17 ก.พ. 2023 เวลา 12:19 • ท่องเที่ยว

ทมิฬนาดู (24) ... เทวาลัยพฤหธิศวร (Brahadeeshwara Temple)

เทวาลัยพฤหธิศวร (Brihadiswara Temple) เป็นเทวาลัยสำคัญของเมืองตัญชอร์ .. กษัตริย์ “ราชราชา” (Raja Raja) กษัตริย์แห่งราชวงศ์โจฬะ ทรงดำริสร้างเทวาลัยแห่งนี้ ในระหว่างปี 1003 ถึง 1010 และพระราชทานนามให้ว่า “ราชราเชศวรัม” (Rajarājeśvaram) แปลว่า "มนเทียรของเทพเจ้าแห่งพระเจ้าราชราชา"
.. มีการพบจารึกในเวลาต่อที่ “เทวสถานพฤหันนายกี” (Brihannayaki shrine) เรียกเทพองค์ประธานของที่นี่ว่า “เปริยอุทัยนายะนาร์” (Periya Udaiya Nayanar) ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของชื่อในปัจจุบันว่า “พฤหทีศวร” (Brihadisvara) และ “เปรุวุทัยยาร์โกวิล” (Peruvudaiyar Kovil)
คำว่า “พฤหทีศวร” ( Bṛihádīśvara) เป็นคำภาษาสันสกฤต เกิดจากการรวมกันของคำว่า “พฤหัต” แปลว่า "ยิ่งใหญ่" และ อิศวร คือ "พระศิวะ" จึงรวมกันแปลว่า "พระศิวะผู้ยิ่งใหญ่"
การสร้างเทวาลัยแห่งนี้ มีการระดมทรัพยากรทั่วอาณาจักร ทั้งทรัพย์สิน ความรู้ และผู้คน เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของ พระเจ้าราชราชาที่ 1 .. ปัจจุบันเป็นเทวาลัยที่สุดในประเทศอินเดียและเป็นหนึ่งสถาปัตยกรรมมีค่าที่สุดของอินเดีย
นอกจากนั้น กษัตริย์โจฬะหลายพระองค์ยังสนับสนุนการบูรณะเทวาลัยนาฏราชาที่ จิดัมพลัม .. แม้จะมีการบูรณะอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มเทวาลัย มีเทวสถานย่อยที่บูชาโคนนทิ, พระแม่ปารวตี, พระขันทกุมาร, พระคเณศ, พระสภาบดี, พระทักษิณามูรติ, พระจันเทศวร, พระวราหิ เป็นต้น .. ที่นี่เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีผู้เดินทางมาเยี่ยมชมมากที่สุดแห่งหนึ่งในทมิฬนาดู
กลุ่มเทวาลัยแห่งนี้ออกแบบให้เป็นการจำลองระบบจักรวาล (Cosmic Structure) .. สร้างด้วยหินทั้งหลังที่สูงใหญ่ และความละเอียดซับซ้อนของลวดลาย .. ทำให้ UNESCO ได้ประกาศให้ “เทวาลัยพฤหธิเรศวร” เป็นมรดกโลก ครั้งแรกในปี ค.ศ.1987 และประกาศซ้ำใหม่อีกครั้งในปี 2004 ในนามของ "มหาเทวาลัยโจฬะที่ยังมีชีวิต” (Great Living Chola Temples)
อนึ่ง .. แม้ว่าเทวาลัยแห่งนี้จะสร้างถวายแด่องค์พระศิวะ แต่มีความแตกต่างจากเทวาลัยที่ เอกัมพิเรศวร หรือ จิดัมพรัม ตรงที่ บริเวณนี้ไม่ได้มีเทวาลัยดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้ว แต่เป็นการสถาปนาขึ้นมาใหม่ทั้งหมดในรัชสมัยของกษัตริย์ราชราชา ..
.. การออกแบบจัดให้มีสัดส่วนสัมพันธ์กันอย่างดีเยี่ยม แม้จะมีการต่อเติมอยู่บ้างในหลายยุคสมัยก่อนสมัยอาณานิคม แต่ยังคงสิ่งก่อสร้างใหม่ (เทวาลัยพระนางปารวตี เทวาลัยพระสุพราหมัณยะ หรือพระสันทกุมาร และมณฑปโคนนทิ) ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก และไม่ได้รบกวานผังเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยโจฬะแต่อย่างใด
เทวาลัยพฤหธิศวร (Brihadiswara Temple) ในปัจจุบัน
เทวาลัยพฤหธิศวร ในปัจจุบัน .. สร้างบนแกนที่สมมาตร เป็นเทวาลัยขนาดใหญ่สี่เหลี่ยมที่มีความยาว 240.79 เมตาจากตะวันออกไปตะวันตก และ 121.92 เมตรจากเหนือไปใต้ มีเทวาลัย มณฑป และอาคารใช้สอยรวมกันอยู่ฝยบริเวณเดียวกันหลายหลัง
โคปุรัมของเทวาลัยพฤหธิเรศวร
โคปุรัม .. เป็นหมุดหมายว่า เราได้เข้ามาในอาณาเขตของเทวาลัย .. เพียงแค่แรกเห็น เรารู้สึกได้ว่าได้เข้ามาสู่เทวสถานที่ยิ่งใหญ่
โคปุรัมของเทวาลัยแห่งนี้มี 2 ชั้น ชั้นนอกใหญ่กว่าชั้นใน .. ซึ่งได้กลายเป็นเทรนด์ของเทวาลัยในอินเดียใต้ที่สืบเนื่องมานานนับพันปีต่อมา (ซุ้มประตูชั้นนอกๆ จะสูงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆในช่วงศตวรรษต่อมาในสมัยหลัง
แต่รูปทรงโดยรวมของโคปุระหลักทั้ง 4 ทิศ ก็ยังคงลักษณะรูปแบบ “ศิลปะยุคราชวงศ์โจฬะ” ไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ ) ด้วยเหตุที่มีความเชื่อในเรื่องพลังของสุริยะ จึงสร้างโคปุรัมขนาดใหญ่เพื่อรับพลังของสุริยะ และเพื่อจะขับพลังของวัดด้วย ..
โคปุรัมหลักทางด้านตะวันออก Keralantakan tiruvasal มีความหมายว่า "sacred gate of the Keralantakan" คำว่า Keralantakan เป็นนามสกุลของกษัตริย์ Rajaraja ที่สร้างเทวาลัยนั่นเองค่ะ
ลักษณะ .. อาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะเป็นหอสูง .. จำลองอาคารชั้นล่างซ้อนขึ้นไป ชั้นบนสุดเป็นหลังคาทรงประทุน แบบเดียวกับ “ภีมะรถะ” และ “คเนศรถะ” ที่เมืองมามัลละปุรัม .. ปีกของโคปุรัมสร้างต่อเนื่องออกไปเป็นกำแพงหิน ที่ส่งความรู้สึกเหมือนป้อมค่าย
จารึกหินภาษาฮินดูจากหลายสมัย เช่น ปัลวะ โจฬะ นายะกะ ฯ บนกำแพงของโคปุรัม น่าสนใจมาก .. เชื่อว่าเป็นหลักฐานที่บอกให้รู้ถึงรายลเอียดด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเทวสถานแห่งนี้ เช่น การสร้างโดยราชวงศ์ต่างๆ เทวรูปที่สร้างขึ้น เงินบริจาค การบำรุงรักษาเทวาลัย และเรื่องอื่นๆ
.. อันที่จริงกำแพงด้านนอกนี้สร้างเพิ่มเติมในปี 1777 โดยกองกำลังของฝรั่งเศส มีช่องสำหรับปืนใหญ่ จึงมีความสูงที่สังเกตุได้ว่าแตกต่าง ทั้งนี้เพื่อปกป้องเทวาลัยด้านใน
โคปุรัมของเทวาลัยแห่งนี้ ยังคงเนื้อแท้ของวัสดุเดิมเอาไว้ .. แต่ยังคงมีลักษณะเด่นที่ศิลปะอันงดงามทั้ง ลวดลายปูนปั้นที่วิจิตร ประดับประดาอย่างหรูหรา
ทั้งสองข้างของโคปุรัม ประดับด้วย ทวารบาล
“มณฑปโคนนทิ” และประติมากรรมโคนนทิ (The Nandi mandapam)
โคนนทิ ในลักษณะนั่งหมอบหันหน้าไปยังทิศของเทวาลัยประธาน (โดยมีเสาธวัชสดมภ์ และแท่นบูชา อยู่ด้านหลังมณฑป) ..
โดดเด่นด้วยขนาดยักษ์ใหญ่เป็นที่ 2 ของประเทศอินเดีย (รองจากที่ไมเซอร์ ในรัฐกรณาฏกะ) มีน้ำหนักถึง 25 ตัน สูง 3 เมตร ยาว 6 เมตร สลักมาจากหินแกรนิตสีดำชิ้นเดียว
มณฑปและโคนนทิ ที่เราเห็นในปัจจุบันไม่ใช่ของดั้งเดิม แต่เป็นส่วนที่สร้างเพิ่มขึ้นมาภายหลังในสมับนายะกะ .. ที่น่าชมคือ หลังคาของมณฑปมีลักษณะทรงกลมมน ล้อกับวิมานของเทวาลัยประธาน และมีภาพเขียนสีตกแต่งประดับไว้ที่บริเวณเพดานของมณฑป
โคนนทิดั้งเดิม .. มีขนาดเล็กกว่านี้ และถูกย้ายไปไว้ในระเบียงคดด้านข้าง
ภาพมณฑปโคนนทิ .. มองจากเทวาลัยประธาน
ในแต่ละวันจะมีพิธีอาบน้ำโคนนทิด้วย น้ำนม ..
เทวาลัยประธานพฤหธิเรศวร
เทวาลัยประธานพฤหธิเรศวร .. เป็นหนึ่งในมนเทียรแบบอินเดียใต้ที่ใหญ่ที่สุดและเป็นตัวอย่างชิ้นสำคัญของสถาปัตยกรรมแบบ ดราวิเดียน ..
สร้างโดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในลักษณะซ้อนลดหลั่นลงมา 13 ชั้น มีความสูง 67 เมตร ซึ่งเป็น วิมานที่สูงที่สุดในโลก และสูงที่สุดในศิลปะอินเดียโบราณ จนมีชื่อเรียกว่า “ทักษิณเมรุ” คือเปรียบดุจเขาพระสุเมระแห่งอินเดียภาคใต้ และเป็นส่วนหนึ่งของ “Great Living Chola Temple
.. เดิมมีบารายล้อมรอบ
วิมานะ หรือยอดของเทวาลัยประธานเหนือห้องครรภคฟหะ ของ เทวาลัยพฤหธิเรศวร .. สร้างด้วยหินแกรนิตเช่นเดียวกับเทวาลัยอื่นๆในกลุ่มเทวาลัยแห่งนี้ บัวยอดของวิมานแกะจากหินแกรนิต 8 ชิ้น เป็นรูปแปดเหลี่ยมหนัก 80 ตัน
ภายในเทวาลัยประธานประดิษฐาน “พระพฤหธิศวร” ศิวลึงค์ดำสนิทมหึมา สูง 8.7 เมตร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ .. และเป็น “ศิวลึงก์” ที่ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของประเทศอินเดีย และยังคงมีการทำพิธีบูชาโดยพราหมณ์มาตลอดเวลากว่าพันปี
ด้านในของเทวาลัยประธานพฤหธิเรศวร ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ .. แต่อาจจะสามารถเข้าไปชมพิธีกรรมในการสักการะมหาศิวลึงค์ได้ .. แต่ด้วยเวลาที่จำกัด และแถวที่ยาวมากของผู้เลื่อมใส ศรัทธา ที่ยืนรอ ทำให้เราเลือกที่จะไม่เข้าไปด้านในเทวาลัย และเลือกที่จะมาเดินเก็บภาพให้ได้มากที่สุดแทน
ตัวเทวาลัยประดับประดาด้วยรูปแกะสลักเป็นของเทพเทวีมากมาย .. ความสวยงามในเชิงช่าง ทำให้การเดินชมนั้นรื่นรมย์ไม่เบา
ด้านข้าง ตรงทางลงชั้นที่สองหลังจากเข้าไปประกอบพิธีบูชาศิวลึงค์ศักดิ์สิทธิ์ มี “ทวารบาล” สูงใหญ่ อลังการขนาบอยู่ทั้ง 2 ข้าง .. เชื่อว่าเป็นประติมากรรมประดับอาคารที่ใหญ่ที่สุดในศิลปะอินเดีย
ทวารบาลของเทวาลัยแห่งนี้มีขนาดที่ใหญ่กว่าทวารบาลที่ เทวาลัยคังไคโกญฑะ โจฬะปุรัม .. แต่เป็นเป็นศิลปะร่วมสมัยโฬะเหมอนๆกัน จะเห็นว่าทวารบาลรูปหนึ่งพระหัตถ์ข้างหนึ่งยกนิ้วมือในท่า ดรรชนีมุทรา เป็นการขู่ไม่ให้ความชั่วร้ายเข้ามาในเทวาลัย .. การชูนิ้วเป็นการขู่ มาจากคติความเชื่อที่ว่า นิ้วชี้ เป็นนิ้วแห่งเดช ที่มีพลังอำนาจ
.. ส่วนทวารบาลอีกองค์หนึ่ง อยู่ในท่า วิสมยมุทรา แสดงออกด้วยการกางพระหัตถ์ออกหรือสะบัดพระหัตถ์กลับ .. มุทรานี้มักใช้กับบริวารที่กำลังแสดงความประหลาดใจในพลังอำนาจของเทพเจ้า (บางครั้งเทพเจ้าที่แสดงพลัง ก็อาจจะแสดงมุทรานี้เอง เพื่อแสดงความประหลาดใจในพลังของพระองค์เอง)
ว่ากันว่า .. จารึกภาษาทมิฬที่ฐานของเทวาลัยประธาน ทำให้รู้ถึงรายละเอียดการก่อสร้าง ผู้รับผิดชอบ รวมถึงรูปปฏิมาของเทพเจ้าที่ประดิษฐานภายใน เครื่องอาภรณ์เพชรพลอยที่ถวายประดับเทวรูป ที่ดิน ข้าวของและผู้คน ที่อุทิศตนถวายงานต่างๆของเทวาลัย
“เทวาลัยปารวตี” (Kartikeya or Parvati’s Temple or Amman Temple)
เทวาลัยพระนางปาราวตี เป็นอาคารชั้นเดียว ที่สร้างอย่างเรียบง่ายภายหลังจากเทวาลัยประธานสร้างขึ้นมาแล้วหลายร้อยปี .. จากข้อความในจารึก บอกว่าเทวาลัยแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยปัลลวะ ในช่วงหลังของศตวรรษที่ 14 เพื่ออุทิศถวายพระนางปารวตี หรือที่รู้จักในอินเดียใต้ในชื่อ Brihanayaki ..
ภาพด้านบน ..
นายพรานที่มีชื่อว่า​ 'สุสวาร'​ ที่ได้หลบขึ้นไปบนต้นไม้ เพื่อที่จะสังหารสัตว์เพื่อมาดำรงชีพ​ (มีตำนานย่อยหลายตำนาน​แต่เนื้อหาใกล้เคียงกัน)​
โดยนายพรานได้ตักน้ำจากแม่น้ำใส่ในภาชนะเพื่อเก็บไว้ดื่มกิน​ แล้วปีนขึ้นไปซุ่มอยู่บนต้นมะตูมที่ทำบังไพรเอาไว้​ ส่องสัตว์ที่จะจะเข้ามาหากินในบริเวณแหล่งน้ำ​
ระหว่างนั้นเอง​ ก็มีกวางตัวหนึ่งได้เดินเข้ามาในรัศมีธนูของนายพราน​ นายพรานก็ขยับลำตัวไปมาบนกิ่งของต้นมะตูมนั้นเพื่อที่จะหามุมยิงธนูที่ดีที่สุด​
ระหว่างนั้นเอง​ด้วยกิ่งที่สั่นเพราะการขยับตัวของนายพราน​ ก็ได้ทำให้ใบมะตูม​ ได้หล่นลงไปยังเบื้องล่าง​ และภาชนะใส่น้ำของนายพรานก็ได้กระฉอกเอาน้ำหกลงไปเบื้องล่าง​ต้นมะตูมนั้นอีกเช่นกัน​
และนายพรานสุสวารก็ได้ขยับตัวเพื่อที่จะหามุมในการยิงสัตว์อยู่บนต้นมะตูมด้วยความอดทนเช่นนี้ตลอดทั้งคืน​ โดยมิได้ดื่มน้ำและอาหาร​
และทำให้น้ำกับใบมะตูมก็ได้หยดและหล่นลงสู่เบื้องล่างตลอดทั้งคืนเช่นกัน
แต่ภายใต้กิ่งใบแห่งมะตูมต้นนั้น​ เป็นที่ประดิษฐานแห่ง​ 'สวยัมภูลึงค์'​ หรือ​ ศิวลึงค์​ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ​
และทั้งใบมะตูม​และน้ำที่หยดตกหล่นลงไปนั้น​ ก็ได้ตกลงไปบนยอดแห่งลึงค์นั่นเอง
การณ์ในครั้งนี้ทำให้พระศิวะพึงพอใจมาก​ เพราะเปรียบเสมือนได้บูชาแด่พระองค์​
พระองค์จึงได้ปรากฎกายขึ้นและประทานพรแด่นายพรานนั้น​ ให้หลุดพ้นจากบาปทั้งปวงที่ได้กระทำมา​ และเมื่อหลังจากสิ้นชีพแล้ว​ ก็ได้ไปอยู่ใน​ 'ศิวโลก'​ ดินแดนแห่งพระองค์
เหตุการณ์นี้ก็ได้แสดงถึงความรักขององค์ที่มีต่อสาวกผู้ที่บูชาพระองค์
Ref : ไกด์โอ พาเที่ยว
ด้านหน้าของเทวาลัย มีรูปปั้นเล่าเรื่องราวปกรณัมของพระนางหลายตอน เช่น ตอนที่พระนางลงมาอยู่โลกมนุษย์แล้วสร้างศิงลึงค์ดิน .. พระนางใช้ร่างกำบังศิวะลึงค์จากน้ำที่กำลังหลากไหลเข้ามา รวมถึงตอนพิธีสยุมพร Happy Ending
นอกจากนี้ยังมีรูปสลักของเทพเจ้าฮินดูองค์อื่นๆอักหลายองค์ เช่น พระคเนศ เป็นต้น
“เทวาลัยพระขันทกุมาร”
เทวาลัยพระสันทกุมาร .. ตั้งอยู่ถัดไปด้านหลังของเทวาลัยประธ่น เป็นอาคารยกชั้นในศิลปะ ดราวิเดียน ที่งดงามมาก แสดงความสำคัญของเทพเจ้าองค์นี้ในศาสนาฮินดู
เทวาลัยเทพเจ้าองค์นี้สร้างโดย Savappa Nayaka ในศตวรรษที่ 17
.. ห้องครรภคฤหัสถ์ เป็นที่ประดิษฐานรูปสลักหินของ พระสันทกุมาร ประทับนั่งบนนกยูง ที่สลักมาจากหินก้อนเดียว
จากอาคารของเทวาลัยหลัก มีส่วนต่อเชื่อมเป็นมณฑล ที่อาจจะใช้ประโยชน์ลางอย่าง
ภาพสลักหิน และลวดลายที่ใช้ประดับเทวาลัยมีความละเอียดและวิจิตรมากในทุกส่วน .. ส่วนของศิขรเป็นรูปหม้อน้ำ ที่เรียกว่า กลศัม (Kalasam) อยู่เหนือห้อง ครรภคฤหะ
รูปสลักหินที่ใช้ประดับเทวาลัยเล่าเรื่องในปกรณัมหลายตำนาน เช่น รามายนะ รูปพระนางทุรคา พระคเนศ
ชอบภาพสลักหินรูปช้างในสมรภิการสู้รบ ที่กำลังใช้งวงยกร่างของทหารขึ้นสูง .. ส่วนอีกด้านของบันไดมีรูปสลกหินของม้าในท่วงท่าคึกคะนอง กำลังยกขาหน้าขึ้น
บนชายคาทางเข้า “เทวาลัยสุพราหมมัณยะ” หรือ “พระสกันทกุมาร” หากสังเกตให้ดี จะเป็นมีรูปสลักของ “ตุ๊กแกหิน” เกาะอยู่อย่างนั้นมานานนับพันปี ตั้งแต่สมัยโบราณ
.. พยายามจะหาข้อมูลว่า มีตำนานอะไรที่เกี่ยวข้องกับการนำสัตว์ประเภทนี้ไปวาง ณ ตำแหน่งตรงนั้นบ้าง แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลอะไร .. ถามผู้ที่ควรรู้บางท่าน ได้คำตอบมาว่า เป็นเรื่องอารมณ์ขันของช่าง
.. แต่หากจำได้ เคยเขียนถึงเรื่องของตำนานตุ๊กแกที่ทางเข้าเทวาลัยประธานวาราธราช ที่กาญจีปุรัม .. ดังนั้นโดยส่วนตัวจึงเชื่อว่า ต้องมีเรื่องราวเกี่ยวเนื่องเป็นตำนานที่ทำให้ ตุ๊กแก ไปเกาะที่ตำแหน่งทางเข้าเทวาลัยแน่นอน และเป็นมากกว่า อารมณ์ขันของช่าง เพียงแต่เรายังหาคำตอบไม่เจอเท่านั้น
“เทวาลัยพระคเณศ”
เทวาลัยพระคเณศ .. ตั้งอยู่ด้านข้างถัดไปด้านหลังของเทวาลัยประธาน ฝั่งตรงข้ามกับเทวาลัยของ พระสกันทกุมาร โดยมีบ่อน้ำของวัดคั่นอยู่ช่วงกลาง
.. เป็นเทวาลัยขนาดเล็กกว่าเทาวาลัยพระสกันทกุมารมาก และมีสถาปัตยกรรมที่ดูเรียบง่าย เกือบจะไม่มีส่วนไหนที่ดูอลังการ หรูหราเลย
ภายในประดิษฐานรูปเคารพของเทพเจ้าที่มีรูปร่างส่วนศีรษะเป็นช้าง
ระเบียงคดรอบเทวาลัย และพิพิธภัณฑ์
เทวาลัยพฤหธิศวร เป็นโบราณสถานในความรับผิดชอบของกรมโบราณคดีอินเดีย จึงมีการจัดพื้นที่ในระเบียงคดให้เป็นพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุ และเป็นหอนิทรรศการว่าด้วยการอนุรักษ์
สามารถเดินชมได้เพลินๆ
.. มีศิวลึงค์มากมายเกือบจะรอบระเบียงคดที่ยาวมากๆ รวมถึงมีภาพเขียนสี เล่าเรื่องบางตอนของปกรณัมอินเดียโบราณ บางส่วนเราอาจจะไม่เข้าใจลึกซึ่ง แต่แค่ดูความงดงามในแง่ของศิลปะ ก็น่าชมอย่างยิ่งแล้วค่ะ
.. ที่ดีที่สุดสำหรับคนที่ชอบถ่ายภาพ คือ เป็นสถานที่ที่ช่างภาพสามารถเก็บภาพมุมกว้างหลายส่วนของกลุ่มเทวาลัยได้ดีเลยค่ะ
โฆษณา