19 ก.พ. 2023 เวลา 14:07 • ท่องเที่ยว

ทมิฬนาดู (26) .. เทวาลัยศรีมีนากษีอัมมาน เมืองมธุไร

เมืองมธุไร
มธุไร เดิมชื่อ มทุรา.. ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ริมฝั่งแม่น้ำไวไก (Vaigai River) ถือเป็นเมืองใหญ่ อันดับ 2 และมีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของรัฐทมิฬนาฑู ทั้งยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ทางวัฒนธรรมของรัฐอีกด้วย เป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้าย และมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ
ในทางประวัติศาสตร์ มธุไรจัดเป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มี การอยู่อาศัยสืบเนื่องมากว่าสองพันปี เคยเป็นราชธานีของราชวงค์ปาณฑยะ ตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช จนถึงปลาย ศต. 11 หลังจากนั้นตกเป็นของราชอาณาจักรวิชัยนคร ใน ศต. 14 และราชวงค์นายกะ ตั้งแต่ ศต. 16 ถึง คศ.1736 และตกเป็นของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ในคศ. 1801
หลังจากบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ได้ยึดครองมธุไรไว้ได้ ได้รื้อทลายกำแพงและถมคูเมืองทั้งหมด ในปี 1840 ปัจจุบันแนวคูเมืองเดิมยังเหลือร่องรอย ใช้เป็นถนนรอบเมือง - Veli Streets
เมืองมทุไร (Madurai) .. เป็นเมืองแห่งเทวาลัยอันยิ่งใหญ่ของอินเดียใต้ ที่เจริญรุ่งเรืองด้วยศิลปะแห่งรัฐทมิฬนาดู ซึ่งเก่าแก่กว่า 2,000 ปี เคยเป็นราชธานีของราชวงศ์ปาณฑยะในช่วงศตวรรษที่ 7 - 13 และร่ำรวยจากการค้าทางทะเลกับโรมและจีน ต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรวิชัยนครและเป็นราชธานีของนายกะในช่วงศตวรรษที่ 16 – 17
มธุไร (Madurai) ในปัจจุบัน .. เป็นดั่งภาพที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา จากผู้แสวงบุญ ขอทาน นักธุรกิจ เกวียนเทียมวัว คนขี่สามล้อ นักท่องเที่ยว ที่พลุกพล่านอยู่ตามท้องถนน มธุไรเป็นศูนย์กลางของการแสวงหาความรู้ และการแสวงบุญมานานเป็นศตวรรษ
มธุไรถือเป็น "ศาสนธานี" (Temple City) แห่งหนึ่ง มี “เทวาลัยมีนักษีสุนทเรศวร” อยู่กลางเมือง ล้อมรอบด้วยตัวเมืองในผังรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสเป็นชั้น ๆ และในยุคหนึ่งเมืองนี้ ก็มีฐานะเป็นป้อมปราการด้วย ดังนั้นจึงมีกำแพงเมืองและคูน้ำล้อมรอบอยู่ชั้นนอกด้วย
คร่าวๆเล่าเรื่องประวัติของเทวาลัย
เทวาลัยมีนักษี สร้างโดยกษัตริย์ Sadayavarman Kulasekaran I (1190 CE–1205 CE) แห่งราชวงศ์ Pandayan และมีการก่อสร้างและบูรณะเพิ่มเติมมาเรื่อยๆจนถึงปี 1595... อาคารต่างๆที่เราเห็นในปัจจุบันส่วนใหญ่สร้างในศตวรรษที่ 14 และขยายให้ใหญ่ขึ้นในช่วงสจวรรษที่ 17
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 14 กองทัพของสุลต่านแห่งเดลฮี ซึ่งมีนายพลชาวมุสลิมชื่อ Malik Kafur เป็นผู้บังคับบัญชา ได้เข้ามาปล้นและนำสิ่งของต่างๆที่ล้ำค่ากลับไป แล้วทำลายเทวาลัยมานักษี พร้อมกับตัวเมือง เช่นเดียวกับหลายๆเมืองในแถบอินเดียใต้
เทวาลัยที่เราเห็นในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เกิดจากการบูรณะส่วนต่างๆที่สำคัญของเทวาลัยขึ้นมาใหม่ ในช่วงเวลาที่กษัตริย์ของอาณาจักรVijayanagara ปกครอง .. ในช่วงศตวรรษที่ 16 เทวาลัยแห่งนี้ได้รับการขยายให้มีขนาดใหญ่โต และสวยงาม วิจิตรอลังการ ขึ้นในสมัยของกษัตริย์นายะกะ Vishwanatha และกษัตริย์องค์ต่อๆมา
เทวาลัยศรีมีนากษีอัมมาน (Meenakshi Sundrareswarar Temple)
เราออกจากที่พัก เดินมาตามถนนมุ่งหน้าไปที่ “เทวาลัยมีนักษีสุนทเรศวร” โดยมีผู้คนมากมายเดินตามๆกันมาด้วยเป้าหมายเดียวกัน .. เมื่อเข้ามาใกล้ มองเห็นโคปุรัมที่สูงสง่า โดดเด่นเหนืออาคารอื่นใดในมธุไร สร้างบรรยากาศแห่งความศักดิ์สิทธิ์ น่าศรัทธา อบอวลไปทั่วบริเวณ
“.. เอาสิ่งของ กล้อง และมือถือ มารวมกันตรงนี้นะครับ ผมจะทำเรื่องฝากสิ่งของของพวกเราไว้ด้วยกัน” .. ไกด์ของเราบอกเมื่อเรามาถึงทางเข้า
เทวาลัยศรีมีนากษีอัมมาน .. มีความเข้มงวดมากในการตรวจตราผู้ที่ต้องการเข้าไปในเทวาลัย ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพเด็ดขาด ดังนั้น ผู้ไปเยือนจะต้องฝากสิ่งของติดตัวไว้ด้านนอก แล้วจึงจะผ่านการตรวจร่างกายอย่างเข้มงวด เหมือนเราผ่านการตรวจที่สนามบิน
ช่วงแรกเราไม่ค่อยเข้าใจในการดำเนินการอย่างนี้ .. แต่หลังจากที่ได้เห็น ได้อ่าน และรู้เรื่องของเทวาลัยแห่งนี้ ก็เป็นอันเข้าใจได้
ตำนานกำเนิดของเทวาลัย
เทวาลัยศรีมีนากษีอัมมาน .. เป็นดั่งหัวใจและเส้นชีวิตของเมืองเก่าของมธุไรที่มีความเก่าถึง 2500 ปี .. เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของชาวทมิฬมาแต่สมัยโบราณ
ตำนานหนึ่งที่กล่าวถึงกำเนิดของเทวาลัยกล่าวว่า .. ในสมัยราชวงศ์ปาณฑยะ กษัตริย์ Malayadwaja Pandya และพระมเหสี ได้ทำยัญพิธี เพื่อขอพระโอรสเพื่อมาเป็นรัชทายาท แต่กลับได้พระธิดาที่มีหน้าอกสามข้าง ออกมาจากกองไฟในพิธี
พระศิวะได้บอกกับกษัตริย์ว่า พระธิดาควรได้รับการปฏิบัติเยี่ยงโอรส และกษัตริย์ยอมทำตามคำแนะนำ
พระธิดาเติบโตขึ้น และได้รับแต่งตั้งเป็นรัชทายาท .. เมื่อเธอพบกับพระศิวะ เธอก็ได้กลายเป็น พระนางมีนักษี ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเชื่อในอินเดียใต้ที่ว่า “พลังขึ้นอยู่กับผู้หญิง พระผู้เป็นเจ้าฟังพระศักติ และชตาของเมืองอยู่ในกำมือของสตรี”
พิธีสยุมพรของพระนางมีนักษี กับพระศิวะ จัดขึ้นโดยรับพรจากองค์เทพและเทวีทุกพระองค์ โดยมีพระวิษณุ พี่ชายของพระนาง ส่งมอบพระนางให้แก่พระศิวะ .. เราจะเห็นภาพในฉากแต่งงานนี้ปรากฏอยู่ทั่วไปในเทวาลัย
Ref : Wikipedia
เพื่อนร่วมทริปหลายคนได้เข้าร่วมใน “พิธีปัฬพียไร ปูชา” หรือพิธีอัญเชิญพระศิวะในมูรติ “สุนทเรศวร” (Sundareshwarar มูรติที่พระศิวะปรากฎกายในรูปของเจ้าชายหนุ่มรูปงาม) มาบรรทมร่วมกับพระอุมา ในภาคของพระแม่มีนากซี่ ซึ่งมีการทำพิธีนี้ทุกวัน ในช่วงเวลาราวสามทุ่มของทุกวัน
ฉากของพิธีที่ไกด์ของเราเล่าให้ฟังมีดังนี้ ...
“พิธีปัฬพียไร ปูชา” .. เริ่มด้วยขบวนของพราหมณ์หลายคนที่มำหน้าที่ต่างๆ แห่เสลี่ยงของ "พระศิวะ สุนทรมูรติ" ออกมาจากมณฑปของพระองค์ .. พราหมณ์ถือพัดโบก ถือหม้อที่จุดเผาไม้หอม มีนักดนตรีเป่าปีและตีกลอง มีคนถือตรีศูลที่จุดไฟที่ปลายสามง่ามของตรีศูลเดินนำหน้าขบวน
ขบวนแห่เลี้ยวมาหยุดที่บริเวณหน้า "เสาธวัชสตัมภะ" ที่หน้ามณฑปของท่าน แล้วเดินแห่ต่อมาหยุดลงที่หน้ามณฑป "พระคเนศ" มีพิธีอารตีไฟตรงนี้เล็กน้อย ประดุจว่าให้ลูกได้คารวะพระบิดาก่อนเข้าบรรทม
ขบวนแห่เดินมาถึงบริเวณหน้ามณฑป "พระแม่มีนากษี" ก็หยุดทำพิธีอยู่ครู่ใหญ่ๆ โดยมีพราหมณ์คอยโบกพัด คอยเผาเครื่องหอม มีพิธีล้างพระบาทพระศิวะ และอบร่ำด้วยควันของเครื่องหอม ก่อนที่ขบวนจะเข้าไปในมณฑปพระแม่ฯ
จากนั้นขบวนก็แห่เข้าไปในมณฑปพระแม่ฯ ... พราหมณ์อุ้มเทวรูป "พระศิวะ สุนทรมูรติ" ออกจากเสลี่ยง ไปที่มณฑปที่ "พระศิวะ สุนทรมูรติ และ พระแม่มีนากชี่" ใช้ประทับร่วมกันทุกค่ำคืน จากนั้นม่านที่ประตูมณฑปก็ปิดลง
พอพราหมณ์จัดวางองค์เทวรูปทั้งสองเสร็จสรรพ ม่านก็ถูกเปิดออกมา ก็จะมองเห็นองค์ "พระศิวะ สุนทรมูรติ และ องค์พระแม่มีนากชี่" ประทับนั่งอยู่ร่วมกันบน "โฑล" หรือ "ชิงช้า" ที่ทั้งตัวมณฑปและชิงช้านั้น หันหน้าไปทาง "ทิศทักษิณ หรือ ทิศใต้ หรือ ทักษิณามูรติ" ที่มีพราหมณ์คอยไกวชิงช้าไปมา ซ้าย-ขวาอย่างเบาๆ
จากนั้นก็มีพิธีสวดมนต์กันอยู่พักนึง มีพราหมณ์นำไฟศักดิ์สิทธิ์ เดินผ่านมาให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสเป็นสิริมงคล และมีพราหมณ์อีกท่าน เดินแจกผงวิภูติให้ผู้เข้าร่วมทุกคน
เสร็จพิธีแล้วเดินออกมานอกมณฑป ก็จะมีพราหมณ์สามท่าน ยืนแจก "ขมิ้น น้ำตาล และนม" ที่เป็นของ "ประสาท" หรือของที่เทพผู้ครองเทวาลัยทั้งสอง มอบให้แด่ผู้ร่วมงานทุกคน เป็นอันจบพิธี
Ref : ไกด์โอ พาเที่ยว
พิธีสมรสของเทพทั้งสอง มองว่าเป็นตัวอย่างที่ลุ่มลึกของอินเดียใต้ ที่แสดงถึงความโดดเด่นของเพศหญิงที่มีมากกว่าชาย การจัดเตรียมทั้งหมดมักกล่าวว่าเป็น "Madurai marriage"
ส่วนการแต่งงานที่ชายโดดเด่นกว่าหญิง จะเรียกว่า "Chidambaram marriage" ที่หมายถึงความโดดเด่นที่ไม่มีใครเทียบได้ของพระศิวะ ทั้งในแง่พิธีกรรมและตำนาน มีการประกอบพิธีที่เทวาลัยพระศิวะที่จิตัมพรัม
พระนางมีนักษี เป็นเทพเจ้าที่ได้รับการเคารพบูชาอย่างสูง มาตั้งแต่โบราณ รวมถึงเป็นเทพเจ้าหลักของเทวาลัยแห่งนี้ ซึ่งแตกต่างจากเทวาลัยพระศิวะแห่งอื่นที่มีพระศิวะเป็นเทพองค์ประธาน ..
.., และถือเป็นประเพณีที่ชนชั้นสูง เช่นกษัตริย์และพระราชวงศ์ที่ปกครองมธุไร จะต้องอุทิศถวายเครื่องประดับสูงค่าแก่พระนาง
ในยุคอาณานิคม .. นาย Rous Peter เจ้าหน้าที่ชั้นสูงของอังกฤษ ได้ถวายโกลนม้าทองคำประดับอัญมณี เพื่อใช้ในประดับม้าทรงเวลาแห่เทวรูป ด้วยศรัทธาที่บังเกิดกับตัวเขา จนทำให้เขารอดชีวิตจากฟ้าผ่า เมื่อมีเด็กหญิงที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อนไปตามเขาออกมาจากตำแหน่งที่เขานั่งอยู่ก่อนเกิดฟ้าผ่า .. และเขาเชื่อว่า เธอคือ พระแม่มีนักษี ที่จำแลงกายมา
เทวาลัยศรีมีนากษีอัมมาน (Sri Meenakshi Temple - Meenakshi Sundareswarar Temple) .. ปัจจุบัน ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเก่า ทางตอนใต้ของแม่น้ำไวไก มีสถาปัตยกรรมแบบ ดราวิเดียน ..
เป็นเทวาลัยที่ใหญ่ที่สุดของเมือง มีโคปุรัมสูงตระหง่านเป็นสัดส่วน และเป็นสถานที่สำคัญที่ดึงดูดความสนใจของผู้มาเยือนมธุไรทุกคน
โคปุรัม (Gopurams)
โคปุรัม .. มีทั้งหมด 14 โคปุรัม และอันที่อยู่ด้านนอกจะสูงกว่าโคปุรัมด้านใน ทางด้านทิศใต้ซึ่งสร้างในศตวรรษที่ 16 จะเป็นโคปุรัมที่สูงที่สุดถึง 52 เมตร เป็นหมุดหมายในการมองเห็นจากระยะไกลได้ชัดเจน .. ส่วนโคปุรัมที่อยู่ด้านในใช้เป็นทางเข้าสู่เทวาลัยต่างๆ .. และทั้ง 4 โคปุรัมประดับด้วยเรื่องราวตำนาน (mythological stories) รวมกันถึง 4000 เรื่อง น่าทึ่งมาก
โคปุรัมด้านตะวันออก (I ในผัง) เป็นอันที่เก่าแก่ที่สุด สร้างโดยกษัตริย์ Maravarman Sundara Pandyan ในช่วงปี 1216-1238 .. โคปุรัมแต่ละอันประกอบด้วยหลายชั้น ประดับด้วยรูปปั้นเทพเจ้า และรูปบุคคลในปกรณัมเรื่องต่างๆ
เทวาลัย (Shrines)
เทวาลัยพระนางมีนักษี (B) และเทวาลัยพระศิวะ (A) .. เป็นสองเทวาลัยแยกกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก .. เทวาลัยของพระเทวีถือว่ามีความสำคัญมากกว่าสำหรับที่นี่
รูปสลักสีเขียวของพระเทวี ในท่ายืน มือหนึ่งถือดอกบัวที่มีนกแก้วเกาะอยู่ มือข้างที่เหลือห้อยลง .. ประดิษฐานในเทวาลัยประธาน
มีการสร้างรูปของพระเทวีเพื่อใช้ในงานพิธีต่างๆอีกหลายอัน ความต่างจะอยู่ที่รูปที่ทำจำลองจะไม่มีรูปนกแก้ว
เทวาลัยพระศิวะ .. มีรูปศิวะลึงค์หินภหินภายใต้ร่มเงาของนาคาประดิษฐานอยู่ด้านใน มีรูปสลักของพระเทวีอยู่ด้านหนึ่ง เวลาที่งานเทศกาล พระศิวะในรูปลักษณ์ชายหนุ่ม (Somaskanda) จะเป็นรูปที่ใช้ร่วมขบวนแห่
รูปพระศิวะอีกรูปที่สร้างด้วยโลหะ ที่เรียกว่า Cokkar จะเก็บรักษาอยู่ใกล้กับเทวาลัยของพระศิวะ และจะถูกนำไปใช้ในพิธี เพื่อนำมหาเทพเข้าบรรทมกับพระเทวีในช่วงกลางคืน .. ตอนเช้าจะมีพิธีปลุกเทพเข้าทั้งคู่ แล้วรูปพระศิวะจะถูกนำกลับไปที่เทวาลับของพระองค์เช่นเดิม
เทวาลัยของพระนางมานักษีและพระศิวะ มีหลังคาวิมานสีทองคำ
ว่ากันว่า ในช่วงศตวรรษที่ 14 .. Kumara Kampana เป็นผู้อุปถัมภ์ค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน
.. ต่อมาหลังจากเกิดความเสียหายหนักจากการถูกโจมตีจนต้องปิดไปเกือบหนึ่งศตวรรษ เทวาลัยกลับมาเปิดอีกครั้ง ครั้งนี้กษัตริย์ราชวงศ์ Vijayanagara ได้เข้ามาอุปถัมภ์ บริจาคทรัพย์และอัญมณีมากมาย เพื่อบูรณะอีกครั้งตลอดช่วงศตวรรษที่ 15-16
บ่อน้ำของเทวาลัย
ในปี 1516 Saluvanarasana Nayaka ได้ขยายพื้นที่ของเทวาลัยให้กว้างขวางขึ้น และสร้างบ่อน้ำ เพื่อให้นักยวชได้ลงไปอาบ (Ezhukadal - seven seas, Saptasaharam) และต่อมาได้มีการสร้างสระ the Golden Lotus โดย Chettiappa Nayakkar
Golden Lotus pool
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ Porthamarai Kulam ("Pond with the golden lotus") ขนาด 165X50X37 เมตร มีภาพเขียน วึ่งหนึ่งในนั้นคือ ภาพงานสยุมพรของเทพเจ้าสูงสุดสองพนะองค์
มณฑป (Halls) .. ในเทวาลัยมีหลายมณฑปที่มีเสา (pillared-halls) ซึ่งสร้างโดยกษัตริย์ และคหบดีที่ร่ำรวยติดต่อกันมาหลายศตวรรษ เช่น ..
มณฑป 100 เสา .. สร้างโดย Chinnappa Nayakkar ในปี 1526 มีรูปสลัก ศิวะนาฏราชยกขาขวาไขว้ ที่นี่เป็นมณฑปที่อุทิศให้กับพระศิวะ แต่ยังมีรูปเคารพของเทพองค์อื่นๆ เช่นพระวิษณุ และพระเทวี
มณฑป Kambathadi (H) .. สร้างโดย Krishna Virappa Nayakkar (1572- 1595) มณฑปแห่งนี้มีรูปปั้นที่งดงาม รวมถึงรูปปั้นของพระศิวะใน 8 มุทรา เช่น อรรธนารีศวร (Ardhanarishwara) .. พระศิวะและพระเทวีในร่างเดียวกัน .. ภิกษตนมูรติ (Bhikshadanamurti) .. พระศิวะในมูรติภิกขาจาร เป็นต้น
มณฑป Ashta Shakthi (Hall of eight goddesses) .. ตั้งอยู่ใกล้กับโคปุรัมด้านทิศตะวันออก สร้างโดยพระมเหสี 2 พระองค์ มีรูปสลักที่แสดงออกถึงพลังอำนาจของอิสตรี ซึ่งเป็นประเพณีของฮินดู และยังมีรูปปั้นของ มหาตมะ คานธี ที่เพิ่มเข้ามาภายหลังในปี 1923 ในช่วงที่อินเดียมีความยากลำบากจากการเจข้ามาของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ
.. ภาพวาด Tiruvilayadal (holy games of Shiva)
โคปุรัม Kilikoondu (E) .. ตั้งอยู่ใกล้กับเทวาลัยของพระนางมีนักษี สร้างเสร็จในปี 1623 โดย Muthu Veerappa Nayakar .. คำว่า Kilikondu หมายถึงกรงนกแก้ว ซึ่งในสมัยโบราณเป็นที่ฝึกสอนให้นกแก้วพูดคำว่า มีนักษี แต่ต่อมากรงนกถูกนำออกไป
มณฑปแห่งนี้ มีชื่อในเรื่องของรูปสลักหินที่เล่าเรื่องปกรณัมต่างๆของฮฺนดู .. มีรูปสลัก วยาล ซึ่งในปากมีลูกบอลที่สามารถกลิ้งไปมาได้
มณฑป Kambatadi ("Hall of temple tree") .. มณฑปโคนนทิ ซึ่งมีรูปปั้นหินแสดงภาพพิธีสยุมพรของเทพเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองพระองค์
นอกจากนี้ยังมีรูปสลักพระศิวะ พระแม่กาลีในท่วงท่าที่กำลังแข่งเต้นรำ พระนางทุรคา เป็นต้น
มณฑป Vira vasantha raya (R) .. ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของมณฑปพันเสา สร้างในสมัยกษัตริย์ Muthu Veerappa Nayakar I ในปี 1611 by เป็นมณฑปโคนนทิ ที่นั่งหมอบหันหน้ายังเทวาลัยพระศิวะ
มณฑป kalyana .. เป็นมณฑปที่ใช้ในพิธีเฉลิมฉลองงานสยุมพรของเทวีมีนักษีและพระศิวะ ซึ่งจีดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนเมษายน
มณฑป Pudumandapam หรือ Vasantha .. สร้างโดยกษัตริย์ Thirumalai Nayak ในช่วงศตวรรษที่ 17 ตั้งอยู่หน้าโคปุรัมทิศตะวันออก เป็นมณฑปที่มี 124 เสา
แต่ละเสาตกแต่งด้วยงานแกะสลักที่วิจิตร เช่น ภาพสลักงานแต่งงานของพระนางมีนักษีกับพระศิวะ เทพองค์อื่นๆ รวมถึงภาพชีวิตธรรมดาๆ เช่น ช้างเคี้ยวต้นอ้อย เป็นต้น
มณฑป Golu .. สร้างโดย Thittiyappa Chetti ซึ่งเป็นคนธรรมดา ในปี 1565 ในช่วงรัชสมัยของกษัตริย์นากายะ คือ Krishnappa มณฑปแห่งนี้ใช้ในระหว่างเทศกาล นวราตรี ซึ่งพระนางมานักษี จะแต่งตังเป็นตุ๊กตา golu แตกต่างกัน 9 แบบ สำหรับ 9 วัน
มณฑปพันเสา (Q) .. มีเสาที่สลักเสลาอย่างวิจิตรรวม 985 ต้น ส่วนอีก 15 อยู่ในรูปของเทวาลัย มณฑปนี้สร้างโดยกษัตริย์ Ariyanatha Mudaliar (เป็นนายะกะคนแรกคนแรกของมาดูไรในช่วงปี 1559-1600) ในปี 1569
.. ทางเข้ามณฑปมีรูปปั้นของ Ariyanatha Mudaliar นั่งบนหลังม้า และแต่ละเสาในมณฑปประดับด้วยงานแกะสลักที่งดงามมาก รวมถึงมีรูปปั้นของเทพในมุทราต่างๆมากมาย เช่น พระศิวะ นางรตี วยาล ซึ่งโดยทั่วไปถือเป็นสัญลักษณ์ของยิ่งใหญ่และพลังอำนาจของราชวงค์นายกะ .. และในมณฑปยังมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะของเทวาลัย จัดแสดงภาพถ่าย ภาพลายเส้น และอื่นๆ
ภายในบริเวณ “มณฑปพันเสา” เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ .. จัดแสดงวัตถุโบราณของเทวาลัย มีการกะสลักเสามณฑปเป็นรูปเทวรูปต่างๆได้อย่างวิจิตรอลังการ ดูเหมือนเทพเจ้าเหล่านั้นจะลอยออกมามีชีวิตและเคลื่อนไหวได้
.. ที่โดดเด่นคือ ณ นอกมณฑปมีเสาดนตรี ซึ่งเมื่อไปเคาะจะมีเสียงดนตรีต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีมณฑปอื่นๆอีกหลายมณฑป ที่มีความสำคัญน้อยลงมา ..
ความสำคัญของเทวาลัยมีนักษี
เทวาลัยแห่งนี้มีความสำคัญในแง่เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูเช่นเดียวกัยเทวาลัยอื่นๆ .. แต่โดดเด่นในเรื่อง พิธีกรรมสำหรับสตรี (supremely important rite of passage for women) ด้วยพิธีสยุมพรของพระนางมานักษีและพระศิวะ
ซึ่งพระนางมานักษีนั้นนอกจากจะเป็นเทวีที่อุทิศตนให้กับสามี แต่ยังเป็นบุคคลที่อิสระ ประสานคนในสังคม และเป็นศูนย์กลางของชีวิตคนทมิฬ
.. นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่า เทวาลัยที่นี่ยังเป็น 1 ใน 5 เทวาลัยที่พระศิวะมาร่ายรำในปาง ศิวะนาฏราช
Ref : Wikipedia และภาพประกอบจากหนังสือ The Great Temple of Madurai Meenakshi
โฆษณา