19 ก.พ. 2023 เวลา 02:50 • ธุรกิจ

“นักวิเคราะห์หลักทรัพย์” อาชีพทองคำ ของสายการเงิน

เวลาที่เราลงทุนในตลาดหุ้น เราจะส่งคำสั่งซื้อขายผ่านนายหน้าบริษัทหลักทรัพย์ ย่อว่า บล. หรือเรียกว่าโบรกเกอร์
ซึ่งในแต่ละโบรกเกอร์ ก็จะมีหน่วยงานหลายฝ่าย หนึ่งในนั้นก็คือ “ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์”
ฝ่ายนี้ก็จะเต็มไปด้วยนักวิเคราะห์ ที่คอยติดตามความเคลื่อนไหว รวบรวมข้อมูลที่กระทบกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งก็มีทั้งข้อมูลที่วัดออกมาเป็นตัวเลขได้ เช่น
- ตัวเลขทางเศรษฐกิจ
- ฐานะการเงิน
- กระแสเงินสด
รวมถึงอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ผ่านโมเดลที่ใช้ในการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์
รวมทั้งข้อมูลที่วัดออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ เช่น
- การประเมินความสามารถของผู้บริหาร
- การวิเคราะห์นโยบายการดำเนินธุรกิจของกิจการ
- ความจงรักภักดีต่อสินค้าของผู้บริโภค
- ภาพรวมการกำกับดูแลกิจการ
โดยข้อมูลทั้ง 2 ส่วน ก็จะนำมาใช้ในการทำบทวิเคราะห์ และคำแนะนำให้แก่นักลงทุนว่า ควรจะซื้อ, ขาย, ถือ หรือหลีกเลี่ยง การลงทุนในหลักทรัพย์นั้น ๆ
2
นอกจากการติดตามข้อมูลข่าวสารแล้ว นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ก็ยังเป็นผู้ที่คอยเข้าไปเยี่ยมชมกิจการ หรือที่เรียกกันว่า “Company Visit” ด้วย
รวมทั้ง ยังเป็นผู้ที่จะเข้าพบผู้บริหาร หรือนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัท เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น
แล้วในแต่ละบริษัทหลักทรัพย์
มีนักวิเคราะห์หลักทรัพย์มากแค่ไหน ?
โดยทั่วไปแล้ว บริษัทหลักทรัพย์แต่ละแห่ง ก็จะมีจำนวนนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไม่มาก
โดยที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ 1 คน ก็มักจะต้องติดตาม และออกบทวิเคราะห์หลาย ๆ บริษัท
ซึ่งถ้าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ ก็จะสามารถติดตามและวิเคราะห์บริษัทได้จำนวนมากขึ้นตามไปด้วย
สำหรับในประเทศไทย อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ระบุว่า ปัจจุบัน มีจำนวนนักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์เพียง 303 คน
เมื่อเทียบกับจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ที่มีอยู่ 51 แห่ง หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ 1 แห่ง เฉลี่ยแล้วจะมีนักวิเคราะห์หลักทรัพย์อยู่จำนวน 6 คน
1
คำถามที่น่าสนใจต่อมาก็คือ แล้วผู้ที่จะมาทำหน้าที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญอะไรบ้าง ?
โดยทั่วไปแล้วผู้ที่สนใจจะทำงานสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ ควรจะต้องมีความรู้ทางด้านสาขาการเงิน บัญชี บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ เป็นหลัก
นอกจากนี้ บางบริษัทหลักทรัพย์มักจะต้องการนักวิเคราะห์ที่มีคุณวุฒิหรือประกาศนียบัตร ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การลงทุน ที่ได้รับการยอมรับ เช่น
1
- Chartered Financial Analyst หรือ CFA
- Certified Investment and Securities Analyst หรือ CISA
หลังจากที่สอบผ่านคุณวุฒิ หรือประกาศนียบัตรดังกล่าวข้างต้นแล้ว
ผู้ที่สอบผ่านแล้วต้องยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความเห็นชอบ และพิจารณาคุณสมบัติในการขึ้นทะเบียนการเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.
ซึ่งใบอนุญาตการเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์นั้น จะมีอายุ 2 ปี ดังนั้นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ต้องดำเนินการ เพื่อต่ออายุใบอนุญาตผ่านการอบรม และการเข้าร่วมกิจกรรมตามที่กำหนด เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งต้องบอกว่า สำหรับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตการเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ก็สามารถไปทำงานได้หลายที่
ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันภัย เป็นต้น
นอกจากนี้ ประสบการณ์และความรู้จากการทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ ยังสามารถนำไปต่อยอดในสายอาชีพเกี่ยวกับการเงินได้อีก เช่น
- ผู้จัดการกองทุน ที่บริหารเงินลงทุนให้กับนักลงทุน
- นักกลยุทธ์การลงทุน ที่จะต้องมีความรู้และความเข้าใจในการลงทุนด้านหลักทรัพย์ และสภาพเศรษฐกิจมากขึ้น
- นักวิเคราะห์การลงทุน ผู้จัดการฝ่ายการเงิน รวมไปถึงประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน หรือ CFO ของบริษัทเอกชน หรือแม้แต่ เป็นนักลงทุนอิสระ ก็ยังได้
อ่านมาถึงตรงนี้ เราน่าจะพอรู้จักเกี่ยวกับอาชีพนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไปพอสมควร ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการจะทำงานในอาชีพสายการเงิน นั่นเอง..
ใครอยากมีความรู้เรื่องตลาดหุ้น ลงทุนแมนแนะนำ หนังสือ BLACK SWAN เล่มนี้ ราคา 380 บาท ที่เล่าถึงความล้มเหลวก่อนที่จะสำเร็จของนักลงทุนในตำนาน 12 คน สามารถสั่งซื้อ ได้ที่
โฆษณา