ้นยังไม่มีปัจจัยหนุนที่น่าดึงดูดใจ เพราะคาดว่าจะรายงานผลขาดทุนต่อเนื่องอีก 3-4 ไตรมาส และเราคาดว่า KEX จะซื้อขายด้วยราคาต่อกำไร (PER) ระดับสูงมากที่ 151 เท่าในปี 2567 และ 76 เท่า ในปี 2568'
#TODAYBizview
#MakeTomorrowTODAY
โฆษณา