18 ก.พ. 2023 เวลา 09:41 • ท่องเที่ยว

ทมิฬนาดู (25) .. เทวาลัยราเมศสวาราม แหลมธนุสโกตี้ และ Ghist Town

มืองราเมศวาราม
"ราเมศวราม" (Rameshwaram) เมืองแห่งตำนานของพระราม.. ตั้งอยู่ในเขต Ramanathapuram ทมิฬนาดู อินเดียใต้ .. เมืองศักดิ์สิทธิ์ของฮินดู ทั้งไวษณพนิกายและไศวนิกาย ได้รับฉายาว่าพาราณสีแห่งภาคใต้
นอกจากนี้ เมืองนี้ ยังมีบทบาทอย่างมากกับประเพณีของไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา เนื่องจากเมืองนี้ ได้ส่งพราหมณ์เข้ามาอยุธยาและได้นำพิธีต่างๆมา และผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิม เช่น พิธีโล้ชิงช้า หรือ ตรียัมปวาย เป็นต้น
เทวาลัยราเมศสวาราม (Rameswaram Temple) เทวาลัยของพระรามที่เมืองราเมศวาราม
เทวาลัยราเมศสวาราม ..เป็นเทวาลัยที่เป็นแลนด์มาร์กทางประวัติศาสตร์ของเมือง สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายพระศิวะ และเป็นเทวาลัย 1 ใน 12 เทวาลัยที่บูชาพระศิวะในรูปของศิวลึงค์ธาตุไฟ หรือ ชโยติรลึงค์(Jyotirlinga)
ชโยติรลึงค์ (Jyotirlinga) หรือ ชโยติรลิงคัม (Jyotirlingam) ปางปรากฏของพระศิวะที่ได้รับการเคารพบูชา
ศิวปุราณะ ระบุว่า .. ครั้งหนึ่งพระพรหม (ผู้สร้าง) และพระวิษณุ (ผู้รักษา) ได้มีการถกเถียงกันถึงอำนาจสูงสุดของการสร้าง (supremacy of creation) และเพื่อให้ได้ข้อตกลงกัน พระศิวะจึงได้เจาะ (pierced) โลกทั้งสามปรากฏเป็นเสาแห่งแสงสว่างที่มีขนาดมหึมาเป็นอนันต์ ที่เรียกว่า “ชโยติรลึงค์”.. หลังเสานี้เย็นลงได้บังเกิดเป็นเขาอันนมาไล (Annamalai Hills) ซึ่งในปัจจุบันคือที่ตั้งของอนุราจเลศวรมนเทียร
.. พระวิษณุและพระพรหมจึงทรงแบ่งกันค้นหาจุดจบของเสาแสงนี้ไปทางด้านบนและด้านล่าง ..พระพรหมทรงโกหกว่าได้ทรงพบจุดจบของเสา พระวิษณุจึงทรงยอมแพ้ในที่สุด
.. การโกหกนี้ทำให้พระศิวะทรงโกรธมาก และได้สาปพระพรหมให้แม้แต่พระองค์จะเป็นผู้สร้างจักรวาล พระองค์จะไม่ได้รับการสักการ
“ชโยติรลึงค์” .. จึงเป็นพระศิวะซึ่งเป็นอนันต์ มนเทยรแห่งชโยติรลึงค์ทั้งหมดเป็นที่ซึ่งพระศิวะทรงประทับในรูปของเสาแสงติดไฟ ("pillar of light")
.. เป็นเทวาลัยที่สร้าง ณ ที่ที่พระรามได้มาทำพิธีอาบน้ำชำระบาป และสวดมนต์ถวายพระศิวะ พร้อมกับพระลักษณ์ และพระนางสีดา หลังจากการทำศึกลงกาเสร็จสิ้นลง และพระองค์ก็ได้ยาตราทัพกลับมายังฝั่งแผ่นดินใหญ่เพื่อจะกลับไปยังกรุงอโยธยา
รามายณะปุรณัม .. กล่าวว่า “พระราม” อวตารปางที่เจ็ดของพระวิษณุ .. ครั้นเมื่อข้ามมหาสมุทรสุดแสนนทีมาถึงเกาะใหญ่ดินแดนชมพูทวีปแล้วไซร้ พระองค์จึงมีดำริในการพิธีสรงน้ำเพื่อล้างบาป ที่พระองค์ได้กระทำบาปใหญ่ ในการสังหาร “ท้าวราพย์” หรือ “ทศกัณฐ์” ที่ถือได้ว่าเป็นวงศ์แห่งพรหม
ในการพิธีนั้น .. พระราม ได้มีพระบัญชาให้หนุมานทหารเอก เหาะเหินเดินอากาศไปยังหิมาลัยบรรพต เพื่อที่จะนำศิวลึงค์อันศักดิ์สิทธิ์มาใช้ประกอบในพิธี
ครั้นได้ฤกษ์ในการทำพิธีแล้ว หนุมานก็ยังกลับมาไม่ถึง และศิวลึงค์ก็ยังไม่มีในการทำพิธี
พระนางสีดา .. เกรงว่าจะเลยอุดมฤกษ์อันสำคัญ จึงได้ก่อทรายที่ริมชายฝั่งมหาสมุทรมาเป็นองค์ศิวลึงค์เพื่อใช้ในการประกอบพิธีแทนองค์ที่หนุมานจะนำมาจากภูเขาหิมาลัย (เชื่อกันว่า คือ รามนาถสวามีลึงคัม ที่อยู่ในห้องครรภคฤหะของเทวาลัยแห่งนี้) ลึงค์นี้แทนองค์รามนาถสวามี (พระศิวะ)
.. พระราม จึงได้ทำการอภิเษกน้ำล้างชำระบาปที่ได้กระทำลงไปในการสังหารวงศ์พรหม
ปัจจุบันในครรภคฤห์ ประดิษฐานลึงคัม 2 องค์ .. องค์หนึ่งสร้างขึ้นจากทรายโดยพระนางสีดา เป็นองค์ประธาน อีกองค์คือที่หนุมานนำมาจากเขาไกลาศ แต่มาไม่ทันพิธี เพราะระยะทางที่ยาวไกล เรียกวิศวลึงค์ หรือวิศวลึงคัม .. ตั้งอยู่เคียงกัน
สถานที่ๆ พระราม สรงน้ำชำระบาปนี้นั้น ได้เป็นเทวาลัยที่สำคัญ ที่มีศิวลึงค์องค์ที่หนุมานเหาะนำมา ซึ่งนับเป็นศิวลึงค์ธาตุไฟ (ชโยติลิงกัม/Jyotirlingam) 1 ใน 12 องค์ อันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในชมพูทวีป และยังปรากฏศิวลึงค์ที่พระแม่สีดาสร้างขึ้นมาจากทราย ประดิษฐานอยู่ในมณฑปเคียงข้างกัน
เทวาลัยที่เราเห็นในปัจจุบัน สร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 12 โดยกษัตริย์ในราชวงศ์ปัลวะ เป็นเทวาลัยที่มีทางเดินยาวที่สุดในอินเดีย
สองข้างทางเดินประดับด้วยเสาแกะสลักสูงระหว่าง 17-25 ฟุต จำนวนนับพันต้น ด้วยศิลปะนายะกะ
การแกะสลักอย่างวิจิตร ประดับหัวเสา
ทัศนียภาพที่สวยงาม น่าประทับใจระหว่างการเดินชม
ในคัมภีร์สกันธปุราณะ ได้กล่าวไว้ว่า ที่เมืองราเมศวรามนี้ มีบ่อน้ำหรือท่าน้ำที่สำคัญอยู่ถึง 64 แห่ง ทั้งจากภายในและภายนอกเทวาลัยรวมกัน .. แต่มีเพียง 24 บ่อเท่านั้นที่ถือว่ามีความสำคัญ
ภายในเทวาลัยอรุลมิกุศรีรามนาถสวามีแห่งนี้ .. จะมีบ่อศักดิ์สิทธิ์อยู่ 22 บ่อ และยังมีอีก 2 ท่าน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์คือ "ท่าอัคนี" (Agni Tirtham) ริมชายฝั่งทะเลด้านหน้าเทวาลัย และ "ท่าเสตุ" (Setu Tirtham) ที่สุดปลายแหลมธนุชโกดี้ จุดเริ่มต้นของสะพานพระราม
การได้อาบน้ำจากสระเหล่านี้ถือว่าเป็นกิจกรรมในการแสวงบุญอย่างหนึ่ง .. ปัจจุบันคนฮินดูจากทั่วประเทศ นิยมที่จะเดินทางมาแสวงบุญที่เมืองนี้ เพื่อทำการอาบน้ำชำระบาปจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์บ่อเดียวกับที่พระรามเคยสรง ทั้ง 24 บ่อที่ได้กล่าวมา...
NOTE : ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพด้านในเทวาลัยค่ะ
อัคนีตีรถะ (Agni Theertham) สถานที่พระนางสีดาลุยไฟ
อัคนี = ไฟ, ตีรถะ = ท่าน้ำ, ฝั่งน้ำ
ท่าน้ำอัคนีแห่งเมืองราเมศวาราม รัฐทมิฬนาฑู .. เป็น 1 ใน 64 ตีรถะศักดิ์สิทธิ์ของเมืองนี้
โดยจะเป็นท่าน้ำแรก ในการอาบน้ำชำระบาปก่อนที่จะเข้าไปอาบน้ำในท่าหรือบ่ออื่นๆอีก 22 ตีรถะ ภายในเทวาลัยศรีรามนาถสวามี ซึ่งเป็นเทวาลัยที่พระรามมาอาบน้ำชำระบาป และบูชาพระศิวะหลังจากเสร็จศึกจากกรุงลงกา
โดยท่าอัคนีนี้มีเรื่องราวตำนานสำคัญอยู่สองเหตุการณ์ดังนี้
- ตำนานที่หนึ่ง
ภายหลังจากเสร็จศึกจากกรุงลงกา พระรามก็ถือได้ว่ากระทำบาปใหญ่ เพราะได้สังหารท้าวราพน์หรือทศกัณฐ์ ที่ถือว่าเป็นวงศ์แห่งพรหมและทศกัณฐ์ก็ยังเป็นสาวกสำคัญ ผู้ภักดีต่อองค์พระศิวะอีกประการหนึ่งด้วย ..
เมื่อกลับมาถึงฝั่งดินแดนแห่งชมพูทวีปแล้วไซร้ ท่านก็ได้ลงอาบน้ำชำระบาปที่ริมชายทะเลแห่งนี้เป็นแห่งแรก หลังจากนั้นจึงเข้าไปอาบน้ำชำระบาป ที่บ่ออื่นๆและบูชาศิวลึงค์เพื่อขอขมาแด่องค์พระศิวะ ภายหลังบริเวณนี้เป็นเทวาลัยที่มีชื่อว่า 'เทวาลัยศรีรามนาถสวามี'
- ตำนานที่สอง
เป็นเรื่องราวที่รู้จักกันดีในเรื่องรามเกียรติ์ตอน 'สีดาลุยไฟ' โดยภายหลังจากที่พระรามและนางสีดาได้กลับมาถึงฝั่งชมพูทวีป ณ ริมฝั่งทะเลจุดนี้แล้ว พระรามได้กล่าวถึงความบริสุทธิ์ของนางสีดา ทำให้พระนางต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง โดยพิธีนี้จะเรียกว่า 'อัคนีปรีกฺษา / Agni Pariksha' หรือการทดสอบด้วยไฟ
2
.. โดยนางสีดาได้ให้พระลักษณ์จุดกองไฟขึ้นและได้ก้าวเข้าไปนั่งท่ามกลางกองไฟ เพื่อให้พระอัคนีเป็นผู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ .. แต่ด้วยความบริสุทธิ์ไม่มีมลทินของพระนาง องค์พระอัคนีเทพแห่งไฟ ก็ไม่ได้ทำอันตรายใดๆต่อองค์พระนาง และพระรามก็พึงพอใจในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในครั้งนี้
.. แต่พระอัคนีก็ถือว่ามีบาปขึ้นมา จากการที่ได้ลูบไล้เปลวไฟต่อองค์สีดาผู้บริสุทธิ์ ทำให้พระอัคนีเอง ต้องมาอาบน้ำชำระบาปที่ริมฝั่งทะเลนี้ ... ภายหลังจึงได้ขนานนามชายทะเลแห่งนี้ว่า 'ท่าอัคนี / Agni Theertham'
4
ยังเชื่อกันว่า .. ชาวฮินดูที่อยากได้ลูกให้มาทำพิธี 'ยัชญะ' เพื่อขอลูก จากเหล่าพราหมณ์ที่มารับทำพิธีอยู่บริเวณท่าอัคนีนี้
1
Ref : ไกด์โอ พาเที่ยว
ราเมศวรัม .. ตั้งอยู่บนเกาะปามปันในอ่าวมันนาร์ ปลายสุดของคาบสมุทรอินเดีย เกาะนี้แยกจากอินเดียแผ่นดินใหญ่ด้วยช่องแคบปามปัน และอยู่ห่างจากเกาะมันนาร์ของประเทศศรีลังกาประมาณ 40 กิโลเมตร จึงเป็นจุดที่ใกล้ที่สุดของอินเดียในการข้ามไปยังศรีลังกา
ตามคัมภีร์โบราณของฮินดู พระรามได้ให้หนุมานและเหล่าบรรดาพลพรรค สร้างยืดยาวออกไปในทะเล เพื่อข้ามไปยังเมืองลงกา เพื่อช่วยเหลือนางสีดาที่ถูกลักพาโดยทศ
.. แต่หลังจากเสร็จศึกที่กรุงลงกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระรามได้ข้ามสะพานกลับมายังฝั่งภรตวรรษและได้แผลงศรไปทำลายสะพาน 'รามาเสตุ' นี้ ตามคำขอของ 'วิภีษณะ' หรือพิเภก
.. เป็นการตัดขาดเส้นทางสัญจรสู่กรุงลงกามาจนถึงปัจจุบัน .. และเรื่องราวของมหากาพย์รามายณะในตอนนี้ ก็ได้เป็นที่มาของชื่อแหลมนี้ คือ "แหลมธนุชโกดี้ (Dhanushkodi)" .. Dhanush = ธนู, คันศร .. Kodi = จุดสิ้นสุด
Ref : ไกด์โอ พาเที่ยว
Ghost Town ..
โบสถ์คริสต์ที่ยังคงมองเห็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมของอาคารที่เหลือแต่ซาก .. ทำให้พอที่จะอนุมานได้ว่า เป็นโบสถ์ของชาวตะวันตก ที่อาจจะเข้าหาในช่วงแสวงหาดินแดนอาณานิม
ว่ากันว่า .. นี่คือที่ตั้งของเมืองราเมศวารามเก่า ที่ถูกทำลายลงด้วย สึนามิ
ด้านหน้า .. มีบ่อน้ำจืด
หอระฆัง และซากที่ผุพังของกำแพง
ดูเหมือนกันเป็นแท่นบูชา
ปัจจุบัน .. มีแต่ร้านขายของที่ระลึกประเภท Home Made ที่ส่วนใหญ่ทำจากเปลือกหอย และวัสดุที่ได้มาจากทะเล รวมถึงศาสนวัตถุต่างๆ ที่มีให้เลือกทุกขนาด
โฆษณา