20 ก.พ. 2023 เวลา 12:19 • ธุรกิจ

“Subway” จากว่าที่นักเรียนแพทย์สู่ผู้ก่อตั้งร้านแซนวิชมูลค่าแสนล้าน

หากถามเด็กสักคนหนึ่งว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” หนึ่งคำตอบยอดนิยมคงจะเป็น “อยากเป็นหมอ” เพราะมันเป็นอาชีพที่มั่นคง รายได้ดี และได้ช่วยเหลือผู้คน ซึ่งคำตอบนั้นก็อยู่ในใจของ Fred DeLuca ในวัย 17 ปีด้วย
แต่ชีวิตก็มักจะมีโอกาสที่ไม่คาดฝันเปิดขึ้นให้กับเราเสมอ ซึ่งโอกาสของ Fred เกิดขึ้นกับชายผู้มีชื่อว่า “Peter Buck”...
ย้อนกลับไปในปี 1965 คุณ Fred DeLuca กำลังวางแผนที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย แต่ทางบ้านไม่ได้มีเงินทุนสนับสนุนอย่างเพียงพอ
คุณ Fred จึงได้ทำการติดต่อไปยังคนรู้จักของครอบครัวที่มีชื่อว่า “Peter Buck” ซึ่งเป็นคนที่มีความมั่งคั่งพอควรอยู่แล้ว โดยเป้าหมายแรกก็เพื่อที่จะขอกู้ยืมเงินสำหรับการศึกษาในมหาวิทยาลัย
ทางคุณ Peter ได้ตั้งโจทย์สำคัญกลับมาว่า ถ้าได้เงินจำนวนนี้ไปคิดว่าจะสามารถหาเงินกลับมาคืนเขาได้อย่างไร?
ซึ่งสิ่งที่เด็กวัย 17 ปี ทำเป็นแผนการมาตอนนั้น นั่นคือ เขาจะนำเงินไปศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ จะได้มีอาชีพมั่นคงและผ่อนชำระหนี้คืนได้อย่างแน่นอน ปรากฎว่า “เหตุการณ์ไปไกลกว่านั้น”
หลังจากที่คุณ Peter เห็นแผนการที่คุณ Fred ส่งมา ก็เห็นว่าเด็กคนนี้มีแววเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ จึงบอกว่าเงินที่ได้รับไปให้นำไปเปิดธุรกิจเสียสิ และพอได้กำไรค่อยเอาเงินมาคืนเขาพร้อมกับยังมีโอกาสที่จะนำเงินไปเรียนหนังสือได้อีก
โน้มน้าวไปโน้มน้าวมาสุดท้ายทาง Fred DeLuca ก็โอนอ่อน และยอมนำเงินไปลงทุนสร้างร้านขายแซนวิช ใช่ชี่อร้านเริ่มแรกว่า “Pete’s Super Submarines”
ร้านประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจนแผนการเรียนแพทย์ต้องถูกพับเก็บไว้ก่อน (และก็ไม่ได้นำออกมาใช้อีกเลย) แต่ก็จะมาเจอปัญหาเล็กๆ เข้า คือ เมื่อผู้คนไปบอกต่อเกี่ยวกับร้านแซนวิช คนที่ได้ยินกลับเข้าใจว่าร้านนี้เป็น “ร้านพิซซ่า”
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ คำว่า Pete (พีท) ที่อยู่ในชื่อร้าน มันออกเสียงคล้ายกับคำว่า “พิซซ่า” มาก คนก็เลยเข้าใจผิดกัน
ร้านจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น “Subway” แบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้มีที่มาจากรถไฟฟ้าใต้ดินในอเมริกา ที่เรียกกันว่า “Subway” แต่อย่างใด
แต่มาจากคำว่า Submarine ที่แปลว่า “เรือดำน้ำ” ตามรูปร่างขนมปังที่ขายกันอยู่ในร้านซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเรือดำน้ำเหลือเกิน
เมื่อร้านเริ่มเป็นที่นิยม ทั้ง Fred และ Peter ก็เริ่มตั้งเป้าหมายและวางแผนจะขยายสาขาออกไปให้มากขึ้น แต่ก็ติดตรงเงินทุนที่มีไม่เพียงพอ จะทำด้วยตัวเองคงจะต้องใช้เวลาในการขยายสาขาอีกนาน
ทั้งคู่จึงเดิมพันครั้งใหม่ ตัดสินใจเปิดเฟรนไชส์เพื่อให้ผู้อื่นสามารถเข้ามาลงทุนสร้างร้านอาหารภายใต้แบรนด์ของพวกเขา ในปี 1974
การตัดสินใจถือว่าเสี่ยงอย่างยิ่งกับธุรกิจที่ต้องถือว่ายังมีขนาดเล็กอย่างพวกเขา แต่มันก็ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม
หลังจากเริ่มได้รับความนิยมและมีสาขาครอบคลุมไปทั่วทั้งทวีปอเมริกา Subway ก็ทำการเจาะตลาดต่างประเทศ โดยมีสาขานอกทวีปครั้งแรกที่ประเทศบาห์เรนในปี 1978
การขยายสาขาของ Subway ยังเพิ่มขึ้นอย่างหยุดไม่อยู่ ในปี 1987 พวกเขามีสาขารวม 1,000 สาขา เป็นที่เรียบร้อย และในปี 2010 Subway ก็กลายเป็นร้านอาหาร Fast Food ที่มีสาขามากที่สุดในโลกแซงหน้า McDonald ไปเสียอีก
จำนวนสาขาก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนในปัจจุบัน พวกเขาก็มีจำนวนสาขาทะลุหลัก 40,000 สาขาทั่วโลก พร้อมทั้งเป็นแบรนด์ที่มีการปรับปรุงให้ทันสมัย และเป็นทางเลือกของอาหาร Fast Food ที่ไม่จำเป็นต้องไม่ดีต่อสุขภาพเสมอไป
ในส่วนของคุณ Fred DeLuca เขาทำหน้าที่บริหารงานบริษัทเสมอมา และเคยออกหนังสือเล่าเรื่องการทำธุรกิจของตนเองที่มีชื่อว่า “Start Small Finish Big” ในปี 2000
แต่เมื่อปี 2015 เขาก็ถึงแก่กรรมหลังจากต่อสู้กับอาการป่วยนาน 2 ปี ทำให้ตำแหน่ง CEO ของบริษัทตกไปอยู่กับน้องสาวของเขา “Suzanne Greco” แทน ก่อนที่จะส่งต่อการบริหารให้กับคนนอกครอบครัวต่อไป
และในช่วงต้นปี 2023 นี้ ก็มีข่าวออกมาว่าทาง Subway กำลังมองหาโอกาสที่จะขายธุรกิจ โดยประเมินจากทาง Wall Street Journal ว่ามูลค่าการขายอาจจะขึ้นไปสูงกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือตีเป็นเงินไทยก็มากกว่า 300,000 แสนล้านบาท
แม้คุณ Fred DeLuca จะไม่ได้อยู่เห็นวันที่แบรนด์โตขึ้นมาจนมีมูลค่าขนาดนี้ แต่ที่มีวันนี้ได้ ก็เพราะเขากล้าลองเสี่ยงทำธุรกิจตามคำแนะนำของคุณ Peter Buck และไม่ได้เลือกทางเดินที่ราบเรียบกว่าอย่างการเรียนแพทย์
เป็น “บทเรียนเรื่องของจังหวะชีวิต” ที่เมื่อมีโอกาสเข้ามา การลองเสี่ยงคว้ามันไว้ก็อาจจะนำมาซึ่งทางเดินที่ดีและเหมาะกับเรามากกว่าก็เป็นได้ ดังเช่นที่เกิดกับเรื่องของผู้ก่อตั้ง Subway
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา