Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Praram 9 Hospital
•
ติดตาม
21 ก.พ. 2023 เวลา 03:10 • สุขภาพ
ปวดหัวไมเกรน อาการเป็นอย่างไร ควรรักษาแบบไหนดี?
อาการปวดหัว เป็นเรื่องน่าปวดหัวของใครหลาย ๆ คน เนื่องจากเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ แถมยิ่งค้นกูเกิลหาคำตอบ ยิ่งเจอแต่คำตอบที่ชวนเครียดกันเข้าไปอีก บทความนี้มีความตั้งใจที่จะให้ข้อมูลด้านต่างๆ พร้อมทั้งแนวทางการรักษาอาการ ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine headache)
ไมเกรน เกิดจากอะไร?
“ไมเกรน (Migraine)” เกิดจากความผิดปกติชั่วคราวของระดับสารเคมีในสมอง ทำให้ก้านสมองถูกกระตุ้น หลอดเลือดในเยื่อหุ้มสมองมีการบีบและคลายตัวมากกว่าปกติ เกิดอาการปวดหัวตุ๊บ ๆ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน แพ้แสง จากก้านสมองที่ถูกกระตุ้น
อาการไมเกรน เป็นอย่างไร? ปวดหัวไมเกรนมักมีอาการเหล่านี้
- ปวดหัวตุ๊บ ๆ บริเวณขมับ อาจปวดร้าวมาที่กระบอกตาหรือท้ายทอย และปวดหัวข้างเดียว (บางรายอาจพบว่าปวดหัวทั้งสองข้าง)
- มีอาการคลื่นไส้อาเจียน
- มีอาการแพ้แสงแพ้เสียง
- ปวดหัวเป็นครั้งคราว บางครั้งก็สัมพันธ์กับรอบเดือน
- บางครั้งมีอาการมองเห็นผิดปกตินำ หรือที่เรียกว่า อาการออร่า (migraine aura) ผู้ป่วยจะเห็นเป็นแสงไฟสีขาว ๆ มีขอบหยึกหยัก เป็นอาการเตือนนำมาก่อนที่จะเริ่มมีอาการปวดหัว
1
ปวดหัวไมเกรน ไม่จำเป็นต้องปวดหัวแค่ข้างเดียว
มีความเป็นไปได้สูง ว่าอาการปวดหัวข้างเดียว มักเป็นสาเหตุมาจากไมเกรน แต่ก็มีความเข้าใจผิดกันมากว่า ปวดหัวไมเกรน เท่ากับ “ปวดหัวข้างเดียว” เท่านั้น ซึ่งจริง ๆ แล้ว ผู้ป่วยไมเกรนสามารถปวดหัวได้ทั้งสองข้าง หรือปวดหัวข้างใดข้างหนึ่งก่อนแล้วค่อยย้ายสลับข้างได้เช่นกัน
1
ดังนั้น หากมีอาการปวดหัวทั้งสองข้าง จึงไม่ควรนิ่งนอนใจว่าตัวเองไม่ได้เป็นไมเกรนแน่นอน ควรพิจารณาจากอาการอื่น ๆ ประกอบด้วย และถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์
ปวดหัวไมเกรน ไม่จำเป็นต้องมีอาการรุนแรง
ร่างกายและจิตใจของแต่ละคนสามารถทนรับกับความเจ็บปวดได้แตกต่างกัน นอกจากนี้อาการปวดหัวไมเกรนยังมีความรุนแรงหลายระดับ คนที่มีอาการนี้ จึงไม่จำเป็นว่าต้องปวดหัวจนกระทั่งทนไม่ไหวเสมอไป
แม้ว่าจะมีอาการไม่รุนแรง แต่หากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นถี่ หรือมีระยะเวลายาวนาน หรือเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน (ตามลิสต์อาการข้างต้น) ก็ควรเข้าพบแพทย์
4 ระยะของอาการปวดหัวไมเกรน
หากแบ่งอาการปวดหัวไมเกรนออกเป็นลำดับการแสดงอาการ จะแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่
1. ระยะบอกเหตุล่วงหน้า (Prodrome): มักจะมีอาการบอกเหตุประมาณ 1 – 2 วันก่อนเป็นไมเกรน เช่น ปวดตึงตามต้นคอ หรืออารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
2. อาการเตือนนำ (Aura): ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการมองเห็นผิดปกติ เช่น เห็นแสงระยิบระยับ เห็นแสงไฟสีขาวมีขอบหยึกหยัก หรือภาพเบลอหรือบิดเบี้ยว แต่บางรายก็ไม่มีอาการเตือนนำ
3. อาการปวดศีรษะ (Headache): เป็นเหมือนช่วงไคลแม็กซ์ของอาการปวดหัวไมเกรน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวตุ๊บ ๆ หรือปวดหัวข้างเดียว จนไม่สามารทำงานได้ตามปกติ อาจเกิดร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน และจะแพ้ต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ เป็นพิเศษ เช่น แสงจ้า เสียงดัง
1
4. เข้าสู่ภาวะปกติ (Postdrome): ภายหลังจากที่เริ่มหายปวดแล้ว ผู้ปวยมักจะมีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน เกิดอาการสับสน หรือไวต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ เหมือนระยะที่สาม
เกณฑ์วินิจฉัยว่าเป็นปวดหัวไมเกรน
สมาคมปวดศีรษะนานาชาติ (The International Headache Society: IHS) ได้จัดให้อาการปวดหัวไมเกรน อยู่ในอาการปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ (Primary headache) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดและเส้นประสาทในสมอง (ไม่ได้เกิดจากโรค)
ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ ได้มีเกณฑ์ในการวินิจฉัยอาการปวดหัวไมเกรนไว้ว่า ผู้ป่วยต้องมีอาการปวดหัวเกิน 5 ครั้ง ครบตามองค์ประกอบทั้ง 3 ข้อนี้ ได้แก่
1. มีอาการปวดหัวต่อเนื่องนาน 4 ชั่วโมง ถึง 3 วัน
2. มีอาการอย่างน้อย 2 ใน 4 ข้อ ได้แก่ ปวดหัวข้างเดียว, ปวดหัวตุ๊บ ๆ, ปวดค่อนข้างมาก, หรือ ปวดจนทำงานไม่ไหว
3. มีอาการปวดหัวร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน อาการกลัวแสง หรืออาการกลัวเสียง
แม้ว่าเกณฑ์ของสมาคมปวดศีรษะนานาชาติจะดูสั้น ๆ แต่ก็ยังมีรายละเอียดค่อนข้างมาก อาจจะยังไม่สะดวกสำหรับบุคคลทั่วไป ที่จะประเมินตัวเองได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
สะดวกและง่ายกว่า ด้วยการประเมินแบบ ID migraine
ขอแนะนำเกณฑ์ง่าย ๆ ที่เรียกว่า ID Migraine ให้ผู้ป่วยได้ลองใช้ในการประเมินตัวเองเบื้องต้น โดยวิธีดูก็คือ ถ้าเรามีอาการ 2 ใน 3 ข้อขึ้นไป ให้ประเมินไว้ก่อนเลยว่าเราอาจเป็นโรคไมเกรน
- มีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน
- กลัวแสง
- เป็นแล้วไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอย่างน้อย 1 วัน
3 พฤติกรรมควรทำ สำหรับคนเป็นไมเกรน
เราได้ทำความรู้จักกับโรคไมเกรนมาหลายหัวข้อแล้ว สำหรับหัวข้อนี้จะเป็นแนวทางการป้องกันและลดความรุนแรงเมื่อมีอาการ โดยมีหลัก 3 ข้อง่าย ๆ ดังนี้
1
1. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ซึ่งจะให้ดีที่สุด เราควรจะรู้จักตัวเอง ว่าอะไรคือปัจจัยกระตุ้นที่ส่งผลกับอาการปวดของเราได้มากที่สุด เช่น การนอนไม่เพียงพอ มีความเครียด การอยู่ในที่อากาศร้อนหรือเย็นเกินไป การมองแสงจ้า เป็นต้น สำหรับคุณผู้หญิง อาจมีปัจจัยกระตุ้นมาจากฮอร์โมนเฮสโตรเจน และการมีประจำเดือน
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นข้อแนะนำยอดนิยมที่ช่วยป้องกันได้หลายโรค เนื่องจากช่วยในการปรับระดับสารเคมีในร่างกาย ทำให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ และยังทำให้เกิดการหลั่งสารแห่งความสุข หรือเอ็นดอร์ฟิน (Endorphins) อีกด้วย
แต่การออกกำลังกายก็ไม่ควรหักโหม หรือทำอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีวันพัก แนะนำให้เริ่มด้วยการเดินเร็ว หรือการขี่จักรยานใกล้บ้าน หรือกิจกรรมง่าย ๆ ก่อน และควรหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ เนื่องจากสำหรับบางคนแล้ว การออกกำลังกายที่หนักหรือต่อเนื่องเกินไป อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ปวดหัวไมเกรนได้
3. ควรหยุดพัก 10 – 20 นาที เมื่อเริ่มรู้สึกปวดหัวไมเกรน โดยพักในห้องที่มืดและมีอากาศเย็น ไม่อับหรือชื้น มีบรรยากาศเงียบสงบ
อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดหัวไมเกรนยังรุนแรงอย่างต่อเนื่องและไม่ทุเลาลง ควรรีบไปพบแพทย์
อาการปวดหัวไมเกรน เกิดจากความผิดปกติชั่วคราวของระดับสารเคมีในสมอง ทำให้เรารู้สึกคลื่นไส้อาเจียน แพ้แสง และปวดหัวตุ๊บ ๆ จนไม่เป็นอันทำงานทำการ แม้จะมีวิธีในการประเมินตัวเองเบื้องต้นที่อธิบายไว้ค่อนข้างละเอียด แต่แนวทางประเมินที่สะดวกที่อยากแนะนำก็คือ ID migraine
แนวทางการป้องกันอาการปวดหัวไมเกรนที่เหมาะสมคือ การปรับจากพฤติกรรม เช่น หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่กระตุ้นการเกิดไมเกรน นอกจากนี้ การใช้ยาเพื่อป้องกันและรักษา ก็นับได้ว่ามีประสิทธิภาพที่ดีเลยทีเดียว แต่ยาบางชนิดก็อาจมีผลข้างเคียงที่ต้องระมัดระวังในการใช้ และไม่ควรเลือกใช้เองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน
สุดท้ายนี้ เราควรศึกษาโรคนี้ให้รู้เท่าทันและไม่ตื่นตระหนกเกินไป ถ้าเรามีอาการปวดหัวไม่ว่าจะมาจากสาเหตุของไมเกรนหรือไม่ก็ตาม หากยังมีอาการปวดหัวหนักขึ้นหรือเป็นอยู่เรื่อย ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจโรคและรับรักษาอย่างถูกต้องจะดีที่สุด
ผู้เขียนบทความ : พญ.รับพร ทักษิณวราจาร
ศึกษาแพ็คเกจตรวจสุขภาพ
https://hubs.ly/Q01Bt3G-0
ศึกษาบทความปวดหัวไมเกรนเพิ่มเติม
https://www.praram9.com/migraine/
ความรู้รอบตัว
สุขภาพ
ไลฟ์สไตล์
67 บันทึก
68
3
221
67
68
3
221
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย