17 ก.พ. 2023 เวลา 15:25 • ธุรกิจ

Quiet Quitting คืออะไร และเกิดจากอะไรได้บ้าง?

ถัดจากปรากฎการณ์ลาออกครั้งใหญ่ (The Great Resignation) องค์กรทั่วโลกก็มีเทรนด์การทำงานใหม่ให้กังวล ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า Quiet Quitting หรือการลาออกอย่างเงียบ ๆ เมื่อคำนี้ได้กลายเป็นไวรัลบนโซเชียลมีเดียและสื่อชั้นนำทั่วโลกก็ให้ความสนใจ จึงเกิดการพูดคุยและถกเถียงถึงปรากฎการณ์นี้กันอย่างกว้างขวาง แต่มีประเด็นหนึ่งที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน คือ พนักงานที่ลาออกอย่างเงียบ ๆ (Quiet Quitting) นั้น ไม่ได้คิดจะลาออก แต่พวกเขาเลือกจะไม่ทำงานเกินกว่าหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง
Adam Grant (นักจิตวิทยาองค์กร เจ้าของหนังสือ “คิดแล้ว คิดอีก”) กล่าวว่า Quiet Quitting ไม่ใช่ความเกียจคร้าน แต่เป็นการรับมือของพนักงานที่ต้องเจอกับงานที่ไม่มีคุณค่า หัวหน้าที่เอาเปรียบ และค่าจ้างต่ำเตี้ย ถ้าพวกเขาไม่รู้สึกว่าองค์กรใส่ใจและเห็นคุณค่าพวกเขา พวกเขาก็จะเลิกใส่ใจเช่นกัน
Joe Grasso ผู้บริหารอาวุโสฝ่ายการพัฒนาทักษะพนักงานรูปแบบใหม่ (Workforce Transformation) ของ Lyra Health กล่าวเสริมกับ Washington Post ว่า คนที่ทำงานแบบ Quiet Quitting มีพฤติกรรม เช่น ถอนตัวออกจากทีม สื่อสารเรื่องงานกับเพื่อนร่วมงานน้อย รวมทั้งนิ่งเงียบไม่แสดงความเห็นและไม่ให้ Feedback
Quiet Quitting จึงไม่ใช่แค่ประเด็นการกำหนดขอบเขตการทำงาน แต่หมายถึงพนักงานที่ไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับทีม ปฏิเสธที่จะลงแรงลงเวลาเพิ่มขึ้นเพื่อทำงานให้องค์กร ส่งผลให้ผลิตภาพ (Productivity) ของเขาลดลง ดังนั้น Quiet Quitting จึงไม่ใช่ปรากฎการณ์ใหม่อะไรเลย หากแต่เป็นปัญหาความไม่ผูกพันต่องานและองค์กร (Employee Disengagement) ที่มีมาหลายทศวรรษแล้ว
แต่ละคนต่างมีเหตุผลของตนเองที่จะเลือกทำงานแบบ Quiet Quitting และก็จะมีกลุ่มที่คอยมองหาโอกาสหรือข้ออ้างที่จะหลีกเลี่ยงการทำงานอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่มีความผูกพันและมีผลงานที่ดีมาตลอดสามารถกลายเป็นกลุ่ม Quiet Quitter ได้ หากพวกเขารู้สึกถูกด้อยค่าหรือถูกมองข้ามอย่างสม่ำเสมอ ชนวนสำคัญของ Quiet Quitting สามารถสรุปได้ 3 สาเหตุ คือ
1. ทำงานมากเกินไปและค่าตอบแทนน้อย
ผลจาก The Great Resignation คือ จำนวนคนลาออกจากงานโดยเฉลี่ย 4 ล้านคนต่อเดือน ทำให้พนักงานที่เหลือแบกรับภาระงานมากขึ้น และหากไม่สามารถบริหารจัดการภาระงานที่เพิ่มมาได้ ความเครียดก็สะสมอย่างต่อเนื่องจนถึงจุดที่กลายเป็นภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout)
ด้วยเศรษฐกิจและตลาดอันผันผวนตอนนี้ คำขอปรับขึ้นเงินเดือนและค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับภาระงานที่เพิ่มขึ้นจึงถูกปฏิเสธบ่อยครั้ง ทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกท้อแท้และไม่มีคุณค่า การทำงานให้ผ่าน ๆ ไปจึงเป็นทางออกของพวกเขาจากสภาวะเช่นนี้
2. ขาดการชื่นชมและขอบคุณกันในที่ทำงาน (Recognition)
“รางวัลของคนทำงานหนักคือภาระงานที่เพิ่มขึ้น” ผู้ใช้โซเชียลมีเดียท่านหนึ่งได้แสดงความเห็นไว้ พนักงานไฟแรงที่ทุ่มเททำงานให้องค์กร แต่เจ้านายกลับไม่สนใจ มองข้ามความพยายามและผลงานของเขา ไม่แปลกที่พวกเขาจะหมดไฟและไม่ลงทุนลงแรงอย่างเคย
3. พูดคุยและสื่อสารกันไม่เพียงพอ
การสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพอาจเป็นบ่อเกิดของความเครียดในที่ทำงานได้เช่นกัน หากการแลกเปลี่ยนความเห็นทำได้ยากหรือไม่สะดวกใจที่จะทำ แสดงว่าพนักงานไม่เชื่อว่าความเห็นของพวกเขาถูกรับฟัง สภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เอื้อให้เกิดการสื่อสารที่มีคุณภาพจะก่อให้เกิดรอยร้าวระหว่างพนักงานและองค์กรขึ้น
สาเหตุข้างต้นทำให้พนักงานเผชิญความเครียดและความเหนื่อยล้าสะสม จนนำไปสู่ภาวะ Burnout พฤติกรรมแบบ Quiet Quitting จึงเป็นทางลัดที่พวกเขาเลือกเพื่อปกป้องสุขภาพจิตและสุขภาวะ (Well-being) ของตนเอง อย่างไรก็ตาม เพื่อนร่วมงานของคนเหล่านี้จะรู้สึกไม่พอใจจากการโดนตัดขาด ไม่รู้สึกทำงานเป็นทีมและยังต้องทำงานชดเชยส่วนที่ขาดจากคนที่ทำงานแบบ Quiet Quitting ด้วย สุดท้ายแล้ว Productivity โดยรวมก็ลดลง
ไม่มีใครได้ประโยชน์จากเหตุการณ์นี้เลย
ติดตามอ่านบทความเต็มได้ที่ blog.happily.ai เพื่อดูว่ามีวิธีกำจัดและบรรเทา Quiet Quitting ในที่ทำงานของคุณได้ยังไงบ้าง
โฆษณา