19 ก.พ. 2023 เวลา 11:00 • ความคิดเห็น

หลังตู้เย็น

อาจารย์รัชนีพร พุคยาภรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีคณะที่ทันยุคทันสมัยเกิดขึ้นมากมาย ส่งบทความหนึ่งที่น่าสนใจมาให้อ่าน เป็นบทความจากฮาร์วาร์ดในหัวข้อ...
“No specific skill will get you ahead in the future — but the “way of thinking” will”
โดยหลักใหญ่ใจความของบทความนี้ ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์เรื่องทักษะการทำงานที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างสุดขั้ว จากสมัยก่อนที่มีความคิดความเชื่อว่ารู้อะไรต้องรู้ให้ลึก พวกรู้แบบกว้างๆนั้นไปไหนไม่ค่อยไกลในอาชีพการงาน แต่พอมีเรื่องเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดกับเรื่องราวแห่งความไม่แน่นอนต่างๆมากมาย เรื่องโควิดก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของความไม่แน่นอนนั้น
1
ความสามารถในการมองภาพกว้างแล้วต่อ “จุด” ให้เป็นภาพได้นั้นกลับกลายเป็นความสำคัญของยุคนี้สมัยนี้ แถมยังทำให้ทักษะลึกๆเดิมๆที่ไม่ได้ถูกปรับถูกพัฒนาตามโลกที่หมุนเร็วเริ่มล้าสมัยไป
สมัยก่อน การที่จะก้าวหน้าทางอาชีพคือการยิ่งต้องรู้ลึกไปเรื่อยๆ เป็นหมอก็ต้องเรียนต่อให้เชี่ยวชาญต่อเรื่องหัวใจ ซึ่งก็อาจจะไม่พอ ต้องไปต่อด้านผ่าตัดหัวใจ ต้องลึกไปเรื่อยๆจึงจะสำเร็จ และก็เป็นแบบนี้ทุกวงการ แต่อนาคตข้างหน้าที่ประสบการณ์เดิมเริ่มใช้ไม่ค่อยจะได้นั้น ความสามารถในการรู้รอบด้าน ยืดหยุ่นและปรับตัวกลายเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่า
บทความนั้นให้ความหมายของการเป็น Generalist ที่รู้กว้างในโลกยุคใหม่ว่าเกิดจากการมองเรื่องเดียวกันในบริบทที่ต่างออกไป เพื่อที่จะตัดสินใจได้รอบคอบและถูกต้องขึ้น โดยต้องไม่ใช่แค่มองด้านที่ตัวเองถนัด ต้องรู้อุตสาหกรรม มองด้านการเงิน การตลาด และต้องพยายามหาทางเชื่อมโยงสิ่งที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกันระหว่างอุตสาหกรรมว่ามีผลกระทบต่อๆกันอย่างไร
เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนก็สามารถหยิบเครื่องไม้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องมาใช้มาแก้ได้อย่างยืดหยุ่น ไม่จำกัดเฉพาะวิธีใดวิธีหนึ่ง บริษัทสมัยใหม่เริ่มอยากจ้างคนที่มีประสบการณ์หลากหลาย บริษัทอย่าง Google ต้องการคนแบบนี้มากเพราะต้องการคนที่ย้ายทีมไปทำงานใหม่ในหน้าที่ใหม่ได้ตลอดเวลา
บทความโดยอาจารย์ฮาร์วาร์ดท่านนี้สรุปไว้ว่า ความแน่นอนที่สุดในโลกใหม่นี้ก็คือความไม่แน่นอน การมาถึงของ AI และนวัตกรรมทั้งหลายทำให้ทักษะด้านลึกเริ่มหมดความหมายไปทีละส่วน ทักษะสำคัญของโลกอนาคตกลับกลายเป็นไม่ใช่ทักษะแต่เป็นวิธีคิด ปรัชญา เป็น Way of thinking มากกว่าที่สำคัญในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง
1
บทความนี้มีหลักการที่สำคัญแต่ก็ยังฟังดูนามธรรมอยู่พอสมควร แต่ทำให้ผมนึกถึงความคิดแบบรูปธรรมที่เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้จากคุณครูทางความคิดเจ้าเก่าของผม พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ พี่จิกเคยชวนให้มองตู้เย็น …ใช่ครับตู้เย็นธรรมดานี่แหละ ลองมองแล้วคิดว่าเราเห็นอะไรบ้าง
แน่นอนว่าพอผมลองไปมองตู้เย็นที่ห้างสรรพสินค้า ด้วยความเป็นพ่อบ้านดูแลค่าใช้จ่าย ผมก็คงดูที่ป้ายราคาตู้เย็นขึ้นมาเป็นอย่างแรก ถามก่อนเลยว่ากี่บาท แล้วก็คิดอยู่ในมุมของตัวเองเป็นหลัก แต่ถ้าเริ่มไปถามภรรยาผมก็คงมองว่าสวยเข้ากับครัวที่เพิ่งทำใหม่รึเปล่า ลูกผมก็อาจจะมองต่างไปว่ามีที่เก็บไอศครีมใหญ่พอมั้ย แม่บ้านพม่าผมก็คงมองว่าล้างยากรึเปล่า ฯลฯ
พี่จิกเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
2
“ สมมุติมีตู้เย็นอยู่อันหนึ่ง นักเขียนที่เขียนเกี่ยวกับเทคนิคทางอิเล็กทรอนิกส์เขาจะเปิดตู้ไขออกมาดูข้างในแล้วบอกว่าวงจรมันเป็นอย่างไร นักเขียนที่เขียนเรื่องเพื่อชีวิตเขาอาจจะว่าตู้เย็นเนี่ยทำให้ประเทศชาติล่มจม แบ่งระดับคนจนคนรวย นักอนุรักษ์อาจจะพูดถึงเรื่องสารที่รั่วมาจากคอมเพรสเซอร์ในตู้เย็นทำลายชั้นบรรยากาศโลก แต่ผมเองอาจจะจับตู้เย็นเอียงลงแล้วแอบไปดูข้างหลัง มองในมุมที่ว่าตู้เย็นมันเอียงแล้วมันเป็นอย่างไร... ”
ซึ่งถ้าเราไปถามนักเศรษฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักการตลาด นักการเงิน นักการเมือง ฯลฯ มุมมองก็คงต่างกันออกไปอีก หรือแค่เปลี่ยนมุมมอง ลองมองจากข้างบนบ้าง มองข้างหลังบ้าง เอามาตะแคงดูบ้าง ความหลากหลายก็จะบังเกิด บังเกิดแล้วก็อาจจะอยากเข้าใจลึกๆต่อในบางมุม หรือเชื่อมโยงหลายๆมุมเพื่อเข้าใจมิติใหม่ๆที่เดิมคิดไม่ถึง ตู้เย็นใบเดียวแท้ๆก็อาจจะกลายเป็นแบบฝึกหัดที่ดีมากๆ
ในการเริ่มสิ่งที่อาจารย์ฮาร์วาร์ดเขาคิดไว้สำหรับโลกอนาคตว่า Way of thinking นั้นสำคัญกว่าทักษะเฉพาะ ซึ่งเป็นความคิดต้นทางที่เปลี่ยนชีวิตผมและผมเคยเขียนเป็นบทความไว้ครั้งหนึ่งแล้ว ความคิดต้นทางนั้นก็คือ Way of thinking ของความคิดแบบอื่นๆอีกมากมาย ความคิดแบบอาจจะจริงเราเห็นอยู่ เผื่อใจไว้ที่ยังไม่เห็นของโลกใบใหม่นี้
แล้วฝากลองเปลี่ยน “ตู้เย็น” เป็น “โควิด” ดูก็อาจจะได้มุมมองใหม่ๆ มากกว่ามุมเดิมๆ ที่ยึดเป็นสรณะตอนนี้อยู่ก็ได้นะครับ
โฆษณา