17 ก.พ. 2023 เวลา 09:02 • ประวัติศาสตร์

สวัสดีครับ

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทุกคนจะสนใจช่วงเวลาวันที่14 ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก ไม่ก็16 วันหวยออก แต่หลังจากนั้นวันหนึ่ง วันที่17 กุมภาพันธ์ คนไทยเรา คงไม่ได้คิดอะไร
แต่สำหรับผม ผู้นิยมชอบ วัฒนธรรมประเพณีของชาติพันธุ์ ย่อมต้องสนใจวันนี้เป็นธรรมดา
เพราะ เป็นวันครบรอบมรณะกาล ของ เจอโรนิโม หรือ โกยาตเลย์ (GOYAAŁÉ)
ผู้นำชนเผ่า อาปาเช่ เบดอนโคเฮ
นักรบอาปาเช่ ผู้นำชนพื้นเมืองอเมริกัน(อินเดียนแดง)เข้าต่อสู้กับผู้รุกรานชาวผิวขาวที่มาตั้งถิ่นฐานในอเมริกา
โดยเผ่าอาปาเช่ เบดอนโคเฮ คือเผ่าสุดท้ายที่ยังต่อสู้กับรัฐบาลอเมริกา ครั้นหลังยุคเจอโรนิโมไปแล้ว ไม่ปรากฏเผ่าใดลุกขึ้นต่อต้านอีกเลย
ก่อนอื่น ในที่นี้ ผมจะไม่ใช้คำว่า อินเดียนแดง นะครับ แต่จะคำว่า ชนพื้นเมืองแทน เพราะคำว่าอินเดียนแดงคือคำที่เกิดจากความเข้าใจผิด ซึ่งปัจจุบันนี้ คำว่า Red Indians ก็ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และจะใช้คำเรียกชาวยุโรปที่ไปตั้งถิ่นฐานในอเมริกาว่า สหรัฐฯ นะครับ
เจอโรนิโม หรือ โกยาตเลย์
เจอโรนิโม มีชื่อจริงว่า โกยาตเลย์ (GOYAAŁÉ)
ในภาษาชนพื้นเมือง แปลว่า "ผู้ที่กำลังหาว" เขาเกิดในปี ค.ศ. 1829 ในพื้นที่ทางตะวันตกของรัฐนิวเม็กซิโกในปัจจุบัน ที่ตอนนั้นยังคงเป็นดินแดนของเม็กซิโก โกยาตเลย์ เติบโตขึ้นเหมือนดั่งนักรบชนพื้นเมืองทั่วไป เรียนรู้วิธีการหากิน การศึก จนเข้าสู่วัยหนุ่ม
เขาได้รับเลือกให้เป็น ชาแมน ประจำเผ่า (shamans) คือผู้นำทางจิตวิญญาณ แม้จะมีศักดิ์ที่ต่ำกว่าหัวหน้าเผ่า แต่ ในบางครั้งได้รับความเคารพนับถือมากกว่าหัวหน้าเผ่าเสียอีก
โกยาตเลย์ ใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติสุข จนกระทั่งวันหนึ่งในช่วงกลางปี ค.ศ.1858 ขณะที่เจอโรนิโม นำนักรบและพ่อค้าออกไปทำภารกิจนอกเผ่า เมื่อกลับมาที่เผ่า เขาพบว่า ที่อยู่ของพวกถูกโจมตีจนเละเทะ กระท่อมถูกเผา ชาวบ้านถูกฆ่าตายจนหมด ซึ่ง ในจำนวนนั้น มีภรรยาและลูกของโกยาตเลย์ ร่วมอยู่ด้วย
ทราบภายหลังว่า กองทหารเม็กซิกันนำโดย พันเอก โจเซ่ มาเรีย คาร์ราสโก้ คือพวกที่มาบุกโจมตีหมู่บ้านชนพื้นเมือง ปล้นสะดม แย่งชิงทรัพย์ชาวบ้าน ยึดเอาปศุสัตว์และฆ่าชาวบ้านตายหมด
จากเดิมที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและชนพื้นเมืองก็ไม่ค่อยจะดีอยู่แล้ว ธรรมดาเขาก็ไม่กินเส้นกันอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอแบบนี้ ก็เหมือนราดน้ำมันลงกองเพลิง ไฟแค้นได้ถูกจุดขึ้นแล้วในใจของ โกยาตเลย์
"ในเมื่อรัฐเล่นตลกกับข้า ข้าก็จะสร้างเสียงหัวเราะให้กับพวกมัน" นี่เป็นคำพูดของเสือฝ้าย ซึ่งผมคิดว่า ณ เวลานั้น โกยาตเลย์ ก็คงจะคิดอย่างนี้เช่นกัน
รูปที่คาดว่า เป็นกองทัพของเจอโรนิโม ที่ตั้งทัพรอเข้าปะทะ
เรื่องไปถึงหูของ แมนกัส โคโลราโด หัวหน้าเผ่า เขาจึงส่งสาส์นไปยังเครือข่ายอาปาเช่อีกสองเผ่า คือ เน็คนี และ โคเน็น เครือข่ายอาปาเช่อีกสองเผ่าตอบรับ และแล้วศึกระหว่าง อาปาเช่ และรัฐบาลเม็กซิโกจึงเริ่มต้นขึ้น
และชื่อเสียงของโกยาตเลย์ และชื่อเจอโรนิโม ก็ได้ปรากฏขึ้นในช่วงนี้นั่นเอง
โกยาตเลย์เป็นนักรบที่ห้าวหาญ ต่อสู้กับทหารเม็กซิกันและอเมริกันอย่างไม่หวาดกลัว
ว่ากันว่า ชื่อเจอโรนิโม เกิดขึ้น ในขณะที่โกยาตเลย์ กระโจนเข้าต่อสู้กับทหารเม็กซิกันนายหนึ่งที่หมดทางสู้แล้ว เขาอุทานชื่อของ นักบุญ "เจอโรม"ออกมาก่อนที่จะสิ้นใจ (แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่า ใครมันจะไปมัวสนใจคนอื่นจนได้ยินว่าเขาพูดอะไร ในขณะที่ตัวเองยังต้องต่อสู้กับข้าศึกและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อึกทึก) อีกข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้คือ พวกโกยาตเลย์นั่นสร้างความหวาดกลัวให้กับเหล่าทหารเม็กซิกัน ที่ถ้าหากเข้าปะทะกัน จะต้องอุทานขอพรจากนักบุญเจอโรม
(หลังจากนี้จะเรียกโกยาตเลย์ว่าเจอโรนิโมนะครับ)
เจอโรนิโม(ขวาสุด)กับผู้ติดตามของเขา
เกิดการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลเม็กซิโก กับพวกอาปาเช่ขึ้นหลายครั้ง มีข่าวลือในหมู่ทหารเม็กซิกันว่า เจอโรนิโม นั้นเป็นจอมขมังเวทย์ เขาสามารถหายตัวได้ เดินโดยไม่ทิ้งรอยเท้า ว่ากันว่า ทหารสหรัฐฯเคยปิดล้อมพวกเขาจนเขาต้องหนีเข้าไปหลบในถ้ำ แต่ หลังจากนั้น มีคนเห็นเจอโรนิโมหนีออกมาข้างนอกได้ (ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าถ้ำนี้มีทางออกอื่นที่พวกสหรัฐฯไม่รู้)
อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานมาสนับสนุนความเป็นจอมขมังเวทย์ของเจอโรนิโมเท่าไรนัก เพราะมันเป็นเรื่องที่พูดกันปากต่อปาก แต่อย่างหนึ่งที่เรารู้กันคือความเป็นนักรบที่กล้าหาญของเจอโรนิโม
เจอโรนิโม พยายามโจมตีคนขาวอย่างไม่ไว้หน้าใคร ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม
ยิ่งในปี ค.ศ.1850 หลังจากเสร็จศึก อเมริกาและเม็กซิโก พวกเบดอนโคเฮ อาปาเช่ ยิ่งโจมตีหนักขึ้น(แม้ว่าพ่อตาของเจอโรนิโม หัวหน้าเผ่าชิริคาฮัวคนเก่าจะไม่เห็นด้วย)
ในปีค.ศ.1862 จึงมีการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯกับรัฐบาลเม็กซิโก ในการตามล่าจับกุมพวกอาปาเช่
การศึกดำเนินไปเรื่อยๆ มีบางครั้งเขาก็ถูกจับ แต่ก็ยังสามารถหนีออกมาได้ ชื่อเสียงของเจอโรนิโม ก็ยิ่งเป็นที่เลื่องลือขึ้นไปอีก แม้ว่าเขาจะได้รับความนับถือจากเหล่านักรบ แต่ก็มีชาวบ้านบางส่วน มองว่าเจอโรนิโม คือคนที่ดื้อรั้น และชอบหา_ีนมาให้เผ่าเสมอๆ
เกิดการต่อสู้กันระหว่างรัฐบาลและเครือข่ายอาปาเช่อีกหลายครั้ง
จนกระทั่งมีการเจรจากัน ระหว่าง นายพล จอร์จ อาร์ ครูก(George R. Crook) ที่รับหน้าที่ในการตามล่าชนพื้นเมืองที่ต่อต้านรัฐบาล ซึ่งเขากวาดล้างไปได้พอสมควร แต่ก็จับเจอโรนิโม และเครือข่ายอาปาเช่ไม่ได้สักที จึงได้เปิดโต๊ะเจรจา
นายพล จอร์จ อาร์ ครูก (George R. Crook)
ซึ่งมันเกือบดีแล้ว แต่ในการเปิดโต๊ะการเจรจาครั้งนั้น มีคนที่ไม่ยินดีกับแนวคิดสันติวิธีของนายพลครูกคนเหล่านี้ได้ลอบสังหารหัวหน้าเผ่าเน็คนีและ แมนกัส โคโลราโด หัวหน้าเผ่าเบดอนโคเฮที่เข้าร่วมเจรจา ทำให้แผนแตก นายพลครูก เสียหน้าไม่พอ ยังเสียความไว้เนื้อเชื่อใจจากชนพื้นเมืองไปอีก
ไม่เพียงแค่นั้น ไอ้พวกที่เล่มนอกเกม ยังไปโจมตีเผ่าโคเน็นที่ไม่ได้มาร่วมเจรจา หัวหน้าเผ่าได้สั่งให้เจอโรนิโม พาเด็กและผู้หญิงหนีไปหลบอยู่กับพวกชิริคาฮัว อาปาเช่ อีกเผ่าในเครือข่ายอาปาเช่ และตนเองกับเหล่านักรบก็เข้าต่อสู้กับพวกสหรัฐฯ จนตัวตาย
และนายพลครูก ก็ได้เสียตำแหน่ง ในปี 1886
รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้นายทหารคนใหม่มานั่งแทน คือ นายพล เนลสัน เอ ไมลส์ ซึ่งนายพลไมลส์ ไม่ได้ใจดีเหมือนนายพลครูก เขาไล่บี้ชนพื้นเมืองทุกกระเบียดนิ้ว ชนิดที่ว่าถ้าเป็นผ้าเปียก พวกก็บิดจนแห้ง
นายพล เนลสัน เอ ไมลส์(Nelson A Miles)
หลังจากที่เจอโรนิโม ขึ้นเป็นหัวหน้าเผ่า เบดอนโคเฮ แทน แมนกัส โคโลราโด ที่เสียชีวิตไป และได้ดูแลเผ่าชิริคาฮัว หรือพูดง่ายๆว่าเป็นหัวหน้าเครือข่ายอาปาเช่แล้ว ก็ยังต้องเผชิญกับการตามล่าของนายพลไมลส์ ที่ออกไล่ล่าอย่างไม่ลดละ พวกเขาระดมทหารกันมากถึง5000นาย ว่ากันว่า มีชนพื้นเมืองเผ่าอื่น ที่ไม่ใช่เครือข่ายอาปาเช่ เช่น นาวาโฮ และ โคมันเช่ ที่อาสาเข้าร่วมกับกองกำลังสหรัฐฯด้วย โดยอาสาเป็นพลสอดแนม แกะรอยติดตามอาปาเช่เผ่าสุดท้าย และนำทางทหารสหรัฐฯไปจับกุม
ช่างน่าเศร้าใจ ที่สุดท้ายแล้ว เจอโรนิโม ถูกไล่ตามจนหมดทางสู้ เขาพาพรรคพวกซึ่งไม่ได้มีแต่นักรบ แต่มีเด็กและผู้หญิงอยู่ด้วยหนีตายสุดชีวิตแต่ก็ต้องจนมุม โดยถูกกองทัพสหรัฐฯ เม็กซิโกและ พวกนาวาโฮ กับโคมันเช่ ล้อมจับที่ สเกเลตัน แคนยอน เขาจึงวางอาวุธและประกาศยอมจำนนต่อรัฐบาลในที่สุด ในเดือนกันยายนปีเดียวกันกับที่นายพลไมลส์ขึ้นสู่ตำแหน่งนั่นเอง ซึ่งในตอนนั้น พวกเขาเหลือกันอยู่เพียงแค่34คน ในจำนวนนั้นเป็นนักรบ 16 คน ผู้หญิง 12 คน และเด็ก 6 คน
ลาภก้อนโตตกแก่ นายพลไมลส์ ที่ทำผลงานปราบปรามชนกลุ่มน้อยได้สำเร็จตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง
แต่นั่น ก็เป็นเคราะห์ร้ายที่สุดของชนพื้นเมืองอเมริกัน เมื่อชนเผ่าสุดท้ายที่ยังคงต่อสู้กับรัฐบาล ประกาศยอมจำนน นั่นหมายความว่า ไม่มีใคร กล้าลุกขึ้นสู้อีกแล้ว
พวกเขาถูกนำตัวไปคุมขังที่ ป้อมแมเรียน ฟลอริดา ต่อมาได้ถูก ย้ายไปยัง คุก เวอร์นอน แอละบามา และ ป้อม ซิล โอคลาโฮมา ตามลำดับ
เขาต้องใช้ชีวิตในฐานะนักโทษถึง 27 ปี
ช่วงนั้นพวกเขาถูกปฏิบัติราวกับไม่ใช่มนุษย์ มีการบังคับให้เขาไปเป็นมาสคอต ถูกนำไปโชว์ตัว ให้คนเข้ามาถ่ายรูป แถม มีการบังคับให้เขาเข้าร่วมขบวนพาเหรด แห่ฉลองประธานาธิบดี ธีโอดอร์ โรสเวลล์
เสือที่ชื่อเจอโรนิโม ไม่มีลายบนตัวอีกต่อไป
ตลอดช่วงชีวิตที่ถูกคุมขัง เจอโรนิโม ใช้ชีวิตแบบหมดอาลัยตายอยาก เขาพูดน้อยมาก ไม่ค่อยจะพูดกับใคร เขาใช้ชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็น ราวกับวิญญาณของเขาได้ออกจากร่างไปก่อนแล้ว ทิ้งไว้เพียงร่างกายและสัญชาตญาณมนุษย์เอาไว้เท่านั้น
ในปี 1905 เขาได้เขียนอัตชีวประวัติของตนเอง และมีโอกาสได้พบกับประธานาธิบดี ธีโอดอร์ โรสเวลล์ เขาขอร้องให้ ปธน.ช่วยคืนดินแดนของตนมา แต่ก็ไม่สำเร็จ
เจอโรนิโม วัยชรา
จนกระทั่งวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1909 เจอโรนิโม ได้เสียชีวิตลง เนื่องจากโรคปอดอักเสบ ทิ้งตำนานของนักรบชนพื้นเมืองอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่คนสุดท้ายที่หาญกล้าต่อสู้กับผู้รุกราน ให้อนุชนคนรุ่นหลังเล่าขานต่อไป
ก่อนเสียชีวิต เจอโรนิโม ได้พูดออกมาว่า
"ข้าไม่ควรยอมจำนน ข้าควรจะต่อสู้จนแม้ว่าจะเหลืออยู่เป็นคนสุดท้าย"
เราได้อะไรจากเรื่องนี้
การศึกษาประวัติศาสตร์ ก็เพื่อที่เราจะได้ไม่ทำให้มันซ้ำรอยอีกครั้ง เห็นได้ชัดว่าคนสมัยก่อน ล้วนหวาดกลัวผู้ที่แตกต่างจากตน ตั้งแง่ว่าคนนั้นคือพวกนั้นพวกนี้ ทำอะไรไม่มีอารยะ ทั้งที่ก็คนเหมือนกัน โลกเปลี่ยนไปแล้ว อะไรมันพัฒนาแล้วผู้คนตระหนักกันมากขึ้น แต่ความคิดเหยียดชาติพันธุ์มันก็ยังมีมาเรื่อยๆ แม้ไม่แรงเท่าเมื่อก่อน แต่ในบางครั้งก็ยังถือว่ารุนแรง
ซึ่งก็เหมือนเรื่องก่อนๆที่ผมเคยเขียนไปแหละครับ การเหยียดชาติพันธุ์ ในยุคนี้มันไม่เหมือนยุคก่อนอีกแล้ว มันวนกันเป็นลูกโซ่ ไม่รู้ว่าปัญหานี้จะจบลงเมื่อไร ผมก็ทำได้แค่เพียงเล่าเรื่องเหล่านี้ให้คนตระหนักถึงปัญหาชาติพันธุ์กันก็เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผมคงเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ก็ทำได้แค่หวังว่าบทความของผม จะช่วยให้ใครหลายคนคิดได้ และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายครับ
และอีกอย่างหนึ่ง ที่ผมอยากบอกคือ
ผมอยากให้คนไทยรู้ว่า
"อาปาเช่" คือชื่อชนพื้นเมืองอเมริกันเผ่าหนึ่ง ที่เขานำมาตั้งเป็นชื่อยาแก้ไอนะครับ😂
ขอเล่าอีกนิด เมื่อหลายเดือนก่อน ผมหาข้อมูลประวัติศาสตร์อินเดีย ย้ำนะ ว่าอินเดีย ภารตะอ่ะ
ตอนนั้นผมไปเจอเว็บหนึ่ง เขาเขียนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์อินเดีย แล้วผมตกใจตรงที่ไปเจอรูป ชนพื้นเมืองอเมริกันสวมหมวกขนนกวอร์บอร์เน็ต แปะหราเบ้อเริ่ม อยู่กลางภาพ
ในใจเราคือ เฮ้ย มันอินเดียตรงไหนนี่ นี่มันอินเดียนแดงนะ
นี่แหละครับ ผลของการใช้คำผิดๆมานาน คิดไปเองว่าเขาเป็นคนอินเดีย แต่ผิวสีแดง ก็จับมารวมกันเป็นอินเดียนแดงไปเลย ซึ่งในยุคที่เขาเพิ่งบัญญัติคำนี้ออกมา ผมว่ายังไม่น่าโกรธเท่าไร เพราะตอนนั้นคนมันไม่รู้จริงๆ แต่ในยุคปัจจุบันนี้ ที่แทบทุกคนสามารถค้นหาความรู้ ในอินเตอร์เน็ตได้ เขาก็น่าจะแยกแยะได้นะ
แต่เอาเถอะเขาคงไม่รู้
ก็ขอให้วันหนึ่งเขารู้แล้วก็ปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป
คนเราคงจะไม่ถูกและผิดไปในทุกๆเรื่องหรอกครับ มุมมองต่างกันแค่นิดหน่อย ก็อาจพลิกกลับด้านจากผิดเป็นถูกหรือถูกเป็นผิดไปได้เลย
ก็คงต้องทำไปแก้ไปนี่แหละครับ ขอแค่อย่าประมาทเป็นพอ
เหมือนกับเรื่องราวของชนพื้นเมืองอเมริกันเช่นกัน พวกเขาก็มีมุมมืด ที่เราไม่รู้ซ่อนอยู่ อย่างบางเผ่า บ้าสงคราม ชอบตีรันฟันแทง บางเผ่ารับปืนจากชนผิวขาวมาล้างบางชนพื้นเมืองอีกเผ่าเหมือนกัน คนขาวที่ไม่ได้เลวร้าย แต่ถูกชนพื้นเมืองฆ่าตายก็มีเหมือนกันครับ
สุดท้ายนี้ หากมีข้อมูลใดที่ผิดพลาด กระผมขออภัย มา ณ โอกาสนี้ ด้วยนะครับ
อ้างอิง
โฆษณา